เหตุใด ธปท.จึงเบาปัญญา : วีรพงษ์ รามางกูร

เป็นคำถามที่ถามตนเองอยู่ตลอดมา ตั้งแต่เริ่มทำงานทางด้านนโยบายเศรษฐกิจและการเมือง ในฐานะที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เหตุใดธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ขัดขวางนโยบายที่ควรจะเป็นตั้งแต่ปี 2520 เสมอมา

วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ก่อปัญหาทั้งสิ้น เช่น การไม่ยอมลดค่าเงินบาท สมัยรัฐมนตรีคลัง สมหมาย ฮุนตระกูล จนต้องปลดผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้ออกหนังสือมาเขียนเล่าความ อีกคนหนึ่งอยู่ได้ในระยะสั้นๆ และที่ร้ายแรงที่สุดก็คือ สมัยนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการ ธปท. แทนที่จะลดค่าเงินบาทและเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนให้ยืดหยุ่นมากขึ้น กลับเอาเงินทุนสำรองที่กู้มาจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ที่มีจำนวนอันน้อยนิดเอาไปต่อสู้กับบรรดากองทุน “ตรึงมูลค่า” หรือ hedge fund ที่เกิดในอเมริกาแต่จ้องหากำไรจากประเทศที่เปิดเสรีทางการเงิน ประเทศที่ยังไม่เปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนจากระบบ “คงที่” ผูกมัดกับค่าเงินดอลลาร์ หรือกับ “ตะกร้าเงิน” basket of currencies ซึ่งเงินดอลลาร์สหรัฐมีสัดส่วนมากที่สุดในตะกร้าเงิน

เมื่อค่าเงินบาทเขย่ง ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงที่ประเทศไทยขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดสูงถึงร้อยละ 8 ของรายได้ประชาชาติและติดต่อกันมาเป็นเวลาหลายปี เพราะเงินออมมีน้อยกว่าเงินลงทุนเมื่อเทียบกับรายได้ประชาชาติ เป็นไปตามตำราเศรษฐศาสตร์ที่สอนกันอยู่ในมหาวิทยาลัยทุกแห่งในประเทศไทย แต่ผู้บริหารนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยก็ไม่ตระหนัก

เหตุใดผู้ว่าการและเจ้าหน้าที่ชั้นสูงของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่เป็นเสียงข้างมากในคณะกรรมการนโยบายการเงิน จึงได้มองไม่เห็นปัญหา ไม่ใช้เครื่องมือทางการเงินที่ตนมีอยู่ให้เพียงพอและทันกาลในการแก้ไขปัญหาที่ตนเป็นอยู่ ยิ่งเมื่อมีการแก้ พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทยให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นอิสระ หลุดโลกไปอย่างสมบูรณ์ ไม่มีการถ่วงอำนาจ ก็ยิ่งมีความเป็นอิสระในการสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจของชาติ

Advertisement

แต่ผู้บริหาร ธปท.ตั้งแต่ยุคสมัย พล.อ.เปรม เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นต้นมา สื่อมวลชนกระแสหลักโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เขียนข่าวเศรษฐกิจซึ่งไม่มีความรู้ความเข้าใจและสำคัญที่สุดคือความจำเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจ เคยจัดอบรมและบรรยายให้ฟังก็ไม่ได้ผล เมื่อมีคนแอบเอาข้อมูลทางการเงินและนโยบายการเงินออกมาให้กับนักข่าว ผู้บริหารที่ไม่ซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพดังกล่าวก็กลายเป็นที่นิยมชมชอบของสื่อมวลชน แม้ว่าจะย้ายไปอยู่ตลาดทุนก็ยังได้รับความนิยมชมชอบ ไม่เคยมีใครทราบว่าข่าวรั่วไหลได้อย่างไร จนมีการสืบพบความจริงในทางลับว่าผู้บริหารของ ธปท. เป็นผู้ลอบให้ข้อมูลที่ยังเป็นความลับ แต่เป็นหลักฐานที่นำไปอ้างกับศาลไม่ได้ เพราะเป็นวัตถุพยานที่ไม่ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย

ตลอดระยะเวลาเกือบ 30 ปีมานี้ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารแห่งประเทศไทยล้วนแต่ไต่เต้ามาจากการเป็นนักเรียนทุนของธนาคาร ผ่านการสอบแข่งขันอย่างเข้มข้น เป็นหัวกะทิของประเทศ ส่วนใหญ่สอบเข้าคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ แล้วย้อนกลับมาสอบรับทุนธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมีพันธะว่าเมื่อกลับมาแล้วต้องมาทำงานกับธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 เท่าของเวลาที่รับทุนไปเรียน มหาวิทยาลัยที่นักเรียนทุนเหล่านี้ไปเรียนปริญญาเอกทางเศรษฐศาสตร์ก็ดี ทางบริหารธุรกิจก็ดี ทางบัญชีก็ดี ทางกฎหมายก็ดี ล้วนแล้วแต่เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของอเมริกา อังกฤษ หรือยุโรปตะวันตก เป็นมหาวิทยาลัยที่คนไทยใฝ่ฝันอยากจะเข้าเรียนทั้งนั้น ไม่มีใครสงสัยในความเรียนเก่ง มีมันสมองเป็นเลิศเป็นหัวกะทิของประเทศ cream of the crop

แต่เมื่อเรียนหนังสือกลับมาทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย กลับเป็นคนเบาปัญญา ปาฐกถาเรื่องเศรษฐศาสตร์สำหรับประเทศไทยผิดๆ ถูกๆ เหมือนไม่เคยอ่านตำราเศรษฐศาสตร์มหภาคสำหรับประเทศเล็กและเปิดอย่างประเทศไทย อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการพลังงานที่เรียนเศรษฐศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ไม่ต้องเสียเงินหลวงข้ามน้ำข้ามทะเลไปเรียนเมืองนอกเมืองนาที่ไหนมา แต่พูดจาภาษาเศรษฐศาสตร์ได้ดีกว่ามาก

Advertisement

เท่าที่ลองติดตามดูจะเห็นว่า ทำไมนโยบายการเงินที่ออกจากกรรมการนโยบายการเงิน จึงไม่แตกต่างจากนโยบายการเงินที่ออกจากคนคนเดียว ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะโครงสร้างของกรรมการนโยบายการเงิน 7 คน ผู้ว่าการเป็นประธาน 1 คน 3 คนมาจากรองผู้ว่าการและผู้ช่วยผู้ว่าการ และอีก 3 คนมาจากกระทรวงพาณิชย์คนหนึ่ง สำนักงานเศรษฐกิจการคลังคนหนึ่ง และกรรมการอิสระคนหนึ่งที่รัฐมนตรีคลังเสนอขึ้นไป กรรมการที่มาจาก ธปท.ก็เป็นเสียงข้างมากอยู่แล้วและมีเจ้าหน้าที่ ธปท.ที่เคยทำความเสียหายให้กับประเทศชาติ โดยการเอาทุนสำรองทั้งหมดไปสู้กับ จอร์จ โซรอส ผู้นำกองทุนตรึงมูลค่า จนประเทศชาติล้มละลาย ต้องเข้าโครงการกองทุนระหว่างประเทศมาแล้ว

อดีต ผบ.ทบ.ไทยไปขอความช่วยเหลือจากจีนเป็นการส่วนตัว จีนยินดีให้กู้ยืมโดยไม่มีเงื่อนไขอย่างไอเอ็มเอฟ เพียงขอดูบัญชีทุนสำรองว่ามีเหลืออยู่เท่าใด ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยสมัยนั้นไม่ให้ดู อ้างว่าเป็นความลับ แม้ผู้จะให้กู้ขอดูก็ไม่ได้ ให้ดูได้แต่เจ้าหน้าที่ไอเอ็มเอฟเท่านั้น เป็นความเบาปัญญาของธนาคารแห่งประเทศไทยอีกเรื่องหนึ่ง แต่สื่อมวลชนก็ยังคงชื่นชอบธนาคารแห่งประเทศไทยจนเหลิงอยู่นั่นเอง คอยจ้องจับผิดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะถูกแทรกแซงโดยฝ่ายการเมืองบ้าง โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังบ้าง ทั้งๆ ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไม่ว่าจะมาจากการแต่งตั้งจากข้าราชการหรือนักการเมือง ไม่เคยได้ยินว่าจะมีใครแทรกแซงนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย

มีอยู่ครั้งเดียวที่จำเป็นต้องแทรกแซงเมื่อปี 2527 ที่ค่าเงินบาทแข็งจนประเทศส่งออกไม่ได้ น้ำมันถูกเกินไป ราคาข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง อ้อยและน้ำตาล น้ำมันปาล์ม ราคาตกหมด เหมือนๆ กับปัจจุบัน พูดอย่างไรผู้ว่าการก็ไม่ยอม รัฐมนตรีคลังจึงมีความจำเป็นต้องปลดผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยออกจากตำแหน่ง แล้วตั้งคุณกำจร สถิรกุล ไปเป็นผู้ว่าการแทน จึงสามารถลดค่าเงินบาทและเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนได้ ถ้าปล่อยให้ทำเองก็คงไม่ทำและปล่อยให้ประเทศล้มละลายไปแล้ว

ทุกคนไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชนที่ชื่นชอบระบอบเผด็จการทหารที่ตรวจสอบไม่ได้ ที่สืบทอด
อำนาจตนเองได้เพราะมีวุฒิสภาฝักถั่วที่ตนเองตั้งเป็นตัวช่วย หรือเกลียดเผด็จการรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งที่ตรวจสอบได้ ที่มีวาระแน่นอนและประชาชนเปลี่ยนรัฐบาลได้ หรือจะเป็นข้าราชการทหารที่เป็นรั้วของชาติเหมือนๆ ข้าราชการประจำฝ่ายพลเรือนที่ไม่มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน หรือประชาชนเดินดินกินข้าวแกงข้างทาง หรือนักวิชาการหัวใส ต่างก็ตระหนักดีว่านอกจากธนาคารแห่งประเทศไทยที่เป็นตัวถ่วงความสามารถในการแข่งขันเพื่อการส่งออกของประเทศมาโดยตลอด ยังมีรัฐบาลเผด็จการทหารที่ไม่เป็นที่ยอมรับในประชาคมโลกที่ทำมาค้าขายและลงทุนไขว้กันไปมา ก็ยิ่งเป็นตัวถ่วงการขยายตัวทางเศรษฐกิจและความเจริญของประเทศชาติ

รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจและรัฐมนตรีคลังออกมาสารภาพว่าไม่รู้จะทำอย่างไรกับธนาคารแห่งประเทศไทยที่ดำเนินนโยบายการเงินผิดพลาด สร้างความเสียหายย่อยยับให้กับประเทศเป็นระยะๆ เสมอมา อำนาจก็อยู่ในมือ ก็ควรจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย สร้าง “การถ่วงดุล” check and balance ระหว่างผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสีย ไม่ปล่อยให้คนคนเดียวในกรรมการนโยบายการเงินใช้เหตุผลที่ตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ผิด ครอบงำกรรมการคนอื่นๆ ที่ไม่มีความรู้ทางเศรษฐศาสตร์มหภาคและเศรษฐศาสตร์การเงิน ภาคเอกชนเช่น เลขาธิการสมาคมธนาคารไทยก็ดี ประธานสภาหอการค้าก็ดี ประธานสภาอุตสาหกรรมก็ดี ไม่มีความกล้าหาญพอที่จะออกมาช่วยรัฐบาลในการคัดค้านธนาคารแห่งประเทศไทย เพราะห่วงกิจการการค้าของตัวเองแทนที่จะห่วงประเทศชาติเป็นส่วนรวม

การไม่กล้าใช้ “อัตราแปลกเปลี่ยน” เป็นเป้าหมายหลักของนโยบายการเงิน เมื่อคราวที่ ม.ร.ว.จัตุมงคล เป็นผู้ว่าการ ธปท. ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยของโลก ขณะเดียวกันไทยใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่โดยตรึงค่าเงินบาทกับเงินดอลลาร์ เป็นเหตุให้เงินไหลเข้ามากินกำไรส่วนต่าง โดยการโยกอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทกับเงินดอลลาร์ ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ไม่สามารถที่จะทำความเข้าใจในการทำนโยบายการเงิน สังเกตได้จากการให้เหตุผลข้างๆ คูๆ จนเสีย “ค่าโง่” ให้กับกลุ่มกองทุนตรึงมูลค่าไปเปล่าๆ ทั้งๆ ที่เงินดอลลาร์เหล่านั้นมาจากการส่งออก เป็นเงินที่ได้มาด้วยความเหนื่อยยาก

เคยคุยกันกับนักเศรษฐศาสตร์หลายสถาบันว่า เหตุใดผู้ใหญ่ของธนาคารแห่งประเทศไทยพูดจาเอาความดีใส่ตัวและโยนความรับผิดชอบให้รัฐมนตรีคลัง ขณะเดียวกันก็อาศัยกินบุญเก่าของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ แต่ข้างในกลวง ไม่มีความรู้ความสามารถเอาเสียเลย ไม่เหมือนนักวิชาการจีนที่เซี่ยงไฮ้ที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนฟัง ไม่ยอมอ่อนข้อให้กับเจ้าหน้าที่ไอเอ็มเอฟเหมือนกับธนาคารกลางของไทย

สรุปออกมาได้ 2-3 ประเด็นคือ เป็นปมด้อยที่เคยทำผิดพลาดมาแล้วโดยการเอาทุนสำรองทั้งหมดไปสู้กับกองทุนตรึงมูลค่า การไม่ยอมรับความช่วยเหลือจากจีนแต่ยอมเข้าโครงการมหาโหดของไอเอ็มเอฟ จึงปล่อยให้อัตราแลกเปลี่ยนซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของความสามารถในการแข่งขันของประเทศเสียไป การอ้างว่ากลัวอเมริกาและไอเอ็มเอฟเล่นงานถ้าปล่อยให้ดอกเบี้ยต่ำ

ค่าเงินควรอ่อนกว่านี้ อยู่ที่ 33-35 บาทต่อดอลลาร์ เพราะเงินเฟ้อก็ไม่มี การส่งออกก็จะขยายตัว 8-10 เปอร์เซ็นต์ อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจก็จะได้ประมาณ 6-7 เปอร์เซ็นต์ ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลประมาณ 5-6 เปอร์เซ็นต์ ของรายได้ประชาชาติ เงินเฟ้อไม่เกิน 2 เปอร์เซ็นต์ โอกาสที่ประเทศไทยจะพ้น “กับดัก” ประเทศรายได้ปานกลาง กลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วตามมาเลเซียภายในปีนี้ 2020 ตามที่คาดการณ์ไว้ก็ได้ แต่นี้ก็สายไปเสียแล้ว

เพราะธนาคารแห่งประเทศไทยแห่งเดียวที่เป็นตัวถ่วง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image