น้ำท่วมฝนแล้งยังดีกว่าบาทแข็ง : วีรพงษ์ รามางกูร

ปีนี้เป็นปีที่แล้งจัด น้ำในเขื่อนทุกแห่งในประเทศไทย แม่น้ำทุกลุ่มน้ำ ไม่ว่าจะเป็นลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำท่าจีน ลุ่มน้ำบางปะกง ลุ่มน้ำโขง ชี มูล ปริมาณน้ำลดลงอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อนสำหรับคนที่อายุ 70 ปีลงมา

ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น ปริมาณน้ำในแม่น้ำและอ่างเก็บน้ำไม่ว่าที่ประเทศลาว กัมพูชาหรือพม่า รวมไปถึงประเทศจีนที่เป็นต้นน้ำอิรวดี แม่น้ำโขง รวมไปถึงแม่น้ำแยงซีและแม่น้ำอื่นๆ น้ำต้นทุนลดต่ำลงอย่างน่าใจหาย

ทางการไทยพยายามขอให้เกษตรกรลดเนื้อที่เพาะปลูกลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลูกข้าวและพืชไร่อื่นๆ ฟังข่าวแล้วตกใจที่พื้นที่ปลูกข้าวนาปรังมีจำนวนมากถึง 12-13 ล้านไร่ ทั้งๆ ที่ข้าวนาปรังเป็นข้าวคุณภาพต่ำ คนไทยไม่รับประทาน คนไทยรับประทานข้าวหอมมะลิ ข้าวเสาไห้และข้าวขาวตาแห้ง ข้าวนาปรังเกือบทั้งหมดใช้ทำข้าวนึ่ง ขายส่งออกไปตลาดล่างที่ประชากรมีรายได้ต่ำ เช่น แอฟริกา บังกลาเทศ อินเดีย ศรีลังกา เป็นต้น ส่วนประเทศอาเซียน เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฮ่องกง รวมทั้งจีนตอนใต้ ยังนิยมรับประทานข้าวหอมมะลิ

ส่วนข้าวของเวียดนามที่เราห่วงว่าจะเป็นคู่แข่งของประเทศไทยนั้นยังอีกนาน เพราะข้าวเวียดนามส่วนใหญ่เป็นข้าวเบาหรือข้าวนาปรัง เนื่องจากต้องประสบกับไต้ฝุ่นตั้งแต่เหนือจรดใต้ปีละกว่า 20 ลูก ไม่เหมาะที่จะปลูกข้าวหนักที่ใช้เวลานานกว่าข้าวนาปรัง

Advertisement

เคยมีคำพูดน้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง เพราะหลังน้ำท่วมข้าวปลานาสวนก็ไม่เสียหายทั้งหมด ยังมีที่ดอนที่สูงที่จะได้ผลดี ที่ลุ่มที่ต่ำก็จะเสียหาย แต่หลังน้ำลดแล้วก็สามารถเพาะปลูกได้ตามปกติ แต่การขาดน้ำเพราะฝนทิ้งช่วงก็ดีหรือฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล เรือกสวนไร่นาก็จะเสียหาย พืชพันธุ์ธัญญาหารก็จะยืนต้นตาย ต้องลงมือทำนาใหม่ ใช้พันธุ์ข้าวเบาที่ใช้น้ำน้อยและระยะเวลาเก็บเกี่ยวเร็ว แม้ได้ราคาไม่ดีก็ยังดีกว่าไม่ได้อะไร ปล่อยให้เรือกสวนไร่นาไว้ให้วัชพืชต้นหญ้าขึ้นปกคลุม ยากกับการไถหว่านในฤดูต่อไป

ถ้าจะต้องไถหว่านก็ต้องจุดไฟเผาหญ้าเสี่ยงต่อการถูกจับกุมเพราะเป็นการสร้างมลภาวะให้กับคนในเมือง เมื่อพืชพันธุ์ธัญญาหารได้แก่ ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย เหล่านี้ขาดน้ำยืนต้นตายแล้วก็แล้วกัน ต้องรอปีหน้าฟ้าใหม่ที่เทวดาพระพิรุณจะโปรยปรายสายน้ำให้ชีวิตชีวาของท้องไร่ท้องนาจึงจะฟื้นคืนชีพ น้ำท่วมจึงมีน้ำให้จัดการบริหารได้สำหรับชาวไร่ชาวนา

ส่วนคนในเมืองซึ่งมีเพียง 15 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมดนั้น คงจะคิดกลับกันกับเกษตรกรในชนบท กล่าวคือฝนแล้งดีกว่าน้ำท่วม แม้ว่าน้ำท่วมคนในกรุงเดือดร้อนน้อยกว่าคนในชนบท เพราะคนในกรุงสามารถล้มรัฐบาลได้ ไม่เหมือนคนในชนบทที่ทำได้แค่ตั้งรัฐบาลตามทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตย แต่ถ้าเป็นรัฐบาลเผด็จการทหารหรือรัฐบาลที่สืบเนื่องจากการปฏิวัติรัฐประหาร ทั้งคนในกรุงและคนในชนบทก็ไม่ได้ตั้งรัฐบาล แต่คนในกรุงอาจจะล้มรัฐบาลได้ แม้ว่าจะเป็นไปได้ยาก เพราะโอกาสที่ทหารจะจัดให้มีและหนุนหลัง กปปส.คงจะเป็นไปได้ยาก

Advertisement

ไม่เหมือนกับตอนที่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ทหารและกองทัพประกาศตัว “เป็นกลาง” ระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มผู้ชุมนุมขับไล่รัฐบาล แค่นี้รัฐบาลก็พังแล้ว เพราะเท่ากับให้สัญญาณว่าทหารไม่เอารัฐบาลแล้ว ไม่อยู่ใต้บังคับบัญชาของรัฐบาลแล้ว กองทัพควรจะเป็นมือเป็นไม้และอยู่ใต้บังคับบัญชาของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยมาจากการเลือกตั้งหรือรัฐบาลที่มาจากการปฏิวัติรัฐประหาร หรือรัฐบาลที่สืบเนื่องมาจากการปฏิวัติรัฐประหาร

ที่แปลกหลังจากสังเกตมาหลายปี ก่อนที่รัฐบาลจะมีอันเป็นไปหรือไม่ก็เกือบจะมีอันเป็นไป มักจะมีเหตุการณ์น้ำท่วมหรือฝนแล้งจัด เช่น กรณีน้ำท่วมหมดในปี 2526 กรณีฝนแล้งจัดให้มี 2535 ปรากฏการณ์ธรรมชาติก็มักจะเป็นเรื่องที่แปลกอยู่เหมือนกัน เป็นไปตามทฤษฎีการเมืองของเม่งจื๊อ เมื่อเกือบ 2,000 ปี มาแล้ว

ปรากฏการณ์ภัยธรรมชาติที่ทำให้เกิดความเสียหายให้กับชาวไร่ชาวนาในภาคเกษตรกรรม ที่ว่าเป็นพิษเป็นภัยกับการผลิตของชาวไร่ชาวนาในภาคเกษตรนั้น ก็ยังดีกว่าพิษภัยจาก “ค่าเงินบาทแข็ง”

พิษภัยจากน้ำท่วมฝนแล้งทำให้เรือกสวนไร่นาบางส่วนหรือส่วนใหญ่ล่มก็จริง แต่ก็ยังมีบางส่วนที่เหลือและมักจะได้รับการชดเชย แม้ว่าไม่ใช่ทั้งหมด ราคาสินค้าเกษตรจะถีบตัวสูงขึ้นเพราะมีของออกสู่ตลาดน้อยลง ผลผลิตเสียหายแต่ก็ไม่ได้เสียหายทั้งหมด ขณะเดียวกันผลกระทบที่ต่อเนื่องอาจจะมีกับภาคขนส่งภาคบริการ เช่น การค้าปลีกค้าส่ง การส่งออกและนำเข้าบางส่วน ภาคอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องจากภาคเกษตร เช่น โรงสี โรงงานอาหารกระป๋อง โรงงานอาหารสัตว์ รวมทั้งปศุสัตว์และการแปรรูป เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา ไก่ไข่ ไก่เนื้อ สุกร โคเนื้อและโคนม และสินเชื่อจากสถาบันการเงินบางส่วน

สำหรับอุตสาหกรรมที่มีป้อนตลาดภายในประเทศและที่ส่งออกต่างประเทศ ก็อาจจะได้รับผลกระทบบ้างจากปริมาณวัตถุดิบที่ลดลง หรือราคาสินค้าที่เป็นวัตถุดิบอาจจะแพงขึ้นบ้าง แต่ก็ไม่ทั้งหมด

แต่พิษภัยจากการที่ค่าเงินบาทแข็งจนกระทบต่อรายรับของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกนั้น มีมากอย่างไม่ต้องสงสัย เมื่อราคาสินค้าส่งออกและนำเข้าถูกกำหนดโดยตลาดโลก เราเป็น “ผู้รับราคา” ไม่ใช่ “ผู้สร้างราคา” อย่างที่เข้าใจผิดกัน ราคาที่ว่าเป็นราคาที่เป็นเงิน “ดอลลาร์สหรัฐ” ราคาที่เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐเมื่อจะแตกเป็นเงินบาท ก็ต้องเอามาคูณกับอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินดอลลาร์สหรัฐกับเงินบาท ถ้าเงินบาทอ่อน เช่น 35 บาทต่อดอลลาร์ ก็ได้เงินบาทมากกว่าเงินบาทที่แข็งเช่นอยู่ที่ 30 บาทต่อดอลลาร์ ถ้าเงินบาทอ่อนผู้ส่งออกแตกเป็นเงินบาทได้มาก ก็จะแย่งกันซื้อสินค้าจากเกษตรกรในราคาที่สูง ถ้าให้ราคาต่ำก็ไม่มีใครขายให้ ตรงกันข้ามกับกรณีที่เงินบาทแข็ง เมื่อผู้ส่งออกทำรายได้จากการส่งออกที่เป็นดอลลาร์มาแลกเป็นเงินบาทได้น้อย ผู้ส่งออกก็ต้องลดราคาซื้อจากชาวไร่ชาวนาในราคาที่ต่ำลง เพราะถ้าซื้อในราคาที่สูงเมื่อส่งออกก็จะขาดทุน

ตลาดสินค้าเกษตรของเรา เช่น ข้าว มัน ยางพารา นั้นเป็นตลาดเสรี ไม่มีใครผูกขาดตั้งราคาได้เอง แต่เป็นไปตามกลไกตลาด ปรับด้วยมาตรการของรัฐบาล ยกเว้นอ้อยและน้ำตาลเป็นอีกเรื่องหนึ่งเพราะระบบอ้อยและน้ำตาลเป็นอีกระบบหนึ่ง ที่ไม่เหมือนสินค้าเกษตรอื่นๆ

เมื่อรายรับของผู้ส่งออกคิดเป็นเงินบาทก็ต้องขึ้นอยู่กับราคาตลาดโลกที่เป็นดอลลาร์สหรัฐและอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทกับเงินดอลลาร์ ราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรจะได้รับจึงขึ้นอยู่กับปัจจัย 2 ปัจจัย สำหรับปัจจัยแรกคือราคาตลาดโลก เราทำอะไรไม่ได้เพราะเราเป็น “ผู้รับราคา” แต่ปัจจัยที่สองคือ อัตราแลกเปลี่ยนนั้นเรามีอำนาจที่จะทำได้ เพราะเราผูกพันกับกองทุนระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ เพียงแต่ว่าระบบอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทก็เงินดอลลาร์นั้นเป็นระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ลอยตัวอย่างมีการจัดการ หรือ managed float exchange rate system ขณะเดียวกันเราก็มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมากมายถึง 7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ที่จะแทรกแซง ซื้อขายเงินดอลลาร์จากการเกินดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัด เพื่อรักษาอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้แข็งขึ้นหรืออ่อนลงมากได้

เสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนนั้นมีความสำคัญกับผู้ส่งออก ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและชาวไร่ชาวนามาก เสถียรภาพดังกล่าวมีความสำคัญกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและกับการลงทุนในภาคส่วนเศรษฐกิจทุกภาค ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม ภาคการค้าและบริการ เพราะเศรษฐกิจของประเทศเราเป็นเศรษฐกิจประเทศเล็กและเปิด รายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการรวมทั้งการท่องเที่ยวมีสัดส่วนถึงร้อยละ 70 ใช้บริโภคอุปโภคในประเทศเพียงร้อยละ 30 เศรษฐกิจนี้จะดีหรือไม่ดีอยู่ที่รายรับจากการส่งออกและการท่องเที่ยวจะขยายตัวหรือหดตัวมากน้อยเพียงใด

จากรายงานในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ค่าเงินบาทของเราเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งขึ้นกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ อัตราการขยายตัวของการส่งออกของเราตั้งแต่ทหารทำการปฏิวัติรัฐประหารจึงต่ำลงเรื่อยๆ จนกลายเป็นการหดตัวในปีที่แล้ว คือปี 2562 ถ้าค่าเงินบาทไม่แข็งตัวถึงร้อยละ 20

ถ้าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวดีกว่านี้ รัฐบาลทหารก็จะได้รับความนิยมอย่างมาก ไม่เหมือนกับปัจจุบันที่มีคำถามว่า ตั้งแต่ทำปฏิวัติรัฐประหารมาประชาชนระดับรากหญ้าได้อะไรบ้าง มีแต่เศรษฐีเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ เพราะผู้นำเข้าส่วนมากเป็นเศรษฐีเจ้าของทุน เป็นผู้ผลิต บริโภควัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูปที่นำเข้ามาจากต่างประเทศที่มีราคาเป็นเงินบาทถูกลงเพราะเงินบาทมีค่าแข็งขึ้น

เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าการเมืองจะอยู่ได้หรือไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้อง ปัญหารายได้ครัวเรือน ปัญหาหนี้สินของครัวเรือนขึ้นอยู่กับรายได้ของครัวเรือน รายได้ของครัวเรือนขึ้นอยู่กับราคาสินค้าส่งออก ราคาสินค้าส่งออกในที่สุดขึ้นอยู่กับ “อัตราแลกเปลี่ยน” เวลา 5 ปีผ่านไปราคาสินค้าต่างๆ ก็ต่ำกว่าที่ควรจะเป็นถึง 20 เปอร์เซ็นต์

เพราะเงินบาทแข็งขึ้น 20 เปอร์เซ็นต์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image