อนาคตใหม่ : จากพรรคสู่ขบวนการ? โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ใช่ว่า “อนาคตใหม่” จะไม่เคยเผชิญคำตัดสินที่ส่งผลในแง่ลบต่อพรรค แต่คำตัดสินยุบพรรคและการตัดสิทธิทางการเมืองของคณะกรรมการบริหารพรรคในช่วงไม่กี่วันก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ส่งผลสะเทือนต่อการเมืองไทยในภาพรวม ส่งผลสะเทือนต่อพรรคอนาคตใหม่ถึงขั้นที่จำต้องเปลี่ยนรูปแบบการทำงานทางการเมืองและการเคลื่อนไหว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของการนำของพรรค

และทำให้การเคลื่อนไหวจากเดิมในแง่ที่เป็นพรรคการเมืองที่จดจัดตั้งและดำเนินกิจการในรัฐสภา ปรับเปลี่ยนการเคลื่อนไหวเป็น “คณะ” หรือที่เข้าใจกันในภาษาอังกฤษว่าเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง (political movement) ตามที่ได้ประกาศว่า ต่อจากนี้แกนนำของพรรคที่เป็นคณะกรรมการบริหารจะมีการขับเคลื่อนทางการเมืองในรูปแบบใหม่

เมื่อพิจารณาคำพิพากษาในคดียุบพรรคจากที่ประกาศในข่าวของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ในทางวิชาการย่อมมองเห็นนวัตกรรมในการตีความกฎหมายและตัดสินคดีของพรรคอนาคตใหม่อยู่หลายประการ

หากไม่ได้มองในแง่ของการเห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย หรือรับได้-รับไม่ได้ รวมทั้งข้อสงสัยเรื่องแรงจูงใจทางการเมืองกับคำพิพากษาในรอบนี้ (หากมี) สิ่งที่ทำให้เราต้องหันไปพิจารณาในทางวิชาการประการหนึ่งก็คือ ข้อถกเถียงที่ว่าในการตัดสินคดีความนั้น ผู้พิพากษานั้นเพียงตัดสินไปตามกฎหมาย หรือผู้พิพากษานั้นสามารถสร้างกฎหมายได้? คำอธิบายเช่นนี้เป็นที่ถกเถียงกันในวิชา jurisprudence ในมิติที่เรียกว่า Judges make laws ได้ไหม? โดยเฉพาะการอุดช่องกฎหมายที่ยังไม่มีความชัดเจน หรือคำถามว่าอะไรคือขอบเขตของการตีความกฎหมายว่าเมื่อไหร่ที่ผู้พิพากษาจะใช้ดุลพินิจของตนได้ และภายใต้ข้อจำกัดอะไร เพราะนั่นคือเส้นแบ่งที่บางมากระหว่างการตัดสินไปตามกฎหมาย การตีความกฎหมาย และการสร้างกฎหมาย (ด้วยว่าเป็นที่รับรู้ทั่วไปว่าฝ่ายที่ออกกฎหมายมักจะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ คือรัฐสภา หรือกรณีเหตุเร่งด่วนก็คือรัฐบาล แต่ต้องจะผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาในเวลาต่อมา)

Advertisement

ขณะที่อีกสำนักคิดหนึ่งอาจจะมองว่าผู้พิพากษานั้นไม่สามารถสร้างกฎหมายขึ้นมาใหม่ได้ สิ่งที่ทำได้มีเพียงแค่พยายามค้นหากฎหมาย หรือขบบประเพณีที่อยู่มาตอบให้ได้ แต่จะตีความเพิ่มเติมไปจากกฎที่มีอยู่ไม่ได้ เพราะจะเป็นการล่วงล้ำอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ (ซึ่งในที่นี้อาจจะเป็นการล่วงล้ำอำนาจของตัวแทนประชาชนที่เป็นผู้ร่างกฎหมาย หรือกฎหมายสูงสุด ซึ่งในกรณีบางกรณีประชาชนอาจไม่ได้ร่างแต่ก็อาจถูกอ้างอิงได้ว่าได้ผ่านประชามติมาแล้ว แม้จะมีข้อสงสัยต่อความเป็นธรรมในการลงประชามติมากแค่ไหนก็ตาม) อีกทั้งยังมีความน่ากังวลในเรื่องที่ว่าถ้าการสร้างกฎหมายใหม่นั้นเกิดขึ้นอาจจะมีผลย้อนไปตัดสินคดีเก่าๆ ที่เคยรอดไปแล้ว ซึ่งเป็นการใช้กฎหมายย้อนหลัง

ผมขอทิ้งประเด็นเรื่องขอบเขตของการตีความกฎหมายไว้เพียงแค่นี้ เพราะคิดว่าเรื่องนี้มีความสลับซับซ้อนเป็นอย่างยิ่ง และไม่ใช่เป็นเรื่องข้อถกเถียงทางนิติปรัชญาเท่านั้น แต่จะต้องเข้าใจถึงสภาพแรงกดดันทางการเมืองและโครงสร้างอำนาจทางการเมืองในฐานะเงื่อนไขสำคัญในการตัดสินคดีในแต่ละครั้งด้วย

สิ่งที่จะทิ้งท้ายเป็นข้อสังเกตของต่อพรรคอนาคตใหม่นั้นมีอยู่หลายประการ ซึ่งผมขอนำมาจากบางส่วนในงานวิจัยของผมในเรื่อง “พฤติกรรมการเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไป 24 มีนาคม 2562 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร” ที่เสนอต่อสำนักวิจัย สถาบันพระปกเกล้าเมื่อปลายปี 2562

ในประการแรก การทำความเข้าใจฐานคะแนนเสียงของพรรคอนาคตใหม่นั้น การทำความเข้าใจพรรคอนาคตใหม่ในฐานะของพรรคสำหรับ “คนรุ่นใหม่” เป็นปมปัญหาที่ต้องการการทำความเข้าใจและวิเคราะห์อย่างจริงจัง

การตีความโดยทั่วไป (ซึ่งไม่ได้ผิด แต่ไม่ครบถ้วน) ก็คือการทำความเข้าใจว่าพรรคอนาคตใหม่นั้นมีฐานเสียงอยู่ที่คนรุ่นใหม่เท่านั้น และมองว่าการเมืองปัจจุบันนั้นเป็นเรื่องของความขัดแย้งที่เปลี่ยนรูปจากเหลือง-แดง ไปสู่คนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่

การตีความเชิงประชากรศาสตร์เช่นนี้ ทำให้เราเชื่อง่ายๆ ว่าอนาคตใหม่เป็นพรรคคนรุ่นใหม่ หรือกินพื้นที่ประมาณ 1 ในสามถึงสี่ของประชากรทางการเมืองของประเทศ

ทั้งที่ในความจริงในพรรคอนาคตใหม่มีผู้สนับสนุนข้ามช่วงชั้นทางประชากรอยู่มาก คือมีทุกช่วงวัย แน่นอนว่าอาจจะมีคนที่เป็นคนอายุน้อย และผู้มีสิทธิทางการเมืองครั้งแรกอยู่มาก แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมดของกลุ่มช่วงชั้นประชากรดังกล่าวไปเสียหมด ด้วยว่าพรรคอื่นๆ ก็มีแนวทางการหาเสียงในการเข้าถึงคนรุ่นใหม่ด้วยกันทั้งสิ้น และมีสมาชิกพรรคหน้าใหม่ๆ ที่เลือกลงสมัครพรรคอื่นเช่นกัน

การทำความเข้าใจกับพรรคอนาคตใหม่จึงต้องทำความเข้าใจเรื่องของช่วงชั้นประชากรควบคู่ไปกับเรื่องของจุดยืนทางอุดมการณ์ทางการเมือง ซึ่งในแง่นี้มีทั้งสองส่วน คือ ฝ่ายที่เคยเป็นเสื้อแดงเดิมก็เข้าร่วมอยู่ไม่น้อย และฝ่ายที่เป็นเสื้อเหลืองและ กปปส. บางส่วนก็เข้าร่วมเช่นกัน ด้วยเชื่อมั่นในจุดยืนของพรรคที่มีต่อประเด็นปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมที่เป็นอยู่ในวันนี้

นอกจากนี้แล้ว กรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ส่วนมากก็เป็นคนที่ไม่ใช่คนรุ่นใหม่ในทางประชากรศาสตร์ คือเป็นวัย X และ Y มากกว่า Z ซึ่งคนวัย X และ Y ไม่เคยมีการแตกหักที่รุนแรงกับพวก Baby Boomer อย่างชัดเจน โดยเฉพาะในขบวนการเหลืองและ กปปส. แต่พวกเขาไม่ใช่ทายาททางการเมืองของนักการเมืองเดิม หรือมีฐานคะแนนเสียงในพื้นที่

ในอีกด้านหนึ่ง ในหลายเขตเลือกตั้งใน กทม.เอง พรรคอนาคตใหม่นั้นครองชัยชนะ 9 เขต ใน 30 เขต โดยมีฝั่งธนฯไปถึง 6 เขต ซึ่งเป็นเขตเก่าของประชาธิปัตย์เสียเป็นส่วนใหญ่ ไม่นับนัยสำคัญของการเพิ่มขึ้นของคะแนนอนาคตใหม่ในพื้นที่ที่ไทยรักษาชาติถูกตัดสิทธิทางการเมือง ที่มีคะแนนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับเขตที่เพื่อไทยไม่ได้ลง

ทั้งหมดที่จะชี้ให้เห็นนี้ก็คือ พรรคอนาคตใหม่นั้นไม่ใช่พรรคที่มีฐานหลักในช่วงชั้นประชากร และ อุดมการณ์ทางการเมืองที่มีการเปลี่ยนแปลงกันได้ง่ายๆ จากการผสมแนวคิดหลายแบบเข้าด้วยกันของฐานคะแนนที่มีอยู่หลากหลาย

แต่เป็นอนาคตใหม่เป็นพรรคที่สร้างอัตลักษณ์ทางการเมืองใหม่ (new political identity) ในความหมายตามที่นักทฤษฎีทางการเมืองท่านหนึ่งได้กล่าวว่า “อัตลักษณ์ทางการเมือง” (political identity) เกี่ยวพันกับความเป็นชุมชนทางการเมืองที่จะต้องทำการรับรู้ด้วยการสร้างให้ปรากฏเห็นด้วยวาทกรรมมากกว่าเรื่องของการอ้างอิงเชิงประจักษ์ ชุมชนทางการเมืองจึงเป็นสิ่งที่ต้องถูกสร้างขึ้น โดยการรวบรวมความหลากหลายของข้อเรียกร้องเพื่อสร้างความเป็น “ตัวตน/ตัวเรา” ขึ้นมาโดยสัมพันธ์กับการสร้างจุดร่วมที่ดีงามบางประการ และจุดร่วมนั้นจะต้องถูกรับรู้ในฐานะจุดที่แม้จะยังไปไม่ถึง แต่ต้องเป็นจุดร่วมที่เราต้องกล่าวถึง/อ้างอิงถึงอย่างสม่ำเสมอ

แนวคิดเรื่องจุดร่วมที่ดีงามนั้นก็บ่งชี้ถึงความภักดีที่มีต่อหลักการทางคุณธรรมการเมืองในประชาธิปไตยสมัยใหม่ที่ว่าด้วยเรื่องของเสรีภาพและความเท่าเทียมกันสำหรับทุกคน ซึ่งก็เป็นสิ่งที่มีการตีความกันอย่างหลากหลาย ในแง่นี้การพูดถึงชุมชนทางการเมืองที่นำเอาทุกคนเข้ามาอยู่ร่วมกันได้นั้นก็อาจจะไม่สามารถที่จะเป็นไปได้ เพราะมักจะมีความเป็นคนนอก หรือสิ่งอื่นบางอย่างที่เป็นเงื่อนไขให้ความเป็นชุมชนทางการเมืองนั้นเกิดขึ้นได้ และเป็นสิ่งที่ทำให้เรามีความเป็น (พวก) เรา และ (พวก) เขา

ในทุกรูปแบบของการสร้างฉันทามตินั้นย่อมจะต้องวางอยู่บนรากฐานของการผลักออกหรือแยกสิ่งหนึ่งออกไป ขณะที่เงื่อนไขของความเป็นไปได้ของการที่จะสร้างชุมชนทางการเมืองได้นั้นก็เป็นเรื่องเดียวกับเงื่อนไขของความเป็นไปไม่ได้ที่จะบรรลุความเป็นชุมชนที่ทุกคนจะอยู่ในชุมชนนั้นได้โดยสมบูรณ์ (Mouffe, Chantal. 1992. “Citizenship and Political Identity.” October 61: 28-32. – อนึ่ง Mouffe เองก็เป็นหนึ่งในนักทฤษฎีที่เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่อ้างถึงบ่อย ไม่นับ Negri Gramsci และอีกหลายคนในการพูดและบทสัมภาษณ์หลายชิ้น)

อธิบายง่ายๆ ว่า อนาคตใหม่นั้นเป็นขบวนการทางการเมืองตั้งแต่วันแรกที่เริ่มงานทางการเมืองด้วยซ้ำ ส่วนการเป็นพรรคการเมืองของอนาคตใหม่นั้นผมคิดว่าเป็นเพียงหนึ่งในภารกิจของพรรค ดังนั้นการเปลี่ยนจากพรรคเป็นคณะในฐานะขบวนการทางการเมืองนั้นจึงเป็นเพียงการกลับสู่รากฐานของการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ยังยืนหยัดในเรื่องของการรวมตัวกันด้วย “การสร้างอัตลักษณ์” ทางการเมืองขึ้นมาใหม่

มากกว่าความเชื่อง่ายๆ ว่ามีประชากรรุ่นใหม่เข้ามาในการเมือง แล้วอนาคตใหม่ก็เพียงแค่ไปเอาใจหรือนำเสนอนโยบายให้กับคนเหล่านั้น เหมือนที่พรรคการเมืองอื่นๆ ทำกันมาโดยตลอด เพราะมองคนรุ่นใหม่เป็นแค่เพียงผู้เลือกตั้งที่จะเข้ามาเลือก แต่อนาคตใหม่มองทุกคนว่ามีศักยภาพในการก่อร่างสร้างตัวตนทางการเมืองร่วมกัน

นอกจากนี้การมองว่าสิ่งที่อนาคตใหม่นั้นสร้างปฏิบัติการทางการเมืองใหม่ๆ ในแง่อัตลักษณ์ทางการเมืองที่ไม่ใช่เรื่องของอุดมการณ์ของพรรคที่ชัดเจนตายตัว ยังทำให้เราเข้าใจชัดขึ้นว่า ไม่แปลกอะไรที่อนาคตใหม่นั้นมักถูกตั้งคำถามทั้งจากฝ่ายก้าวหน้าและอนุรักษ์ว่าทำไมหลายเรื่องถึงได้ทำขัดกัน หรือทำไมไปไม่สุด

เพราะอัตลักษณ์ทางการเมืองมีความยืดหยุ่นกว่า ปรับเปลี่ยนได้มากกว่า มีการผสมปนเปอย่างมีพลวัต เราไม่ควรเข้าใจอัตลักษณ์ทางการเมืองในแง่ของสเกล (scale) จากซ้ายไปขวา แต่ควรเข้าใจการผสมและความลักลั่น ปฏิสัมพันธ์และการกลืนกลายต่อรองต่อสถานการณ์ และการกำหนดตัวตน ชุมชน และการสร้างเขตแดนของการปะทะกับผู้อื่นที่พวกเขาสร้างขึ้น หรือการที่ผู้อื่นที่มีจริงนั้นต่อต้านและกำหนดระยะห่างและจุดยืนต่ออนาคตใหม่ด้วย

ประการที่สอง เราควรเข้าใจอนาคตใหม่ว่าพวกเขานั้นเป็นผลผลิตที่คาดไม่ถึงของชนชั้นนำและระบอบการเมืองปัจจุบัน จากการที่การทำรัฐประหารในรอบล่าสุดนี้ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของการต่อเนื่องที่ยาวนานนับทศวรรษของการปะทะกันที่แทบจะเรียกว่าเป็นคลื่นลูกยาวไม่ต่างไปจากยุคการเปลี่ยนแปลง 2475 2516 และ 2535

การเปลี่ยนแปลงนับเนื่องจาก 2549 นั้นไม่สิ้นสุดลงง่ายๆ และเมื่อมีการพยายามสานต่อความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแบบ “อย่าให้เสียของ” เมื่อ 2557 อาทิ การลากการร่างรัฐธรรมนูญอย่างยาวนานถึงสองฉบับ/ร่าง การลงประชามติที่ไม่เสรีเป็นธรรมจากการห้ามการรณรงค์หลายรูปแบบ การใช้อำนาจรัฐเข้ายุ่งเกี่ยวในนามสนับสนุนการรณรงค์การลงประชามติไปถึงการเลือกตั้ง การเลื่อนการเลือกตั้งหลายรอบ การกำหนดกติกาการเมืองที่เอื้อต่อพรรคใหม่โดยเฉพาะพรรคสืบสานอำนาจเผด็จการ มากกว่าพรรคเก่า ทั้งหมดทั้งปวงนี้น่าจะมีส่วนทำให้ผู้ถืออำนาจค่อนข้างมั่นใจว่าตนจะครองอำนาจต่อได้อย่างไม่ยากลำบากนัก

การก่อกำเนิดพรรคอนาคตใหม่ภายใต้เงื่อนไขที่ได้ประโยชน์จากระบบการเลือกตั้งใหม่ที่ทำให้คะแนนเสียงไม่ตกน้ำ มีส่วนสำคัญทำให้พรรคอนาคตใหม่ได้เสียงจากบัญชีรายชื่อมากที่สุด ไม่นับว่าอภินิหารสูตรเขย่งของ กกต.นั้นจะทำให้เสียงอนาคตใหม่ในบัญชีรายชื่อหายไปเกือบสิบเสียง เรื่องเหล่านี้จึงกลายเป็นฝันร้ายของระบบการเมืองไทยในวันนี้ที่ความพยายามสืบสานอำนาจต่อนั้นกระทำกันมานับทศวรรษ ไม่นับว่าการวางรากฐานทางอำนาจในรอบใหม่นี้ทำให้ต้อง “หักขนบ” ของการยึดอำนาจในช่วงหลังที่มักใช้อำนาจปีเดียวแล้วเปิดให้มีการต่อรองทางการเมือง เพราะในรอบนี้ใช้เวลาเกือบห้าปีกว่าจะให้เกิดการกลับเข้าสู่สภาวะทางการเมืองปกติ

หรือจะให้กล่าวอีกอย่างก็คือ ต้องใช้เวลาถึง 5 ปีกว่าจะมั่นใจว่าจะครองอำนาจต่อในลักษณะการเปลี่ยนผ่านอำนาจได้ การเกิดอนาคตใหม่ขึ้นมาทำให้เห็นว่า อนาคตใหม่นั้นสามารถใช้ประโยชน์จากโครงสร้างที่ฝ่าย ผู้มีอำนาจเชื่อว่าตนจะได้เปรียบอยู่ฝ่ายเดียวได้

มาลองดูสถานการณ์ใน กทม.บ้าง การเลือกตั้งในรอบนี้ แม้ว่าพลังประชารัฐจะได้เก้าอี้มากที่สุดคือ 12 จาก 30 และเพื่อไทยกับอนาคตใหม่แบ่งกันไปคนละ 9 เก้าอี้ แต่ถ้าพิจารณาคะแนนเสียงทั้งหมดแล้ว อนาคตใหม่ได้คะแนน ร้อยละ 24.71 พลังประชารัฐ 24.33 เพื่อไทย 18.58 ประชาธิปัตย์ 14.59 และพรรคอื่นๆรวมกัน 17.81

 

ประการที่สาม พรรคอนาคตใหม่นั้นให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีและสื่อใหม่มากที่สุด และใช้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ในแง่นี้เราอธิบายไม่ได้ง่ายๆ ว่าอนาคตใหม่นั้นเข้าถึงคนรุ่นใหม่เพียงเพราะว่า คนรุ่นใหม่นั้นใช้สื่อใหม่และเทคโนโลยีมากที่สุดเท่านั้น

แต่การใช้เทคโนโลยีของพรรคอนาคตใหม่นั้นมาจากการวางแผน ทำวิจัย และทำงานอย่างเข้มข้น ทั้งการกำหนดยุทธศาสตร์ การ “ยิงโฆษณา” กับกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างจากพรรคอื่นที่เพียงทำข้อมูลลงในอินเตอร์เน็ต หรือซื้อโฆษณาเพียงแค่แบบการเจาะพื้นที่เลือกตั้งของตัวเอง เช่นเขตใครเขตมัน

ทีมงานหลังบ้านของอนาคตใหม่ให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ฐานเสียง และขยายฐานเสียงของตน โดยเลือกยิ่งโฆษณาข้ามเขต และค้นหาความเป็นไปได้ในการขยายฐานเสียงไปในจุดที่อ่อนของพรรค เช่น การเลือกยิงโฆษณาไปยังกลุ่มแม่บ้านเจน Y และ X ผ่านการเลือกโปรไฟล์กลุ่มประชากรที่ใกล้เคียงกับที่พรรคต้องการเข้าถึง (เช่น กลุ่มผู้อ่านนิตยสารครอบครัวและการดูแลบุตร) ปฏิบัติการเช่นนี้ของพรรคทำให้พรรคสามารถลดจุดอ่อนของพรรคในการเข้าถึงพื้นที่ในแบบเดิม คือการเดินเท้าหาเสียง (ground war ตามที่ศัพท์การรณรงค์หาเสียง) มาสู่การยิงตรงผ่านน่านฟ้า (air war) ข้ามเข้า “บ้านมีรั้ว” และ “คอนโด” ที่บรรดาการเดินเท้าหาเสียงนั้นเข้าไม่ถึง

นอกจากนี้อนาคตใหม่ยังแก้โจทย์การเดินเท้าหาเสียงหรือเข้าถึงชุมชนแบบเก่าโดยการพึ่งพา “หัวคะแนนรูปแบบใหม่” คือพบบรรดาผู้มีอิทธิพลระดับเล็กและกลางที่ออกมาไลค์และแชร์ข้อความต่างๆ ของพรรคและสนับสนุนพรรคในรูปแบบต่างๆ จนทำให้อนาคตใหม่ครองความนิยมในพื้นที่โซเชียลมากที่สุดจากทุกโพล เรื่องเหล่านี้ต้องย้ำว่าไม่ใช่เรื่องการเข้าถึงกลุ่มประชากรที่มีอยู่อย่างง่ายๆ แต่อนาคตใหม่นั้นเป็นผู้เปลี่ยนแปลงและกำหนดเกมทางการเมืองออนไลน์อย่างชาญฉลาด

ประการสุดท้าย อนาคตใหม่นั้นยังสร้างปรากฏการณ์ใหม่ๆ ในการเมืองสภาเมื่อรับเลือกตั้งเข้าไปแล้ว คุณูปการที่สำคัญไม่ได้มีแค่การผลักดันกฎหมายและการอภิปรายมากมายที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนอย่างยาวนานในประเด็นต่างๆ ที่ไม่นึกไม่ฝันว่าจะได้ยินในชั่วชีวิตนี้ แต่อีกเรื่องที่เปิดมุมใหม่ๆ ของการเมืองสภาก็คือเรื่องของการให้น้ำหนักไปที่การทำงานในระดับกรรมาธิการ นอกเหนือไปจากการอภิปรายและผลักดันกฎหมายซึ่งนักการเมืองทุกพรรคทำกันมาตลอด

การทำงานในระดับกรรมาธิการที่เข้มข้นจนเป็นที่สนใจของประชาชน (รวมทั้ง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ คุณสิระ และคุณปารีณา ถึงแม้ว่าจะมีสีสันและความขัดแย้งมาตลอด) ล้วนชี้ให้เห็นว่า การเมืองรัฐสภานั้นยังมีความหวังและเป็นปากเป็นเสียงให้กับประชาชนในเรื่องของการตรวจสอบคุณสมบัตินักการเมืองและรัฐมนตรี และความไม่ชอบมาพากลของการใช้อำนาจรัฐ ซึ่งทำให้เราเห็นว่านักการเมืองนั้นเป็นปากเป็นเสียงให้ประชาชนกันทุกๆ ฝ่าย ไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายค้านหรือรัฐบาล

ไม่ว่าความเปลี่ยนแปลงของอนาคตใหม่วันนี้จากพรรคเป็นคณะ หรือขบวนการทางการเมืองนั้นจะเป็นไปเช่นไร แต่บทบาทของอนาคตใหม่ในฐานะของพรรคการเมืองในช่วงเวลาสั้นๆ ในการเปลี่ยนผ่านอันยาวนานนี้ก็ย่อมเป็นที่จดจำของทุกฝ่าย และยังคงเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนอีกไม่น้อยอีกนานเท่านาน

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image