เราเปลี่ยนแปลงอะไรได้แค่ไหน : กล้า สมุทวณิช

เคยมีมิตรสหายชาวคริสต์ได้กล่าวภาวนาบทหนึ่งให้ฟัง ซึ่งเมื่อได้ยินแล้วก็รู้สึกสว่างวาบปลาบปลื้ม จนถึงแก่ต้องให้เขาเขียนถ้อยคำนั้นให้อ่านชัดๆ

มันคือบทภาวนา Serenity Prayer ที่ว่า “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า, โปรดประทานพรให้ลูกมีความสงบเพื่อยอมรับต่อสิ่งที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ และขอความกล้าหาญที่จะเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ และขอสติปัญญาในการแยกแยะระหว่างสองสิ่งนั้น” (God, give me grace to accept with serenity the things that cannot be changed, Courage to change the things which should be changed, and the Wisdom to distinguish the one from the other.)

บทภาวนานี้เป็นสัจธรรมที่เราต่างรู้อยู่แล้วว่า ต่อหน้าสิ่งที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ การรับมือที่ดีที่สุดคือการปรับใจยอมรับ และต่อสิ่งที่เราอาจแก้ไขได้ เราต้องใช้ความกล้าหาญที่จะเปลี่ยนแปลง

หากข้อยากมันอยู่ที่ท่อนสุดท้าย การแยกแยะว่าอะไรคือสิ่งที่ควรศิโรราบ และสิ่งใดที่เราควรปฏิปักษ์แข็งขืน

Advertisement

ในทุกวันนี้ที่เราชาวไทยจะต้องพบกับปัญหาท้าทายต่างๆ รุมเร้าเข้ามาตั้งแต่เรื่องของเศรษฐกิจที่ยืดเยื้อเรื้อรังมาหลายปี ปัญหาสภาพแวดล้อมที่เกิดจากขยะและฝุ่นควัน PM2.5 และล่าสุดคือโรคระบาดโคโรนาไวรัสจากนครอู่ฮั่นประเทศจีน ท่ามกลางเสียงเรียกร้องไปจนถึงบ่นก่นถึงประสิทธิภาพการทำงานและความใส่ใจในการแก้ปัญหาจากรัฐบาลแล้ว เสียงที่สะท้อนออกมาอีกฝั่ง ก็คือว่า แล้วประชาชนผู้เรียกร้องนั้นเล่า ได้แก้ปัญหาอะไรด้วยตนเองบ้างแล้วหรือยัง

เสียง “ตอบกลับ” เช่นว่านี้ส่วนใหญ่มาจากผู้ที่ยังสนับสนุนรัฐบาลปัจจุบัน หรืออย่างน้อยคือผู้ที่ไม่อยากเห็นอีกฝั่งฝ่ายทางการเมืองเป็นฝ่ายเข้ามาได้อำนาจรัฐ

เราไม่จำเป็นต้องไปสอบทานหาความคงเส้นคงวาของคนเหล่านี้ให้เสียเวลา แต่ถ้าหากใครว่างจะทำหรือมีเครื่องมือ ก็ลองตรวจสอบดูเถิดว่าในช่วงที่เกิดมหาอุทกภัยเมื่อปี พ.ศ.2554 นักพึ่งพาตัวเองหรือแก้ที่ตัวเองก่อนเหล่านี้ เขาช่วยเหลือตัวเองอย่างตลอดรอดฝั่งโดยไม่บ่นก่นว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยชอบธรรมหรือไม่อย่างไร เพื่อเราจะได้เห็นว่าสิ่งที่พวกเขาพล่ามพูดออกมาในเวลานี้ พ.ศ.นี้นั้น มันมาจากความเชื่อที่แท้จริงของพวกเขาเช่นนั้น หรือเป็นเพียงการออกมาปรามเพื่อปกป้องรัฐบาลจากขั้วอำนาจที่เขาสนับสนุน

Advertisement

คงไม่มีใครปฏิเสธว่า เมื่อมีปัญหาความเดือดร้อนหรือข้อขัดข้องใดๆ เกิดขึ้น ผู้ได้รับผลกระทบนั้นโดยตรงจะต้องหาทางแก้ปัญหา แต่ข้อยากก็เป็นดังคำภาวนาต่อพระผู้เป็นเจ้าข้างต้นว่า อย่างไรแค่ไหนที่อยู่ในขอบเขตซึ่งเราอาจกระทำได้

กล่าวอย่างตรงไปตรงมา คือ สภาวะแวดล้อมของประเทศ และการแก้ปัญหาของภาครัฐนั้น คือสิ่งที่เราควรจะใช้ความกล้าหาญในการเข้าไปต่อสู้เปลี่ยนแปลง หรือเป็นสิ่งที่เราควรจะปรับใจยอมรับโดยสงบ

เพื่อจะตอบคำถามนี้ได้ เราจึงต้องมาทบทวนหลักการกันก่อนว่า “รัฐ” “รัฐบาล” และ “อำนาจรัฐ” คืออะไร

ก็รัฐนั้นหรือคือองค์รวมของปวงชนทั้งหลายที่อยู่ภายใต้ขอบเขตใดขอบเขตหนึ่ง และมีผู้ใดหรือคณะบุคคลใดบุคคลหนึ่งมีอำนาจในการจัดการกิจการต่างๆ ทั้งบริหารจัดการทรัพยากรต่างๆ และการออกกฎหมายกฎเกณฑ์กติกาในรัฐ จัดตั้งองคาพยพของรัฐขึ้นมาในรูปหน่วยงานของรัฐเพื่อปฏิบัติจัดแจงให้เป็นไปตามแนวทางการบริการและกฎเกณฑ์กติกาต่างๆ นั้น

ตามทฤษฎีสัญญาประชาคมที่ถือว่าประชาชนทั้งหลายที่มารวมตัวกันเป็นรัฐนั้นสละทรัพยากร อำนาจ และเสรีภาพทั้งหลายของตนมารวมกันเข้าเพื่อจัดตั้งรัฐ เช่นนี้ผู้ปกครองรัฐหรือรัฐบาลที่มีความชอบธรรมที่สุด ก็จะต้องมีที่มาจากการเห็นชอบร่วมกันของประชาชนคนส่วนใหญ่ในประเทศ ที่อาจจะเลือกตัวบุคคลหรือคณะบุคคลใดๆ ขึ้นเป็นรัฐบาล หรืออาจจะเลือกหรือเห็นชอบจากนโยบายที่บุคคลหรือคณะบุคคลนั้นนำมาเสนอตัวว่าหากได้อำนาจรัฐแล้วจะมีแนวทางในการบริหารจัดการทรัพยากรและสิ่งต่างๆ ในรัฐตามแนวทางดังนั้นดังนี้

แต่ก็มีเช่นกันที่ผู้ปกครองรัฐนั้นได้ครองอำนาจดังกล่าวโดยมิได้มาจากความยินยอมร่วมกันของประชาชนคนในรัฐ หากเป็นเพราะเขามีพลังอำนาจที่มาจากกำลังและอาวุธที่อาจปราบปรามผู้คนที่หืออือได้ ทำให้ผู้คนส่วนหนึ่งหรือส่วนใหญ่ต้องจำยอมให้เขาใช้อำนาจปกครองไป เพราะยังไม่มีเรี่ยวแรงกำลังหรือความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของประชาชนเพียงพอที่จะฝ่าฝืนต่อต้าน

ดังนั้น คำถามที่ว่ารัฐบาล แนวทางการบริหารจัดการของประเทศและระบบกฎหมายของประเทศนั้น คือสิ่งที่เราสามารถจะเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ จึงขึ้นกับมุมมองว่า เราเชื่อว่า “รัฐ” ที่เราอยู่นั้นปกครองโดยใคร และได้อำนาจมาโดยวิธีใด

หากเราเชื่อว่ารัฐหรือรัฐบาลนั้นมีที่มาจากประชาชน จากการเลือกตั้งและสรรหากันโดยวิธีการที่ชอบธรรมแล้ว สิ่งใดก็ตามที่เกี่ยวข้องข้างต้นเหล่านั้นย่อมเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ และเมื่อเราไม่พอใจเมื่อเกิดปัญหา เราก็ชอบที่จะต่อสู้เรียกร้องเพื่อการเปลี่ยนแปลงนั้นได้

แต่ถ้าผู้ครองอำนาจรัฐนั้นมาจากอำนาจด้วยกำลังบังคับอันไม่ชอบธรรม คณะผู้ปกครองประเทศนั้นขึ้นมามีอำนาจได้โดยไม่ต้องอาศัยความยินยอมพร้อมใจของประชาชน เช่นนี้เรื่องใดที่เกี่ยวข้องกับอำนาจในการแก้ไขปัญหาที่เหนือกว่าตัวเราไปแล้ว ก็เป็นสิ่งที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ ก็สมควรที่จะทำใจยอมรับอย่างสงบใจ

คําถามคือ รัฐที่เอาทรัพยากรไปจากเราในรูปแบบต่างๆ กำหนดกติกามาเพื่อให้เราปฏิบัติตาม และบางครั้งก็เรียกร้องเอาเราหรือลูกหลานของเราไปเป็นแรงงานนั้น จะเป็นสิ่งที่ต้องจำทนจำใจว่านี่คือสิ่งที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือเรียกร้องสิ่งใดได้จริงหรือ

เราอาจจะขยันตั้งใจทำงาน พัฒนาตัวเองเพื่อให้มีทักษะพรั่งพร้อมเพื่อจะได้ทำงานทำการหาเงินมาเสียภาษี นี่คือส่วนที่เราทำในส่วนของเราอย่างดีที่สุด แต่เราก็ชอบเช่นกันที่จะเรียกร้องสภาพเศรษฐกิจที่ดีพอที่เราจะทำงานได้คุ้มค่าสมความพยายามเหนื่อยยาก กติกาและค่าจ้างที่ยุติธรรม รวมถึงการดูแลอำนวยความสะดวกสบายในชีวิต และสภาพแวดล้อมที่ไม่เลวร้ายจนเกินไปจากส่วนกลางในฐานะที่เป็นหนึ่งหน่วยที่สร้างความเจริญให้แก่ส่วนรวม

เมื่อมีโรคระบาดเกิดขึ้น เราก็ควรที่จะรักษาร่างกายให้แข็งแรง ล้างไม้ล้างมือเพื่อป้องกันหลีกเลี่ยงโรคภัยสร้างภูมิคุ้มกัน แต่เราก็มีอีกหน้าที่เช่นกันที่จะเรียกร้องระบบการบริหารจัดการที่เป็นการป้องกันความเสี่ยงในการระบาดของเชื้อบนพื้นที่ของสังคมและรัฐประเทศที่เราอยู่อาศัย

เมื่อเกิดปัญหาสภาวะมลพิษร้ายแรง เราก็ควรอยู่แล้วที่จะลดการสร้างต้นเหตุของมลพิษเหล่านั้น และการป้องกันตัวเองให้ถึงที่สุดตามแต่สติกำลัง แต่มันก็เป็นหน้าที่ของรัฐที่มีพลังอำนาจและทรัพยากรเหนือกว่าเราในการจัดการปัญหาดังกล่าวในระดับกฎหมายและนโยบาย

เช่นนี้แล้ว การบ่นแจ้งแสดงทุกข์ หรือแม้แต่การก่นด่ากลไกของรัฐหรือนโยบายของรัฐบาลที่ยังแก้ปัญหาไม่ได้นั้นจึงเป็นหนทางหนึ่งในการทำอะไรสักอย่างเพื่อเปลี่ยนแปลงหรือแก้ปัญหาในส่วนของเราเอง เราสามารถบ่นก่นว่าได้โดยไม่ต้องไปฟังใครที่ไหนมาบอกว่า เอาแต่บ่นน่ะบอกด้วยสิว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร ก็ในเมื่อหน้าที่ในการแก้ปัญหามันเป็นของผู้ที่มีอำนาจ ความรู้ และทรัพยากรเหนือกว่าเราอยู่แล้ว

พวกคนที่ทำเป็นพูดจาหล่อๆ ให้เราบ่นพร้อมบอกวิธีแก้ ก็อยากทราบเหมือนกันว่าเวลารถยนต์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าของเขาเสียหายนั้น ในตอนที่เขาแจ้งปัญหาให้ศูนย์หรือช่าง เขาเก่งกาจขนาดบอกวิธีแก้ไขซ่อมแซมเครื่องใช้อุปกรณ์ของเขาได้ทุกอย่างเลยหรือไม่

และในฐานะของประชาชน เรามีแม้แต่อำนาจและความสามารถที่จะบอกกล่าวยืนยันว่า ระบบระบอบในปัจจุบันนี้ไม่สะท้อนเสียงหรือความต้องการที่แท้จริงของผู้คนในประเทศ ผู้ปกครองอยู่ในขณะนี้มีอำนาจอยู่ได้ด้วยการอาศัยกติกาที่ฉ้อฉล จนมีอำนาจอยู่ได้แม้ว่าจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้คนมากเท่ากับที่ผู้นำประเทศหรือคณะผู้ปกครองประเทศที่ชอบธรรมนั้นจะได้รับอย่างที่สมควรจะเป็น ระบบที่ “เห็นหัว” พวกเรามากกว่านี้

ใครที่พยายามไล่ให้เราแก้ปัญหาโดยไม่เรียกร้องกล่าวโทษจากรัฐบาล ไม่ว่าจะด้วยท่าทีแบบใด ถ้าไม่ใช่เพราะเขาต้องการที่จะยกรัฐบาลที่เขาสนับสนุนให้พ้นจากขอบเขตความรับผิดชอบ ก็อาจจะเพราะว่าเขาเป็นผู้ได้เปรียบอยู่ในสภาวะแห่งอำนาจปัจจุบัน

ผู้ที่อาจจะแกล้งทำเป็นไม่เห็นปัญหา หรือแม้แต่คนที่ไม่เดือดร้อนกับปัญหาเพราะตนเองเป็นฝ่ายได้เปรียบกับโครงสร้างของอำนาจและกฎกติกาที่ไม่เป็นธรรมบางอย่างอยู่

ยิ่งใครที่พยายามปัดให้เรื่องของบ้านเมือง อำนาจรัฐ นโยบายของรัฐ หรือความชอบธรรมของรัฐบาลเป็นสิ่งที่ไม่ควรแตะต้องเรียกร้องหรือต่อสู้ โบ้ยว่าให้แก้ไขที่ตัวเองให้สุดกำลังก่อนจะมาเรียกร้องนั้น ก็เท่ากับเขาพยายามลดทอนสิ่งที่เราสามารถแก้ไขให้ได้น้อยลงไป และเพราะว่าเขาเหล่านั้นไม่เชื่อว่ารัฐประเทศนี้เป็นของประชาชน และประชาชนมีอำนาจสูงสุด เพราะถ้าประชาชนมีอำนาจสูงสุดโดยแท้จริงแล้ว ทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องข้างต้น จะต้องอยู่ในกลุ่มของเรื่องที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ด้วยความกล้าหาญและความพยายาม ไม่ใช่ว่าเราเข้ามาอาศัยอยู่ใต้อำนาจที่เราไม่อาจหืออือหรือเปลี่ยนแปลงได้

ไม่ว่าเขาจะเชื่อเช่นนั้นจริงๆ หรือเพื่อจะลวงหลอกมิให้เราลุกขึ้นต่อต้านเพื่อประโยชน์ของพวกเขาก็ตาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image