ม็อบครู-คำสั่ง คสช. : โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

ชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย (ชร.ผอ.สพท.) นำโดย นายธนชน มุทาพร ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชัยภูมิเขต 1 ในฐานะประธานชมรม นำกลุ่มข้าราชการครู ศึกษานิเทศก์ (ศน.) บุคลากรกลุ่มตรวจสอบภายใน (ตสน.) และกลุ่มเทคโนโลยีและสารสนเทศทางการศึกษา (ICT) จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศนับพันคน มารวมตัวกันหน้ากระทรวงศึกษาธิการเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา

ยื่นข้อเรียกร้องต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กับ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 7 ข้อ

หนึ่งในข้อเรียกร้อง คือ ขอให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 16/2560 เรื่องการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา กับ ฉบับที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ

ก่อนหน้าที่จะมีคำสั่งทั้งสองฉบับนี้ หัวหน้าคณะ คสช.มีคำสั่งที่ 10/2559 และคำสั่งที่ 11/2559 ออกมาก่อน เป็นจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาค แม้จะถูกยกเลิกไปโดยคำสั่งที่ 19/2560 ในปีต่อมาก็ตาม

Advertisement

เจตนารมณ์ของการออกคำสั่งก็เพื่อแก้ปัญหาขาดธรรมาภิบาลในการบริหารงานบุคคล การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการครู ผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษา พร้อมกันนั้นได้ฟื้นหน่วยงานเดิมในอดีตขึ้นมาใหม่คือสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) กับคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) และโอนอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาไปให้เป็นของสองหน่วยงานข้างต้น โดยขาดการรับฟังความคิดเห็นผูัมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างละเอียดรอบคอบ รอบด้านเท่าที่ควร จึงทำให้เกิดปัญหาต่อเนื่องเรื่อยมา

คณะผู้รับผิดชอบในการกำหนดนโยบายและผลักดันการออกคำสั่งดังกล่าว คิดว่าแนวทางปฏิบัติตามคำสั่ง หัวหน้า คสช.ทั้งหมดนี้ เป็นการปฏิรูปการศึกษา ครั้งสำคัญ

เหตุการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาจนถึงขั้นเรียกร้องให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. จึงเป็นคำตอบในตัวเองว่า การปฏิรูปการศึกษาโดยวางน้ำหนักไปที่โครงสร้างการบริหารเป็นหลัก ไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง ได้ผล กลับเกิดปัญหาตามมาให้แก้ ยังหาบทสรุปไม่ได้

Advertisement

เข้าทำนองที่ว่ากลัดกระดุมเม็ดแรกผิด เม็ดต่อไปก็ผิดตลอด

เป็นผลกระทบ หรือผลพวงที่สืบเนื่องจากการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ต่อการบริหารการศึกษาไทย ซึ่งน่าวิเคราะห์กันอย่างจริงจังอีกครั้ง ไปพร้อมกับการหาทางแก้ไขปัญหาให้ยุติโดยเร็ว

เสียดายที่การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อไม่นานมานี้ีมติไม่เห็นด้วยกับญัตติที่ให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาผลกระทบจาก ประกาศ คำสั่ง คสช.และคำสั่งหัวหน้าคณะ คสช. ทุกฉบับ

ทำให้คำสั่งเกี่ยวกับการบริหารการศึกษาที่สำคัญนี้ ขาดโอกาสในการสรุปบทเรียนที่ผ่านมา อย่างกว้างขวาง ตรงไปตรงมาไปด้วย

ก่อนหน้าและหลังจากคำสั่งดังกล่าวออกมาผู้มีส่วนได้เสีย ไม่มีโอกาสได้ร่วมคิด ร่วมแสดงความเห็น ร่วมสะท้อนความเป็นจริงในทางปฏิบัติเท่าที่ควร เพราะบรรยากาศการบริหารภายใต้อำนาจพิเศษปกคลุมอยู่ ความกลัวกระจายไปทั่ว

สะท้อนให้เห็นได้จากข้อความบางข้อของคำสั่ง ที่ให้อำนาจกับคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค กำราบฝ่ายปฏิบัติอย่างได้ผล

ลึกๆ แล้ว ผู้มีอำนาจก็กลัวการประท้วง ต่อต้าน คัดค้าน จากผู้ได้รับผลกระทบในขณะนั้นด้วยเช่นกัน จึงใช้อำนาจ โดยให้ยาแรง

เป็นต้นว่าข้อ 5 สั่งให้ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา หรือผู้ปฏิบัติงานในตำแหน่งต่างๆ ในหน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการในระดับภูมิภาคหรือจังหวัด หยุดการปฏิบัติหน้าที่หรือให้พ้นจากตำแหน่ง

ในระหว่างที่ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา หรือผู้ปฏิบัติงานในตำแหน่งต่างๆ ถูกสั่งให้หยุดการปฏิบัติหน้าที่หรือถูกสั่งให้พ้นจากตำแหน่งตาม (5) บุคคลนั้นไม่อาจได้รับเงินค่าตอบแทนหรือสิทธิประโยชน์ใดๆ ในตำแหน่งที่ถูกสั่งให้หยุดการปฏิบัติหน้าที่หรือถูกสั่งให้พ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่ง

เจอเข้ากับ อำนาจสั่งการ ทำนองนี้ เป็นใครก็คงขอเอาตัวเองให้รอดปลอดภัยไว้ก่อน

บทสรุปก็คือ การศึกษากับการบริหารโดยใช้อำนาจเป็นที่ตั้ง วางจุดเน้นผิดพลาด ปฏิรูปการศึกษาจึงวนเวียนอยู่ในวังวนเก่า ปีแล้วปีเล่า ถึงวันนี้

สมหมาย ปาริจฉัตต์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image