ภาพเก่า…เล่าตำนาน : ประเดิม…เริ่มใช้ไฟฟ้าในสยาม

สวัสดีปีใหม่ 2563 ครับ..คอลัมน์ ภาพเก่า…เล่าตำนาน ยังคงตั้งใจขอนำเหตุการณ์ บุคคลในอดีต จากทุกมิติ ทุกชาติ ศาสนา มาบอกเล่า เพื่อการเรียนรู้ ยกย่อง เชิดชู…เพื่อเป็นแรงบันดาลใจ เป็นพลังที่จะให้สังคมไทย เดินหน้าสร้างสรรค์สิ่งดีงามไว้ให้ลูกหลานครับ…

เตร็ดเตร่…ไปที่กองหนังสือเก่า ที่วางขายริมถนนหลายแหล่ง หลายถนนใน กทม. เลือกหยิบหนังสือเก่าๆ ราคา 20-30 บาท หรือ 50 บาท คืองานที่ผมถนัดและสุขใจ ว่างเมื่อไหร่ต้องไปเมื่อนั้น หนังสือไทย หนังสือต่างประเทศ ตำราเรียน นิตยสาร นิยาย สารพัด ที่ถูกนำมาชั่งกิโลขายดูเหมือนไร้ราคา ตัวหนังสือ ภาพถ่ายบอกอะไรๆ เราได้เยอะ บางเล่มยังมีชื่อ เจ้าของ มีวันที่เดือนและ พ.ศ. เป็นข้อมูล

บรรพบุรุษของเรา… สร้างสรรค์สิ่งดีๆ บันทึกสิ่งดีๆ สะสมภูมิปัญญา ก่อร่างสร้างบ้านเมืองแล้วส่งต่อให้ลูกหลานมาจนทุกวันนี้….

“หนังสืองานศพ” บางเล่ม มีข้อมูลที่มีคุณค่าเกินบรรยาย น่าเสียดายที่บางเล่ม ไม่ได้นำมา “ผลิตซ้ำ” หรือนำมาถ่ายทอด และ/หรือ นำเข้าสู่ระบบดิจิทัล หรือ Digitize เพื่อให้ข้อมูลเหล่านี้ “ยังไม่ตาย” แบบที่หลายประเทศมุ่งมั่นดำเนินการ

Advertisement

ผมเลือกหยิบมา 1 เล่มจากกองหนังสือที่เงียบเหงา หยิบมา อ่านแล้ววางไม่ลง คนขายบอก 40 บาท ขอค่ารถกลับบ้าน วันนี้ยังขายไม่ได้เลย…

ผมไม่ต่อรองราคา…หนังสือสดุดีบุคคลสำคัญ เล่มที่ 16 ของสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ พิมพ์เมื่อ พ.ศ.2541

ชื่อเสียงเรียงนามของบุคคลสำคัญในหนังสือ 33 ท่านนี้ คือชาวสยามในอดีต ที่ไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน เนื้อเรื่องแปลกหูแปลกตา ตอนเรียนวิชาประวัติศาสตร์สมัยเด็กๆ ก็ไม่ได้โฉบเฉี่ยวกับเรื่องแบบนี้

Advertisement

ชีวประวัติของชาวสยาม 1 ท่าน ที่เรียบเรียงโดย นางสายไหม จบกลศึก ในหนังสือเล่มนี้ …ผมขอคัดลอก นำบางส่วนบางตอนมาเผยแพร่ คือ พระยาอภิรักษ์ราชอุทยาน …ชาวสยามคนแรกที่ตั้งโรงไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายในสยาม…

การค้นพบประจุไฟฟ้ามีมานานนับพันปี ด้วยการนำเอาแท่งอำพันถูกับผ้าขนสัตว์ แท่งอำพันจะมีอำนาจดูดสิ่งของต่างๆ ที่เบา เช่น เส้นผม เศษกระดาษ เศษผง เป็นต้น เขาจึงให้ชื่ออำนาจนี้ว่า ไฟฟ้าหรืออิเล็กตรอน (Electron) ซึ่งมาจากภาษากรีกว่า อีเล็กตร้า

มนุษย์รู้จักปลาชนิดหนึ่งที่ปล่อยกระแสไฟฟ้าเพื่อสังหารเหยื่อในน้ำ รวมทั้งการสังเกตฟ้าแลบ ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า จากธรรมชาติ

การผลิตและทดลองเรื่องพลังงานไฟฟ้าอย่างเป็นทางการ เกิดขึ้นในห้วง พ.ศ.2410 เป็นต้นมาในห้องแล็บของ โทมัส เอดิสัน ในรัฐนิวเจอร์ซีย์ …เอดิสันและนักวิทยาศาสตร์ในยุโรปต่างแข่งขันกันหาวิธีการใช้ไฟฟ้าแบบหายใจรดต้นคอ เพื่อจะหาประโยชน์จากไฟฟ้า…

เมื่อ พ.ศ.2425 เอดิสันก็กลายเป็นผู้เปลี่ยนโฉมหน้าโลกนี้จากความสำเร็จในการผลิตหลอดไฟฟ้าให้แสงสว่างเป็นครั้งแรก ติดตั้งเจนเนอเรเตอร์และปล่อยกระแสไฟฟ้าให้แสงสว่างในย่าน Pearl Street แมนฮัตตัน นิวยอร์ก

โลกสว่างด้วยพลังงานไฟฟ้าตั้งแต่นั้นมา หลังจากเคยใช้แก๊สเป็นเชื้อเพลิงในการจุดไฟให้แสงสว่างมานาน…

ต้องยอมรับว่า พลังงานไฟฟ้า คือ จุดเปลี่ยนวิถีชีวิตของสังคมโลกให้มีชีวิตความเป็นอยู่สะดวกสบายขึ้น

พลเมืองบนโลกใบนี้ ต่างบอกต่อ ปากต่อปาก เฝ้าฟังการบอกเล่าว่า โลกนี้มีไฟฟ้าใช้แล้ว ไฟฟ้าใช้ทำอะไรได้บ้าง และก็อยากให้บ้านเมืองของตนมีไฟฟ้าใช้…

พ.ศ.2425 ได้มีการสร้างระบบไฟฟ้าแสงสว่างที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษและแพร่กระจายไปทั่วทุกประเทศในทวีปยุโรป

มาดูสิ่งที่เกิดความเปลี่ยนแปลงในสยามครับ…

ความเปลี่ยนแปลงของสังคม ชีวิตชาวสยามที่ประจักษ์ชัดและเปลี่ยนไปแบบไม่มีวันหวนคืน… เกิดขึ้นในสมัยในหลวง ร.4

กำเนิดและนำเข้า เครื่องจักรกล วิชาการดาราศาสตร์ การถ่ายภาพ วิชาเคมี การพิมพ์ การถ่ายรูป วิชาแพทย์แผนใหม่ ความรู้เรื่องโลหะวิทยา ไฟฟ้า และการนำแก๊สมาใช้ในสยาม…

ในหลวง ร.4 ทรงเรียนรู้ภาษาอังกฤษ ภาษาละติน ติดต่อกับชาวต่างประเทศตลอดมา เพื่อทรงรับทราบวิทยาการสมัยใหม่ที่เป็นแนววิทยาศาสตร์

ย้อนอดีตกลับไป…ชาวสยามรู้จักแก๊สมาตั้งแต่สมัยในหลวง ร.4 โดยใช้แก๊สจุดให้เกิดแสงสว่างในวัง ผู้นำเครื่องแก๊สเข้ามาใช้ในกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรกคือ นาย R.S. Scott

เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2409 ตั้งโรงแก๊สหลวงในพระบรมมหาราชวัง บริเวณที่เป็นพระที่นั่งภานุมาศจำรูญในปัจจุบัน ตำแหน่งเจ้ากรม คือ เจ้ากรมหุงลมประทีป…

สมัยในหลวง ร.5 คือ ยุคตั้งต้นสำหรับเรื่องของกิจการไฟฟ้า

เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2427 ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวง ร.5 ได้มีการจ่ายกระแสไฟฟ้า ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง นับเป็นจุดเริ่มต้น “การมีไฟฟ้าใช้” ของสยามมาตั้งแต่บัดนั้น

บุคคลสำคัญในราชการ ที่นำไฟฟ้ามาสู่ประเทศไทย คือ จอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) ซึ่งขณะนั้นยังมีบรรดาศักดิ์เป็น “เจ้าหมื่นไวยวรนารถ”

ท่านนำเงินที่ได้มาจากการขายที่ดินให้กับสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชเทวี จำนวน 180 ชั่ง หรือ 14,400 บาท ไปซื้อเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 2 เครื่อง จากประเทศอังกฤษมาติดตั้งพร้อมอุปกรณ์

เจ้านายและข้าราชการเห็นไฟฟ้าเป็นของสะดวกและให้แสงสว่างดี จึงพากันนิยมใช้

ต้องนับว่าเป็นความน่าตื่นตาตื่นใจสำหรับชาวสยามที่มีโอกาสได้พบเห็นว่า ไฟฟ้า คืออะไร มีไว้ทำอะไร

การปั่นไฟฟ้าในครั้งปฐมฤกษ์ เครื่องกำเนิดไฟฟ้าถูกนำไปตั้ง ณ กรมทหารหน้า คือ บริเวณที่เป็นกระทรวงกลาโหมในปัจจุบัน และได้ต่อสายไฟฟ้าเข้าไปในพระบรมมหาราชวัง

เจ้าหมื่นไวยวรนารถ ท่านมีวิสัยทัศน์ เห็นว่าหากตั้งโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ขึ้นสำหรับจำหน่ายให้กับประชาชน น่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

หากแต่ในเวลาต่อมา…เจ้าหมื่นไวยวรนารถได้รับหมายให้เป็นแม่ทัพ ไปปราบกบฏฮ่อทางภาคเหนือ จึงยังมิได้ลงมือทำงาน…

ข่าวเรื่องการตั้งโรงไฟฟ้าเอกชนเป็นข่าวดีที่ทุกคนต้องการให้เป็นจริง ชาวต่างชาติในสยามต่างยกมือสนับสนุน

นายเลียว นาดี ชาวอเมริกัน เป็นผู้ชำนาญการไฟฟ้า และทำธุรกิจอยู่ในพระนคร มีแบบแปลนโรงงานไฟฟ้าอยู่ในมือ จึงไปชักชวนนายแฉล้ม อมาตยกุล ซึ่งถูกปลดออกจากราชการแล้ว ตั้งโรงไฟฟ้าขึ้นเป็นครั้งแรกในสยาม

ปี พ.ศ.2440 นายแฉล้มร่วมกับนายเลียว นาดี ชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของ เจ้าหมื่นไวยวรนารถ ได้ก่อตั้งบริษัท บางกอก อิเล็กตริกไลท์ ซินดิเคท (The Bangkok Electric Light Syndicate) เพื่อผลิตไฟฟ้าและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าแก่ประชาชนในพระนคร

นายแฉล้ม อมาตยกุล ได้รับการยอมรับว่า เป็นคนไทยคนแรกที่ตั้งโรงไฟฟ้า จำหน่ายกระแสไฟฟ้าแก่ประชาชน

บ้านของนายแฉล้มอยู่ตรงข้ามกับวัดราชบูรณราชวรวิหาร (วัดเลียบ) ฉะนั้น เมื่อจะตั้งโรงไฟฟ้า จึงได้ขอเช่าที่ดินวัด ซึ่งว่างอยู่ สร้างโรงงานติดตั้งเครื่องจักรผลิตกระแสไฟฟ้า ชาวพระนครต่างเรียกกันว่า “โรงไฟฟ้าวัดเลียบ” เปิดดำเนินการกิจการไฟฟ้า

นี่คือ กำเนิดโรงไฟฟ้าวัดเลียบ

ในการลงทุนช่วงแรก นายแฉล้มได้รวมหุ้นในบรรดาญาติพี่น้องและมีเจ้านายกับขุนนางหลายคนร่วมหุ้นด้วย มีสัญญาจ่ายไฟฟ้าตามท้องถนนหลวงและสถานที่ราชการต่างๆ รวมทั้งจำหน่ายให้แก่ประชาชนโดยทั่วไป…

การดำเนินธุรกิจไฟฟ้าในระยะเริ่มแรก มีปัญหาสารพัด และขาดทุนต่อเนื่อง มีการแก้ไขสัญญาหลายครั้ง ประชากรในยุคสมัยนั้นยังมีไม่มาก ฐานะทางเศรษฐกิจไม่อำนวยต่อการซื้อไฟฟ้าใช้ และประการสำคัญ คือ เงินทุนสำหรับการประกอบการที่แสนจะจำกัด ไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใครที่ไหนได้…

เมื่อธุรกิจขายไฟฟ้าไปไม่รอด นายแฉล้มได้ขาย โอนกิจการไฟฟ้าที่ขาดทุน ไปให้ “บริษัทไฟฟ้าสยาม” จำกัด (The Siam Electricity Co.,Ltd.) ให้รับไปดำเนินการต่อ

บริษัทไฟฟ้าสยาม ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.2441 โดยจดทะเบียนที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก มี นายอ๊อก เวสเตน โฮลซ์ (Mr. Aage Westenholz) เป็นผู้ดำเนินการ

ขอแถมเป็นข้อมูลให้ลูกหลานไทยได้ทราบว่า…โรงไฟฟ้าที่วัดเลียบที่แรกเริ่มในสยามนั้น เป็นโรงผลิตไฟฟ้าชนิดพลังไอน้ำ (พลังความร้อน) ใช้ไม้ฟืน ถ่านหิน น้ำมัน และแกลบเป็นเชื้อเพลิง

การดำเนินกิจการของบริษัท ไฟฟ้าสยาม จำกัด มีความเจริญก้าวหน้ามาโดยลำดับ

ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ.2431… รัฐบาลสยาม ได้เคยให้สัมปทานการ “เดินรถราง” กับชาวเดนมาร์กในกรุงเทพฯ ซึ่งรถรางในเวลานั้นยังต้องใช้ม้าลาก เนื่องจากยังไม่มีไฟฟ้าใช้ หลังจากนั้นเพียง 6 ปีคือ ปี พ.ศ.2437 การเดินรถรางจึงเปลี่ยนมาใช้ไฟฟ้าแทน

ในยุคนั้นถือว่า “โรงไฟฟ้าวัดเลียบ” มีความสำคัญที่สุด เพราะทำให้ประชาชนในเขตพระนครและธนบุรีมีกระแสไฟฟ้าใช้อย่างทั่วถึง

เหตุการณ์ที่สำคัญในอดีตที่เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้าวัดเลียบ คือ

พ.ศ.2450 โรงไฟฟ้าประสบกับภาวะขาดฟืนทำให้ไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ตามปกติ จึงได้มีการกำหนดช่วงเวลาในการจ่ายไฟ

พ.ศ.2451 ได้มีการรวมกิจการของ บริษัท รถรางบางกอก จำกัด และบริษัทไฟฟ้าสยาม เข้าไว้ด้วยกันเพราะเจ้าของเป็นชาวเดนมาร์ก “ไฟฟ้า” กับ “รถราง” เป็นธุรกิจที่ “ไปด้วยกัน” ได้อย่างราบรื่นเป็นปี่เป็นขลุ่ย…

พ.ศ.2488 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โรงไฟฟ้าได้ถูกเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรโจมตีทิ้งระเบิดจนเสียหายใช้การไม่ได้ ทำให้พระนครและธนบุรีตกอยู่ในความมืดมิด ประชาชนไม่มีไฟฟ้าและน้ำประปาใช้

ต่อมา บริษัท ไฟฟ้าไทย คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้จัดการซ่อมโรงไฟฟ้าวัดเลียบ ที่ได้รับความเสียหายไม่มากนักให้ใช้การได้ โดยใช้เวลาเพียง 2 เดือนเศษ โรงไฟฟ้าจึงกลับมาใช้งานได้ตามเดิม

ต้องยอมรับว่า นายแฉล้มเป็นชาวสยามผู้มีความสามารถบุกเบิก จัดตั้งกิจการสาธารณูปโภคสำคัญของบ้านเมือง อันเป็นการวางรากฐานความเจริญของสยามที่ก้าวหน้า ล้ำนำสมัยเพื่อนบ้านในทวีปเอเชีย

นายแฉล้มเป็นใคร มาจากไหน ?

บิดานายแฉล้ม คือ พระยากษาปนกิจโกศล (โหมด อมาตยกุล) เจ้ากรมกสาปน์สิทธิการ ทำหน้าที่ผลิตเงินตราในสมัยในหลวง ร.4

ท่านเกิดเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2393 ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็ก เมื่ออายุ 16 ปี ฝึกฝนวิชาช่างกลจากบิดา ทำงานในโรงกสาปน์สิทธิการและโรงแก๊ส ซึ่งอยู่ในพระบรมมหาราชวัง นอกจากนั้นยังช่วยการถ่ายภาพ และทำโคมลอยอย่างฝรั่งอีกด้วย

ในรัชสมัยในหลวง ร.5 พ.ศ.2412 นายแฉล้ม อมาตยกุล ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็น “หลวงพินิจจักรภัณฑ์” ในตำแหน่งปลัดกรมในโรงกสาปน์สิทธิการ

พ.ศ.2417 ได้รับมอบหมายให้ตกแต่งพระที่นั่งในสวนสราญรมย์ และวันหนึ่ง …มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นในพระบรมมหาราชวัง

ถังแก๊สในพระบรมมหาราชวังเกิดลุกไหม้ขึ้น โดยไม่ระเบิดร้ายแรง ในหลวง ร.5

ทรงตระหนักว่า แก๊ส คือ เชื้อเพลิง ย่อมเป็นอันตรายหากควบคุมมิได้ จึงโปรดให้ย้าย

โรงแก๊สไปสร้างใหม่ที่บริเวณหน้าวัดสุทัศน์เทพวราราม

สันนิษฐานได้ว่าที่ตั้งถังแก๊ส คือ บริเวณที่ตั้งศาลาว่าการกรุงเทพมหานครปัจจุบัน แล้วฝังท่อเข้าไปในพระบรมมหาราชวังและตามถนนในพระนคร

พระพุทธเจ้าหลวง ร.5 โปรดเกล้าฯ ให้หลวงพินิจจักรภัณฑ์ เป็นผู้บังคับการโรงแก๊สแห่งใหม่อีก 1 ตำแหน่ง ด้วยความสามารถนี้ จึงทำให้ท่านได้รับเหรียญบุษปมาลาเป็นบำเหน็จในวิชาช่าง

ในระหว่างชีวิตราชการกำลังรุ่งเรือง ในปี พ.ศ.2422 ก็ต้องประสบชะตากรรมร้ายแรง เนื่องด้วยบิดาและพี่ชาย (พระปรีชากลการ เจ้าเมืองปราจีนบุรีต้องโทษประหารชีวิต กรณีเหมืองทองคำ : ผู้เขียน) ต้องพระราชอาญา หลวงพินิจจักรภัณฑ์ ซึ่งเป็นบุตร จึงถูกถอดยศบรรดาศักดิ์ ชีวิตตกระกำลำบากมาก

ท่านเป็นคนมีความรู้ ความสามารถ เคยเป็นผู้บัญชาการโรงแก๊สมาก่อน เมื่อได้รับการชักชวนจาก นายเลียว นาดี จึงไม่ลังเลใจที่จะตั้งโรงไฟฟ้า…

กลับมาที่ประวัติและคุณความดีของ นายแฉล้ม อมาตยกุล ครับ

ชีวิตของท่านช่วงที่ถูกถอดออกจากราชการ 19 ปี ต้องฝ่าฟันอุปสรรคเพื่อการดำรงชีพ

วันหนึ่ง… เมื่อในหลวง ร.5 ได้มีโอกาสทอดพระเนตรเห็นนายแฉล้ม อมาตยกุล ทรงพระเมตตาสงสาร

ทรงมีพระราชปรารภว่า ชีวิตที่ผ่านมามิใช่ความผิด หากแต่เป็นผลของกฎหมายที่ครอบคลุมผู้รับผิดทั้งวงศ์ตระกูล เนื่องจากนายแฉล้มเคยรับใช้ใกล้ชิดเบื้องยุคลบาทมาก่อน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กลับเข้ารับราชการ ดูแลพระราชอุทยานสราญรมย์เช่นเดิม

พ.ศ.2442 โปรดฯ ให้เป็น พระยาอภิรักษ์ราชอุทยาน ด้วยความรู้ทางการช่าง และเครื่องกล

เมื่อในหลวง ร.5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังดุสิต พระยาอภิรักษ์ราชอุทยาน ก็ได้รับหน้าที่ทำสวนต่างๆ หลายแห่ง รวมทั้งเป็น

ผู้จัดการทำโรงโซดาดุสิต ตลอดรัชกาลอีกด้วย…

ในช่วงรัชสมัยในหลวง ร.6 ได้รับราชการสนองพระมหากรุณาธิคุณ เช่น สมัครเป็นเสือป่า ได้รับสัญญาบัตรเป็นนายหมู่ตรีเสือป่า

พระยาอภิรักษ์ราชอุทยาน ยังเป็นผู้ริเริ่มกิจการสมัยใหม่ในบ้านเมือง คือ การทำน้ำแข็ง ซึ่งถือว่าเป็น “สิ่งมหัศจรรย์” สำหรับชาวสยามเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว เพราะสังคมไทยมีคำกล่าวแดกดัน “คนโกหก” ว่า “ปั้นน้ำเป็นตัว” โรงน้ำแข็งของท่านตั้งอยู่และ

จำหน่ายในพระนครที่ในบ้านของท่านที่วัดราชบูรณะ

ข้อมูลแถมท้ายเกี่ยวกับเรื่องไฟฟ้าครับ…ในปี พ.ศ.2472 ทางราชการได้จัดตั้ง “แผนกไฟฟ้า” ขึ้นใน กองบุราภิบาล กรมสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย มีหน้าที่สำรวจและจัดให้มีไฟฟ้าใช้ตามสุขาภิบาลต่างๆ

มีบันทึกว่า…เมืองราชบุรี เป็นเทศบาลเมืองต่างจังหวัดแห่งแรกในสยามที่มีไฟฟ้าใช้

พระยาอภิรักษ์ราชอุทยาน (แฉล้ม อมาตยกุล) ป่วยเป็นโรคกระเพราะปัสสาวะพิการ ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2459 เมื่ออายุ 66 ปี

ผมโชคดีที่ไปเจอหนังสือเก่าเล่มนี้ เลยมีโอกาสนำมาบอกกล่าว เล่าต่อ ย้อนนึกถึงบรรพบุรุษสยามอีกหลายๆ ท่าน ที่เคยสร้างคุณความดีไว้…เพื่อเป็นกำลังใจ เป็นแรงใจให้กับชนรุ่นหลังที่จะสร้างสรรค์ต่อไปครับ…

จะซอกแซก ค้นหามาเผยแพร่ บอกเล่ากันต่อไปครับ

เรียบเรียงโดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก
———————————————-
ข้อมูลบางส่วนจาก www.egat.co.th และ เว็บไซต์ Egat.co.th และ 9engineer.com

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image