เดินหน้าชน : ขอเพิ่มทางเลือก : โดย สุรพล สุประดิษฐ์ ณ อยุธยา

นโยบายรัฐบาลหลายเรื่องสร้างความสับสนให้กับประชาชน อย่างเช่นกรณีกรมสรรพสามิตประกาศว่า จะปรับเปลี่ยนการเก็บภาษีสรรพสามิตของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จากการจัดเก็บตามมูลค่าของสินค้า ไปสู่การจัดเก็บตามปริมาณแอลกอฮอล์ เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในปริมาณต่ำ

แต่เมื่อเร็วๆ นี้ทางสรรพสามิตกลับออกมาประกาศจะผลักดันให้มีการเก็บภาษีสรรพสามิตในเบียร์แอลกอฮอล์ 0% โดยจะเก็บในอัตรา 14% ต่ำกว่าเบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ที่ 22%

หากเป็นเช่นนี้คงสร้างความสงสัยไม่น้อยว่า ตกลงจะส่งเสริมให้ประชาชนลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามที่มีการรณรงค์กันอย่างหนักในทุกครั้งที่ถึงเทศกาลที่สำคัญของคนไทย โดยเฉพาะเทศกาลเข้าพรรษา สงกรานต์ ปีใหม่ หรือไม่

ดูเหมือนเรื่องนี้จะขัดความรู้สึกของใครหลายคนที่อยากดื่มเครื่องดื่มทดแทนการดื่มแอลกอฮอล์ หากถูกจัดเก็บภาษีสรรพสามิตในอัตราสูงกว่า ราคาแพงกว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลายชนิด โดยเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รสผลไม้

Advertisement

ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วเบียร์ 0% น่าจะเป็นการเพิ่มทางเลือกของนักดื่ม เพื่องดหรือลดการดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งเหตุผลเพื่อดูแลสุขภาพ เพื่อความปลอดภัยในการขับขี่ยานพาหนะ หรือแม้กระทั่งเพื่อลดแอลกอฮอล์ช่วงเข้าพรรษา

บางคนอาจจะบอกว่าถ้าจะลดการดื่ม ทำไมต้องเป็นเบียร์ 0% ทำไมไม่ดื่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ประเภทอื่นไปเลย

เรื่องแบบนี้มองได้หลายมุม แต่ถ้ามองในมุมเพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกในการลดการดื่มของคนที่ดื่มแอลกอฮอล์ จากหลายแนวทางที่หลายหน่วยงานพยายามรณรงค์ให้ประชาชนลดละเลิก เชื่อว่าแนวทางนี้ก็น่าจะช่วยได้บ้าง

Advertisement

มีผลการศึกษาเบื้องต้นโดยศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบว่าคนไทยส่วนใหญ่เห็นประโยชน์ของเครื่องดื่มเบียร์ 0% ว่าช่วยลดโอกาสของการเกิดอุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับ

นอกจากนั้นคนส่วนใหญ่ยังไม่เห็นด้วยกับการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มเบียร์ 0% ในอัตราสูงกว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บางชนิด เพราะถ้าการจัดเก็บภาษีในระดับสูง จะทำให้ราคาเบียร์ 0% สูงขึ้นมาก จนเท่าหรือสูงกว่าเครื่องดื่มเบียร์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์รสผลไม้ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รูปแบบใกล้เคียงกันชนิดอื่น

แล้วจะเรียกว่าเป็นการสนับสนุนให้ลดการดื่มแอลกอฮอล์ได้อย่างไร

ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางท้องถนน (ศปถ.) ได้สรุปสถานการณ์อุบัติเหตุทางท้องถนนระหว่าง หรือที่เรียกว่า 7 วันอันตราย ช่วงเวลาที่หลายคนไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากซ้ำซาก

พบว่าในช่วงส่งท้ายปี 2562 ต้อนรับปีใหม่ 2563 อุบัติเหตุลดลงเกือบ 10% จากปีที่แล้ว เหลือ 3,421 ครั้ง จากปีก่อนหน้า 3,791 ครั้ง รวมยอดผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตก็ลดลงเช่นกัน

แม้ว่าสัดส่วนของสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนการเมาแล้วขับยังครองอันดับหนึ่งเหมือนทุกปี แต่ที่น่าสนใจคืออัตราส่วนของการเมาแล้วขับขณะนี้ลดลงทุกปี

ก็เพราะความร่วมมือในการรณรงค์จากหลายๆ ฝ่าย มิใช่หรือ

การป้องกันการเมาแล้วขับในปัจจุบัน นอกจากข้อบังคับกฎหมายให้จริงจังต่อเนื่อง การส่งเสริมให้ผู้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีจิตสำนึกมากขึ้น หากดื่มแอลกอฮอล์แล้วไม่ควรขับรถอย่างเด็ดขาด

นอกจากนี้ การมีสินค้าทดแทนการดื่มแอลกอฮอล์ หรือแม้แต่บริการให้ผู้ดื่มกลับบ้านอย่างปลอดภัยโดยไม่ต้องขับรถ น่าจะเป็นแนวทางที่ดีกว่าการบังคับไม่ให้ดื่ม

เพราะนั่นหมายถึงผลกระทบจะเกิดกับธุรกิจร้านอาหารอีกจำนวนมาก

งานนี้คงต้องวัดใจ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ว่าจะตัดสินเรื่องนี้อย่างไร จะคำนึงถึงแค่เม็ดเงินจากการเก็บภาษี ซึ่งเชื่อว่าได้ไม่เท่าไหร่ เพราะไม่ได้หมายความว่าผู้คนจะแห่มาดื่มเบียร์ 0%

แต่ในทางตรงกันข้าม ยังเป็นการสนับสนุนให้ลดการดื่มแอลกอฮอล์

เป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับคนที่ยังอยากใช้ชีวิตในสังคมไทยแบบปกติ โดยไม่ต้องพึ่งพาเครื่องอื่มแอลกอฮอล์ได้มีที่ยืนบ้าง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image