เดินหน้าชน : แก้แล้งแบบพื้นๆ

สถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ส่งสัญญาณกันมาตั้งแต่เข้าสู่ช่วงฤดูหนาวเดือนตุลาคมปีที่แล้วที่มาเร็วไป ทำให้ภัยแล้งเขยิบเข้ามาเร็ว ส่งผลกระทบต่อแหล่งเก็บน้ำทางธรรมชาติ รวมถึงอ่างเก็บน้ำใหญ่จนถึงขนาดเล็กมีระดับน้ำที่ต่ำจนไม่สามารถเปิดประตูน้ำให้เกษตรกรนำไปใช้เพาะปลูกได้ เก็บไว้ใช้เพื่ออุปโภคบริโภคเป็นหลัก

ทั้งที่ก่อนเข้าสู่ช่วงหน้าหนาวตุลาคม ปี 2562 หลายจังหวัดเพิ่งเก็บกวาดความเสียหายจากพายุโพดุลกับคาจิกิที่จัดหนัก ทั้งที่ปีเดียวกันนั้นหลายคนบ่นว่าหน้าร้อนยาวนาน ฝนก็มาช้ากว่าปกติ แล้วก็มาเผชิญกับพายุใหญ่ๆ ถึงสองลูก

รายงานของ ปภ. ช่วงวันที่ 29 สิงหาคม – 24 กันยายน 2562 หรือปีที่แล้ว พายุสองลูกนี้ที่มาต่อเนื่องกัน ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินสไลด์ และวาตภัยในพื้นที่ 32 จังหวัด ครอบคลุมภาคเหนือกับอีสานเป็นส่วนใหญ่ น้ำท่วมเต็มบ้านเต็มเมือง ต้องระดมเปิดทางน้ำให้พื้นที่ชุมชนแห้ง หลายหมู่บ้านต้องอพยพชาวบ้านหนีไปที่ปลอดภัยชั่วคราว ครั้งนั้นติดตั้งเครื่องสูบน้ำไล่น้ำไปให้หมดโดยเร็ว แตกต่างกับสถานการณ์ภัยแล้งในวันนี้ เครื่องสูบน้ำตัวเดิมๆ ของหน่วยงานถูกนำมาติดตั้งเพื่อช่วยประชาชนได้มีน้ำใช้ เกษตรกรก็ช่วยเหลือตัวเองต่อท่อกันยาวๆ เป็นกิโลเมตร แหย่หัวสูบน้ำลงน้ำกันเป็นสิบๆ หัว เพื่อปล่อยเข้าพื้นที่การเกษตร ไม่งั้นหมดตัวแน่ ข้าวนาปรังไม่ได้ทำแล้ว หลังจากนี้จะทำอะไรกินดี มีใครคิดต่อเมนูให้เขาเหล่านี้บ้าง

อาจารย์ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เผยตัวเลขเมื่อปลายสัปดาห์ก่อน กล่าวถึงภาพรวมทางเศรษฐกิจของไทยในหลายตัวเลข ยังกล่าวถึงภัยแล้งที่เกิดขึ้นเป็นสถานการณ์ที่รุนแรงมากที่สุดในรอบ 50 ปี

Advertisement

“ต้องประเมินว่ารัฐบาลจะมีการขุดบ่อหรือทำฝนเทียมได้มากน้อยเท่าใด หากไม่มีความสามารถในการดำเนินการได้อย่างเต็มที่จะส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกข้าวนาปรังที่ใช้น้ำในปริมาณมาก ต้องยอมรับว่าการปลูกข้าวนาปรังทั้งหมดในประเทศมีประมาณ 30 ล้านตัน ข้าวสาร ส่งออก 20 ล้านตันต่อปี ส่วนคนไทยบริโภคเพียง 10 ล้านตันต่อปี ทำให้ภัยเเล้งไม่มีผลกับการบริโภคในประเทศ แต่จะมีผลกับการส่งออกที่หายไป และผลกระทบกับรายได้ของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่หายไป”

อาจารย์ธนวรรธน์ยังบอกอีกว่าในเดือนพฤษภาคมปีนี้ พื้นที่ประมาณ 3 ล้านไร่อาจปลูกข้าวไม่ได้ ประเมินตัวเลขกันว่าแต่ละไร่จะให้ผลผลิตข้าวเปลือกเฉลี่ยไร่ละ 500 กิโลกรัม ดังนั้น ข้าวนาปรังจะหายไปเป็นจำนวน 1.5 ล้านตัน คิดราคาตันละ 7 พันบาท เท่ากับเกษตรกรในภาพรวมจะสูญเสียรายได้ประมาณ 7 หมื่นจนถึง 1 หมื่นล้านบาท ในเดือนพฤษภาคม 2563 มีพื้นที่ 3 ล้านไร่ที่อาจปลูกข้าวไม่ได้ เบื้องต้นจะได้ผลผลิตเฉลี่ยไร่ละ 500 กิโลกรัม ทำให้ข้าวนาปรังหายไป 1.5 ล้านตัน หากราคาตันละ 7,000 บาท รายได้เกษตรจะหายไปถึง 7,000-10,000 ล้านบาท การประเมินออกมาเช่นนี้ เงินก้อนหมื่นล้านในช่วงไตรมาส 1 และไตรมาส 2 จะถูกดึงออกไปจากมือชาวนาทั่วประเทศ ภาครัฐจะต้องมีมาตรการเข้ามาช่วยเหลือ ส่วนหนึ่งที่อาจารย์ธนวรรธน์บอกต่อคือ การเร่งการใช้จ่ายเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปีนี้

แต่ความจริงเวลานี้ยังไม่เห็นการขับเคลื่อนเป็นภาพใหญ่ การที่คณะรัฐมนตรียังไม่มีวาระประชุมกันเรื่องการกำหนดวันเลือกตั้งท้องถิ่นที่มีกว่า 7,800 กว่าแห่งออกมา เหมือนกับการปิดสวิตช์ไฟนั่นเอง

รัฐบาลที่อ้างนักหนาว่าเป็นเสียงสวรรค์ที่เลือกเข้ามาให้บริหารประเทศ รวม 19 พรรคร่วมโรมรัน เป็นรัฐบาลต่อเนื่องตั้งแต่ คสช.เมื่อ 5 ปีที่แล้ว รู้ไส้รู้พุงปัญหาภัยแล้งทั้งหมด แต่ทำไมการแก้ปัญหายังเป็นการตั้งรับเป็นหลัก รอให้เกิดโจทย์แล้วค่อยแก้ ให้ช่วยกันประหยัดน้ำ อย่าทำนาปรัง ขุดบ่อบาดาล ปลูกพืชกินน้ำน้อยๆ ล้วนเป็นเรื่องพื้นๆ ที่เกษตรกรไม่ต้องสวมสูทก็ท่องได้ อะไรที่เป็นการแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืนที่รัฐบาลคิดไว้ ถ้าเคยคิดช่วยบอกอีกครั้งว่า คิดอะไรไว้บ้าง นำมาใช้หรือยัง หรือยังไม่ทำ หรือทำไม่ได้

เสกสรรค์ กิตติทวีสิน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image