ทำไมกองทัพสหรัฐ ไม่เคยแม้แต่จะคิดที่จะทำรัฐประหาร : โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

นายไรอัน แมคคาร์ธี รัฐมนตรีว่าการทบวงกองทัพบกสหรัฐอเมริกาตรวจแถวทหารกองเกียรติยศทหารบกไทย

อนุสนธิจากการที่นายไรอัน แมคคาร์ธี รัฐมนตรีว่าการทบวงกองทัพบกสหรัฐอเมริกาพร้อมด้วย พล.อ.พอล เจ.ลาคาเมรา ผู้บัญชาการกองกำลังกองทัพบกสหรัฐ ภาคพื้นแปซิฟิกและคณะเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของกองทัพบก ระหว่างวันที่ 30-31 มกราคม พ.ศ.2563 นี้นั้นทำให้มีลูกศิษย์ 4 คนมาหาผู้เขียนถึงที่บ้านเพื่อถามถึงการจัดการกองทัพสหรัฐ ที่ทำให้กองทัพสหรัฐ ว่าทำไมกองทัพสหรัฐ ไม่เคยแม้แต่จะคิดที่จะทำรัฐประหาร ซึ่งต่างกับประเทศไทยที่มีการทำรัฐประหารจนแทบนับครั้งไม่ถ้วน มันจึงน่าจะเป็นเรื่องของระบบแน่ทีเดียวแบบว่าเรื่องนี้คงไม่ใช่เรื่องของคนหรอกว่าเป็นคนดีหรือเป็นคนไม่ดี

ผู้เขียนจึงหยิบรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นกฎหมายที่สูงสุดในการปกครองประเทศสหรัฐอเมริกาและชี้ไปที่มาตรา 18 วรรค 12 ของรัฐธรรมนูญที่กำหนดว่ารัฐสภาต้องจัดตั้ง (Raise) และสนับสนุน (Support) กองทัพบก แต่ห้ามอนุมัติงบประมาณให้กับกองทัพบกเกินกว่าครั้งละ 2 ปี พูดง่ายๆ คือตามธรรมเนียมแล้วสหรัฐอเมริกาจะมีเพียงกองทัพบกเล็กๆ ตราบเมื่อเกิดสงครามหรือเกิดเหตุฉุกเฉิน จึงจะระดมพลอาสาสมัครมาเป็นทหารกันทีหนึ่ง เพิ่งจะมีการเกณฑ์ทหารกันก็ตอนสงครามโลกครั้งที่ 2 นั่นแหละ ปัจจุบันก็เลิกเกณฑ์ทหารแล้วใช้ระบบอาสาสมัครตามเดิม

ส่วนรัฐธรรมนูญ มาตรา 8 วรรค 13 ของรัฐธรรมนูญที่กำหนดว่า รัฐสภาต้องจัดหา (Provide) และบำรุงรักษา (Maintain) กองทัพเรือ แปลง่ายๆ ตรงๆ ก็คือรัฐสภาต้องจัดให้มีกองทัพเรือถาวรเต็มรูปแบบพร้อมรบได้ทุกเมื่อ ซึ่งต่างกับกองทัพบก เพราะกองทัพเรือส่วนใหญ่อยู่ในน้ำ จึงมีโอกาสรัฐประหารยากกว่ากองทัพบกนั่นเอง

นอกจากนี้ สหรัฐอเมริกายังเป็นประเทศที่มีประเพณีพลเรือนควบคุมทหารอย่างเข้มแข็ง โดยประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดที่มีอำนาจเต็ม (สำหรับประเทศไทยผู้บัญชาการทหารสูงสุดมักไม่มีอำนาจ เพราะอำนาจมักอยู่ในมือผู้บัญชาการกองทัพบก เนื่องจากกองทัพบกมีกำลังพลมากที่สุดนั่นเอง) และมีกระทรวงกลาโหมทำหน้าที่เป็นองค์กรหลัก ซึ่งนำนโยบายทางทหารไปปฏิบัติ กระทรวงกลาโหมมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นพลเรือนและอยู่ในคณะรัฐมนตรี เป็นเจ้ากระทรวง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอยู่ในอันดับที่สองของสายการบังคับบัญชาของทหาร รองแต่เพียงประธานาธิบดี และทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยหลักของประธานาธิบดีในกิจการทั้งปวงที่เกี่ยวข้องกับกองทัพ

Advertisement

ครับ ! นอกจากผู้บังคับบัญชาทหารโดยตรง 2 คนที่สูงสุดแล้วก็ยังมีรัฐมนตรีทบวงกองทัพอีก 3 คนที่เป็นผู้ยังคับบัญชาทหารแต่ละกองทัพโดยตรง คือ รัฐมนตรีทบวงทหารบก (นายไรอัน แมคคาร์ธี คนที่เพิ่งมาเยือนประเทศไทยเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมานี้) รัฐมนตรีทบวงทหารเรือ และรัฐมนตรีทบวงทหารอากาศ แล้วจึงถึงขั้นของทหารจริงๆ คือเสนาธิการร่วม (Joint Chiefs of Staff) 7 คน ซึ่งก็ทำหน้าที่เป็นเสนาธิการคือเป็นที่ปรึกษาช่วยในการวางแผนต่างๆ ให้ฝ่ายบริหารคือ ประธานาธิบดี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมตลอดจนรัฐมนตรีทบวงกองทัพสั่งการนั่นเอง

ในเมื่อการควบคุมบังคับบัญชาสูงสุดของกองทัพอยู่ในมือของพลเรือนถึง 3 ระดับคือ ประธานาธิบดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีว่าการทบวงกองทัพต่างๆ จึงทำให้การคิดที่จะทำรัฐประหารเกิดขึ้นได้ยาก ยิ่งไปกว่านั้นบรรดารัฐมนตรีว่าการกลาโหมและรัฐมนตรีว่าการทบวงกองทัพต่างๆ นั้นยังมีกฎหมายบังคับอีกว่าหากเคยเป็นทหารมาก่อนต้องถูกปลดประจำการมาแล้วไม่ต่ำกว่า 7 ปี (อ้างใน National Security Act of 1947) แบบว่าไม่ให้เหลืออิทธิพลดั้งเดิมที่เคยอยู่เป็นทหารเลยก็ว่าได้

Advertisement

นอกจากนี้ การควบคุมงบประมาณของรัฐสภาสหรัฐนั้นรับรองไม่มีการอ้างงบสืบราชการลับแบบลอยๆ ที่ไม่เปิดเผยได้โดยเด็ดขาด ดังนั้นการใช้เงินสืบราชการลับในการทำรัฐประหารจึงไม่สามารถทำได้โดยเด็ดขาด

พอพูดถึงตรงนี้แล้วบรรดาลูกศิษย์ทั้ง 4 คนก็ดูไม่ติดอกติดใจอะไรต่อไปอีกแล้วเลยหันไปคุยเรื่องสัพเพเหระจนกระทั่งลากลับไปอย่างสิ้นกังขาว่า “ทำไมกองทัพสหรัฐไม่เคย แม้แต่จะคิดที่จะทำรัฐประหาร”

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image