บทนำ : บทเรียน 30 ศพ

เหตุกราดยิงที่ศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 นครราชสีมา ระหว่างวันที่ 8-9 ก.พ.ที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตถึง 30 ราย รวมคนร้าย คือ จ.ส.อ.จักรพันธ์ ถมมา สังกัดค่ายสุธรรมพิทักษ์ บาดเจ็บ 58 คน รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล 30 คน บาดเจ็บกลับบ้านได้แล้ว 28 คน รวมผู้ประสบเหตุ 88 คน ในจำนวนนี้อยู่ในไอซียู 9 คน ถือเป็นเหตุร้ายที่มีตัวเลขผู้เสียชีวิตมากที่สุดอีกครั้งหนึ่ง และเป็นเหตุการณ์แรกที่เจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธสงครามก่อเหตุในที่สาธารณะ ทำให้ประชาชนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

ตลอดเวลาที่เกิดเหตุ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้มีข่าวสารออกไปสู่ประชาชนที่ติดตามเหตุการณ์ด้วยความห่วงใย สังคมได้เห็นการทำหน้าที่อย่างกล้าหาญของเจ้าหน้าที่เพื่อระงับเหตุและช่วยเหลือประชาชนที่ติดอยู่ในศูนย์การค้า ทั้งจากการปะทะที่วัดป่าศรัทธารวม อันเป็นจุดที่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่พยายามเข้าสกัดคนร้าย จนถูกยิงด้วยอาวุธร้ายแรงเสียชีวิต และมีจำนวนผู้เสียชีวิตรวมถึง 9 ราย ก่อนที่คนร้ายจะถูกตำรวจหน่วยอรินทราชสังหารที่ห้องเย็นใต้ศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 โดยมีตำรวจเสียสละชีวิตอีก 2 นาย

พฤติกรรมการก่อเหตุของคนร้าย เริ่มต้นจากความไม่พอใจในเรื่องการซื้อบ้านด้วยเงินสวัสดิการทหารกับผู้บังคับบัญชา ก่อนไปนำอาวุธสงครามและกระสุนจำนวนมากจากคลังอาวุธ โดยยิงทหารที่เข้าเวรรักษาการณ์เสียชีวิต แล้วใช้รถของทางราชการขับไปก่อเหตุ
กราดยิงดะอย่างเลือดเย็นโดยไม่เลือกหน้า จนกลายเป็นความสูญเสียดังกล่าว มีประเด็นที่เป็นบทเรียนสำคัญหลายประการ ที่จะต้องมีการสรุปและหามาตรการป้องกันโดยเร่งด่วน โดยเฉพาะในเรื่องการนำอาวุธสงครามร้ายแรง รวมถึงกระสุนจำนวนมากออกจากคลังมาก่อเหตุ เป็นเรื่องที่หน่วยงานต้นสังกัดจะต้องเร่งหาทางแก้ไขไม่ให้เกิดขึ้นอีก

สังคมที่ปลอดภัย ส่วนหนึ่งมาจากการสรุปบทเรียนจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และส่วนหนึ่งจะต้องมาจากการวางแผนป้องกันล่วงหน้า ต้องคิดโจทย์ปัญหาล่วงหน้า แล้วกำหนดมาตรการแก้ไข กรณีที่เทอร์มินอล 21 จะต้องไม่ปล่อยให้สูญเปล่า นอกจากการเยียวยาความสูญเสียแล้ว รัฐบาล ทางราชการและกองทัพ จะต้องสร้างหลักประกันให้ประชาชนมั่นใจว่า จะไม่เกิดความสูญเสียในลักษณะนี้ขึ้นอีก

Advertisement

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image