การซ้อมรบทางเรือระหว่างสองขั้วอำนาจ อิหร่านกับซาอุดีอาระเบีย : โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

ช่องแคบฮอร์มุซเชื่อมอ่าวเปอร์เซียกับอ่าวโอมานสู่มหาสมุทรอินเดีย

ก่อนอื่นต้องขอแนะนำคำศัพท์ที่โด่งดังทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความสำคัญต่อการเข้าใจในบทความนี้เสียก่อนคือคำว่า “Chokepoint” แปลเป็นภาษาไทยแบบเอาความเข้าใจได้ว่า “ช่องแคบทางยุทธศาสตร์” ซึ่งมักจะหมายถึงช่องทางน้ำที่อยู่ระหว่างดินแดนพื้นดิน 2 ผืนซึ่งลึกและกว้างพอสำหรับการเดินเรือได้ที่เชื่อมติดต่อกับผืนน้ำที่ใหญ่กว่า 2 ผืน ที่มีการเดินเรือหนาแน่นและเป็นเส้นทางจำเป็นในการขนส่งน้ำมันปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติของโลก ซึ่งในที่นี้จะกล่าวถึงโช้กพอยต์ 3 แห่ง ที่สำคัญล้วนแล้วแต่อยู่ที่ภูมิภาคตะวันออกกลางอันเป็นแหล่งส่งออกน้ำมันปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่และสำคัญที่สุดในโลกอันได้แก่

1) ช่องแคบฮอร์มุซ คือช่องแคบที่กั้นระหว่างอิหร่านกับโอมาน เชื่อมอ่าวเปอร์เซียกับอ่าวโอมานและทะเลอาหรับ จุดที่แคบที่สุดกว้าง 33 กิโลเมตร แต่เส้นทางเดินเรือเข้าออกกว้างเพียงด้านละ 3.2 กิโลเมตรเท่านั้น ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่สร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศแถบตะวันออกกลางความสำคัญของช่องนี้คือ เป็นช่องทางสำคัญที่ผู้ผลิตน้ำมันในตะวันออกกลางใช้เป็นเส้นทางลำเลียงน้ำมันออกไปจำหน่ายยังประเทศต่างๆ เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของตลาดน้ำมันโลก ในแต่ละวันน้ำมันจำนวนเฉลี่ยถึง 17 ล้านบาร์เรล หรือคิดเป็นปริมาณ 1 ใน 5 ของการขนส่งน้ำมันทั้งหมดบนโลกจะต้องถูกขนส่งผ่านทางช่องแคบดังกล่าว เพื่อไปจำหน่ายยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก

2) คลองสุเอซและท่อส่งน้ำมันสุเมด โช้กพอยต์จุดนี้อยู่ในอียิปต์แม้ว่าอียิปต์ไม่ใช่ผู้ส่งออกพลังงานรายใหญ่ของโลก มีการผลิตก๊าซและน้ำมันน้อยมากในตลาดโลก โดยอยู่อันดับที่ 54 ของผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก ส่งออกประมาณ 0.9% และส่งออกก๊าซธรรมชาติป้อนตลาดโลกเพียง 1.8% แต่ก็ยังมีบทบาทสำคัญในตลาดพลังงานโลก ในฐานะที่เป็นเส้นทางขนส่งน้ำมันที่คลองสุเอซซึ่งมีระยะทาง 161 กิโลเมตร เชื่อมระหว่างทะเลแดง และทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ขณะที่ท่อส่งก๊าซระหว่างคลองสุเอซ กับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน หรือสุเมด ได้ชื่อว่าเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์และส่วนประกอบที่สำคัญของโครงสร้างของตลาดน้ำมันโลกโดยเมื่อปีที่แล้ว 7% ของการค้าน้ำมันทางทะเลและ 13% ของก๊าซธรรมชาติ ใช้เส้นทางผ่านคลองสุเอซ ขณะที่ท่อส่งก๊าซสุเมดมีความยาว 320 กิโลเมตร เป็นเส้นทางที่นำน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากอ่าวเปอร์เซียไปยังยุโรป และอเมริกาเหนือ หากมีการปิดเส้นทางทั้งสองจะทำให้การขนส่งน้ำมันจากซาอุดีอาระเบียไปยังสหรัฐ ที่จะต้องอ้อมแหลมกู๊ดโฮป คิดเป็นระยะทางประมาณ 4,320 กิโลเมตร สิ้นเปลืองทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายในการขนส่งอย่างมหาศาล

คลองสุเอซกับช่องแคบบับเอลมันเดบเป็น 2 โช้กพอยต์ที่สำคัญ

3) บับเอลมันเดบ หรือช่องแคบมันเดบ เป็นช่องแคบอยู่ทางใต้สุดของทะเลแดง ตั้งอยู่ระหว่างประเทศเยเมนในคาบสมุทรอาหรับ กับประเทศจิบูตีและประเทศเอริเทรียในแอฟริกาตะวันออกบับเอลมันเดบ เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางเดินเรือระหว่างทวีปยุโรปกับทวีปเอเชียมาตั้งแต่โบราณ ตั้งแต่ก่อนการขุดคลองสุเอซ โดยจากคาบสมุทรไซนาย ผ่านทะเลแดง จะต้องผ่านบับเอลมันเดบ ก่อนเข้าสู่อ่าวเอเดน ทะเลอาหรับ และมหาสมุทรอินเดีย ประมาณการว่ามีการขนส่งน้ำมันดิบผ่านช่องแคบนี้วันละ 6.2 ล้านบาร์เรล หรือประมาณ 9% ของการขนส่งน้ำมันปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติทางเรือของโลก

Advertisement

ครับ ! คราวนี้ก็มาเข้าเรื่องก็คือภูมิภาคตะวันออกกลางนี้เป็นภูมิภาคที่ส่งออกน้ำมันปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติที่สำคัญที่สุดสำหรับทั้งยุโรป เอเชียและสหรัฐอเมริกาจำเป็นต้องนำเข้าน้ำมันปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติจากตะวันออกกลางทั้งสิ้นหากมีการปิดหรือขัดขวางการขนส่งทางเรือในบรรดาโช้กพอยต์ทั้ง 3 แห่ง ที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคตะวันออกกลางทั้งสิ้นก็จะเกิดวิกฤตทางพลังงานของโลกโดยทันที ทั้งนี้ บรรดาประเทศที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคตะวันออกกลางมี 15 ประเทศ คือ 1.บาห์เรน 2.อียิปต์ 3.อิหร่าน 4.ตุรกี 5.อิรัก 6.อิสราเอล 7.จอร์แดน 8.คูเวต 9.เลบานอน 10.โอมาน 11.กาตาร์ 12.ซาอุดีอาระเบีย 13.ซีเรีย 14.สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 15.เยเมน 16.ปาเลสไตน์ หากแบ่งฝ่ายจริงๆ ก็แยกออกเป็น 2 พวก คือ

1) ฝ่ายอาหรับที่มีประเทศซาอุดีอาระเบียเป็นหัวหน้าเนื่องจากเป็นประเทศที่ส่งออกน้ำมันมากที่สุดในโลก โดยมีเหล่าประเทศอาหรับอันได้แก่ อียิปต์ จอร์แดน บาห์เรน โอมานและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฝ่ายนี้นับถือศาสนาอิสลามนิกายซุนหนี่เป็นส่วนใหญ่

2) ฝ่ายอิหร่านซึ่งเป็นพวกเปอร์เซียซึ่งมีอารยธรรมเก่าแก่ยิ่งใหญ่รุ่นเดียวกับจีนเป็นประเทศที่ส่งน้ำมันปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติออกเป็นอันดับสองรองจากซาอุดีอาระเบีย ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์ซึ่งมีความเชื่อและผลประโยชน์ขัดแย้งกับฝ่ายแรก

Advertisement

ส่วนประเทศอื่นๆ ที่ไม่ได้กล่าวถึงนั้นบางประเทศก็ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการแบ่งข้างโดยตรง แต่บางประเทศก็เป็นสมรภูมิประลองกำลังของทั้งสองฝ่าย อาทิ เยเมน ซีเรียที่สร้างความพินาศฉิบหายให้กับสองประเทศดังกล่าวอย่างน่าอนาถในขณะที่ทั้งสองฝ่ายก็ลอบโจมตีกันและกันอยู่เสมอจนสถานการณ์ตึงเครียดถึงขนาดทางอิหร่านขู่ที่จะปิดช่องแคบฮอร์มุซซึ่งเป็นจุดโช้กพอยต์ที่สำคัญที่สุดในการขนส่งน้ำมันออกไปยังโลกภายนอกหลายครั้งจนสหรัฐอเมริกาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องขนส่งน้ำมันทางเรือผ่านช่องแคบฮอร์มุซถึงกับนำกองเรือที่ 5 ที่ถูกปลดประจำการภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กลับมาประจำการอีกใน พ.ศ.2538 โดยตั้งฐานทัพอยู่ที่ประเทศบาห์เรนในอ่าวเปอร์เซีย ประกอบด้วยเรือบรรทุกเครื่องบิน 2 ลำ เรือรบอีก 20 ลำ เครื่องบินทิ้งระเบิด 103 ลำพร้อมด้วยกำลังพล 20,000 นาย แบบว่าประกาศเป็นฝ่ายเดียวกับฝ่ายซาอุดีอาระเบียอย่างชัดแจ้งด้วยการทำการฝึกและลาดตระเวนบริเวณอ่าวเปอร์เซียเป็นประจำทำนองข่มอิหร่านเป็นประจำ ซึ่งทางอิหร่านก็พยายามตอบโต้ใช้ตัวแทนในการโจมตีซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอเมริกาผ่านทางกบฏในเยเมนที่อิหร่านให้การสนับสนุนคือพวกกบฏฮูธิซึ่งอ้างว่ากบฏฮูธินี้มีขีดความสามารถถึงการวางทุ่นระเบิดที่บับเอลมันเดบได้อีกด้วย

วันที่ 27 ธันวาคมที่เพิ่งผ่านไปนี้ กองทัพจีน รัสเซีย และอิหร่าน ได้เปิดฉากการซ้อมรบร่วมเป็นเวลา 4 วันที่อ่าวโอมาน บริเวณทางเหนือของมหาสมุทรอินดีย และทะเลโอมาน เส้นทางการเดินเรือสำคัญของโลกในการขนส่งน้ำมันออกไปทั่วโลก ท่ามกลางความขัดแย้งอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคดังกล่าวที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจระหว่างอิหร่านกับสหรัฐอเมริกาแล้ว ดูท่าสถานการณ์บริเวณโช้กพอยต์ที่สำคัญทั้งสามนี้อาจจะบานปลายเป็นสงครามใหญ่ในปีใหม่นี้ก็เป็นได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image