อธิบายการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัสเซีย โดยหลักรัฐศาสตร์เบื้องต้น : โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน

เมื่อวันพุธที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีปูตินได้เสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อลดอำนาจของตำแหน่งประธานาธิบดี พร้อมๆ กับเพิ่มอำนาจของนายกรัฐมนตรีแทน รวมทั้งเสนอปรับโครงสร้างรัฐธรรมนูญที่นำไปสู่การตั้งองค์กรอิสระขึ้นใหม่คือสภาความมั่นคงใหม่ที่ประธานาธิบดีปูตินสามารถเข้าเป็นสมาชิกได้ ในระหว่างการแถลงนโยบายแห่งชาติประจำปีแบบที่นายกรัฐมนตรีดมีตรี เมดเวเดฟและคณะรัฐมนตรีทั้งหมดไม่ระแคะระคายมาก่อนเลย

แต่อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีดมีตรี เมดเวเดฟและคณะรัฐมนตรีทั้งหมดก็ยื่นใบลาออกจากตำแหน่ง ภายหลังจากที่ประธานาธิบดีปูตินแถลงเกี่ยวกับข้อเสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญเพียงไม่กี่ชั่วโมงเพื่อเปิดทางให้ประธานาธิบดีดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ตามความประสงค์ ซึ่งใบลาออกทั้งหมดก็ได้รับการอนุมัติจากประธานาธิบดีปูตินโดยไม่ชักช้า

ในวันรุ่งขึ้นวันพฤหัสบดีที่ 16 มกราคม สภาผู้แทนราษฎรของรัสเซียได้ลงมติให้การรับรองนายมิคาอิล มิชูสติน ผู้อำนวยการสำนักงานสรรพากรแห่งชาติวัย 53 ปี ผู้ไม่ค่อยมีใครรู้จักนักขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง ภายหลังประธานาธิบดีปูตินประกาศจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยการลงมติรับรองนายกรัฐมนตรีคนใหม่ครั้งนี้ไม่มี ส.ส.ลงมติคัดค้านแม้แต่รายเดียวและนายมิชูสตินได้เรียกร้องให้สภาผู้แทนราษฎรรัสเซียร่วมมือกับเขาเพื่อดำเนินโครงการปฏิรูปรัฐธรรมนูญของปูตินอย่างเร่งด่วนต่อไป

ในวันเดียวกันนั้นเองประธานาธิบดีปูตินก็เข้าประชุมกับคณะทำงานเตรียมการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งจะได้รับการแต่งตั้งขึ้นใหม่จำนวนกว่า 70 คน ซึ่งล้วนแต่เป็นคนมีชื่อเสียงจากหลากหลายอาชีพรวมทั้งนักแสดงและนักเปียโนอีกด้วย

Advertisement
นายกรัฐมนตรีมิคาอิล มิซูสติน
อดีตนายกรัฐมนตรีดมีตรี เมดเวเดฟ

สำหรับรายละเอียดในการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ประธานาธิบดีปูตินแถลงเมื่อวันพุธที่ 15 มกราคมนั้น คือแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนว่าผู้มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดีรัสเซียในอนาคตต้องใช้ชีวิตอยู่ในรัสเซียมาไม่น้อยกว่า 25 ปี ซึ่งเป็นการแสดงออกอย่างโจ่งแจ้งว่าปูตินต้องการกำจัดคู่แข่งทางการเมืองคนสำคัญของเขาคนหนึ่งคือนายมิคาอิล ฮอโดร์คอฟสกี้ นักธุรกิจชาวรัสเซียซึ่งเคยเป็นคู่แข่งทางการเมืองคนสำคัญของปูติน แต่ได้ลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศแล้วให้หมดสิทธิที่จะสมัครลงชิงชัยในตำแหน่งประธานาธิบดีใน พ.ศ.2567 ได้ นอกจากนี้ ปูตินยังได้เสนอการเพิ่มอำนาจให้แก่ “สภาแห่งรัฐ” ที่เป็นสภาที่ปรึกษาประกอบด้วยหัวหน้าของแต่ละภูมิภาคในประเทศรัสเซียซึ่งปัจจุบันมีปูตินเป็นประธานสภา โดยอ้างว่าจะทำให้การบริหารประเทศรัสเซียมีประสิทธิภาพสูงขึ้น

ครับ ! การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรัสเซียของประธานาธิบดีปูตินวัย 67 ปีครั้งนี้เป็นแบบ “พออ้าปากก็เห็นลิ้นไก่” กล่าวคือปูตินต้องการที่อยู่ในอำนาจต่อไปภายหลังต้องลงจากตำแหน่งประธานาธิบดีใน พ.ศ.2567 เมื่อการครองประธานาธิบดีตำแหน่ง 4 สมัยสิ้นสุดลง ปูตินก็จะสามารถยึดครองอำนาจอยู่เบื้องหลังได้ต่อไปผ่านทางสภาแห่งรัฐซึ่งตัวปูตินคงไม่ยอมลงจากตำแหน่งประธานสภาแห่งรัฐอย่างแน่นอน

จากตำรารัฐศาสตร์เบื้องต้นได้แบ่งรัฐบาลออกเป็น 3 รูปแบบ คือ

1) รัฐบาลแบบรัฐสภา : ประชาชนเลือกตั้งฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายนิติบัญญัติก็จะทำการเลือกตั้งฝ่ายบริหารคือ นายกรัฐมนตรีกับคณะรัฐมนตรีเพื่อทำงานบริหาร หากคณะรัฐมนตรีทำงานไม่เข้าตาฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายนิติบัญญัติก็สามารถปลดฝ่ายบริหารได้ด้วยการลงมติไม่ไว้วางใจ แบบว่าฝ่ายบริหารจะอยู่ไม่ได้โดยไม่มีเสียงข้างมากของฝ่ายนิติบัญญัติสนับสนุน พูดง่ายๆ คือในบรรดา 3 อำนาจคือนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการนี้ ฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจสูงสุด รัฐบาลแบบนี้มีอังกฤษเป็นต้นแบบ

2) รัฐบาลแบบประธานาธิบดี : รัฐบาลแบบนี้มีสหรัฐอเมริกาเป็นต้นแบบ เน้นการคานอำนาจกันระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการเพื่อไม่ให้ใครมีอำนาจมากกว่ากัน โดยประชาชนเลือกตั้งทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและหัวหน้าฝ่ายบริหารคือประธานาธิบดีแบบว่าศักดิ์ศรีเท่ากันแต่กำหนดว่าประธานาธิบดีสามารถดำรงตำแหน่งได้เพียง 2 สมัยหรือ 8 ปีเท่านั้นและประธานาธิบดีแต่งตั้งผู้พิพากษาแต่ต้องได้รับการรับรองจากฝ่ายนิติบัญญัติ พอผู้พิพากษาได้ดำรงตำแหน่งแล้วก็จะอยู่ในตำแหน่งจนตายไม่ต้องเกรงกลัวใครอีกจึงสามารถพิพากษาได้โดยอิสระไม่ต้องอยู่ภายใต้อิทธิพลของใคร

3) รัฐบาลแบบกึ่งประธานาธิบดีหรือกึ่งรัฐสภา : รัฐบาลแบบนี้มีฝรั่งเศสเป็นต้นแบบ มีลักษณะแนวโน้มให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจสูงสุดโดยให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงเหมือนกับฝ่ายนิติบัญญัติแต่ประธานาธิบดีมีอำนาจโดยตรงที่แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเพื่อทำการบริหารประเทศหรือประธานาธิบดีไม่ถูกใจจะปลดนายกรัฐมนตรีเองก็ได้

คณะรัฐมนตรีต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบของฝ่ายนิติบัญญัติเช่นเดียวกับรัฐบาลแบบรัฐสภา ในขณะเดียวกันประธานาธิบดีก็สามารถแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีที่ถูกปลดออกจากตำแหน่งโดยฝ่ายนิติบัญญัติกลับมาดำรงตำแหน่งเดิมก็ได้

ครับ ! รัสเซียมีรัฐบาลแบบกึ่งประธานาธิบดีมานานและปูตินก็ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีมานานที่สุดเมื่อจะลงจากอำนาจก็เลยจะเปลี่ยนรูปแบบรัฐบาลไปเป็นแบบรัฐสภาเท่านั้นเองเพราะต้องการที่จะรักษาอำนาจเอาไว้ต่อไปเท่านั้นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image