วิกฤตฝุ่น : การเรียนรู้จากบทเรียน สู่ การบริหารจัดการตามพื้นที่

“ปัญหาหมอกควัน” “ฝุ่นละอองเป็นพิษ PM10” “ฝุ่นPM2.5” ประเทศไทยเผชิญสถานการณ์ “วิกฤตฝุ่น” มาเป็นระยะเวลานานพอที่ภาครัฐจะต้องรับรู้สถานการณ์และสามารถจัดการกับภัยจากฝุ่นได้ หากแต่ “ภัยฝุ่น” กลับพัฒนาความอันตรายและผลกระทบเรื่อยมาและมาตรการและการแก้ไขปัญหาของรัฐทำได้เพียงวิ่งไล่ตามฝุ่นมาโดยตลอด จนมาถึงในปัจจุบันเมื่อฝุ่นที่เกิดขึ้นสร้างผลกระทบโดยตรงกับการดำเนินชีวิตของประชาชน ผนวกกับการเข้ามาของเทคโนโลยีการวัดคุณภาพอากาศ ได้สร้างความตื่นตัวให้กับสังคมและะกลายเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันในทุกๆมิติ

อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการฝุ่นในประเทศไทยที่มีกลไกลที่แตกต่างกันไปตามบริบทของพื้นที่ เนื่องจากสถานการณ์วิกฤติฝุ่นในแต่ละพื้นที่ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจึงไม่ได้เกิดมาจากเหตุและปัจจัยเดียวกัน การบริหารจัดการในที่แตกกระจายนำไปสู่การตั้งคำถามถึงภาพของนโยบายการบริหารจัดการวิกฤติฝุ่นของประเทศไทยในอนาคตว่าจะสามารถสร้างการบริหารจัดการในภาพใหญ่และแก้ปัญหาแบบองค์รวมได้หรือไม่

ในระยะเวลาที่ผ่านมาแนวนโยบายของภาครัฐไทยเป็นการมุ่งแก้ไขปัญหาฝุ่นพยายามลดและควบคุมการเกิดฝุ่นจากแหล่งกำเนิด โดยเฉพาะแหล่งกำเนิดที่เกิดจากกิจกรรมของประชาชนมาโดยตลอด อันที่จริงแล้วประเทศไทยเป็นประเทศกลุ่มแรกๆที่เริ่มสร้างมาตรฐานและคุณภาพอากาศในชั้นบรรยากาศ พิจารณาได้จากในปี พ.ศ. 2524 มีการประกาศกำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศขึ้น โดยมีความมุ่งหมายให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมคุณภาพอากาศสามารถใช้เป็นมาตรฐานในการตรวจสอบและควบคุมคุณภาพอากาศให้เหมาะสม ไม่ก่อให้อันตรายต่อสุขภาพของประชาชน จนมาถึงปัจจุบันแม้ว่าจะมีการพัฒนาและปรับปรุงข้อกำหนดให้เหมาะสมกับบริบท โดยมี พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ที่กำหนดให้กรมควบคุมมลพิษ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบและดำเนินภารกิจที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทำให้เราได้เห็น “เจ้าภาพ” ที่ต้องจัดการกับวิกฤติฝุ่นในประเทศไทยตั้งแต่เริ่มต้น

จนในปัจจุบัน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพลังงาน ได้จัดทำ แผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2560 – 2564 โดยมีแนวทางที่มุ่งการจัดการแหล่งกำเนิดมลพิษ และมอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำกับ ควบคุม และให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการเผาในพื้นที่ชุมชน … น่าเสียดายที่แม้ว่าปัจจุบันเราจะมี “คณะเจ้าภาพ” แต่โครงสร้างการประสานงาน และแนวทางในการดำเนินงาน ตลอดงบประมาณนั้นการดำเนินงานก็ยังไม่มีความชัดเจน การดำเนินที่เกิดขึ้นจึงเป็นการดำเนินงานที่กระจัดกระจายตามวิธีการของคณะเจ้าภาพเท่านั้น

Advertisement
แฟ้มภาพ

เมื่อพิเคราะห์ลักษณะพิเศษของวิกฤติฝุ่น ที่มักจะเกิดขึ้นโดยไม่สนใจเขตการปกครอง (Jurisdiction) ทำให้การเผชิญกับวิกฤติฝุ่นที่มีสถานการณ์และความซับซ้อน เชิงพื้นที่ ภูมิอากาศ วิถีชีวิต วัฒนธรรมที่แตกต่างกัน วิธีการบริหารจัดการฝุ่นที่เป็นมลพิษในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันตามบริบทและสถานการณ์ที่เกิดขึ้น อย่างในพื้นที่ภาคเหนือ(ฝุ่นจากการเผาไหม้จากวัฏจักรการเกษตร)และภาคใต้(ฝุ่นจากไฟป่า-ป่าพรุทั้งจากไทยและประเทศเพื่อนบ้าน) ต่างเผชิญกับวิกฤตฝุ่นมายาวนานและมีความรุนแรงของปัญหามาก วิธีการในการจัดการกับวิกฤตฝุ่นในพื้นที่จึงเน้นความร่วมมือกันตั้งแต่ตัวแสดงระดับเหนือรัฐจนถึงตัวแสดงระดับท้องถิ่นแก้ไขปัญหา หรือการบริหารจัดการที่ยังให้ภาพไม่ชัดเจนอย่างในกรุงเทพมหานคร

จังหวัดเชียงใหม่ได้มีการจัด “โครงการยักษ์เขียว” รับมือกับวิกฤติฝุ่น แนวนโยบายดังกล่าวจะเพิ่มออกมาจากแนวทางที่ภาครัฐกำหนด คือ จากแนวทางที่มุ่งควบคุมและจัดการกับแหล่งกำเนิดของฝุ่นยังเพิ่มกระบวนการในการจัดการกับฝุ่นที่เกิดขึ้น ด้วยการประดิษฐ์ “เครื่องดูดฝุ่น PM 2.5” ขนาดยักษ์ใหญ่ ด้วยการร่วมมือของตัวแสดงทุกภาคส่วน คือ นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ นักธุรกิจ เจ้าหน้าที่ภาครัฐ เอกชน รวมถึงผู้มีประสบการณ์ด้านกู้ภัยและบรรเทาสาธารณภัยจึงรวมตัวกันที่จังหวัดขอนแก่น บทเรียนและการเผชิญสถานการณ์ฝุ่นที่ผ่านมาได้สร้างแนวทางในการร่วมมือและร่วมใจกันบริหารสถานการณ์วิกฤติฝุ่นของเชียงใหม่

จังหวัดเชียงราย มีการขับเคลื่อนแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันของจังหวัดเชียงราย โดยมีตัวแสดงหลักคือ แม่ทัพภาคที่ 3 และผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ที่นำหน่วยงานต่างๆภายในพื้นที่เข้ามาร่วมหารือเพื่อขับเคลื่อนแผนดังกล่าว โดยมีโครงการที่น่าสนใจคือ “โครงการยักษ์ขาว” ที่มีลักษณะการดำเนินนโยบายตามแนวทางของภาครัฐคือ เน้นควบคุมและจัดการกับแหล่งในการทำให้เกิดมลพิษฝุ่น ผ่านการสร้างความร่วมมือ การตระหนักรู้และการจูงใจ ซึ่งเกิดจากการรวมกลุ่ม นักวิชาการ อาสาสมัครจากมหาวิทยาลัย สภาอุตสาหกรรม หอการค้า ชมรมธนาคาร และภาคประชาสังคม ลงทุนสร้างเครื่องวัดฝุ่นขนาดเล็กแจกในโรงเรียนและพื้นที่ประสบปัญหา ฝุ่น PM 2.5 ติดตั้งเครื่องวัดฝุ่นขนาดจิ๋วให้ครอบคลุมกับทุกตำบลในจังหวัดเชียงราย มีการรายงานผลผ่านแอปพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือ เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาสภาพอากาศ ทำให้ประชาชนรวมทั้งนักเรียน มีความรู้ในการอ่านค่าเครื่องวัดคุณภาพอากาศ ทราบถึงอันตรายและวิธีการปฏิบัติตน

Advertisement

พื้นภาคใต้ก็มีการบริหารจัดการในพื้นที่ที่แตกต่างกันกับภาคเหนือ นั่นก็คือการใช้กลไกลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นตัวแสดงศูนย์กลางในการปฏิสัมพันธกับหน่วยทหาร หน่วยงานระหว่างประเทศและท้องถิ่นในการดำเนินงานเนื่องจากสถานการณ์ฝุ่นควันอยู่ในพื้นที่ป่า คณะเจ้าภาพที่มีอำนาจในการเข้าพื้นที่ก็สามารถปฏิบัติงานในป่าได้ และในขณะเดียวกันก็ใช้กลไกองค์กรปกครองท้องถิ่นที่จะมีบทบาทในการจัดการฝุ่นในพื้นที่ที่มีประชาชนอาศัยอยู่ตามลำดับ

ย้อนกลับมามองการบริหารจัดการฝุ่นของกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน น่าเสียดายที่ในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร ที่ล้วนแต่มีทรัพยากรในการจัดการและมีหน่วยงานให้ประสานพลังในการทำงานร่วมกันที่มีประสิทธิภาพที่สุด กลับแสวงหาวิธีที่มีประสิทธิภาพในการรักษาคุณภาพอากาศของชาวกรุงไม่เต็มที่นัก การบริหารจัดการยังคงวิ่งตามปัญหามากกว่าจะสร้างการบริหารเชิงรุก

อย่างไรก็ตามหากย้อนกลับมามองที่รากของปัญหาเรื่องฝุ่นคงจะเห็นพ้องต้องกันได้ว่า “ฝุ่น” เป็นวิกฤติปัญหาที่สำคัญหากแต่รูปแบบการบริหารจัดการที่กระจัดกระจาย การนำการบริหารจัดการของรัฐที่เน้นการตามติดสถานการณ์และการวิ่งตามฝุ่นยังไม่ใช่ทางออกที่ดีนัก ในทางตรงข้ามกระแสการรักษ์ตนเองของประชาชนที่ดูจะสร้างความหวังให้กับการรับมือกับปัญหาได้ดีกว่า ทำให้โจทย์ของการรับมือกับปัญหาฝุ่นอยู่ที่ “รัฐจะพยายามสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมของประชาชนได้อย่างไรที่สนับสนุนให้ประชาชนคือพันธมิตรหนึ่งของรัฐในการฝ่าพ้นปัญหานี้ไปได้” เพราะความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างรัฐกับประชาชนคือกุญแจสำคัญในการไขประตูของความร่วมมือทางการบริหารจัดการ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ยากหากรัฐยังคงขาดการแสดงเจตจำนงต่อสาธารณะในการแก้ปัญหาเช่นเดิมอีกต่อไป

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image