เดินหน้าชน : กม.ภาษีที่ดินฯน่าห่วง : โดย สัญญา รัตนสร้อย

พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กฎหมายที่ว่ากันว่าผ่านกระบวนการบังคับใช้แสนยากเย็น มีความพยายามผลักดันกันมาหลายสิบปี

สุดท้าย “ตกม้าตาย” ไม่มีรัฐบาลไหน ทั้งมาจากการเลือกตั้งและโดยสถานการณ์พิเศษ ทำคลอดได้สำเร็จ

ปัญหาที่รับรู้กัน เป็นเพราะกฎหมายฉบับนี้มีผลกระทบค่อนข้างกว้างขวาง โดยเฉพาะกับผู้ครอบครองทรัพย์สินประเภทอสังหาริมทรัพย์ล้นเกิน ผู้ให้การสนับสนุนพรรคการเมือง หรือแม้แต่นักการเมืองเอง (ตรวจสอบได้จากรายการยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.)

ไม่ต้องการให้มีกฎหมายฉบับนี้

Advertisement

จนมาในยุครัฐบาล คสช. พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 2562 จึงหลุดรอดออกได้

ประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้เริ่มบังคับใช้เป็นกฎหมายเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2562

แต่จะจัดเก็บภาษีจริงเริ่ม 1 มกราคม 2563

Advertisement

สาระสำคัญจัดเก็บภาษี 4 ประเภท ได้แก่ 1.เกษตรกรรม 2.อยู่อาศัย 3.อื่นๆ ที่ไม่ใช่เกษตรกรรมและอยู่อาศัย และ 4.รกร้างว่างเปล่า อัตรามากน้อยลดหลั่นกันไปตามลักษณะใช้ประโยชน์ มีรายละเอียดยิบย่อยลงไปมากมาย

พยายามออกแบบให้ส่งผลกระทบน้อยที่สุดกับคนส่วนใหญ่ เช่น ยกเว้นภาษีคนที่มีบ้านและที่ดินหลังแรกมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท แต่จะไปหนักกับผู้ครอบครองที่ดินรกร้างว่างเปล่าไม่ทำประโยชน์ เก็บอัตราสูงสุด 3% ของราคาประเมิน

เป้าหมายของกฎหมายก็เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ในที่ดินคุ้มค่า ลดปัญหากระจุกตัวของการถือครอง ต้นเหตุความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ

งานวิจัยของ ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คนเพียง 1% ของประเทศถือครอง 23.74% ของที่ดินที่มีเอกสารสิทธิประเภทโฉนดทั้งหมด หรือคิดเป็น 22.52 ล้านไร่

หากนับจากกลุ่มผู้ที่ถือครองที่ดินมากที่สุด 20% แรก จะพบว่าคนกลุ่มนี้ถือครองที่ดินถึง 80% ของทั้งประเทศ

ขณะที่ผู้ถือครองที่ดินน้อยที่สุด 20% ถือครองที่ดินรวมกันเพียง 0.25% ของทั้งหมด หรือ 2.32 แสนไร่ บางคนมีที่ดินเป็นของตัวเองไม่ถึง 1 ไร่ เล็กสุดแค่ 1 ตารางวาด้วยซ้ำ

อีกเป้าหมายของ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ เพื่อต้องการให้ท้องถิ่นซึ่งมีหน้าที่จัดเก็บภาษี ได้มีงบประมาณเพียงพอในการพัฒนาพื้นที่ของตัวเองในระยะยาว

แต่จะด้วยความซับซ้อนของกฎหมาย ความไม่พร้อมของหน่วยงาน รวมไปถึงสร้างการรับรู้ ความเข้าใจไม่เพียงพอต่อสาธารณะ ทำให้เกิดความสับสนตื่นตระหนกของประชาชนเกี่ยวกับภาระภาษี

ทั้งที่กระทรวงมหาดไทยประกาศเลื่อนระยะเวลาจัดเก็บภาษีที่ดินฯ จากกำหนดให้ชาวบ้านมาจ่ายภาษีเดือนเมษายน 2563 ออกไปเป็นเดือนสิงหาคม 2563

ขยับขยายเวลาออกไปเพียง 4 เดือนเพื่ออุดช่องโหว่ปัญหา คงไม่เท่าไหร่นักเทียบกับความพยายามผลักดันมานับสิบปี

แต่ที่ดูจะไปไกลกว่านั้น เมื่อคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร กำลังหยิบยกปัญหาความพร้อมของหน่วยงานท้องถิ่นรวมถึงกรุงเทพมหานคร ในการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ จึงเป็นความเห็นพ้องของพรรคฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล เตรียมเสนอออกพระราชกำหนดระงับการบังคับใช้กฎหมายไปก่อน

ดีเดย์หลังเทศกาลปีใหม่ จะยื่นญัตตินี้ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร

ความแน่นอนของกฎหมายจะบังคับใช้ได้จริง เริ่มมีสัญญาณความไม่แน่นอนตามมา

น่าเสียดาย หากกฎหมายซึ่งถูกคาดหวังจะเข้ามากำจัดจุดอ่อนที่เป็นปัญหาระดับโครงสร้าง ต้องถูก “ดอง” (อีกแล้ว)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image