สถานีคิดเลขที่ 12 : ทุกข์สุข 2563 : โดย วรศักดิ์ ประยูรศุข

วันที่ 9 มกราฯ ปีนี้ มติชนครบรอบวันเกิด 42 ปี ก้าวสู่ปีที่ 43

ขอกราบขอบพระคุณ ท่านผู้อ่านและประชาชนผู้มีอุปการคุณ ที่สนับสนุนมติชนและเครือมติชนมาจนถึงวันนี้ ปีนี้ รวมถึงวันหน้า และปีต่อๆ ไป

ปี 2563 เป็นอีกปี ที่มติชนและประชาชนคนไทย จะได้เคียงบ่าเคียงไหล่ เผชิญปัญหา และทุกข์สุขต่างๆ ไปด้วยกัน เหมือนๆ กับ 40 กว่าปีที่ผ่านมา

จะสุขหรือทุกข์มากกว่ากัน ต้องมาคอยดู

Advertisement

ปีที่แล้ว มีการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อ 24 มีนาคม เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของบ้านเมืองเรา หลังจากที่อยู่ภายใต้ระบบหลังรัฐประหารมา 5 ปีเศษ

เป็นการเลือกตั้งที่มีความพิเศษหลายอย่าง รวมถึงการหาเสียงของพรรคการเมืองว่า หากชนะเลือกตั้ง จะเข้าไปแก้รัฐธรรมนูญ 2560

ที่ไม่ธรรมดาก็คือ พรรคที่หาเสียงแบบนี้ ได้ ส.ส.เข้าสภามาจำนวนมาก

กลายเป็นน้ำหนักสำคัญ ทำให้การเคลื่อนไหวแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นจริงเป็นจังมากขึ้น

ผลการเลือกตั้ง 24 มีนาคม ยังมีอีกมากมายหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น การนับคะแนนเลือกตั้ง การคำนวณจำนวน ส.ส.ของแต่ละพรรค ฯลฯ

กลายเป็นบทพิสูจน์รัฐธรรมนูญ 2560 ในภาคปฏิบัติ ทำให้เห็นว่า เป็นกติกาที่เอื้ออำนวยให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากเกินไป

ครั้นจะบอกว่า เป็นกติกาที่เป็นธรรมแล้วในแบบไทยๆ ก็ดูจะทำให้คำว่าไทยๆ ไม่สง่าสวยงามเท่าที่ควร

เป็นอีกแรงผลักดัน ทำให้เห็นความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ไม่กี่วันมานี้ ยังเกิดการถกเถียงถึงข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญ ให้ระดับ ผบ.เหล่าทัพ ทั้งทหารและตำรวจ 6 นาย เป็น ส.ว.โดยตำแหน่ง ว่าถูกหลักการประชาธิปไตยแล้วหรือไม่

นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนฯ เป็นผู้เปิดประเด็นนี้ขึ้นมาและเสนอแนะว่า กรรมาธิการวิสามัญก็น่าจะไปศึกษาเรื่องนี้ด้วย

คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตั้งขึ้นมาแล้วเมื่อปลายปี 2562 ที่เพิ่งผ่านไป เป็นการเริ่มต้นที่หลายคนบอกว่า ยังห่างไกลมากกับคำว่า “แก้ไขรัฐธรรมนูญ”

เพราะปกติของการตั้งกรรมการมาศึกษาเรื่องใดก็ตาม ถือเป็นขั้นตอนสำหรับ “ติ๊ดชึ่ง” ซื้อเวลา ลากยาวๆ ม้วนไปม้วนมาก่อน พอใกล้ๆ จะหมดเวลาที่กำหนดไว้คือ 120 วัน ค่อยขอต่ออีก

จะลากยาวอย่างไรก็ตาม แต่นี่คือเรื่องของกฎกติกา อันเป็นระเบียบการอยู่ร่วมของคนในสังคม ซึ่งจะต้องเอื้ออำนวยทุกฝ่าย

สุดท้ายอาการ “สมควรแก่เวลา” จะต้องมาถึง และมีเสียงทวงถามขึ้นมาว่าจะมีข้อเสนออะไร หรือจะสรุปอะไร

สภาพเช่นว่านี้ มีแนวโน้มสูงว่าจะเกิดขึ้นในปี 2563

เร็วช้า แรงหรือไม่แรง มีสุขทุกข์ของประชาชนเป็นปัจจัยสำคัญ

คนที่มีความสุขมักจะไม่อยากเปลี่ยนแปลงอะไร หยุดเวลาได้ยังอยากจะหยุด

ตรงกันข้ามกับคนที่อยู่ในความทุกข์

เป็นกฎธรรมดาของโลกที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image