บาทแข็งฟาดหาง เศรษฐกิจปากท้อง รัฐบาลตาปริบๆ

บาทแข็งฟาดหาง เศรษฐกิจปากท้อง รัฐบาลตาปริบๆ

บาทแข็งฟาดหาง เศรษฐกิจปากท้อง รัฐบาลตาปริบๆ

ข่าวชวนกังวลด้านเศรษฐกิจตามมาตบท้ายสิ้นปี 2562

เมื่ออัตราแลกเปลี่ยน-ค่าเงินบาทปิดตลาดวันทำการสุดท้ายของปี (30 ธันวาคม) เทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ทะลุระดับจิตวิทยา 30 บาท/ดอลลาร์

มาปิดที่ 29.92 บาท/ดอลลาร์

Advertisement

แข็งที่สุดในรอบ 6 ปี

แข็งที่สุดในทวีปเอเชีย

ในขณะที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยเกือบจะต่ำที่สุดในทวีป

ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นนั้น ส่งผลกระทบโดยตรงกับการส่งออก การท่องเที่ยว และภาคเกษตร

จากผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ 2562

จำนวนประชากรที่มีงานทำของไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 37 ล้านคน

ในจำนวนนี้อยู่ในภาคการเกษตร 11.15 ล้านคน

รองลงมาคือภาคการขายส่ง 6.47 ล้านคน

ภาคการผลิต 6.17 ล้านคน

และภาคการท่องเที่ยว 3.03 ล้านคน

ถ้าภาคการผลิต (คืออุตสาหกรรม) กว่าครึ่งของไทยยึดโยงกับการส่งออก

แปลว่ามีคนไทยในวัยทำงานอย่างน้อย 20 ล้านคน ได้รับผลกระทบโดยตรงจากค่าเงินบาท

นี่คือ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด

หรือมากกว่าครึ่งของประชากรในวัยทำงาน

ถ้ารายได้ของคนกลุ่มนี้ลดลงหรือไม่เพิ่มขึ้น

จะเกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจโดยรวม

สภาการผู้ส่งออกทางเรือ ระบุว่า ตัวเลขการส่งออก 11 เดือนของปีที่ติดลบเป็นเพราะค่าเงินบาท

“แข็งเกินจริง”

ในภาคการท่องเที่ยวก็เช่นกัน

ปีที่แล้วทั้งปี มีนักท่องเที่ยวเข้าเมืองไทย 38.1 ล้านคน

ปีนี้แทนที่จะโตได้ตามเป้าร้อยละ 6-7

จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าเมืองไทยมาถึงสิ้นปีคือ 39 ล้านคน

คนในธุรกิจการบิน การโรงแรม ร้านอาหาร และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวอื่นๆ

ชี้นิ้วไปที่ค่าเงินบาทแข็งตรงกันหมด

โดยเฉพาะกับตลาดจีน ที่เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวใหญ่ที่สุดของไทย

เมื่อบาทแข็ง แต่หยวนอ่อน

คิดแล้วต้นทุนมาเที่ยวเมืองไทยแพงขึ้นร้อยละ 20

นักท่องเที่ยวจีนก็เบนหัวไปเวียดนามกับฟิลิปปินส์

ถามว่าใครต้องรับผิดชอบเรื่องค่าเงินบาท

คำตอบคือรัฐบาลกับแบงก์ชาติ

เอาที่แบงก์ชาติก่อน

ฟากแบงก์ชาติตั้งแต่หัวยันหาง ท่องคาถาออกมาเป็นคำเดียวกันว่า

จะต้องรักษาเสถียรภาพ จะต้องดูแลเป้าหมายเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่ควบคุมได้

ขณะที่อีกซีกหนึ่งของเศรษฐกิจคืออัตราการเจริญเติบโต เหมือนไม่อยู่ในสายตา

ในขณะที่รัฐบาลก็ได้แต่บ่น แต่ไม่สามารถดำเนินการอะไรกับแบงก์ชาติได้

เพราะมีการแก้ไขกฎหมายให้แบงก์ชาติเป็นอิสระ จนแทบไม่ต้องรับผิดชอบกับใคร

แทรกแซงนโยบายการเงินไม่ได้ แต่งตั้งผู้ว่าแบงก์ชาติได้

แต่ถอดถอนแทบจะไม่ได้ หรือไม่กล้าถอดถอน

แม้กระทั่งในยามที่ปากท้องชาวบ้านเดือดร้อน

แล้วภาวะ “บาทแข็งเกินจริง” ที่มีคนได้ประโยชน์หลักๆ อยู่สองกลุ่ม

คือผู้ซื้อสินค้าต่างประเทศ และผู้ไปเที่ยวจับจ่ายใช้สอยหรือซื้อทรัพย์สินในต่างประเทศ ขณะที่คนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบด้านลบ

จะเป็นอย่างไรต่อไปในปี 2563

ผู้บริหารแบงก์ชาติระบุว่า การแข็งค่าเป็นประวัติการณ์นี้เป็นเพียงภาวะ “ผันผวนชั่วคราว”

แต่ไม่ได้หมายเหตุให้คนทั่วไปทราบด้วยว่า ความ “ชั่วคราว” นี้ลากยาวกินเวลามาแล้วอย่างน้อย 2 ปี

โดยไม่มีเค้าลางว่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงในเรื่องนโยบายหรือทิศทางค่าเงิน

ความกังวลของตลาดก็คือ เมื่อนโยบายไม่เปลี่ยน ค่าเงินบาทก็ยังมีแนวโน้มแข็งตัวขึ้นต่อไป

ผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง ก็จะยิ่งรุนแรงเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ

โดยมีรัฐบาลที่ได้แต่นั่งทำตา ปริบๆ นั่งดู ไม่ได้ลงมือแก้ไขอะไรเช่นกัน

อนาคตเศรษฐกิจไทยและปากท้องชาวบ้าน

จึงแขวนอยู่บนเส้นด้าย

ตั้งแต่ต้นปี 2563 เลยทีเดียว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image