เดินหน้าชน : บทเรียนจ่าคลั่ง : โดย นายด่าน

เหตุสะเทือนขวัญ “จ.ส.อ.” คลุ้มคลั่งกราดยิงกลางเมืองนครราชสีมา จนมีผู้เสียชีวิต 30 ราย รวมผู้ก่อเหตุ บาดเจ็บ 58 คน

เป็นโศกนาฏกรรมที่สร้างความเศร้าสะเทือนใจแก่คนไทยทั้งประเทศ เพราะคงไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดเหตุกราดยิงหมู่ขึ้นในบ้านเรา

แถมเหตุกราดยิงนี้เกิดขึ้นคล้อยหลังกรณี “ผอ.กอล์ฟ” บุกเดี่ยวปล้นร้านทองที่ลพบุรีได้เพียงเดือนกว่าเท่านั้น

ทั้ง 2 เหตุการณ์สะท้อนถึงปัญหาความรุนแรงในสังคมไทยที่ยิ่งจะรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม ทั้งจำนวนผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บความเสียหายของทรัพย์สิน และความรุนแรงของเหตุการณ์

Advertisement

น่าเป็นห่วงว่าเหตุการณ์ลักษณะนี้จะเกิดขึ้นซ้ำอีกหรือไม่จาก “พฤติกรรมการเลียนแบบ”

ในยุคของโซเชียลมีเดียที่มีการเผยแพร่คลิป เหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆ มากมาย ที่ง่ายต่อการเข้าถึง

ช่วงหลายปีที่ผ่านมามีผลวิจัยเกี่ยวกับเหตุกราดยิงในสหรัฐเผยแพร่ออกมา

ยกตัวอย่างผลวิจัยที่เผยแพร่ในวารสารเด็กและครอบครัวศึกษาปี 2561 ระบุ เหตุกราดยิงในโรงเรียนของสหรัฐอเมริกาเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 18 ปีที่ผ่านมา ผู้เสียชีวิตมีมากกว่าผู้เสียชีวิตในเหตุกราดยิงในรอบศตวรรษที่ 20 รวมกันทั้งหมด

โดยตั้งแต่ปี 2543-2561 เกิดเหตุกราดยิง 22 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 66 ราย ผู้ก่อเหตุในเหตุทั้งหมดส่วนใหญ่เป็นเยาวชน ขณะที่บางส่วนมีปัญหาสุขภาพจิต แสดงให้เห็นว่าการเข้าถึงอาวุธปืนเป็นไปได้อย่างง่ายดาย

ขณะที่ผลวิจัยในวารสารทางด้านสาธารณสุขของสหรัฐในปี 2560 ระบุว่า เหตุการกราดยิงในสหรัฐที่มีคนเสียชีวิตตั้งแต่ 4 คนขึ้นไป มักเกิดขึ้นทุกๆ 12.5 วัน การนำเสนอข่าวของสื่อที่ไม่ถูกต้องและเหมาะสมทำให้เกิดพฤติกรรมการเลียนแบบขึ้นได้ในอนาคต

นอกจากประเด็นการนำเสนอของสื่อที่มีการพูดถึงกันมากแล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นภายในรั้วทหาร ที่เชื่อว่าจะเป็นชนวนเหตุ ที่ทำให้จ่าสิบเอกรายนี้ ก่อเหตุ ถูกกระทุ้งให้กองทัพบกเข้ามาแก้ปัญหาอย่างจริง

แม้ล่าสุด “บิ๊กแดง” พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ได้สั่งการไปยังแม่ทัพภาคที่ 2 แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมา ตรวจสวัสดิการของกำลังพล ร้านค้าสวัสดิการ รวมถึงธุรกิจในค่ายทหารทั้งหมด

แต่สุดท้ายก็ยังไม่รู้ว่าผลสอบจะออกแบบไหน จะสาวไปถึงต้นตอปัญหาที่แท้จริงได้หรือไม่

ในเวทีเสวนา “ถอดบทเรียน กราดยิงโคราช” จัดขึ้นที่ มรภ.นครราชสีมา วันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีการระดมความเห็นจากประชาชน และนักวิชาการ

ขอหยิบยกความเห็นของ ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ระบุบางช่วงบางตอนว่า ผู้ก่อเหตุรายนี้ เกิดความกดดันในชีวิตหลายทาง ทั้งเรื่องส่วนตัว เรื่องที่ทำงาน และเรื่องความคับแค้นกับผู้ที่มากระทำ จึงทำให้เกิดความเครียดสะสมวันละเล็กน้อยและเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จนอารมณ์ระเบิดขึ้นมาอย่างรุนแรง และเมื่อความรุนแรงจุดติดก็เลยเถิดจากเหตุผลที่คนทั่วไปเข้าใจ เขามีความต้องการที่จะก่อเหตุให้รุนแรงที่สุด

เรื่องนี้เกิดจากปัญหาโครงสร้างทางสังคม โดยเฉพาะสังคมทหาร ที่มีอำนาจสั่งการเต็มที่ต่อผู้ใต้บังคับบัญชา สังเกตได้จากร่องรอยที่ผู้ก่อเหตุโพสต์ในโซเชียลทั้งก่อนและขณะก่อเหตุ

การแชร์ภาพความรุนแรงในโซเชียล รวมทั้งการใช้คำรุนแรงรายงานข่าวเช่น จ่าคลั่งปืนโหด และคำอื่นๆ บ่งบอกได้ว่าเรากำลังมีปัญหาโครงสร้างทางสังคมมาก

เหล่านี้คือสิ่งที่ทุกฝ่าย ต้องเรียนรู้จากโศกนาฏกรรม เพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำอีก

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image