เงินหยวนเงินบาท แรงกดสหรัฐ กับพิษเศรษฐกิจ

เงินหยวนเงินบาท แรงกดสหรัฐ กับพิษเศรษฐกิจ

เงินหยวนเงินบาท แรงกดสหรัฐ กับพิษเศรษฐกิจ

14 มกราคม

ไฟแนนเชียล ไทมส์ ตีพิมพ์ข่าวว่า กระทรวงการคลังสหรัฐประกาศถอนจีนออกจากบัญชีรายชื่อประเทศที่เข้าข่าย “ปั่นค่าเงิน” ไปแล้ว

ด้วยเหตุผลว่า รัฐบาลและธนาคารกลางจีนดำเนินนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนที่ “โปร่งใส” ขึ้น

Advertisement

ถามว่าจริงหรือไม่

ในรอบปีที่ผ่านมา ค่าเงินเหรินเหมินปี้ หรือเงินหยวนของจีนยังคงอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง เพิ่งจะมาหลังปีใหม่นี้เอง ที่ค่าเงินหยวนเริ่มอยู่ในระดับทรงตัว หรือแข็งขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ

แต่แข็งขึ้นเท่าไหร่

0.1%

เปลี่ยนแปลงขนาดนี้ ในทางนโยบายแทบจะเรียกว่าไม่เปลี่ยนแปลง

ฉะนั้น เหตุผลเรื่องการยกจีนออกจากบัญชีรายชื่อประเทศที่ปั่นเงิน (หรือกดค่าเงินของตัวเองให้ต่ำกว่าความเป็นจริง) ซึ่งสหรัฐจะมีมาตรการตอบโต้

จึงเป็นเหตุผลที่ไม่ใช่เหตุผล

แต่เป็นข้ออ้างสำหรับการเจรจาต่อรอง

ทั้งทางการเมืองและอื่นๆ

ตั้งแต่เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ไปจนถึงความมั่นคง การทหาร ฯลฯ

นโยบายหรือมาตรการทางการเงินเป็น เพียง “ส่วนหนึ่ง” ของกระบวนการต่อรองเท่านั้น

เหมือนเป็นเรื่องไกลตัว

แต่มีกรณีเทียบเคียงกัน

เพราะหนึ่งในข้ออ้างของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ไม่ได้ดำเนินการอะไรกับกรณี “เงินบาทแข็งค่าผิดปกติ” มาเป็นเวลานาน

ก็ด้วยเหตุผลว่า จะถูกสหรัฐจับตาหรือขึ้นบัญชีตอบโต้ ในฐานะประเทศที่ “ปั่นค่าเงิน”

การทำตัวเป็น “เด็กดี” ของสหรัฐ หรือไอเอ็มเอฟ ด้วยการปล่อยให้ค่าเงินบาทแข็งกว่าความเป็นจริง แลกด้วยการนำรายได้จากการส่งออก การท่องเที่ยว และภาคเกษตร ไปเซ่นสังเวย

อาจจะเป็นความจริงที่ว่า สหรัฐส่งแรงกดดันมายังธนาคารแห่งประเทศไทย

แต่มิได้หมายความว่า เป็นเรื่องที่ “ประเทศไทย” จะต้องยอมหมอบราบคาบแก้วไปเสียทั้งหมด

เมื่อนโยบายการเงินเป็นเพียง “ส่วนหนึ่ง” ของกระบวนการต่อรองผลประโยชน์

ภาระในการเจรจาต่อรอง จึงไม่ใช่ของธนาคารแห่งประเทศไทย แต่เพียงฝ่ายเดียว

แต่เป็นเรื่องของรัฐบาลด้วย

เป็นเรื่องของกระทรวงการต่างประเทศ ของกระทรวงพาณิชย์

หรือแม้แต่ของกระทรวงกลาโหม (การกำหนดยุทธศาสตร์ในภูมิภาคร่วมกัน ไปจนถึงซื้อ-ไม่ซื้ออาวุธจากมหามิตร) กระทรวงสาธารณสุข (การนำเข้าวัตถุที่มีสารปนเปื้อน หรือสารต้องห้ามเจือปน)

แต่เมื่อทำงานแบบแยกส่วน ทำงานเป็นเอกเทศ

ไม่ประสาน ไม่สอดคล้อง ไม่ได้ร่วมมือกับใคร

ก็กลายเป็น “หมูตัวเดียว” ถูกทุบตีอย่างที่เห็นอยู่อย่างนี้

สำคัญว่า ที่ถูกทุบตีไปด้วยนั้นไม่ได้มีแต่เฉพาะแต่ธนาคารแห่งประเทศไทย

แต่รวมเอาประชาชนจำนวนมากด้วย

ทั้งที่รู้อยู่ว่า การแข็งตัวอย่างผิดปกติของค่าเงินบาทนั้น สาเหตุหลักมาจากการ “เก็งกำไร”

เพราะโดยพื้นฐานเศรษฐกิจที่อ่อนแอ และอัตราการเจริญเติบโตต่ำเตี้ยกว่าใครๆ ในภูมิภาคนั้น ควรจะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนกว่านี้ไปโดยธรรมชาติ

เป็นเหตุผลที่สามารถอธิบาย-ชี้แจงกับ “ลูกพี่” ได้

ว่าการแข็งผิดธรรมชาติของค่าเงินทำร้ายคนในประเทศอย่างไร

และที่จริง ค่าเงินของเราควรจะอยู่ในระดับไหน จึงจะเหมาะแก่การประคับประคองคนส่วนใหญ่ และเศรษฐกิจโดยรวม

เหตุใดเรื่องอย่างนี้จึงพูดไม่ได้ พูดไม่เป็น

หรือไม่กล้าพูด เหตุใดการทำงานที่เกี่ยวพันกับปากท้องของประชาชน

ถูกแยกส่วน ถูกจำกัดเขต

จะต้องให้มีคนฆ่าตัวตายเซ่น “พิษเศรษฐกิจ” อีกเท่าใด

ท่านถึงจะตาสว่าง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image