องค์กรวิชาชีพในระบบสาธารณสุข : ดร.เฉลิมพล ไวทยางกูร

องค์กรวิชาชีพไม่ว่าแพทยสภา ทันตแพทยสภา สถาปัตยกรรมสภา สภาพยาบาล สภาวิศวกรรม สภาทนาย และสภาอื่นๆ ที่เป็นองค์กรวิชาชีพ ไปรับรองผู้ที่เรียนจบจากต่างประเทศนี้ ต้องรอบคอบให้มากๆ เลยเพราะประเทศไทยมีข้อตกลงทั้งในประเทศภาคีสมาชิกอาเซียน (ASEAN) สิบประเทศ ตั้งแต่มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ลาว เมียนมา เวียดนาม แคมโบเดีย และติมอร์เลสเต ว่าคนของประเทศสมาชิกที่จบการศึกษาในสายวิชาชีพประมาณ 8 วิชาชีพ สามารถไปทำงานที่ประเทศไหนก็ได้ในสิบประเทศ ในขณะเดียวกันประเทศไทยก็ไปทำข้อตกลงกับบางประเทศให้สามารถเข้าไปทำงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เป็นข้อตกลงเฉพาะคู่สัญญาเรียกว่าทวิภาคี (bilateral agreement)

ปัญหาก็คือ ทุกประเทศจะมีเงื่อนไขเหมือนกันว่าต้องได้รับใบอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพจากสภาวิชาชีพของแต่ละประเทศก่อน จึงจะทำงานได้ เงื่อนไขสำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือต้องใช้ภาษาของประเทศนั้นได้และการสอบก็ต้องใช้ภาษาของประเทศนั้น การสอบเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพนั้นมีเงื่อนไขสำคัญเหมือนกันคือต้องเป็นไปตามกระบวนการทดสอบตามที่สภาวิชาชีพของประเทศเหล่านั้นกำหนด เพราะต้องไปให้บริการประชาชนของประเทศเขาเป็นหลัก เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงปรากฏว่าเกือบไม่มีผู้ประกอบวิชาชีพจากประเทศหนึ่งเข้าไปประกอบวิชาชีพอีกประเทศหนึ่งได้ง่ายๆ เลย นอกจากจะไปทำหน้าที่ประสานการทำงานในวิชาชีพหรือไปเป็นที่ปรึกษาในอาชีพนั้น แต่ไม่สามารถปฏิบัติในฐานะนักวิชาชีพ

แต่ก็ไม่ใช่ไม่มีเลย เช่น สิงคโปร์ที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักและระบบการสอบเพื่อรับอนุญาตประกอบวิชาชีพด้านการแพทย์ค่อนข้างเป็นสากลใช้ภาษาอังกฤษ ก็จะมีแพทย์จากบางประเทศสามารถสอบผ่านไปประกอบวิชาชีพแพทย์ที่สิงคโปร์ได้บ้าง แม้ไม่มากนัก หรืออย่างประเทศไทยที่มีข้อตกลงกับญี่ปุ่นให้นักกฎหมายไทยไปประกอบวิชาชีพด้านกฎหมายที่ญี่ปุ่นได้ในบางสาขาเช่น ด้านธุรกิจระหว่างประเทศ อย่างนี้นักกฎหมายไทยที่รู้ภาษาญี่ปุ่น สอบผ่านใบอนุญาตของญี่ปุ่น ก็ไปประกอบวิชาชีพกฎหมายที่ญี่ปุ่นได้ แต่เฉพาะด้านธุรกิจระหว่างประเทศเท่านั้น จะไปเป็นทนายความว่าความในศาลไม่ได้

รายละเอียดพวกนี้เป็นเรื่องสำคัญ คนไทยที่ไปเรียนต่างประเทศ ก็ต้องกลับมาสอบรับใบอนุญาตวิชาชีพของประเทศไทยให้ได้ มิฉะนั้นก็ประกอบวิชาชีพในประเทศไทยไม่ได้เช่นกัน ซึ่งแต่ละปีก็จะมีคนไทยที่ไปจบแพทย์จากสหรัฐ อังกฤษ ฟิลิปปินส์ อินเดีย และอื่นๆ มาสอบรับใบอนุญาต จากความเป็นคนไทย รู้ภาษาไทย และมาตรฐานการศึกษาของประเทศที่ไปเรียนไม่ต่างจากประเทศไทยมากนัก ก็มักมีคุณสมบัติครบสามารถเข้าสอบได้ และหลายคนที่สอบผ่านก็ทำงานในหน้าที่ทั้งในภาครัฐและเอกชนในประเทศไทยได้เป็นปกติ ไม่มีข้อจำกัด

Advertisement

องค์กรวิชาชีพ หรือสภาวิชาชีพต่างๆ ของประเทศไทย มีความตระหนักในเรื่องนี้อย่างมาก และพยายามที่จะควบคุมเรื่องคุณภาพ ความรู้ความสามารถของผู้ที่จบจากต่างประเทศอย่างเข้มงวด ไม่ให้ผู้ที่เรียนจบได้ปริญญาเหมือนกันแต่วิธีเรียนต่างกันมีคุณสมบัติครบโดยอัตโนมัติ โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลช่วยชีวิตผู้ป่วย องค์กรวิชาชีพเหล่านี้ ต้องรักษาจุดยืนเหล่านี้อย่างเข้มแข็ง ไม่ใช่แค่ผู้ที่เรียนจบจากต่างประเทศเท่านั้น แต่รวมถึงผู้ที่จบจากสถาบันภายในประเทศที่มีการเรียนการสอนในสาชาวิชาชีพต่างๆ ก็ต้องผ่านกระบวนการทดสอบมาตรฐานเดียวกัน เพราะขณะนี้ เรามีการบังคับใช้กฎหมายฉบับใหม่ที่ไม่ให้องค์กรวิชาชีพหรือสภาวิชาชีพทั้งหลายเข้าไปมีส่วนในการกำหนดหลักสูตรการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย เหมือนก่อนหน้านี้

องค์กรวิชาชีพจึงถือเป็นด่านสุดท้ายที่จะทำให้ประชาชนเชื่อมั่นไว้วางใจว่าทุกคนที่ได้รับใบประกอบวิชาชีพจะมีความรู้ความสามารถในการให้บริการอย่างมีคุณภาพ สภาวิชาชีพจะต้องไม่ลดหรือย่อหย่อนเรื่องคุณภาพของบุคลากรในวิชาชีพ ไม่ว่าผู้เข้าสอบรับใบอนุญาตจะจบการศึกษาจากที่ไหน ในประเทศหรือต่างประเทศ ก็ต้องมีมาตรฐานเดียวกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image