ความพิลึกของสงครามการค้า ระหว่างสหรัฐอเมริกากับสาธารณรัฐประชาชนจีน : โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

พิธีการลงนามในข้อตกลงสงบสงครามการค้าฉบับแรกในห้องตะวันออก ทำเนียบขาว

เมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมานี้ หลังจากที่สหรัฐอเมริกา มหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของโลกได้เปิดศึกการค้ากับสาธารณรัฐประชาชนจีน มหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับสองของโลกมาเป็นเวลา 18 เดือน ก็ได้มีการลงนามจัดทำข้อตกลงสงบสงครามการค้าฉบับแรกขึ้นที่ทำเนียบขาวกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. นับเป็นก้าวแรกในการยุติข้อพิพาททางการค้าระหว่าง 2 มหาอำนาจที่สร้างความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจไปทั่วโลกมาร่วม 1 ปีครึ่ง

ข้อตกลงสงบสงครามการค้าฉบับแรกนี้ กำหนดว่า ในอีก 2 ปีข้างหน้าประเทศจีนจะซื้อสินค้าจากสหรัฐอเมริกาเป็นมูลค่า 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และผู้ประกอบการจีนจะซื้อสินค้าเกษตรของสหรัฐอเมริกา เป็นมูลค่า 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงสองปีข้างหน้าด้วย ในขณะที่สหรัฐอเมริกาจะไม่ปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนที่จากเดิมที่เคยประกาศว่าจะบังคับใช้วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2562 ในวงเงินสุดท้ายประมาณ 2.6 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และจะลดอัตราภาษีสินค้าจากจีนในวงเงิน 1.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ที่บังคับใช้ตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 จาก 15% ลงเหลือเป็น 7.5% บังคับใช้ตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ.2562 สหรัฐจะลดลงครึ่งหนึ่งหรือเหลือในอัตรา 7.5% แต่สหรัฐอเมริกาจะยังคงตรึงอัตราภาษีสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่าราว 3.6 แสนล้าน และจะพิจารณาปรับลดอัตราภาษีก็ต่อเมื่อสหรัฐและจีนมีการลงนามในข้อตกลงสงบสงครามการค้าฉบับที่สองต่อไป

นายหลิวเฮ่อ รองนายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน

สรุปข้อตกลงสงบสงครามการค้าฉบับแรกระหว่างสหรัฐอเมริกากับสาธารณรัฐประชาชนจีนนี้เต็มไปด้วยสัญญาที่จีนจะซื้อสินค้าจากสหรัฐ ในขณะที่สหรัฐยอมลดกำแพงภาษีลงครึ่งหนึ่งเท่านั้นแบบว่าสหรัฐอเมริกาได้เปรียบไปสุดๆ เลยในยกแรกนี้

แต่การลงนามในข้อตกลงสงบสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับสาธารณรัฐประชาชนจีนฉบับแรกนี้จัดเป็นเรื่องพิลึกพิลั่นทางด้านพิธีการทูต (Protocol) กล่าวคือ พิธีการลงนามในข้อตกลงสงบสงครามการค้าฯ ครั้งนี้จัดขึ้นที่ห้องตะวันออก (The East Room) ของทำเนียบขาวซึ่งถือว่าเป็นห้องประวัติศาสตร์ที่จัดพิธีลงนามสนธิสัญญาที่สำคัญสุดยอด อาทิ สนธิสัญญากำลังนิวเคลียร์พิสัยกลาง ระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตว่าด้วยการกำจัดขีปนาวุธพิสัยกลางและพิสัยใกล้ของสองประเทศ เป็นความตกลงควบคุมอาวุธใน พ.ศ.2530 มีการลงนามโดย ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน และประธานาธิบดี มีฮาอิล กอร์บาชอฟ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2530 และในวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2533 ประธานาธิบดีจอร์จ เอช.ดับเบิลยู. บุชและประธานาธิบดีมีฮาอิล กอร์บาชอฟลงนามข้อตกลงอาวุธเคมีภัณฑ์ทวิภาคีของสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียต ซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างเป็นทางการว่าเป็น “ข้อตกลงในการทำลายและการไม่ใช้อาวุธเคมีและมาตรการเพื่อนำไปใช้ในอนุสัญญาเรื่องการห้ามอาวุธเคมีโดยทั่วไป”

Advertisement

โปรดสังเกตพิธีการลงนามในสนธิสัญญาทั้งสองฉบับนั้นเป็นระดับประมุขของประเทศมาลงนามโดยทัดเทียมกันแต่พิธีการลงนามในข้อตกลงสงบสงครามการค้าฉบับแรกระหว่างสหรัฐอเมริกากับสาธารณรัฐประชาชนจีนครั้งนี้นั้นฝ่ายสหรัฐอเมริกาคือประธานาธิบดีทรัมป์ผู้เป็นประมุขของประเทศ ส่วนฝ่ายสาธารณรัฐประชาชนจีนตัวแทนผู้มาลงนามในข้อตกลงสงบสงครามการค้าฉบับแรกนี้คือนายหลิวเฮ่อ รองนายกรัฐมนตรีซึ่งศักดิ์ศรีต่างกันหลายระดับซึ่งกรมพิธีการทูตของสหรัฐอเมริกาไม่มีทางที่จะจัดการลงนามครั้งนี้ได้เด็ดขาด แต่ประธานาธิบดีทรัมป์ยืนยันว่าตนเองจะเป็นผู้ลงนามในข้อตกลงสงบสงครามการค้าฉบับแรกนี้เองโดยไม่คำนึงถึงว่าตัวแทนของฝ่ายจีนจะเป็นเพียงรองนายกรัฐมนตรีเท่านั้น

ครับ! เนื่องจากปีนี้ (พ.ศ.2563) จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาขึ้นในเดือนพฤศจิกายน โดยประธานาธิบดีทรัมป์ปรารถนาที่ลงสมัครเป็นประธานาธิบดีอีกเป็นสมัยที่สองและข้อตกลงสงบสงครามการค้าฉบับแรกระหว่างสหรัฐอเมริกากับสาธารณรัฐประชาชนจีนครั้งนี้นั้นดูเหมือนสหรัฐอเมริกาจะได้เปรียบอย่างสุดๆ ประธานาธิบดีทรัมป์จึงต้องการที่เอาเครดิตเต็มๆ ในการนี้เพื่อการหาเสียงในการชิงชัยเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สอง เขาจึงไม่คำนึงถึงพิธีการทูตแต่อย่างใด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image