ความรู้สู่ความเข้าใจเด็กบนท้องถนน

เราทุกคนต่างต้องการ “พื้นที่ปลอดภัย” และต้องการ “ใครสักคน” ที่รับฟัง แล้วจะเป็นอย่างไรหาก “พื้นที่ปลอดภัย” ไม่ใช่ที่บ้านและ “ใครสักคน” นั้นไม่ใช่คนในครอบครัว ?

มีเด็กและเยาวชนจำนวนไม่น้อยที่ตัดสินใจเลือกกำหนดเส้นทางชีวิตของตนเองขึ้นมาใหม่ ออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านและอาศัยพื้นที่สาธารณะในการพักพิงและหาเลี้ยงชีพแบบวันต่อวัน รวมกลุ่มกับเพื่อนที่มีเส้นทางชีวิตในแบบเดียวกัน องค์การยูนิเซฟ (UNICEF) ได้คาดการณ์ว่ามีจำนวนเด็กบนท้องถนนประมาณ 100 ล้านคนทั่วโลก และสำหรับประเทศไทยเองมีการคาดการณ์ว่ามีเด็กบนท้องถนนจำนวนกว่า 5 หมื่นคน ทั้งเด็กไทยและต่างชาติกระจายตัวตามเมืองใหญ่ทั่วประเทศ เด็กส่วนใหญ่เป็นเด็กด้อยโอกาสหรือเด็กที่อยู่ในภาวะเปราะบาง สาเหตุสำคัญคือปัญหาครอบครัว ทั้งครอบครัวยากจน มีการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมและการเรียนรู้ของเด็ก บางส่วนขาดโอกาสการเข้าถึงการศึกษา และหลายคนต้องออกจากระบบการศึกษากลางคัน ทั้งนี้ในปี 2561 ที่ผ่านมา มีเด็กออกกลางคันตั้งแต่ระดับประถมศึกษา “มัธยมศึกษาตอนปลายรวมกันจำนวนเกือบ 1 หมื่นคน (ที่มา : ระบบฐานข้อมูลด้านสังคมและคุณภาพชีวิต) ทำให้เด็กกลุ่มนี้ขาดโอกาสในการได้รับการพัฒนาทักษะและการเรียนรู้ ต่อเนื่องไปสู่การขาดโอกาสในด้านอื่นๆ ตามมา กล่าวคือเด็กกลุ่มนี้จะไม่สามารถไปสมัครงานที่ใดได้เนื่องจากไม่มีใบวุฒิการศึกษา ขาดอาชีพ ขาดรายได้ และพัฒนากลายเป็นวงจรที่สร้างความเหลื่อมล้ำในสังคมเพิ่มสูงมากขึ้น

ปัจจัยหนึ่งที่สร้างความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยคือปัจจัยด้านเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของคนในสังคม โดย ศ.ดร.อมาตยา เซน (Amartya Sen) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอินเดียเจ้าของรางวัลโนเบลเศรษฐศาสตร์ปี 1998 ได้เสนอแนวคิดเศรษฐศาสตร์ทางเลือกคือ “สมรรถภาพของมนุษย์ (Capability Approach)” มองว่าการพัฒนาด้านเศรษฐกิจควรดำเนินการควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิต ให้ความสำคัญกับศักยภาพและอิสรภาพของมนุษย์ โดยเสนอว่าผู้คนควรมีทางเลือกในการดำรงชีวิตและมีความเป็นอยู่ที่ดี (well-being) ตามแนวทางที่พวกเขาเลือก มองว่าความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและความยากจนถือเป็น “การลิดรอนสมรรถภาพ” ของมนุษย์

เพื่อให้ดำเนินการพัฒนาเด็กบนท้องถนนได้สอดคล้องกับความต้องการเฉพาะนั้น จำเป็นต้องทำความเข้าใจและหาแนวทางในการพัฒนาที่เหมาะสม กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จึงสนับสนุนงบประมาณสำหรับการวิจัยภายใต้โครงการ “เด็กบนท้องถนน children in street” ในการสำรวจ ศึกษาและพัฒนารูปแบบการพัฒนาเด็กเร่ร่อนหรือเด็กที่ใช้ชีวิตบนท้องถนนในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งจากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลเบื้องต้นร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่าสามารถแบ่งกลุ่มเด็กและเยาวชนได้เป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มที่ 1 คือ “เด็กบนท้องถนน” เป็นเด็กเร่ร่อนที่ใช้ชีวิตหรือทำงานบนท้องถนน ใช้เวลาส่วนมากหรือมีความผูกพันกับพื้นที่สาธารณะ เช่น ตลาด สวนสาธารณะ ใต้สะพานลอยหรือทางด่วน ใช้ชีวิตอิสระเสรีเป็นกลุ่ม และกลุ่มที่ 2 คือ “เด็กกลุ่มเสี่ยง” หรือเด็กลอยล่อง เป็นเด็กและเยาวชนที่มีความสัมพันธ์กับเด็กกลุ่มแรก ใช้ชีวิตอยู่บนท้องถนนหรือพื้นที่สาธารณะเป็นครั้งคราว ใกล้หลุดออกจากบ้าน โรงเรียนเต็มที อาจมีปัญหาเชิงพฤติกรรมและมีความเสี่ยงที่จะพัฒนาไปเป็นเด็กบนท้องถนนแบบถาวร เด็กกลุ่มนี้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจนน่าตกใจ ซึ่งการดูแลและพัฒนาเด็กเยาวชนทั้งสองกลุ่มให้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องทำอย่างเป็นระบบควบคู่กันไปทั้งด้านกฎหมาย/นโยบาย และด้านการดำเนินงานเชิงพื้นที่ โดยในปัจจุบันได้มีการดำเนินการดังนี้

Advertisement

ด้านกฎหมาย/นโยบาย กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนในระดับสากลอย่างอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก โดยในความคิดเห็นทั่วไป ฉบับที่ 21 (พ.ศ.2560) เกี่ยวกับเด็กเร่ร่อนบนท้องถนน (GC.21) ได้มีการระบุถึงสิทธิในการใช้ชีวิตบนท้องถนนอย่างมีคุณภาพ วิธีการดูแลเด็กที่มีความยืดหยุ่นและหลากหลาย และให้ความสำคัญกับสิทธิของเด็กและเยาวชนบนท้องถนนอย่างชัดเจน แต่ในขณะเดียวกันกฎหมายในประเทศไทยตัวอย่างเช่น พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 นั้น นอกจากนิยามของ “เด็กเร่ร่อน” อันคับแคบและไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตปัจจุบันแล้ว ยังสะท้อนมุมมองที่มีต่อเด็กกลุ่มนี้เพียงแค่ด้านการสงเคราะห์ คุ้มครองและฟื้นฟูสมรรถภาพ นอกจากนี้ยังพบว่าหน่วยงานโดยเฉพาะภาครัฐยังไม่มีแผนการทำงานกับเด็กบนท้องถนนหรือเด็กกลุ่มเสี่ยงอย่างชัดเจน ซึ่งส่งผลต่องบประมาณและแผนกิจกรรมโครงการในการทำงานกับเด็กกลุ่มนี้ ทำให้พวกเขายังคงเป็นเด็กชายขอบที่ภาครัฐและคนในสังคมละเลย ไม่เห็นตัวตนและคาดการณ์ผิดพลาด ซึ่งถือเป็นความท้าทายของภาครัฐในการทบทวนระบบการทำงานและปรับวิธีคิดของหน่วยงานให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน

ด้านดำเนินงานเชิงพื้นที่ เราสามารถพบการปฏิบัติงานในระดับพื้นที่ร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งได้แก่ ครู กศน. และศูนย์สร้างโอกาสเด็ก กับองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ของแต่ละพื้นที่ ในการลงสำรวจ รวมถึงการรับและส่งต่อความช่วยเหลือเด็กบนท้องถนนและเด็กกลุ่มเสี่ยงข้างต้น โดยครู กศน. ทำงานในรูปแบบ “ครูข้างถนน” หาวิธีการช่วยเหลือ ส่งเสริม จัดสถานที่เรียนและกระบวนการเรียนรู้ที่มีคุณภาพหรือส่งเสริมอาชีพตามความพร้อมและความเหมาะสมของแต่ละบุคคล รวมถึงการมีศูนย์สร้างโอกาสเด็ก เป็นสถานที่ให้ความรู้และทำกิจกรรมนันทนาการแก่เด็กเร่ร่อน ดูแลเด็กยากจนและเด็กที่เสี่ยงออกจากระบบศึกษา

Advertisement

สำหรับองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) เป็นหน่วยสำคัญอีกหน่วยหนึ่งที่ช่วยทำหน้าที่ค้นหา ติดตามไปจนถึงดำเนินการส่งเด็กกลับบ้าน ตัวอย่างเช่น มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก มีสถานรองรับและเจ้าหน้าที่หรือครูลงพื้นที่สำรวจ ให้ความช่วยเหลือและพัฒนาเด็กเร่ร่อน เด็กลูกกรรมกรก่อสร้าง เด็กกําพร้า เป็นต้น มูลนิธิส่งเสริมการพัฒนาบุคคล (ศูนย์เมอร์ซี่) ช่วยเหลือและเสริมสร้างศักยภาพให้กับคนในชุมชนคลองเตย ศูนย์เดอะฮับสายเด็ก (The Hub Saidek) พัฒนาเด็กและเยาวชนด้อยโอกาสในชุมชนหัวลำโพง มีการจัดที่พักและกิจกรรมเสริมทักษะสำหรับเด็กในชุมชนและบริเวณใกล้เคียง และมูลนิธิเออเบิร์น ไลท์ (ประเทศไทย) จัดบริการให้คำปรึกษา รวมถึงให้การสนับสนุนทั้งด้านที่พัก ด้านสุขภาพและด้านการศึกษาสำหรับเยาวชนชายที่เป็นกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ หน่วยงานเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างทักษะชีวิต สร้างพื้นที่การเรียนรู้และใช้การศึกษาในการสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อตัวเด็กโดยตรง ทั้งนี้การทำงานเชิงพื้นที่ดังกล่าวยังมีข้อจำกัดในเชิงการบริหารจัดการองค์กร การขาดงบประมาณและอุปกรณ์ในการดำเนินการ ไปจนถึงความมั่นคงของคนทำงานในพื้นที่ซึ่งเป็นกลุ่มคนสำคัญในการเข้าถึงตัวเด็กก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่มักถูกละเลยและมองข้ามไป

การแก้ปัญหาเด็กบนท้องถนนเปรียบเสมือนกับการแก้ปัญหาส่วนที่เป็น “ยอดภูเขาน้ำแข็ง” ที่โผล่พ้นน้ำออกมา การเกิดปรากฏการณ์เด็กบนท้องถนนและเด็กกลุ่มเสี่ยงข้างต้นเป็นเพียงผลพวงที่เกิดขึ้นจากหลายๆ ปัญหาซ้อนทับกันทั้งปัญหาภายในครอบครัว เศรษฐกิจ ระบบการศึกษา ไปจนถึงโครงสร้างทางสังคมที่ทำให้เด็กต้องออกมาใช้ชีวิตตามท้องถนน ในปัจจุบันได้มีการบังคับใช้พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ.2562 มีการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมและคุ้มครองครอบครัว และศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน (ศพค.) ในการให้ความรู้และช่วยเหลือเพื่อสร้างความมั่นคงและเข้มแข็งภายในครอบครัว ไปจนถึงการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มีบรรยากาศการเรียนรู้และความปลอดภัยทั้งสำหรับเด็กและครอบครัว ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งในการป้องกันและลดจำนวนเด็กบนท้องถนนและเด็กกลุ่มเสี่ยง

จะเห็นได้ว่าการแก้ปัญหาในรูปแบบเดิมอาจไม่เพียงพอ จำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัย พัฒนา หารูปแบบการทำงานในรูปแบบใหม่ ประสานความร่วมมือในการทำงานและตอบโจทย์วิธีการป้องกันและแก้ไขปัญหาให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ นำไปสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการออกแบบและดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์สำหรับเด็กและเยาวชนบนท้องถนนในระยะยาวอย่างเป็นระบบเพื่อสร้างสังคมให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและเยาวชนทุกคนต่อไป

สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน
ดานา โมหะหมัดรักษาผล

หน่วยปฏิบัติการวิจัยเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชน
คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image