ความตายสามเจ็ดสาม…โดย เฉลิมพล พลมุข

ความมีชีวิตของมนุษย์หรือคน รวมถึงสิ่งที่มีชีวิตอื่นใดที่กำเนิดเกิดมาในโลกนี้ ธรรมชาติหนึ่งก็คือ การเกิดขึ้นมาแล้วดำเนินชีวิตไปตามเหตุปัจจัยในที่สุดของชีวิตแล้วก็แก่เจ็บป่วยไข้และตายสลายกลับคืนสู่ธรรมชาติไปในที่สุด เป็นสิ่งที่เราท่านรับรู้ได้เชิงประจักษ์ในวิถีชีวิตประจำวัน

การตายของมนุษย์ในโลกนี้นอกจากจะมีความตายอันเนื่องมาจากโรคภัยไข้เจ็บ ความเจ็บป่วยที่มาจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวันทั้งการกิน การทำงาน ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย อยู่ในบ้านสถานที่มิได้เอื้อต่อการมีอายุยืน อาทิ อากาศ ฝุ่น ถนนหนทาง รวมทั้งเพื่อนบ้านบางคนที่ดูเสมือนจักมิได้เป็นมิตรมากนักแล้ว การกินยารักษาโรคบางชนิดที่มากและต่อเนื่องเกินไป รวมถึงอุบัติเหตุที่มิได้คาดการณ์มาก่อนในชีวิตประจำวัน และอุบัติเหตุที่สามารถป้องกันและเฝ้าระวังได้โดยเฉพาะการเดินทางในช่วงเทศกาลที่มีวันหยุดยาวหลายวันทั้งเทศกาลสงกรานต์และเทศกาลสิ้นปีเก่าต้อนรับปีใหม่

การรายงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.) ได้มีการสรุปถึงตัวเลขของผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุบาดเจ็บ และความตายของประชาชนในเทศกาลดังกล่าวหรือที่เรียกว่าเจ็ดวันอันตรายตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2562-2 มกราคม 2563 พบมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นรวม 3,421 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บรวม 3,499 คน และมีผู้ที่เสียชีวิตในเทศกาลดังกล่าวไปในจำนวน 373 คน…

ในจำนวนผู้ที่เสียชีวิตพบในกรุงเทพมหานครมีตัวเลขสูงสุดคือ 15 ราย จังหวัดที่พบถึงผู้ที่ได้รับบาดเจ็บสะสมสูงสุดคือ จังหวัดสงขลา ในจำนวน 121 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 32.68 ขับรถเร็ว ร้อยละ 29.00 พฤติกรรมที่มีความเสี่ยงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนถนนสูงสุด ได้แก่ การไม่สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 56.12 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 22.49 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดคือ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 79.97 รถปิกอัพ ร้อยละ 6.81 ส่วนใหญ่เกิดอุบัติเหตุในถนนเส้นทางตรง ร้อยละ 63.37 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 39.02 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา 16.01-20.00 น. ร้อยละ 26.28 (มติชนรายวัน 5 มกราคม 2563 หน้า 1, 11)

Advertisement

การเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้ประชากรไทยต้องได้รับการบาดเจ็บพิการ และความตายในสังคมไทยเรา โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลที่มีวันหยุดยาวหลายวันได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องซ้ำแล้วซ้ำเล่าในรอบมากกว่าหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา รัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐรวมถึงหน่วยงานอื่นทั้งที่มีความรับผิดชอบโดยตรง และโดยอ้อมดูเสมือนว่า การบาดเจ็บ และความตายของคนไทยเราที่มิใช่ญาติที่ใกล้ชิด หรือบุคคลที่มิได้มีความสำคัญต่อทั้งรัฐในฐานะพลเมืองที่สามารถเป็นพลังของแผ่นดินทั้งการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในระหว่างการมีชีวิตลมหายใจอยู่ เป็นการละเลยที่มิได้ใส่ใจในเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างจริงใจหรือไม่…

ความตายของคนไทยไปในจำนวน 373 คน และพบผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุทางถนนหนทาง รถประเภทต่างๆ ไปในจำนวน 3,421 ครั้ง เราท่านคงจะมิทราบถึงผู้ที่ได้บาดเจ็บจนกระทั่งมีความพิการในชีวิตตลอดชีวิตที่เขาต้องมีชีวิตอยู่ทั้งขาขาด แขนขาด ตาบอดหรือพิการอื่นใด หากเขาคนนั้นเป็นเสาหลักของครอบครัวก็จะบั่นทอนถึงสถานภาพของครอบครัวไปในข้อเท็จจริง อาจจักรวมถึงการตายในจำนวนสามร้อยกว่าศพ ซึ่งเป็นการสูญเสียที่มิอาจจักประเมินทั้งระบบเศรษฐกิจ จิตใจอารมณ์ความรู้สึกของครอบครัวที่เขาได้สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักยิ่งไปอย่างมิมีวันจะกลับมาเหมือนเดิมอีกต่อไป

รัฐบาลของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชาในวาระสองที่ผ่านจากยุค คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ที่มีนโยบายหลักทั้งในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 และหลักการในยุทธศาสตร์ชาติยี่สิบปี (พ.ศ.2561-2580) ที่ต้องการปฏิรูปประเทศในบริบทต่างๆ ในภาพรวม มาถึงในวันนี้ผ่านเทศกาลที่วนเวียนของความตายในผู้คนประชาชนไทยที่มีตัวเลขของการตายที่มากกว่าการประท้วงต่อต้านรัฐบาลและสงครามในบางประเทศรวมถึงโรคระบาดที่ร้ายแรงประเภทต่างๆ ที่ผ่านมา รัฐได้เล็งเห็นถึงการมีชีวิตหรือความหมายในลมหายใจที่จักต้องช่วยชาติบ้านเมืองไปอย่างมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนเป็นอย่างดีแล้วหรือไม่

Advertisement

ผู้เขียนเข้าใจว่าท่านผู้อ่านหลายท่านอาจจักรวมถึงรัฐมนตรีในรัฐบาลบางคนคงจักมิอาจจะใช้วันเวลาดังกล่าวไปท่องเที่ยวในสถานที่เที่ยวต่างๆ ทั่วประเทศที่ได้เชิญชวนให้คนไทยเราได้ออกไปท่องเที่ยวเพื่อใช้เงินตราที่เป็นการกระตุ้นในระบบเศรษฐกิจที่เป็นเป้าหมายหนึ่งของรัฐบาล ข้อเท็จจริงหนึ่งหลายคนหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุบาดเจ็บ และความตายจากเทศกาลดังกล่าวที่มิอาจจักประเมินคาดการณ์ถึงการมีชีวิตกลับมาได้อย่างปลอดภัยมากนัก

ข้อเท็จจริงหนึ่งที่เราท่านพบเห็นได้เชิงประจักษ์ในทุกๆ จังหวัดของเมืองไทยเราก็คือ มีผู้ที่ขับขี่รถจักรยานยนต์หลายคนที่ตั้งใจและมิได้ตั้งใจจะสวมหมวกนิรภัย โดยเฉพาะเด็กหรือวัยรุ่นที่กำลังอยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียนหลายคนเหล่านั้นคึกคะนอง ท้าทายต่อการตรวจจับของเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะเด็กแว้นที่มีอยู่ทั่วเมืองไทยเรา รัฐจักมีมาตรการเช่นใดที่จะลดอุบัติเหตุและสร้างจิตสำนึกเหล่านั้นให้กับเด็กเยาวชนไทยเราในวันนี้

ถนนหนทางหรือป้ายจราจรก็เป็นเหตุปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ต้องได้รับอุบัติเหตุ และความตายต่อประชาชนที่จำเป็นต้องใช้เส้นทางในการเดินทาง ถนนหลายแห่งเป็นหลุมบ่อแตกร้าว การซ่อมแซมที่ยังไม่แล้วเสร็จ การมีวินัยและจิตสำนึกต่อเพื่อนร่วมเดินทางทั้งการขับขี่รถที่ใช้ความเร็วสูง การตัดหน้ากระชันชิด ซึ่งต้องใช้เจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานเพื่อเหตุดังกล่าวในจำนวน 64,957 คน ที่ได้เรียกตรวจยานพาหนะไป 953,238 คัน มีผู้ที่ถูกดำเนินคดี 230,603 ราย พบในฐานความผิดไม่สวมหมวกนิรภัย 56,447 รายและไม่มีใบขับขี่ในจำนวน 51,686 ราย มิอาจจักรวมถึงพฤติกรรมที่เมาแล้วขับขี่ที่เป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุ บาดเจ็บและความตายเกิดขึ้น คำถามหนึ่งที่อาจจักมิได้รับคำตอบก็คือ อะไรคือความหมายของการตายในคนไทยช่วงเทศกาล การตายที่เกิดขึ้นซ้ำบ่อยๆ ในเทศกาลดังกล่าวเป็นปกติธรรมดาหรือไม่…

ในกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ในหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ในมาตรา 51 ได้ระบุไว้ว่า การใดที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของรัฐตามหมวดนี้ ถ้าการนั้นเป็นการทำเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนโดยตรง ย่อมเป็นสิทธิของประชาชนและชุมชนที่จะติดตามและเร่งรัดให้รัฐดำเนินการ รวมตลอดทั้งฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดให้ประชาชนหรือชุมชนได้รับประโยชน์นั้นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ

เจตนารมณ์ของกฎหมายในมาตราดังกล่าว เพื่อต้องการให้รัฐได้กระทำหน้าที่อย่างดีที่สุดทั้งมาตรการการป้องกัน การวางแผนอย่างเป็นระบบ การทำงานอย่างเชื่อมโยงและเฝ้าระวังในการช่วยชีวิตอย่างจริงจัง การรายงานของสื่อถึงตัวเลขในอุบัติเหตุและความตายในรายชั่วโมง รายวันเพื่อนำเสนอในข้อเท็จจริงที่รัฐจักต้องนำไปปฏิบัติมิได้เกิดขึ้นดั่งที่ผู้นำของรัฐได้เปล่งวาจาที่ว่า “ขอให้เทศกาลปีใหม่นี้เป็นเทศกาลแห่งความสุข และความปลอดภัยบนท้องถนน มีความสุขกันที่บ้าน ใครตายแม้แต่คนเดียวผมเสียใจ เพราะทุกคนเป็นคนไทย”

หลักการในยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง ในข้อที่ 4.2.2 ที่ได้กล่าวถึงการติดตาม เฝ้าระวัง ป้องกัน และแก้ไขปัญหาที่อาจอุบัติขึ้นใหม่ เพื่อให้ทราบสถานการณ์ล่วงหน้าและสามารถแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงทีก่อนที่จะลุกลามต่อไป นอกจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ การก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ อิทธิพลทางเศรษฐกิจของมหาอำนาจ การย้ายถิ่นของทุนข้ามชาติที่กระทบต่อความมั่นคงแล้ว อุบัติเหตุความเป็นความตายของผู้คนในจำนวนหลายร้อยคนต่อเจ็ดวันอันตรายจักรวมอยู่ในมาตรการของการเฝ้าระวังที่รัฐจักต้องเอาใจใส่อย่างจริงใจด้วยหรือไม่…

ข้อเท็จจริงหนึ่งในสังคมไทยเราในวันเวลานี้ กำลังแรงงานหนึ่งสำคัญที่ช่วยผลักดันด้านเศรษฐกิจของเมืองไทยเราก็คือแรงงานข้ามชาติทั้งเมียนมา ลาว เขมร แขก ฝรั่ง อินเดีย และชาติต่างๆ ที่ทำงานในระบบต่างๆ ของสังคมไทยเรา ในตลาดขายส่งสินค้าขนาดใหญ่มีแรงงานเหล่านั้นเป็นจำนวนมากทั้งการพูดสื่อสาร การแต่งหน้าตา ภาษาที่เขียนบอกสั่งของเจ้าของผู้ประกอบการ มิอาจจักรวมถึงบางสถานที่ที่เราพบเห็นชาวต่างชาติที่เขาได้ใช้ชีวิตเสมือนดินแดนของเขาทั้งแหล่งบันเทิง ชุมชนย่านการค้า จังหวัดที่มีชาวประมงที่มีดินแดนติดกับเพื่อนบ้านเรา

ความตายและการตายอาจจักถูกตั้งคำถามทั้งมูลค่าและคุณค่าความหมายต่อการตายของมนุษย์หรือคนที่เกิดมาลืมตาดูโลกครั้งหนึ่งที่ว่า การตายชนิดใดหรือประเภทใดที่เป็นการตายดี ตายอย่างมีความสุข เราท่านส่วนใหญ่คงจะปฏิเสธการตายในเทศกาลที่มิอาจจะตั้งหลักหรือเตรียมตัวตายไว้ล่วงหน้าแล้วกระมัง รัฐได้เห็นความตายอย่างชัดเจนแล้วหรือไม่…

เฉลิมพล พลมุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image