โควิด-19 ‘ฆ่า’ อย่างไร? : โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

(ภาพ-AP)

ถึงตอนนี้ มีคนกว่า 2,000 คนเสียชีวิตไปแล้ว เพราะติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลกยังคงยืนยันว่าเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้เพียงแค่ก่อให้เกิดอาการป่วยไม่มากมายนักในผู้ติดเชื้อราว 80 เปอร์เซ็นต์ เมื่อพิจารณาจากข้อมูลทางการแพทย์เบื้องต้นจากจีน

คำถามที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ แล้วเมื่อใด การติดเชื้อไวรัสนี้ถึงทำให้ถึงตายได้? หรือ แล้วเจ้าโควิด-19 มันฆ่าคนได้อย่างไรและฆ่าใครกัน?

นพ.คาร์ลอส เดล ริโอ ศาสตราจารย์ด้านการแพทย์และอนามัยโลก จากมหาวิทยาลัยเอมอรี ซึ่งทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาเพื่อนร่วมวิชาชีพในการรับมือกับผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งในจีนและเยอรมนี อธิบายเอาไว้ว่า อาการเริ่มแรกของคนติดเชื้อไวรัสนี้นั้น เหมือนกับอาการป่วยด้วยโรคในระบบทางเดินหายใจปกติทั่วไปมาก คือเริ่มต้นด้วยอาการมีไข้ ไอแห้งๆ แล้วก็หายใจไม่สะดวก

บางคนมีอาการปวดหัว แล้วก็เจ็บคอ ร่วมด้วย ซึ่งคล้ายกับคนที่เป็นไข้หวัดใหญ่มาก มีผู้ติดเชื้อหลายรายบอกว่ามีอาการเหนื่อยล้า กล้ามเนื้ออ่อนแรง เหมือนกับเป็นไข้หวัดใหญ่ยังไงยังงั้น

Advertisement

มีน้อยรายที่เกิดอาการท้องร่วง ซึ่งทางการแพทย์สันนิษฐานว่า เพราะได้รับเชื้อผ่านช่องปาก ระบบทางเดินอาหาร หรือที่ปนเปื้อนเข้าไปกับอาหารนั่นเอง

ถึงระดับนี้เพียงแค่ไปพบแพทย์ เพื่อรักษาตามอาการก็ยังไหวอยู่นะครับ ยังไม่จำเป็นต้องเยียวยารักษากันใหญ่โตอะไร

แต่ราว 20 เปอร์เซ็นต์ของผู้ติดเชื้อ มีอาการหนักกว่าอาการเหล่านั้นมาก

Advertisement

แพทย์หญิง โยโกะ ฟุรุยะ ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อของศูนย์การแพทย์เออร์วิง ในมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ระบุว่า ผู้ติดเชื้อในกลุ่มนี้แสดงอาการหนักกว่าออกมาเพราะเชื้อเข้าไปโจมตีปอดครับ

เมื่อเข้าถึงเซลล์ของปอดของเรา โควิด-19 จะเริ่มแพร่พันธุ์ด้วยวิธีการแตกตัว จากหนึ่งเป็นสอง จากสองเป็นสี่นั่นแหละครับ ยิ่งขยายตัวมากเท่าใด เซลล์ในปอดของเราก็เสียหายมากเท่านั้น

เซลล์ของปอดได้รับความเสียหายไม่ใช่จากตัวไวรัสเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นเพราะระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายของเราสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาตามกลไกปกติของร่างกาย ที่ใช้ภูมิคุ้มกันนี้ไปควบคุมหรือกำจัดสิ่งที่ร่างกายถือว่าเป็น “ผู้รุกรานจากภายนอก” ซึ่งต้องฆ่าแล้วกำจัดทิ้งทั้งหมด ไม่ให้มันแตกตัวได้อีกต่อไป

การทำหน้าที่ของภูมิคุ้มกันนี้ นอกจากจะฆ่าเซลล์ที่ติดไวรัสแล้วยังส่งผลให้เนื้อเยื่อของปอดได้รับความเสียหายไปด้วย แล้วก็ทำให้เกิดอาการ “อักเสบ” ขึ้นมา

หนักๆ เข้าก็กลายเป็น “นิวมอเนีย” หรืออาการปอดบวมนั่นเอง เพราะถึงขั้นนี้ถุงลมทั้งหลายในปอดจะอักเสบและเต็มไปด้วยของเหลว ยิ่งทำให้หายใจลำบากมากยิ่งขึ้น

คุณหมอเดล ริโอ เพิ่มเติมว่า เมื่อปอดมีอาการเช่นนี้ก็จะทำให้การทำหน้าที่นำออกซิเจนไปยังเลือดของเรายากตามไปด้วย ส่งผลให้เกิดอาการรุนแรงตามมาได้อีกมากมาย เพราะการขาดออกซิเจนยิ่งทำให้เกิดการอักเสบภายในมากขึ้น สร้างปัญหากับร่างกายมากขึ้นเพราะอวัยวะทั้งหลายต้องการออกซิเจน เมื่อไม่ได้รับหรือได้รับไม่เพียงพอ ก็จะส่งผลให้หยุดทำงาน ตั้งแต่ตับ ไต เกิดอาการ “วาย” ได้ทั้งนั้น

แพทย์หญิง ซิลวี เบรียนด์ ผู้อำนวยการกองโรคระบาดและโรคติดเชื้อขององค์การอนามัยโลก บอกว่า ผู้ติดเชื้อที่อาการหนักราว 3-5 เปอร์เซ็นต์ ต้องส่งเข้าไอซียู และมีผู้ติดเชื้อจำนวนไม่น้อยที่ต้องอาศัยเครื่องช่วยหายใจ รวมถึงกรณีที่สาหัสมากๆ อาจจำเป็นต้องใช้เครื่องฟอกเลือด ให้ทำหน้าที่แทนปอดของเรา

คุณหมอฟุรุยะ บอกว่า ผู้ที่มีอาการหนักเหล่านี้มีอยู่สองกลุ่ม กลุ่มแรกคือผู้ที่มีอายุตั้งแต่วัยกลางคนไปจนถึงผู้สูงอายุ เพราะยิ่งอายุมากขึ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายก็อ่อนแอลงไปตามวัย

อีกกลุ่มคือ กลุ่มคนที่มีโรคประจำตัวอยู่ก่อนแล้ว อาทิ โรคหัวใจ, เบาหวาน และโรคปอดเรื้อรัง ซึ่งทำให้ร่างกายเปราะบางต่อการโจมตีของเชื้อโรค ยากที่ร่างกายจะฟื้นฟูตัวเองจากการติดเชื้อได้

คนใน 2 กลุ่มนี้คือผู้ที่ติดเชื้อแล้วเสียชีวิตลงมากที่สุดครับ

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image