เดินหน้าชน : ยุบ‘ยุบพรรค’? : โดย สัญญา รัตนสร้อย

บทสรุปในภาคความเป็นพรรคของ “อนาคตใหม่” จบบริบูรณ์เรียบร้อย (ส่วนจะไปจุติในชื่อพรรคอะไรต่อ อีกไม่นานคงได้รู้)

บางคนยกให้การ “อยู่ไม่เป็น” เป็นเหตุ

บางคนอาจเห็นพ้องกับคีย์เวิร์ด “เป็นการให้ประโยชน์อื่นใด” กรณี ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ให้เงินกู้แก่พรรคอนาคตใหม่ จำนวน 191.2 ล้านบาท จนนำไปสู่การยุบพรรค ตัดสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค 10 ปี

ย้อนกลับไปตลอด 22 ปีของการบรรจุบทบัญญัติ “ยุบพรรค” ในรัฐธรรมนูญ 2540 2550 และ 2560 กระทั่งเกิดการฟ้องร้องคดีการเมืองต่อศาลรัฐธรรมนูญ

Advertisement

นับว่ากรณียุบอนาคตใหม่เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กว้างขวาง และโทษหนักหนากว่าเพื่อน

– พรรคไทยรักไทย ถูกศาลรัฐธรรมนูญมีมติเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 ให้ยุบพรรค และเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งกรรมการบริหารมีกำหนด 5 ปี จากข้อกล่าวหาการจ้างวานพรรคเล็กลงสมัครรับเลือกตั้ง

– พรรคพลังประชาชน ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2551 ให้ยุบพรรค และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค 5 ปี จากข้อกล่าวหาทุจริตการเลือกตั้ง

Advertisement

– พรรคชาติไทย ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2551 ให้ยุบพรรค และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค 5 ปี จากข้อกล่าวหาทุจริตการเลือกตั้ง

– พรรคมัชฌิมาธิปไตย ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2551 ให้ยุบพรรค และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค 5 ปี จากข้อกล่าวหาทุจริตการเลือกตั้ง

– พรรคไทยรักษาชาติ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2562 ให้ยุบพรรค และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค 10 ปี จากข้อกล่าวหาเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นคำวินิจฉัยก่อนการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562

ขณะเดียวกันประเด็น “ยุบพรรค” เปรียบกับโทษประหารทางการเมือง แม้เกิดขึ้นจากเจตนารมณ์ต้องการให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมโดยสะอาด บริสุทธ์ โปร่งใส เล่นกันตามกติกา

แต่ก็มีผู้คนและนักวิชาการอีกจำนวนไม่น้อย ตั้งข้อสังเกตถึงความถูกต้องเหมาะสม จำเป็นต้องมีบทบัญญัติในเรื่องนี้หรือไม่

ภายใต้เหตุผลที่ว่า แม้การจัดตั้งพรรคการเมืองใด อาจเกิดจากกลุ่มบุคคลจำนวนหนึ่งที่มีจุดยืน อุดมการณ์ทางการเมืองเดียวกัน รวมตัวไปยื่นจดทะเบียนตั้งพรรคต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง

สิ่งสำคัญที่ตามมาคือ ต้องนำแนวทางบริหารประเทศ อุดมการณ์ของพรรคไปขายไอเดียต่อพี่น้องประชาชน ใครเลื่อมใสศรัทธาก็ไปสมัครเป็นสมาชิก จะเป็นหมื่น เป็นแสน เป็นล้าน หรือสิบล้าน ขึ้นอยู่ว่าโดนใจชาวบ้านมากน้อยอย่างไร

พรรคการเมืองจึงไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง กลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง แต่มีมวลชนผู้สมัครสมาชิกร่วมกรรมสิทธิ์อยู่ด้วย และอาจเป็นหนึ่งเสียงเดินเข้าคูหาไปลงคะแนนให้กับพรรคการเมืองนั้น

ผู้บริหารพรรคทำผิดกฎหมายพรรคการเมือง ทุจริตเลือกตั้ง พลาดพลั้งถูกจับได้ โดนฟ้องร้องติดคุกติดตะราง ตัดสิทธิเลือกตั้งกันอย่างไร ก็น่าจะต้องรับผิดเฉพาะกลุ่มผู้บริหารตามโทษานุโทษทั้งคณะ

อนุมานว่าต้องรับรู้พฤติกรรมเพื่อน ก็เข้าข่ายร่วมรับผิดชอบด้วย

พรรคการเมืองสถานะเป็นสถาบัน มีสมาชิกร่วมเป็นเจ้าของ ควรต้องถูกลงโทษ “ยุบพรรค” ไปด้วยหรือไม่

ระหว่างนี้มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 ก็น่าจะหยิบยกประเด็น “ยุบพรรคการเมือง” ขึ้นมาพิจารณาชั่งน้ำหนัก

สมควรเป็นหนึ่งในแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหรือไม่

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image