การสื่อสารเรื่อง’ปอดอักเสบ สายพันธุ์ใหม่’

กระแสความสนใจของผู้คนในเรื่องโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 กำลังแผ่กว้างไปอย่างรวดเร็ว เพราะคนตื่นตัวต่อผลกระทบ และพยายามหาข้อมูลปกป้องตัวเอง และคนใกล้ชิด

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากภาครัฐ ซึ่งควรเป็นแหล่งที่น่าเชื่อถือที่สุด กลับยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับแหล่งอื่นๆ (ที่เชื่อถือได้บ้าง-ไม่ได้บ้าง)

ในการสื่อสารเพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเรื่องสุขภาพ จะมีหลักการสำคัญๆ ดังนี้

ประการแรก ต้องนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้อง และชัดเจน

Advertisement

ท่านนายกฯออกแถลงการณ์ เมื่อเย็นวันที่ 27 มกราคม ถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่ผู้นำได้ออกมาพูดเรียกความเชื่อมั่นให้กับประชาชนว่า รัฐบาลกำลังทำงานในเรื่องนี้อย่างเต็มที่ ภายใต้นโยบายที่ว่า “ชีวิตและสุขภาพของประชาชนสำคัญที่สุด”

แต่สิ่งที่ท่านนายกฯสื่อสารออกมา ก็ยังมีความไม่ชัดเจน เช่น “เวลานี้ การคัดกรองและเฝ้าระวังเป็นไปอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ซึ่งรัฐบาล โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้ยกระดับศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน ด้านการแพทย์และสาธารณสุข เป็นระดับ 3 ให้สอดคล้องกับความรุนแรงของสถานการณ์” (มติชน 28 มกราคม)

ในที่นี้ ทีมงานควรทำแถลงการณ์ให้ชัดเจนว่า ระดับ 3 ที่ว่านั้น หมายความว่าอะไร มีทั้งหมดกี่ระดับ อย่างไรบ้าง เพื่อที่ประชาชนจะได้ประเมินสถานการณ์ได้แม่นยำขึ้น

ในแถลงการณ์เดียวกันนี้เอง ท่านนายกฯยังบอกว่า การคัดกรองได้ผลดี พบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัส 8 ราย การรักษาได้ผลดี “สถานการณ์โดยรวมขณะนี้ ถือว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ 100%” (มติชน 28 มกราคม)

ความคลุมเครือที่เกิดขึ้นนี้ก็คือ ร้อยเปอร์เซ็นต์ที่ว่านี้ หมายถึงเรื่องอะไร การที่มีคนป่วยเข้ามาในประเทศไทยได้มากขึ้นทุกวัน ทำไมจึงเรียกว่าคุมสถานการณ์ได้ อีกทั้ง “การคุมสถานการณ์ได้” นี้ เป็นการรับประกันอดีต หรือรับประกันอนาคต (หนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์) ด้วย หรือว่าอย่างไร

การสื่อสารที่ถูกต้อง ชัดเจน จะทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น ไม่ลังเลสงสัย และสามารถประเมินตัวเองได้ว่า ตัวเองมีความเสี่ยงต่อโรคนี้หรือไม่ อย่างไร

ประการที่สอง การให้ข้อมูลทางเลือกในการลดความเสี่ยง หลังจากประชาชนได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง ชัดเจน และประเมินความเสี่ยงได้แม่นยำแล้ว ในขั้นถัดไปหน่วยงานราชการก็ควรให้ข้อมูลเกี่ยวกับทางเลือกในการช่วยลดความเสี่ยงลง

หลักการในเรื่องข้อมูลทางเลือกในการลดความเสี่ยงก็คือว่า จะต้องเป็นทางเลือกที่คนส่วนใหญ่ปฏิบัติได้จริง มีความหลากหลาย ประชาชนสามารถหยิบจับคัดเลือกแนวทางที่เหมาะกับตนไปใช้ได้ โดยอาจไม่จำเป็นต้องเป็นวิธีเดียวกันทั้งหมด เพราะแต่ละคนมีเศรษฐสถานะ และวิถีชีวิตที่ต่างกัน ทางเลือกที่ประชาชนเลือกจึงย่อมต่างกันได้เป็นธรรมดา

ประการถัดมา คือการพัฒนาทักษะ และทำให้ประชาชนเข้าถึงอุปกรณ์ลดความเสี่ยงได้โดยง่าย เช่น เวลานี้หน้ากากอนามัยกำลังขาดตลาด รัฐต้องรีบเข้าหนุนเสริมให้มีการผลิตออกมาให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน หรืออาจจะต้องมีการแนะนำประชาชนว่าวิธีการไอจามใส่ต้นแขนด้านในของตัวเอง ช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อได้ดีกว่าไอจามใส่มือ เพราะเชื้อที่ติดมือ อาจไปสัมผัสคนอื่นต่อได้ เช่น ผ่านการจับมือ การกดปุ่มลิฟต์ การจับราวบันได ฯลฯ

สำหรับโทนการสื่อสารนั้น โดยทั่วไปแม้สถานการณ์จะดูรุนแรงน่ากลัว ก็ควรให้มันน่ากลัวและรุนแรงตามเนื้อผ้าของมันเอง รัฐหรือสื่อไม่ควรไปเพิ่มสีสันความน่ากลัวเข้าไป โดยเชื่อว่าความน่ากลัวจะช่วยดึงดูดให้คนสนใจเนื้อหามากขึ้น

ในมุมกลับกัน หากเราไปเพิ่มความน่ากลัว ก็เป็นไปได้ที่จะทำให้คนเรียนรู้หรือมีความเข้าใจเนื้อหาหลักได้น้อยลง เพราะสติสตางค์ไม่อยู่กับเนื้อกับตัว พาลจะเกิดการรังเกียจกีดกันคนติดเชื้อโดยใช่เหตุ ตัวอย่างที่เป็นบทเรียนไปทั่วโลกในเรื่องนี้คือการที่มีการขู่ให้คนกลัว “เอดส์” ในที่สุดก็เกิดการรังเกียจ “ผู้ติดเชื้อ” เอชไอวี (เช่น ไม่ให้เข้าเรียนในโรงเรียน ถูกไล่ออกจากงาน ฯลฯ) และคนบางส่วนก็ยังประเมินความเสี่ยงกันผิดพลาด (เช่น คนที่ดูแข็งแรง ไม่น่าจะมีเชื้อเอชไอวี เราสามารถมีเพศสัมพันธ์กับเขาได้ โดยไม่ต้องป้องกัน) จนต้องมานั่งแก้ไขกันจนทุกวันนี้

ประเด็นถัดมาคือเรื่องช่องทางการสื่อสาร ในที่นี้ไม่ใช่เพียงแค่ว่ารัฐบาลจะสื่อสารกับประชาชนผ่านช่องทางใด แต่รัฐบาลต้องเปิดช่องทางให้ประชาชนได้สื่อสารกลับสู่รัฐบาล และรัฐบาลต้องหยิบฉวยเอาข้อมูลไปศึกษาและอธิบายคืนแก่ประชาชนด้วย ในกรณีนี้รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุข ได้แนะนำให้ประชาชนไปใช้บริการที่ 1422 สายด่วนกรมควบคุมโรค ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งก็ต้องประเมินผลกันต่อไปว่ามีประสิทธิภาพดีเพียงใด

สำหรับข่าวสารที่เป็นเท็จ (disinformation) แม้จะเป็นเรื่องหนักหนาน่าเหนื่อยหน่าย แต่ก็เป็นหน้าที่รัฐบาลต้องจัดการ ซึ่งจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่แน่ชัดว่ารัฐบาลจะใช้ช่องทางใดอย่างเป็นทางการในการชี้แจงหรือแก้ไขเนื้อหาเหล่านั้นให้ประชาชนได้รับทราบ

สําหรับประเด็นสุดท้าย ก็คือว่า ในช่วงเวลาที่ปัญหาสาธารณสุข และปัญหาเศรษฐกิจ กำลังรุมเร้าประเทศ (และโลกของเรา) สิ่งที่จำเป็นก็คือ เราต้องมีโฟกัสร่วมกันในการขบคิดและแก้ไขสถานการณ์วิกฤตนี้ไปด้วยกัน

ในระยะที่ผ่านมานี้ หน่วยงานวิจัย และผู้ประกอบการต่างๆ พากันเสนอข่าวการพยากรณ์ผลกระทบทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ว่าจะทำให้นักท่องเที่ยวจีนหดตัว เสียรายได้เฉียดแสนล้านบาท และเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็ว รวมทั้งหาแนวทางในการชดเชยให้ผู้ประกอบการที่ได้รับความเดือดร้อน

กรณีนี้เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจที่ผู้ประกอบการจำนวนมากต้องเสียรายได้มหาศาล ผู้เขียนเข้าใจดีว่า การออกประมาณการตัวเลขผลกระทบ ส่วนหนึ่งก็มีเจตนาเพื่อส่งสัญญาณให้ผู้ประกอบการทั้งหลายเตรียมตัวรับมือ เช่น เตรียมลดการสต๊อกวัตถุดิบ เตรียมลดการจ้างงาน ปรับแผนการตลาด ฯลฯ

แต่ในอีกด้านหนึ่ง ข้อมูลจากผู้ประกอบการเหล่านี้ ถือว่าเป็นข้อมูลที่ “เสียงดัง” เพราะมาจากนักธุรกิจและเครือข่าย (เช่น สมาคมธุรกิจต่างๆ) ที่รัฐบาลมักจะเกรงใจ ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงการฟุ้งกระจายของฝุ่นพิษ รัฐบาลเลือกที่จะสั่งหยุดโรงเรียน มากกว่าที่จะสั่งหยุดโรงงาน

จริงหรือไม่ว่า รัฐบาลเลือกไม่ปิดโรงงาน เพราะการหยุดโรงงานกระทบต่อกำไรและเงินๆ ทองๆ ของผู้ประกอบการ มากกว่าหยุดโรงเรียน

ผู้เขียนเสนอว่า หากผู้ประกอบการทำตัวเลขผลกระทบขึ้นมา และบอกกับสังคมเพิ่มอีกสักหน่อยว่า ขอให้รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องแก้ปัญหาไวรัสโคโรนาให้ได้โดยไว เพื่อรักษาชีวิตของผู้คนเอาไว้ให้ได้ เพราะชีวิตคนย่อมสำคัญกว่ากำไรและเงินทอง

รัฐบาลและสังคมของเรา น่าจะมีกำลังใจ และมีสมาธิในการแก้ไขปัญหามากกว่านี้ไหม?

รุจน์ โกมลบุตร
คณะวารสารศาสตร์ฯ ม.ธรรมศาสตร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image