องค์กรของรัฐ : ก้าวหน้าหรือถดถอย

องค์กรเปรียบเสมือนชีวิตของมนุษย์ซึ่งมีลักษณะมีเกิดมีแก่มีเจ็บและมีตาย องค์กรที่ดีมีคุณภาพย่อมเป็นที่ใฝ่ฝันของผู้คนที่อยู่ในองค์กรทั้งสิ้น แต่ทว่าองค์กรเหล่านั้นจะสามารถก้าวถึงหรือเปลี่ยนผ่านตนเองให้มีการพัฒนาเพื่อนำความผาสุขและร่มเย็นมาถึงผู้คนที่อยู่ในองค์กรได้หรือไม่ ถือว่าเป็นเรื่องท้าทายยิ่งนัก โดยทั่วไปแล้วองค์กรจะถูกแบ่งออกเป็นสองประเภทเท่านั้นคือ องค์กรของรัฐและองค์กรของเอกชนซึ่งมีบทบาทและหน้าที่แตกต่างกัน ทั้งนี้บรรยากาศของการทำงานในแต่ละองค์กรก็มีลักษณะแตกต่างกันด้วย

องค์กรของรัฐและปัจจัยที่ส่งผลไม่ให้มีความศักดิ์สิทธิ์

1.บรรยากาศของการทำงาน เป็นที่ทราบดีโดยทั่วกันว่าบรรยากาศขององค์กรนั้นจะส่งผลต่อการทำงานของผู้คนได้เป็นอย่างดี แต่ที่เห็นกันโดยทั่วไปบรรยากาศขององค์กรของรัฐหลายๆ แห่งยังมีลักษณะการทำงานแบบต่างคนต่างอยู่ ไม่เกื้อกูลซึ่งกันและกัน ยิ่งไปกว่านั้นจะพบว่าบางองค์กรจะมีอาการหวาดผวาว่าคนอื่นจะทำหน้าที่เด่นกว่าตนเองซึ่งถือว่าเป็นความผุกร่อนขององค์กรและจะเป็นสาเหตุหลักที่จะทำให้องค์กรเสื่อมและล่มสลายได้ในอนาคต

2.ระบบการประเมินแบบเน้นสมรรถนะที่ไร้คุณค่า จากเหตุการณ์การพัฒนาองค์กรของรัฐที่ผ่านต่างมีการฝึกอบรมหลากหลายแนวคิดและอีกหนึ่งแนวคิดหนึ่งคือการพัฒนาและอบรมที่เน้นสมรรถนะ (Competency-based) แม้ว่าจะมีจำนวนที่มากมายหลายครั้งและทุ่มงบประมาณที่มีจำนวนมากแต่ภาพที่เป็นจริงในการทำงานขององค์กรที่ปรากฏยังมีเกลื่อนกลาดของภาพ “ลูกหลาน-based” (Kinship-based) บางแห่งถึงกับนำลูกหลานของตนเองเข้ามาทำงานก่อนแล้วค่อยมีการ “ชุบตัว” ทีหลัง จึงทำให้เห็นว่า “โคลนปะแทนชัน” ยังต้องเป็นสิ่งที่ควรคิดพิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบ อนึ่งหากมองย้อนกลับไปในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่พระองค์ทรงใช้นโยบายบริหารจัดการบ้านเมืองแบบ “โคลนปะแทนชัน” นั้นเพราะว่าคนเก่งคนดีและมีความสามารถมีจำนวนน้อย แต่ในปัจจุบันจะเห็นว่าคนเก่งและคนที่มีความสามารถมีจำนวนมากจึงจำเป็นต้องเอา “ชันมาปะ” แทนก็จะทำให้เหมาะสมกับเหตุการณ์ในปัจจุบัน

Advertisement

3.ระบบการทำงานที่อิงแอบระบบอาวุโสมากเกินไปโดยส่วนตัวผู้เขียนยังเคารพระบบอาวุโส (ที่ดีงาม) อยู่ แต่ภาพจริงองค์กรของรัฐในหลายๆ หน่วยงานยังปรากฏลักษณะที่ผู้อาวุโสมีการครอบงำทางความคิดให้กับผู้มาใหม่ซ้ำร้ายถ้าไม่กระทำตามถือว่า “นอกคอก” ยิ่งไปกว่านั้นผู้คนที่อยู่ในระบบอาวุโสต่างพยายามหาช่องทางในการเสพสุขของตนเองจนไม่อยากออกจากระบบแม้ว่าถึงวัยอันควรในการเกษียณอายุราชการแล้วก็ตาม สิ่งเหล่านี้ย่อมเป็นที่มาของระบบราชการหรือองค์กรของรัฐที่ขาดความศักดิ์สิทธิ์ทั้งปวง

4.องค์กรของรัฐมีรูปแบบการบริหารจัดการที่หลากหลาย ปราศจากรูปแบบของการทำงานที่เป็นมาตรฐานกลางแบบเดียวกันของชาติ ซึ่งรูปแบบส่วนมากจะมีลักษณะ “ต่างคนต่างคิด” จึงทำให้ขาดความเป็นอัตลักษณ์องค์กรของรัฐไป อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าจะมีการคิดและการสร้างกระบวนการหลายๆ อย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งรูปแบบที่เป็นมรรคเป็นผล แต่บางครั้งดูเหมือนการกระทำนั้นมีลักษณะเป็นเพียง “ไฟไหม้ฟาง” ขาดความต่อเนื่องซ้ำร้ายกระทำขึ้นเพื่อเป็นหน้าตาของตนเองในระหว่างที่อยู่ในองค์กร หาได้เป็นการกระทำที่มาจากใจ ยิ่งเมื่อใดที่มีการปรับเปลี่ยนหรือมีการโยกย้ายไปสิ่งนั้นหายไปทันที

การเข้าสู่ความดีงามองค์กรของรัฐ…ความหวังอันสูงสุดของประชาชน

Advertisement

โดยความเป็นจริงแล้วผู้คนในรัฐชาติจะมีความหวังต่อองค์กรของรัฐว่าจะสามารถเป็นต้นแบบและเป็น “ตัวนำ” ที่จะทำให้เกิดการพัฒนาและเป็นที่พึ่งของผู้คนได้ไม่มิติใดก็มิติหนึ่ง แต่ภาพที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันหาเป็นดั่งที่ผู้คนคิดไม่ บางองค์กรของรัฐมีอำนาจในการสร้างพลังการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาได้เป็นอย่างดีแต่กลับมาล่มสลายเพราะผู้คนในองค์กรต่างสมยอมใน “รูปพรรณสัณฐานเดิม” ไม่กล้าคิดที่จะออกจากกรอบเดิมมีการแอบอิงกับระบบอาวุโสที่ขาดคุณภาพและครรลองที่ควรจะเป็น นอกจากนี้ยังมีองค์กรของรัฐบางองค์กรที่มีการเผาผลาญเงินงบประมาณอย่างมากมายโดยปราศจากการคำนึงถึงว่าเงินที่ใช้นั้นล้วนมาจากภาษีของราษฎรทั้งสิ้น บ่อยครั้งที่พบว่ามีการใช้จ่ายที่ไม่เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งต่อองค์กรและต่อประเทศชาติซึ่งส่วนมากจะมีปรากฏให้เห็นเมื่อใกล้สิ้นปีงบประมาณ ผลตามมาคือหนี้สินและสร้างสายใยของหนี้สินแบบกรรมร่วมให้กับประชาชนโดยไม่รู้ตัว เมื่อเป็นเช่นนี้การเข้าสู่ความดีงามองค์กรของรัฐสามารถทำได้ดังนี้

1.การสร้างรูปแบบการบริหารจัดการเชิงการพลวัตและการเปลี่ยนแปลง (Dynamic and Change) ซึ่งหมายความว่า องค์กรของรัฐจะต้องมีรูปแบบที่เหมาะสมกับวัฒนธรรมการทำงานที่มีประสิทธิภาพที่สังคมโลกทำกัน (Do as the others do) การบริหารจัดการเชิงอำนาจนำให้มาสู่อำนาจรวมที่ชัดเจนและต้องใช้อำนาจในทางการพัฒนามิใช่ข่มขู่หรือทำให้หวาดกลัว เมื่อทำได้เช่นนี้ก็จะเรียกได้ว่า “ท่านได้อำนาจใจไปครอง”

2.ปรับฐานคติแบบ “วิสาสะปรมาญาติ” ความคุ้นเคยถือว่าเป็นญาติสนิทให้เป็น “บริการเป็นอย่างดีจากเงินภาษีของท่าน” ประชาชนทุกคนทุกเพศทุกวัยสามารถเข้าถึงการบริการที่ดีจากองค์กรของรัฐได้อย่างเท่าเทียม ภาพที่ปรากฏให้เห็นโดยทั่วไปคือคนที่รู้จักกันและคุ้นเคยกันจะได้รับบริการและใส่ใจมากกว่า ยิ่งไปกว่านั้นการทำงานของผู้คนที่อยู่ในองค์กรของรัฐต้องให้ความสำคัญกับเวลาที่ตนเองปฏิบัติงาน เพราะยังมีผู้คนขององค์กรของรัฐจำนวนมากที่ทำงานแบบคอร์รัปชั่นเวลา

3.การใช้อำนาจของผู้บริหารในองค์กรของรัฐนั้นต้องอิงแอบกับหลักของธรรมาภิบาลอย่างแท้จริงและทุกหน่วยงานต้องมีการ “ฉีด” เข้าไปในกระแสเลือดของผู้คนในทุกระดับ รวมทั้งต้องกระตุ้นให้มีการทำงานอย่างโปร่งใส และที่สำคัญผู้นำขององค์กรต้องเป็นแบบอย่างที่ดี

4.“ระบบตามน้ำ” ในทุกเรื่องต้องจางหายไปในทุกองค์กรของรัฐ เพราะที่ผ่านมาเสียงจากประชาชนส่วนใหญ่ยังได้ยินคำว่า “ตามน้ำ” ยังมีการฝังอยู่ในองค์กรของรัฐจนยากที่จะแก้ไข อนึ่งลักษณะเช่นนี้ดูเหมือนจะเป็นเรื่องธรรมดาและคุ้นชินกันเป็นอย่างดี บางหน่วยงานถึงกับมีระบบสอนต่อๆ กันว่า “ทำไปเถอะอะไรที่มันตามน้ำ” ซึ่งฟังดูแล้วเหมือนเป็นเรื่องธรรมดาและเป็นวัฒนธรรมที่ดีงามต่างหาก

5.การพัฒนาคุณค่าขององค์กรนั้นอย่าอิงฐานการพัฒนากับองค์กรต่างชาติจนมากเกินไปเพราะลักษณะผู้คนและอัตลักษณ์ขององค์กรของรัฐไทยยังมีข้อแตกต่างพอสมควร การทำการเปรียบเทียบหรือเทียบเคียงในปริบทที่คล้ายกันก็จะส่งผลต่อการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพที่ดีกว่า และสิ่งที่ควรตระหนักคือ “ปรับให้เหมาะ วิเคราะห์ให้ถูก”

บทสรุป สามารถกล่าวได้ว่าองค์ของรัฐคือ อีกหนึ่งหัวใจของการพัฒนาประเทศชาติ แต่ทั้งนี้องค์กรของรัฐต้องมีโครงสร้างที่เหมาะสมกับหน้าที่ความรับผิดชอบของตนเอง มีการบริหารจัดการที่ถูกต้องและที่สำคัญต้องมีผู้นำที่มีจริตที่คิดเพื่อการพัฒนามิใช่คิดเพื่อใช้อำนาจแฝงในการหาผลประโยชน์ และที่สำคัญมากที่สุดผู้คนที่ทำงานในองค์กรของรัฐต้องปรับฐานคิดของตนเองว่า “การทำงานหนักคือดอกไม้ของชีวิต การทำงานสุจริตด้วยกายใจ คือสร้างไทยให้มั่นคง” ก็จะทำให้ได้รับการสรรเสริญในการกระทำที่แท้จริง…ใช่ไหมขอรับเจ้านาย !!!!!!!

ธงชัย สมบูรณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image