สถานีคิดเลขที่ 12 : โปสเตอร์-ทวิตเตอร์ : โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

สถานีคิดเลขที่ 12 : โปสเตอร์-ทวิตเตอร์ : โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

สถานีคิดเลขที่ 12 : โปสเตอร์-ทวิตเตอร์ : โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

แทบจะครบทุกมหาวิทยาลัยแล้วกระมัง ที่มีการชุมนุมแสดงออกทางการเมืองในระยะนี้ ลุกลามไปถึงระดับนักเรียนมัธยมหลายๆ โรงเรียน ดูทีท่าแล้ว น่าจะขยายตัวไปเรื่อยๆ เป็นปรากฏการณ์ที่ยังไม่น่าจะจบลงง่ายๆ

ไปๆ มาๆ อาจจะขาดแค่ มหาวิทยาลัยด้านสงฆ์หรือวิทยาลัยสงฆ์เท่านั้น

จนเริ่มมีการพูดถึงภาพอดีต นักเรียนนิสิตนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หรือการฟื้นคืนชีพของขบวนการนิสิตนักศึกษา ที่เป็นพลังสำคัญในช่วงปี 2516-2519

Advertisement

ความจริงสังคมที่คนวัยเรียนวัยหนุ่มสาวสนใจการเมือง สังคมนั้นจะมีคุณภาพ ต้องสนับสนุน ดีกว่าจะปล่อยให้คนวัยนี้ใช้พลังอันร้อนเร่าไปในทางเหลวแหลก

เพียงแต่ถ้าเป็นเคลื่อนไหวอย่างอัดอั้นตันใจเช่นในวันนี้ จนเริ่มจะบานปลาย ก็น่าห่วง ไม่อยากให้มีการสูญเสียใดๆ เกิดขึ้น

แล้วใครที่จะทำให้ปรากฏการณ์นี้คลี่คลายลงได้ ก็กลุ่มที่กุมอำนาจในรัฐบาลนั่นแหละ

Advertisement

จะมองอย่างเฉยๆ ไม่ให้ราคา หรือไปพูดจาหมิ่นแคลน กระทั่งเชิงข่มขู่ อันนี้แหละเติมเชื้อไฟดีๆ นี่เอง

ยิ่งประเภท อวดอ้างว่าเคยผ่านมาแล้ว 14 ตุลาฯ 6 ตุลาฯ แล้วเอามากดข่ม เอามาสั่งสอนว่าเด็กรุ่นใหม่ยังอ่อนต่อโลก อย่าปล่อยให้ใครมาชักจูง มาล้างสมอง

วิธีนี้เลิกพูดได้แล้ว

คนที่เคยผ่าน 14 ตุลาฯ วันนี้ก็ล้วนสูงวัย ชีวิตเต็มไปด้วยผลประโยชน์ธุรกิจการค้า คอนเน็กชั่นกับกลุ่มผู้มีอำนาจ ภาระหาเงินหาทองนุงนังไปหมด

มีผลประโยชน์บังตาเช่นนี้ อย่าได้ริไปสั่งสอนเด็กว่า หัวอ่อน ด่าว่าโง่โดนหลอก อะไรแบบนั้นเลย อายตัวเองกันหน่อย

ควรจะย้อนกลับไปมองสมัยที่ตนเองเป็นนักศึกษา จะเข้าใจได้ว่า ต้องช่วงนั้นแหละคือช่วงวัยบริสุทธิ์ ไม่มีภาระในชีวิต ไม่ได้ทำธุรกิจหาเงินทองใดๆ มองปัญหาบ้านเมืองอย่างตรงไปตรงมา ไม่ต้องอ้อมค้อม

เพราะฉะนั้นพลังของนักเรียนนิสิตนักศึกษาในวันนี้ มีแต่ต้องมองอย่างชื่นชม ถือว่าเป็นความหวังของประเทศชาติ เพียงแต่ต้องช่วยกันหยุดยั้งผู้มีอำนาจ อย่าได้ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสีย

แถมที่เด็กรุ่นนี้เหนือกว่า คือ เก่งกาจสามารถในโลกดิจิทัล สืบค้นข้อมูลข้อเท็จจริงต่างๆ ได้อย่างฉับไว ทั้งเคลื่อนไหวทางความคิดและแปรเป็นกระแสสังคมได้ง่ายๆ ในโซเชียลมีเดีย

สมัยก่อน นักศึกษามีเครื่องมือสื่อสารสำคัญคือ การติดโปสเตอร์ เพื่อรณรงค์เรียกร้อง กระทั่งนัดหมายการชุมนุมในวันสำคัญๆ และในวาระการชุมนุมเพื่อต่อสู้

ขณะที่วันนี้สังคมออนไลน์ที่เด็กรุ่นใหม่ชุมนุมกันเนืองแน่นคือทวิตเตอร์ สื่อด้วยข้อความสั้นๆ รวดเร็ว ไม่ต้องพูดกันมากตามประสาคนวัยเร่าร้อน และผู้ปกครองตามมาสอดส่องไม่ได้

ใช้ทั้งเพื่อแลกเปลี่ยนความคิด ข้อมูล ไปจนถึงการสร้างพลังเป็นกระแสทางสังคมต่อปรากฏการณ์ต่างๆ

แล้วเมื่อถึงวันที่ต้องออกจากหน้าจอ เพื่อชุมนุมแสดงออก ก็ทำให้เห็นแทบทุกสถาบันการศึกษาแล้ว

ที่ผู้กุมอำนาจในรัฐบาลต้องสนใจคือ ประเด็นที่จุดชนวนให้คนหนุ่นสาวไม่ทนต่อไป มาจากกรณีพรรคตัวแทนคนรุ่นใหม่โดนยุบท่ามกลางข้อสงสัยมากมาย นักวิชาการนิติศาสตร์ยังรวมตัวโต้แย้งในแง่วิชาการ ทั้งมีกระบวนการทางการเมืองกระทำต่อพรรคนี้มาตลอด และภาพรวมคือการเมืองในยุคนี้ไม่ใช่ประชาธิปไตยแท้จริง มีกลไกกติกาที่เอื้อกลุ่มอำนาจให้ผูกขาดการเป็นรัฐบาลไปยาวนาน

ควรต้องเร่งหาทางคลี่คลายปมการเมือง จะในด้านรัฐบาลเองหรือด้านสภา ก็ควรต้องทำเพื่อไม่ให้ไปกันใหญ่มากกว่านี้

สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image