เดินหน้าชน : ช่วยเอสเอ็มอี…อย่างไร : โดย สัญญา รัตนสร้อย

นับแต่เปิดศักราชใหม่ 2563 หากพูดกันตรงไปตรงมายังไม่เห็นปัจจัยบวกด้านเศรษฐกิจ ขณะที่ปัจจัยลบเดิมกลับเรื้อรังข้ามปี

สงครามการค้าสหรัฐ-จีน แม้มีทิศทางดีขึ้นแต่ไม่สามารถวางใจได้

ปัญหาเงินบาทแข็งค่า ซ้ำเติมการส่งออกถดถอยลงไปอีก และอาจกระทบไปถึงภาคการท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวต่างชาติต้องจ่ายแพงขึ้น

เพิ่มเติมด้วยปัญหาพิพาทระหว่างสหรัฐ-อิหร่าน ยิงถล่มกันไปมา สร้างความวิตกด้านพลังงาน ราคาน้ำมัน

Advertisement

แนวโน้มเศรษฐกิจบ้านเราทำท่าจะเป็นไปตามที่มีการประเมินกันไว้ คืออาจหนักหน่วงยิ่งขึ้นกว่าปีกลายด้วยซ้ำ

จะหวังพึ่งการลงทุนจากภาคเอกชนท่ามกลางสถานการณ์ไม่เป็นใจ คงเป็นไปได้ยาก

ในปีนี้การลงทุนภาครัฐจึงมีความจำเป็นต่อเนื่องจากปีก่อน เพื่อให้มีเม็ดเงินพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เกิดการจ้างงานหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจ

Advertisement

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ออกมาขันนอตเร่งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ที่ยังคั่งค้างต้องเดินหน้าเต็มตัว

รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ต้องเริ่มลงทุนในปีนี้ให้ได้

ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเฟสที่ 3 และท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3

พัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก

โครงการการพัฒนาเมืองใหม่

ทั้งหมดต้องเห็นภาพเป็นรูปธรรมชัดเจน

ขณะที่ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ก็เปิดแผนลงทุนระบบรางมูลค่ากว่า 1.1 ล้านล้านบาท อาทิ

รถไฟฟ้า 8 เส้นทาง มูลค่ากว่า 314,601.26 ล้านบาท

รถไฟทางคู่ จำนวน 9 เส้นทาง มูลค่าลงทุน 425,529.47 ล้านบาท

รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่าลงทุน 225,000 ล้านบาท

รถไฟความเร็วสูง กทม.-โคราช มูลค่าลงทุนรวม 179,000 ล้านบาท

แต่ทั้งหมดกระจุกอยู่กับองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ศักยภาพสูงอยู่แล้ว ไม่ได้ลงไปถึงภาคธุรกิจที่เป็นฐานรากสำคัญ อย่างผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี

จากตัวเลขที่มีการเก็บข้อมูล พบว่าเอสเอ็มอีทั่วประเทศมีทั้งหมด 3 ล้านราย มีจำนวนการจ้างงานประมาณ 14 ล้านคน หรือประมาณ 80-85% ของการจ้างงานทั้งหมด

มีจำนวนไม่น้อยกำลังอยู่ในสภาพไปต่อไม่ได้

ล่าสุด ครม.มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี ให้สามารถแข่งขันและอยู่รอดได้ ทั้งวงเงินค้ำประกันสินเชื่อและการปล่อยสินเชื่อรวม 3.8 แสนล้านบาท จัดความช่วยเหลือใน 3 กลุ่มเอสเอ็มอีที่ต้องการสภาพคล่อง เงินทุนหมุนเวียน

กลุ่มเอสเอ็มอีที่กำลังประสบปัญหา จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือทันที

กลุ่มเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพ ต้องเพิ่มความเข้มแข็งยิ่งขึ้น

แม้จะมีหลากหลายมาตรการทั้งความช่วยเหลือค้ำประกันวงเงินกู้ รวมไปถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ แต่ในทางปฏิบัติจะพบปัญหาอยู่เสมอจากเงื่อนไขคุณสมบัติทำให้เข้าถึงแหล่งทุนลำบาก รวมไปถึงสภาพพื้นฐานของตัวเอสเอ็มอีเอง

เอสเอ็มอีจำนวนมากจัดตั้งกิจการแบบไม่เป็นทางการ ผลิตตามบ้าน เป็นโรงงานห้องแถว ไม่จดทะเบียนการค้า ทำให้ต้องปิดตัวเองในการเข้ามาใช้บริการของรัฐ ต้องไปพึ่งเงินกู้นอกระบบ จ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่สูง

หากนับหนึ่งขณะที่ปัญหาพื้นฐานของบรรดาเอสเอ็มอียังไม่ได้รับการแก้ไข ออกแบบมาตรการสวยหรูอย่างไร ความช่วยเหลือก็ลงไปไม่ถึง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image