ภาพเก่า…เล่าตำนาน : โรคภัย…ไม่ใช่เรื่องเวรกรรม

ขอเกาะกระแสเรื่อง “โรคภัยไข้เจ็บ” ที่กำลังกระหึ่มโลกจากสื่อทุกประเภทในเวลานี้ “ไวรัสโคโรนา” แพร่กระจายไปหลายภูมิภาคในโลก มีผู้ติดเชื้อ มีผู้รับการรักษาจนหาย และมีผู้เสียชีวิต มีการประสานงานกันระหว่างประเทศอย่างแน่นแฟ้น องค์การอนามัยโลก (WHO) สหประชาชาติ ออกมาแสดงบทบาทขอให้ประเทศต่างๆ ทำงานร่วมกัน เพื่อหยุดหายนะครั้งนี้ มิใช่ “ตัวใครตัวมัน”

เมื่อเทียบกับอดีตกาลนานโพ้นหลายร้อยปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมา…มนุษย์เคยล้มตายมหาศาลแบบ “มืดแปดด้าน” ไม่รู้อะไรเลยว่า ทำไมถึงตาย เป็นอะไรตาย…

หากแต่ “อัจฉริยชน” จำนวนหนึ่ง ตั้งใจที่จะค้นหาคำตอบ มีการทดลองสารพัดทางวิทยาศาสตร์ เมื่อพบคำตอบที่มิใช่เรื่องไสยศาสตร์ เวทย์มนต์ คาถา หรือเวรกรรม ก็ถ่ายทอดความรู้ ทีละเล็กทีละน้อยสู่สาธารณชน รู้ต้นเหตุ หาวิธีรักษา และหาวิธีป้องกันเป็นผลสำเร็จ มวลมนุษย์จึงรอดปลอดภัย มีอายุยืนยาวมากขึ้น

เมื่อรู้จริง พิสูจน์ได้ …การสูญเสียชีวิตลดน้อยลง เชื้อโรคบางตัวโรคหายไป บางโรคยังแอบหลบไปพัฒนาตัวเอง กลายเป็น “สายพันธุ์ใหม่”

Advertisement

ไข้ทรพิษ อหิวาตกโรค ไข้หวัดใหญ่สเปน พิษสุนัขบ้า วัณโรค ฯลฯ เปรียบเสมือน “พญามัจจุราช” ที่ไร้ความปรานี วันดีคืนดี มากระชากเอาชีวิตผู้คนบนโลกไปเป็นเรือนแสน เรือนล้าน ก็เกิดขึ้นมาแล้ว…

ปัจจุบัน… ความรู้ทางการแพทย์กระจ่างชัด เมื่อเกิดโรคภัยไข้เจ็บแบบ “ตายเป็นเบือ” จะถูกรายงานสู่สังคม มีการติดต่อสื่อสาร แจ้งข่าว สถานที่เกิดเหตุ จำนวนผู้ป่วย กระชับฉับไว เรียนรู้ซึ่งกันและกัน โลกใบนี้ถูกย่อให้เล็กลงแทบไม่มีระยะทาง

ในเวลาเดียวกัน ก็ปรากฏข้อมูลแท้ ข้อมูลเทียม ระคนปะปนกันออกมาแบบตั้งใจและไม่ตั้งใจ คลิปภาพที่มนุษย์อ้าปากกินสัตว์ชนิดต่างๆ ถูกนำเสนอต่อสาธารณชน แบบน่าขยะแขยง สยดสยอง ต้อง “เบือนหน้าหนี”

Advertisement

คลิปที่ตีแผ่กันในโซเชียลมีเดีย ที่ไม่เคยเห็นกันมาก่อนถูกนำมาเปิดเผยอ้าซ่า…วิถีการกินอยู่ของมนุษย์ต่างชนชาติ ต่างเผ่าพันธุ์แสนจะอัศจรรย์ …สัตว์เกือบทุกชนิด มนุษย์จับมากินได้หมด กินให้เห็นกันสดๆ มีเลือดไหลออกมุมปาก อย่างปลื้มอกปลื้มใจ

ตลาดสดที่ขายสัตว์นานาชนิดในประเทศหนึ่ง ถูกเปิดเผยให้เห็นถึงสิงสาราสัตว์ที่มนุษย์ต้องการนำไปเป็นอาหาร แม้กระทั่ง “ค้างคาว” ที่ยังเอาตัวไม่รอด ต้องกลายเป็นเมนูเด็ด

นี่คือความจริงครับ… และเราต้องยอมรับความจริงว่า…“ป่าช้า” ที่ใหญ่ที่สุดในโลก คือ “กระเพาะอาหารของมนุษย์” ที่สามารถรองรับพืช สัตว์ ทุกชนิดในโลกได้

ในอดีต… เคยมีเหตุผู้คนล้มหายตายจาก “เป็นแสน เป็นล้าน” มาแล้วนะครับ แม้กระทั่งในสยามประเทศก็ประสบพบเจอ ทำเอาบ้านเมืองแทบร้าง เงียบเหงา เผากันไม่ทัน

ย้อนไปในอดีต… เมื่อมนุษย์ล้มตายกันมากๆ ไม่รู้จุดเริ่มต้น รู้แต่ว่าต้องตาย มีเหตุผลเดียว คือ เป็นลิขิตของพระผู้เป็นเจ้า

นอกจากสงครามที่มนุษย์ยกพวกไปฆ่าแกงกันเอง ตายเป็นพัน เป็นหมื่น ยังมีความตายอันเกิดจาก “โรคระบาด”…

ภาพเก่า…เล่าตำนาน ขอย้อนรำลึกอดีต “ความตาย” ของมนุษยชาติจากโรคระบาด (บางชนิด) แบบที่หลายคนอาจจะไม่ทราบมาก่อน…

ในปี พ.ศ.2461 ตรงกับรัชสมัยในหลวง ร.6 มีการระบาดของเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า Spanish flu หรือมีชื่อเรียกง่ายๆ ว่า “ไข้หวัดใหญ่สเปน” ยมทูตจอมโหด…ผู้เขียนขออ้างอิงข้อมูลจาก Spanish Flu จาก history.com

ไข้หวัดใหญ่สเปน ไม่มีใครทราบที่มา-ที่ไป แต่นักระบาดวิทยาคาดว่าน่าเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H1N1 ที่กลายพันธุ์มาจากสัตว์อีกทีหนึ่ง

ไวรัสตัวนี้จะทำลายระบบทางเดินหายใจ จนทำให้ระบบทางเดินหายใจล้มเหลว และเสียชีวิตภายในระยะเวลาสั้นๆ

ข้อมูลทางการแพทย์ระบุว่า ในช่วงแรก

ผู้ป่วยจะมีอาการป่วยคล้ายกับโรคไข้หวัดใหญ่ทั่วไป คือมีไข้สูง จาม คลื่นไส้ ปวดเมื่อยตามลำตัว และท้องเสีย

เมื่อผ่านไปสักระยะ เชื้อไวรัสเริ่มแสดงผล อาการของคนไข้จะทรุดตัวลงอย่างรวดเร็ว ใบหน้าของผู้ป่วยจะเป็นสีคล้ำ (เป็นเพราะว่าไวรัสทำให้อวัยวะภายในร่างกายเลือดออก) และปอดจะเต็มไปด้วยของเหลว

หลังจากนั้น ผู้ติดเชื้อจะเริ่มหายใจไม่ออก และเสียชีวิต ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เสียชีวิตจะเป็น “วัยผู้ใหญ่” ที่มีร่างกายแข็งแรง และมีสุขภาพดี เลยทำให้ทุกคนสับสนว่า ก็แข็งแรงดีนี่หว่า ทำไมถึงตาย…

มีการสันนิษฐานว่า ภูมิคุ้มกันของคนหนุ่มสาวนั้นดีกว่ากลุ่มผู้สูงอายุและเด็กๆ ไข้หวัดใหญ่สเปน สามารถติดต่อกันจากคนสู่คนผ่าน การจาม การไอ หรือแม้แต่การพูดคุย

หากของเหลวที่อยู่ในระบบทางเดินหายใจของผู้ติดเชื้อ กระเด็นออกมาจากร่างกาย กลายเป็นละอองลอยอยู่ในอากาศ และคนที่อยู่ใกล้ๆ ก็จะมีโอกาสรับเชื้อเข้าไปได้

ตา ปาก และจมูก คือ ช่องทางรับเชื้อ วิกฤตการณ์ไข้หวัดเสปนครั้งนั้น มีผู้ติดเชื้อราว 500 ล้านคน นั่นคือ 1 ใน 3 ของประชากรโลก เสียชีวิตแบบระเนระนาดราว 20-50 ล้านคน

ชาวยุโรปที่มีนิสัยทักทายกันด้วยการ แนบแก้ม จุมพิต จับมือทักทาย หรือกอดกันในเวลานั้น คือ การส่งผ่านความตายให้แก่กันแบบไม่รู้ตัว

จุดเริ่มต้นของการระบาดที่พอคาดเดาได้ คือ มาจากประเทศในยุโรปนั่นแหละ แต่เนื่องจากว่าอยู่ในสภาวะสงครามโลก จึงทำให้หลายประเทศต้องเลือกที่จะ “หุบปาก” เพื่อไม่ให้ส่งผลถึงกำลังใจของเหล่าทหารนับล้านนาย ที่กำลังสู้รบในสงครามโลกครั้งที่ 1

ในความสับสน ผู้คนตายเหมือนใบไม้ร่วงนับแสน นับล้าน “สเปน” เป็นประเทศเดียวที่กล้า “เปิดเผย” ข่าวนี้ออกมา เพราะเป็นประเทศที่เป็นกลางและมิได้เข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 1 จึงได้ชื่อว่า “ไข้หวัดใหญ่สเปน”

มีข้อมูลระบุว่ากษัตริย์ อัลฟองโซที่ 13 ของสเปน ก็ยังติดโรคนี้ด้วยเช่นกัน

ช่วงแรกๆ เมื่อไข้หวัดใหญ่สเปนออกอาละวาด พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ คือ ทหารที่ใช้ชีวิตกันแบบใกล้ชิด ทหารที่ดื่มน้ำจากกระติกเดียวกัน สูบบุหรี่มวนเดียวกัน กินอาหารด้วยกัน นอนชิดติดกัน โดยเฉพาะเหล่าทหารหน่วยนาวิกโยธินของสหรัฐสูญเสียหนักกว่าเพื่อน….

มากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ ของทหารนาวิกโยธินสหรัฐ ที่ป่วยติดเชื้อ ถูกส่งไปทำงานหลายพื้นที่ เลยกลายเป็นพาหะนำไข้หวัดใหญ่สเปนไปแพร่ระบาด เผื่อแผ่ กระจายในหลายพื้นที่อย่างรวดเร็ว

คนตายเยอะขนาดนี้ ก็ยังไม่มีใครทราบว่าเกิดจากอะไร

เมื่อไม่ทราบที่มาที่ไป ครั้นทหารกลับสู่แผ่นดินอเมริกา ก็นำพาเชื้อไวรัสตัวนี้เข้าไปแพร่กระจาย ในทวีปอเมริกา ลุกลามมาถึงเอเชีย รวมไปถึงหมู่เกาะเล็กๆ ที่อยู่ห่างไกล

มีตัวเลขระบุว่าชาวอเมริกัน 657,000 คนเสียชีวิตจากไวรัสตัวนี้

ผู้คนล้มตายกันแบบน่าอนาถ ไม่มีคำตอบ …เกิดอะไรขึ้น ?

โลกทั้งผองเข้าสู่ภาวะวิกฤต ตัวใครตัวมัน ไม่มีใครช่วยใครได้… การแพร่ระบาดอย่างหนักจนหยุดไม่อยู่ของ “ไข้หวัดใหญ่สเปน” ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกราวๆ 500 ล้านราย สันนิษฐานว่าเสียชีวิตราว 20-50 ล้านคน (ในยุคสมัยนั้น เรื่องสถิติ ข้อมูลเป็นเรื่องที่ทำได้ยากยิ่ง)

ข้อมูลอีกด้านหนึ่งชี้ว่า ในสงครามโลกครั้งที่ 1 มีทหารเสียชีวิตจากไวรัสไข้หวัดสเปนมากกว่าการรบราฆ่าฟันกันในสนามรบเสียอีก ยังว่าโชคดีที่มาอุบัติขึ้นในช่วงท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 1

ในช่วงปี พ.ศ.2461 เป็นยุคที่เรายังไม่มีวัคซีนในการป้องกัน ยาแอนตี้ไวรัส หรือแม้แต่ยาที่จะใช้รักษาไข้หวัดพวกนี้ วัคซีนสำหรับป้องกันไข้หวัดใหญ่ถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกครั้งแรกในช่วง พ.ศ.2483

เหตุผลที่น่ารับฟังว่า ทำไมถึงตายกันมากขนาดนั้น คือ ในเวลานั้น ทั่วโลกกำลังอยู่ในภาวะสงคราม ทั้งแพทย์ พยาบาล ต่างก็ถูกเกณฑ์ไปที่สนามรบเป็นหลัก

ขณะที่ไข้หวัดใหญ่สเปนระบาด พ.ศ.2461 สยามประเทศส่งกองทหารอาสาไปร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 จำนวน 1,254 นาย ส่วนใหญ่อยู่ในฝรั่งเศส กองทหารบกขนส่ง ขับรถบรรทุกทหารบุกเข้าไปในดินแดนเยอรมัน ทหารกล้าแห่งสยามเสียชีวิตไป 19 นาย ซึ่งจำนวนหนึ่งระบุว่า เสียชีวิตจากปอดบวม มีการเผาศพทหารกล้าจากสยาม ที่ตำบลดายูเบ คูรท์ ในดินแดนเยอรมัน และนำอัฐิกลับมาบรรจุไว้ในอนุสรณ์สถาน หัวมุมสนามหลวงด้านเหนือ …ข้อมูลตรงนี้ น่าสนใจนะครับ…

อเมริกาได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากการระบาดในครั้งนั้น โรงพยาบาลเต็มไปด้วยคนไข้ที่ติดเชื้อที่มารอรับการรักษาอย่างไร้ความหวัง ทางโรงพยาบาลต้องเกณฑ์เอานักศึกษาแพทย์ที่ยังไม่จบเข้ามาทำหน้าที่รักษา

มีการเปลี่ยนโกดังเก็บสินค้าหลายแห่งให้กลายเป็นศูนย์ดูแลผู้ป่วย เนื่องจากว่าในโรงพยาบาลไม่มีสถานที่เพียงพอ

รัฐบาลกลางสหรัฐสั่งการให้ปิดสถานที่สาธารณะทั้งหมด เช่น โบสถ์ โรงหนัง โรงงาน โรงเรียน รวมไปถึงประกาศให้ประชาชนสวมหน้ากาก และให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสร่างกาย ผู้อื่นโดยตรง อย่างเช่น การจับมือทักทาย

เราแทบไม่ทราบเลยว่า ไวรัสไข้หวัดใหญ่สเปนเคยแผลงฤทธิ์โหดสุดสุด มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก… หลายแห่งในอเมริกามีศพกองอยู่แบบฝังไม่ทัน หากแต่ทุกฝ่ายตื่นตระหนก ให้รีบฝังแบบเร่งด่วนโดยไม่ต้องทำพิธีทางศาสนา นี่คือโศกนาฏกรรมในอเมริกา

ระยะเวลาของไข้หวัดใหญ่สเปนที่ทำร้ายชีวิตมนุษย์เพียงแค่ 1 ปี คือ พ.ศ.2461-2462 แต่อานุภาพการทำลาย สุดฤทธิ์ สุดเดช…

จุดสิ้นสุดของไข้หวัดใหญ่สเปนนั้นก็เป็นเรื่องราวที่น่าแปลกใจไม่น้อย ในปี พ.ศ.2462 พญามัจจุราชตัวนี้ มันก็ค่อยๆ ระบาดน้อยลง ก่อนที่ในปี พ.ศ.2463 ก็ไม่พบอีกเลย

แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์มีคำตอบว่ามันหายไปไหน

ลองมาย้อนมอง “สยามประเทศ” ในช่วงหนึ่ง ที่เผชิญชะตากรรมแบบสุดสยองที่ลูกหลานควรทราบ…

โรคระบาดที่ทำให้ชาวสยามล้มตายคราวละมากๆ คนสมัยก่อนเรียกกันรวมๆ ว่า “โรคห่า” ซึ่งระบุไม่ได้ว่าคืออะไร ไม่ชัดเจนว่าเป็นโรคอะไร แม้ว่าภายหลังจะเชื่อว่าเป็นโรคอหิวาตกโรค

ต่อมาในปี พ.ศ.2456 (ตรงกับรัชสมัยในหลวง ร.6) มีการออก พ.ร.บ.สำหรับโรคระบาด ระบุไว้แน่ชัด 3 โรค คือ กาฬโรค อหิวาตกโรค และไข้ทรพิษหรือฝีดาษ…

ข้อมูลที่เชื่อถือได้ระบุว่า…ช่วงปี 2363 ในสมัยรัชกาลที่ 2 เกิด “โรคห่า” ระบาดรุนแรงจนชาวบ้านต่างพูดกันว่า “ห่าลง” ผู้คนทั้งปวงท้องร่วง อาเจียนหมดเรี่ยวแรง ถ่ายไม่หยุด ร่างกายเสียน้ำจนช็อกตาย

เล่ากันว่าโรคนี้รุนแรงถึงขนาดมีการนำศพไปทิ้งเกลื่อนเมือง ศพลอยเป็นแพในแม่น้ำจนใช้อาบใช้กินไม่ได้ หลายบ้านนำศพไปทิ้งไว้ในป่าช้า มีศพคนตายเกะกะ ผู้คนไม่มีใครกล้าออกจากบ้าน

บ้านเมืองระส่ำ ชาวสยามจำนวนไม่น้อยที่ใช้ชีวิตบนแพ และอยู่ติดกับแม่น้ำลำคลอง ถ่ายหนัก ถ่ายเบา และดื่มกินน้ำในคลอง ถ่ายเหลว ถ่ายจนซีดแล้วตายจำนวนมหาศาล…โดยไม่มีใครรู้ต้นสายปลายเหตุ…

ในหลวงรัชกาลที่ ร.2 รับสั่งฯ ให้ตั้งการ “พระราชพิธีอาพาธพินาศ” ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เพื่อขอพรจากเทพยดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยบันดาลให้โรคภัยหายไปและเรียกขวัญกำลังใจให้ชาวบ้าน

พระสงฆ์มาทำพิธีสวด มีการยิงปืนใหญ่ตลอดทั้งคืน และอัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบรมสารีริกธาตุออกแห่ ทั้งยังสั่งให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้าน งดการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ซึ่งการที่ชาวบ้านไม่ออกจากบ้านทำให้ไม่นานโรคห่าก็เริ่มลดการระบาดลงและหายไป ครั้งนั้นชาวสยามล้มตายไปราว 3 หมื่นคน

พระนคร…เมืองที่มีคนตายมากที่สุด ชาวบ้านทำได้เพียงหนีออกนอกเมือง ต้องพึ่งไสยศาสตร์ สมุนไพร ตามที่บอกเล่ากันมา ถ้าล้มป่วยแล้วก็จะไม่มีใครรอด

ช่วงแรกก็เผากันไป ต่อมาเริ่มมี “ศพไม่ประสงค์จะออกนาม” มากองอยู่ตามวัดเยอะมากขึ้น เผาไม่ทัน

ง่ายที่สุด คือ เอาศพทิ้งลงในแม่น้ำลำคลองในเวลากลางคืน จึงมีศพลอยเกลื่อนแม่น้ำ ประชาชนต่างอพยพหนีออกไปจากเมืองด้วยความกลัว พระสงฆ์ยังต้องเผ่นทิ้งวัดหนีตาย

ถ้าพระสงฆ์ไม่หนี…จะมีภาระในการดูแลคนป่วย และจัดการกับศพของญาติมิตร ในเวลานั้น วัดสระเกศ เป็นศูนย์รวมศพโดยปริยายของอีแร้งจำนวนนับร้อยตัว เวลาผ่านไป แล้วโรคห่าก็หายไป…

โรคห่ายังไม่ลาจากถาวร ในช่วงหน้าแล้ง มันกลับมาเยือนอีกครั้งในปี พ.ศ.2392 ตรงกับรัชสมัยในหลวง ร.3 ตรงกับปีระกาชาวบ้านจึงเรียกกันว่า “ห่าลงปีระกา”

ในหลวง ร.3 มิได้รับสั่งให้จัดพระราชพิธีอาพาธพินาศ เพียงแต่โปรดเกล้าฯ ให้ปล่อยสัตว์ใหญ่ที่กำลังจะถูกฆ่า ด้วยการไถ่ชีวิตให้ชาวบ้านรักษาศีล เพราะในช่วงเวลานั้น มีบาทหลวง หมอสอนศาสนาจากยุโรป อเมริกา เข้ามาทำงาน ให้ความรู้แก่ชาวสยามบ้างแล้ว

ตอนนั้นเจ้าฟ้ามงกุฎฯ (ต่อมาคือในหลวง ร.4) ซึ่งผนวชอยู่ รับสั่งให้นำศพไปเผาที่วัดสระเกศ วัดบางลำพู และวัดตีนเลน และนี่คือที่มาของตำนาน “แร้งวัดสระเกศ”

เมื่อมีศพมากองพะเนิน หาคนเผาไม่ได้ ฟืนไม่มี ต้องปล่อยศพนอนเปลือยร่างเรี่ยราด จึงมีฝูงแร้ง แห่ไปลงทึ้งกินซากศพ ลานวัด บนต้นไม้ บนกำแพง และหลังคากุฏิ คือ ที่พักคอยของอีแร้ง ฝูงแร้ง บินวนเวียนเข้ามารุมทึ้งซากศพอย่างเสรี และจิกกินซากศพ จนเห็นกระดูกขาว น่าสยดสยองยิ่งนัก

มีตัวเลขที่พอระบุได้ว่า ห่าลงครั้งนั้นมีคนตายทั่วราชอาณาจักร ราว 4 หมื่นคน

พ.ศ.2416 โรคห่ากลับมาเยือนอีก 2 ครั้ง ในรัชสมัยในหลวง ร.5 โรคห่า (อหิวาต์) ลงในกรุงเทพฯ และเมืองชายฝั่งริมแม่น้ำเจ้าพระยา

ในช่วงรัชสมัยในหลวง ร.5 มิได้มีการจัดตั้งพิธีการทางศาสนา เพราะการแพทย์แบบตะวันตกเป็นรูปเป็นร่าง มีความชัดเจน มีองค์ความรู้ที่นำมาบอกกล่าว สอนกันได้ มีแพทย์ พยาบาล จากต่างประเทศเข้ามาทำราชการแล้ว ประชาชนส่วนหนึ่งได้รับการแนะนำวิธีการป้องกัน

ในหลวง ร.5 เสด็จประพาสต่างประเทศ สิงคโปร์ ชวา อินเดีย โดยเฉพาะเสด็จเยือนยุโรป 2 ครั้ง เมื่อเสด็จกลับมา ทรงปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคครั้งใหญ่ของแผ่นดิน นี่คือจุดเปลี่ยนที่ทำให้คุณภาพชีวิตของชาวสยามห่างพ้นจากโรคห่าทั้งปวง

มีการจัดตั้งสถานพยาบาล ตั้งโรงเรียน ให้ความรู้แก่ชาวบ้าน โรคห่าจึงมีความรุนแรงอยู่ในพื้นที่จำกัด หลังจากห่าลงครั้งนั้น คือ จุดกำเนิดของกิจการประปาในสยาม เพื่อให้ชาวสยามได้มีน้ำสะอาดใช้เป็นครั้งแรก

ห่าลงในสยาม พ.ศ.2363 และ พ.ศ.2392 ถือว่ารุนแรง เสียชีวิตมากที่สุด ทั้งนี้ ผู้เขียนไม่ขอกล่าวถึง กาฬโรค ฝีดาษ และโรคระบาดอื่นๆ ที่ปลิดชีวิตของชาวสยามไปมิใช่น้อยเช่นกัน

การเจ็บป่วย โรคระบาด ไม่ใช่เรื่องของเวรกรรม ความรู้ทางการแพทย์เฉลยได้ ตอบได้ …เชื่อฟังคำแนะนำที่ประกาศออกมานะครับ ขอให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ของไทยผู้ปฏิบัติงานทุกระดับ

พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก
——————————————-
ภาพจาก silpa-mag.com researchgate.net bbc.com

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image