มือที่ถือปืน และมือที่ถือกล้อง : โดย กล้า สมุทวณิช

คงไม่จำเป็นที่จะต้องเท้าความเล่าเหตุการณ์เกี่ยวกับโศกนาฏกรรม ค่ำคืนอันยาวนานระหว่างวันเสาร์ที่ 8 ถึงวันอาทิตย์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2563 ที่จังหวัดนครราชสีมา ที่น่าจะถือเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยเราประสบเหตุกราดยิงในรูปแบบเดียวกับที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ การกราดยิงโดยไม่เลือกหน้าปราศจากเหตุผล

อาจจะแย้งว่าเป็นการกราดยิงโดยไร้เหตุผลไม่ได้เสียทีเดียว ก็เพราะต้นสายปลายเหตุที่ทำให้ทหารผู้ก่อการน่าสลดนั้นมาจากการถูก “โกง” ในเรื่องเงินๆ ทองๆ จากนายทหารที่มียศสูงกว่า และเขาได้จัดการชำระแค้นด้วยอาวุธเท่าที่เขามีแล้ว เรื่องต่อจากนั้นต่างหากที่เรียกว่าเป็นการก่อเหตุฆ่าคนแบบกราดยิงที่ไร้เหตุผล เริ่มจากการปล้นอาวุธปืนและยานพาหนะในค่ายทหาร ขับออกมากราดยิงผู้คนระหว่างทางและตำรวจที่ขวางทาง อย่างเกินความจำเป็นหากจะมองว่ากระทำไปเพื่อหวังหลบหนี และสุดท้ายที่สลดที่สุดคือการเข้าไปในห้างใหญ่กลางเมืองตอนบ่ายวันเสาร์ และทำการสังหารหมู่อย่างยาวนานกว่าสิบชั่วโมง

ตลอดเวลาสิบกว่าชั่วโมงข้ามคืนนั้น เราได้เห็นอะไรที่น่าเศร้า น่าตกใจและสะเทือนขวัญ ทั้งปัญหาเชิงกลไกของฝ่ายรัฐ การใช้ “เสรีภาพ” ของสื่อมวลชน และกระทั่งการใช้ “เสรีภาพ” ของผู้คนธรรมดาอย่างเราๆ ท่านๆ

แต่ฝ่ายที่เป็นขั้วแห่งการถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักราวกับเป็นจำเลยร่วมกัน ก็คือ กองทัพ และสื่อมวลชน

Advertisement

กองทัพนั้นถูกวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ของการเป็นองค์กรต้นเหตุ ซึ่งมิใช่เพียงเพราะผู้ก่อเหตุนั้นสังกัดอยู่เท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะอาวุธที่ใช้ก่อเหตุนั้นเป็นอาวุธในราชการสงครามที่เหมือนจะฉกชิงมาได้จำนวนมากมายหลายชนิดอย่างง่ายดาย จนสาธารณชนตั้งคำถามถึงระบบการควบคุมดูแลและป้องกันอาวุธเหล่านั้น กองทัพจึงถือเป็นจำเลยรายแรกที่จะปัดความรับผิดชอบไปเสียไม่ได้ แม้ว่าเหตุพิพาทตั้งต้นจะเป็นเรื่องส่วนตัว และเอาเข้าจริงๆ ก็ถือเป็น “ความแพ่ง” ว่าด้วยการผิดสัญญาซื้อขายนายหน้าก็ตาม

แต่ก็เพราะนี่ไม่ใช่การผิดใจกันระหว่างพนักงานขาย หรือโปรแกรมเมอร์ที่อาจจะจบลงด้วยการโพสต์เฟซบุ๊กด่ากันไปมา แต่มันคือข้อพิพาทระหว่างผู้ถืออาวุธหนักสองฝ่าย การที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะฟิวส์ขาดใช้อาวุธ เพื่อชำระแค้นก็เป็นเรื่องร้ายที่มีความเป็นไปได้ และความสามารถของผู้ก่อเหตุที่เข้าถึงอาวุธจำนวนมากได้อย่างไม่ยาก ก็ทำให้เรื่องราวกลายเป็นโศกนาฏกรรมอย่างที่ทราบ

เว้นแต่สหรัฐอเมริกาที่มีความเป็นมาพิเศษของตนเอง รัฐประเทศส่วนใหญ่ผูกขาดอำนาจในการมีปืนและอาวุธอันตรายสูงอื่นๆ เอาไว้กับรัฐ พูดง่ายๆ คือรัฐจะเก็บปืนทุกกระบอกเอามาไว้ เพื่อใช้ปกป้องภยันตรายทั้งภายนอกภายใน โดยประชาชนพลเมืองไม่มีหน้าที่และอำนาจเช่นนั้น ยกเว้นแต่ที่จะเข้ากรณีที่กฎหมายพึงอนุญาตตามความหนักเบายากง่ายของแต่ละประเทศ

Advertisement

การที่รัฐโดยกองทัพนั้นเป็นองค์กรเดียวที่มีอำนาจถือปืน และมีอาวุธร้ายแรงนั้นนอกจากเพื่อเอกภาพในการป้องกันประเทศและรักษาความสงบเรียบร้อยแล้ว ยังเป็นไปเพื่อไม่ให้ประชาชนแก้ปัญหาข้อพิพาทกันเอง ด้วยวิธีการลากปืนออกมายิงกันคนละนัดด้วย โดยหลักการแล้วนี่คือเรื่องถูกต้องที่ควรจะเป็น แต่ปัญหาของการที่ปืนและอาวุธสงครามไปอยู่ในมือขององค์กรหรือสถาบันใหญ่เพียงหน่วยเดียว ก็ทำให้หน่วยเดียวที่มีอาวุธนั้นเป็นสถาบันองค์กรที่เข้มแข็งจนยากที่ใครต่อการ จนถ้าพวกเขาใช้พลังอำนาจมหาศาลนั้นโดยฝ่าฝืนความต้องการของประชาชนพลเมือง เช่น การรัฐประหารหรือยึดอำนาจรัฐไว้เองเสียแล้ว ก็เป็นเรื่องยากที่จะขัดขืน ต่อให้พวกเขาจะกระทำการนั้นไปโดยอ้างว่าได้รับความยินยอมจากประชาชนก็เถอะ แต่ถ้ามีใครสักคนยกมือค้านว่าเขาไม่ได้ต้องการอย่างนั้น ก็อาจจะได้รับคำตอบเป็นปากกระบอกปืนจ่อกลับมา เมื่อนั้นทุกสรรพเสียงก็ต้องเงียบไป

หรือแม้แต่เมื่อเกิดกรณีที่บุคลากรในองค์กรนั้นเกิดความผิดเพี้ยน หยิบเอาอาวุธสงครามที่ตนเองรักษา หรือครอบครองอยู่ออกมาก่อเหตุขึ้นก็ยากที่จะมีใครหยุดเขาได้ แม้แต่ผู้ที่ถืออาวุธได้อย่างตำรวจ หรือพลเมืองที่ได้รับอนุญาต อาวุธที่มีก็ด้อยฤทธิ์กว่าอาวุธที่ใช้ในการสงคราม ผลออกมาก็เป็นอย่างที่เราได้เห็นในข่าวสลดไปแล้ว

สิ่งที่จะป้องกันเรื่องนี้ได้ ไม่ว่าจะเหตุระดับจุลภาคอย่างการที่เจ้าหน้าที่ทหารนอกแถวสักรายใช้อาวุธสงครามออกมากราดยิงไล่ฆ่าชาวบ้าน หรือมหภาคกองทัพที่ประหารรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนด้วยกองกำลังติดอาวุธ ก็คือการเอา “ประชาธิปไตย” ใส่ลงไปในกองทัพให้มากที่สุด เพื่อให้กองทัพเป็นกองทัพของประชาชน ที่ประชาชนชอบที่จะสั่งการและตรวจสอบได้ผ่านกลไกตัวแทน

ครั้งหนึ่ง มีทหารระดับผู้บัญชาการออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ธรรมชาติของทหารแล้วไม่อาจยอมรับอยู่ภายใต้การปกครองสั่งการของรัฐบาลพลเรือนได้ นั่นคือความเข้าใจผิดอย่างร้ายแรงของท่าน ความเข้าใจผิดที่ว่าท่านและองค์กร หรือสถาบันของท่านนั้นได้รับอำนาจให้ถืออาวุธอยู่โดยเอกเทศ แม้ว่าอาวุธเหล่านั้นจะถูกซื้อมาด้วยภาษีประชาชนก็ตาม

ประชาชนไม่ใช่เพียงคนออกเงินซื้ออาวุธผ่านภาษี แต่ประชาชนต่างหากที่เป็นผู้อนุญาตให้ทหารเป็นผู้เดียวที่ได้มีสิทธิอำนาจครอบครองอาวุธหนักที่ใช้ในการทำสงคราม โดยประชาชนนั่นเองที่สละสิทธิในการมีการถืออาวุธ ผ่านความไว้วางใจให้องค์กรที่เรียกว่า “กองทัพ” นั้นได้รับอำนาจในการมีการถืออาวุธของประชาชนแต่ละคนไว้ เพื่อเอกภาพในการป้องกันประเทศดังที่ได้กล่าวไป

นี่อาจจะเป็นข้อเท็จจริงเบื้องหลัง “อำนาจ” แห่งกองกำลัง ที่พวกท่านจำเป็นต้องปรับทัศนคติ และยอมรับให้กองทัพเป็นของประชาชน และต้องถ่วงดุลตรวจสอบได้ด้วยตัวแทนของประชาชน

ส่วนสื่อมวลชนนั้นก็ถูกตั้งข้อหาว่าเป็นผู้ทำให้เรื่องต่างๆ แย่ลง การเข้าไปคลี่คลายสถานการณ์ทำได้ยากขึ้น ที่หนักหนาและถูกวิพากษ์วิจารณ์ที่สุดก็คือ การรายงานข่าวแบบเร็วที่สุด ละเอียดที่สุด จนทำให้ผู้ก่อเหตุรู้แผนการณ์ของเจ้าหน้าที่ รวมถึงความเคลื่อนไหวของผู้รอดชีวิตในอาคารวิกฤตนั้น

ส่วนที่ไม่เกี่ยวกับการรายงานข่าวในที่เกิดเหตุนั้นก็ล้ำเส้นจนใจร้าย เช่น การที่ใช้ความพยายามติดต่อกับครอบครัวพ่อแม่ของเหยื่อผู้เสียชีวิต พยายามสัมภาษณ์สดๆ เพื่อชิงความสนใจ และได้ข่าววิปโยคก่อนใคร แจ้งข่าวการตายของคนที่เขารักอย่างไม่สนใจว่าทำให้พวกเขาหัวใจสลาย ไม่ใช่เพียงพ่อแม่ของผู้ตาย แต่ยังหมายถึงผู้ชมผู้ฟังที่ได้ยินเสียงกรีดร้องของผู้สูญเสียถ่ายทอดออกมาด้วย

ถ้ากองทัพนั้นมีอาวุธ เพราะประชาชนสละอำนาจการมีอาวุธไว้แก่กองทัพเพียงองค์กรเดียว แต่เรื่องของ “สื่อมวลชน” ไม่ได้เป็นเช่นนั้น

เพราะสื่อมวลชนนั้นไม่ได้มีอำนาจพิเศษเหนือกว่าประชาชนเพราะอำนาจรัฐ แต่มาจากเสรีภาพในการสื่อสารและแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานของพลเมืองอยู่แล้ว เพียงแต่เดิมนั้นที่ราวกับว่าอำนาจในการสื่อสารข้อมูลข่าวสาร หรือแสดงความคิดเห็นสาธารณะจะเป็นของ “สื่อมวลชน” ก็เพราะข้อจำกัดด้านทุนและเทคโนโลยี

ในยุคสมัยที่ว่านั้น ใครที่ไหนจะสามารถพิมพ์ข่าว หรือความเห็นของตัวเองออกไปให้คนทั้งประเทศอ่านได้ หรือจะถ่ายภาพบันทึกเสียงกระจายต่อไปได้ในลักษณะเดียวกัน การที่คนเราจะ “สื่อสาร” ออกไปสู่ “มวลชน” ได้จำเป็นต้องมีเทคโนโลยีชั้นสูงและทุนมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นโรงพิมพ์ สายส่ง สถานีวิทยุโทรทัศน์ หนำซ้ำคลื่นวิทยุโทรทัศน์ที่เป็นสื่อกลางก็อยู่ในความครอบครองของรัฐอีก

ต่างจากสมัยนี้ที่เราก็คงรู้อยู่แล้ว ว่าเราทุกคนมีสำนักข่าว สถานีวิทยุ และสถานีโทรทัศน์อยู่ในอุ้งมือของเรา ด้วยค่าใช้จ่ายที่แทบคำนวณเป็นหน่วยสตางค์ยังไม่ได้ เพราะมันเหมารวมไปกับค่าบริการอินเตอร์เน็ตระดับหลักร้อยบาทต่อเดือนแล้ว

หรือแม้แต่การเป็นสื่อกระแสหลักในรูปแบบเดิม เทคโนโลยีก็ราคาถูกลง การเป็นเจ้าของช่องโทรทัศน์อาจจะใช้ทุนสูง แต่ก็ไม่ถึงขนาดเกินเอื้อมหรือต้องใช้เส้นสายอิทธิพล เช่น สมัยก่อนอีกต่อไป นั่นทำให้เรามีสถานีโทรทัศน์ดิจิทัลมากมายหลายสถานี

ความที่ “เสรีภาพ” ที่เคยกระจุกตัวอยู่นี้กระจายออกไปอย่างไร้การควบคุมด้วยหตุผลดังกล่าว ความเป็นสถาบันและจรรยาบรรณที่ยังพอจะเคยควบคุมได้ถูกท้าทายด้วยบ่อน้ำขนาดเล็กกว่าเดิมด้วยสื่อใหม่ แต่ผู้เข้าร่วมแย่งกินน้ำกลับมีจำนวนสูงขึ้น ทำให้สื่อหลักสถานีโทรทัศน์บางช่อง เลือกใช้วิธีลัดในการเรียกผู้ชมอันเป็นที่มาของ “เรตติ้ง” ซึ่งจะแปลงเป็นรายได้ผลประโยชน์

เป็นที่มาของการทำ “ข่าว” ให้เป็นเรื่องบันเทิง ทำโศกนาฏกรรมให้เป็นมหรสพ และเอาชีวิตและชะตากรรมของผู้คนจริงๆ มาเป็นละครเรียกน้ำตา ทั้งนี้ ก็เพื่อแย่งชิงความสนใจจากผู้คนที่ถูกดูดถูกดึงไปอยู่ที่หน้าจออื่น

เพราะเหตุร้ายสดๆ ร้อนๆ ยังพอเป็น “พื้นที่ได้เปรียบ” ของสื่อหลักที่มีคนและเทคโนโลยีอยู่ แม้ว่าประชาชนคนทั่วไปก็อาจจะถ่ายทอดแบบไลฟ์สดได้ แต่ความที่กระจัดกระจายแบบตัวใครตัวมันก็สู้การถ่ายทอดแบบศูนย์รวมโดยสื่อหลักไม่ได้ หากสื่อนั้นสามารถตอบสนองแรงอยากรู้ได้มากเท่าไร ก็ย่อมช่วงชิงเรตติ้งมาได้มากขึ้นเท่านั้น

เป็นที่มาของการปฏิบัติหน้าที่ล้ำเส้น ทั้งเรื่องการเปิดเผยแผนการณ์ของเจ้าหน้าที่และที่ซ่อนตัวของผู้ประสบภัย หรือการลากเอาหัวใจที่แตกสลายของครอบครัวผู้สูญเสียมาขยี้เพื่อเรียกความสนใจ

แต่จะโทษสื่อเสียทั้งหมดก็เหมือนจะละเลยอาการ “หิวข่าว” FOMO (Fear Of Missing Out) ของผู้คนที่เป็นเหมือนฝนที่ตกให้กบมันร้อง และเพราะกบร้องทำให้ฝนตกลงมาวนซ้ำกันอยู่นั่นแล้ว

ใช่หรือไม่ว่าประชาชนส่วนหนึ่งนั่นแหละ ที่ไปติดตามและแชร์ไลฟ์สดการกราดยิงไล่ฆ่าของทหารผู้ก่อเหตุ ประชาชนที่นึกสนุกปลอมเฟซบุ๊กของเขาเพื่ออะไรก็ไม่ทราบได้ การกระจายข่าวลือแบบไร้กาลเทศะ และเอาเข้าจริงๆ ภาพหรือคลิปที่แสดงความเคลื่อนไหวภายในอาคารก็เกิดจากการส่งต่อกันไปมาของประชาชนชาวเน็ตกันเอง เราจึงโทษ “สื่อ” ไม่ได้ทั้งหมด และไม่ได้เต็มปาก

สภาวะเสียสมดุลจากการที่เสรีภาพที่เคยเป็นขององค์กรหรือสถาบันสื่อถูกกระจายเล็กและย่อยลงเป็นต้นเหตุให้เกิดสภาวะไร้การควบคุม แต่การควบคุมนั้นก็เป็นคนละเรื่องกับการ “จำกัด” ลิดรอนเสรีภาพ หรือแม้แต่การใช้เป็นข้ออ้างเพื่อดึงรวบให้ภาครัฐเท่านั้นเป็นผู้ผูกขาดความจริง แต่การควบคุมนั้นหมายถึงการหา หรือสร้างข้อตกลงร่วมกันที่เราจะยังรักษาเสรีภาพในการสื่อสารและแสดงความคิดเห็นกันได้ โดยไม่ทำให้ใครตายไปจริงๆ หรือจิตใจแตกสลายยับเยิน

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image