พลวัตการเมืองไทย : วีรพงษ์ รามางกูร

เส้นทางเดินระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นระบบเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ที่นักวิชาการทางสังคมศาสตร์ไม่ว่าจะเป็นนักสังคมวิทยา นักเศรษฐศาสตร์ นักรัฐศาสตร์ บางทีก็อาจจะรวมไปถึงนักประวัติศาสตร์ ซึ่งรวบรวมนักอดีตศาสตร์และนักอนาคตศาสตร์ด้วย เป็นเส้นทางเดินที่มุ่งไปสู่จุดหมายปลายทางในอนาคต ณ จุดใดจุดหนึ่งที่สังคมคาดหวังไว้ในใจเสมอ

สังคมประเทศใดประเทศหนึ่งย่อมจะต้องมีจุดหมายปลายทางระยะยาวที่ต้องสอดคล้องกับสังคมและการลงทุนของโลก อย่างที่เรียกกันในสมัยนี้ว่าระบบโลกาภิวัตน์ หรือระบบเศรษฐกิจสังคมและการเมืองที่ไร้พรมแดน พลังทางสังคมที่มองไม่เห็นจะเป็นพลังที่จะผลักดันให้ความแตกต่างกันของสังคมและความเหลื่อมล้ำกันทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ เข้าใกล้กันมากขึ้น ประเทศที่เจริญไปก่อนแล้วก็จะชะลอความเจริญในอัตราที่ลดลง เพื่อรอประเทศหรือภูมิภาคที่กำลังเจริญ แม้อัตราความเจริญก้าวหน้าทางสังคมเศรษฐกิจและการเมืองยังอยู่ในอัตราที่สูง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือทุกสังคมระบบเศรษฐกิจและระบอบการเมืองจะไม่หยุดนิ่งหรือ Statics แต่จะเคลื่อนไหว dynamics ไปข้างหน้า ตามทางระยะยาวที่ถูกพลังลึกลับผลักดันอยู่เสมอ

ความคาดหวังพลังเศรษฐกิจของประชาชน “rising expectations” ต้องการก้าวให้ทันประเทศหรือสังคมที่พัฒนาไปก่อน หรือที่นิยมเรียกกันว่า “อารยประเทศ” เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งในแง่สังคมอันได้แก่สิทธิมนุษยชน ความเหลื่อมล้ำในด้านคุณภาพชีวิต การพัฒนาจากรัฐปกครองมาเป็นรัฐบริการ ทางการเมืองอำนาจอธิปไตยต้องเป็นของปวงประชาชน การเป็นรัฐที่ประชาชนปกครองตนเอง การมีส่วนร่วมของประชาชนในการปกครองและการกำหนดชะตากรรมของตนเองผ่านองค์กรที่ถ่วงดุลอำนาจกัน ตามหลักการแบ่งแยกอำนาจเพื่อป้องกันการเป็นรัฐเผด็จการ

กระแสเหล่านี้จะสร้างให้เกิด “ดุลยภาพ” ทั้งในทางสังคมและในทางการเมือง ทำให้เกิดความสงบเรียบร้อย ความสงบสุขอย่างมีเสถียรภาพที่ยั่งยืนในระยะยาว สอดคล้องกับการพัฒนาของประชาคมโลก จุดหมายปลายทางของการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมและการเมืองจึงเป็นการเดินไปสู่สังคมประชาธิปไตย ระบบเศรษฐกิจเปิดที่มีกลไกลดความเหลื่อมล้ำและมีระบบการแจกจ่ายผลประโยชน์จากการผลิตที่ทั่วถึง เป็นระบอบการเมืองประชาธิปไตยที่ประชาชนมีสิทธิเท่าเทียมกันและอยู่ร่วมกันอย่างมีศักดิ์ศรี

Advertisement

จุดหมายปลายทางหรือการคาดหวังของประชาชนโดยทั่วไปก็คือ การมีระบอบการปกครองที่เป็นระบอบประชาธิปไตย จากระยะทางที่ผ่านมาทำให้ประชาชนได้ตระหนักแล้วว่าระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองที่ตน “กินได้” สัมผัสได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้คนในพื้นที่ชนบทในภาคอีสานและภาคเหนือ แต่ในขณะเดียวกันชนชั้นปกครองส่วนน้อยที่อาศัยกองทัพเป็นที่พึ่งพิงปกป้องและเป็นอาวุธ กลับมองว่าผู้คนระดับรากหญ้านั้นเป็นภัยต่อชนชั้นของตนเอง เป็นคนจน เป็นคนโง่ เป็นลูกจ้างใช้แรงงานทำงานให้ตน ยอมรับไม่ได้ที่จะให้มีสิทธิมีเสียงเท่ากับตน ลูกหลานของตนที่เข้าโรงเรียนเอกชนที่มีราคาแพงหรือไม่ก็ส่งไปเรียนเมืองนอกตั้งแต่เด็ก เรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่ชั้นอนุบาล แต่ก็พูดและฟังได้ไม่ดีกว่าลูกชาวบ้านที่เรียนชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนเทศบาลและประชาบาล ที่มีหัวหน้าเป็นผู้อำนวยการ ไม่ใช่ครูใหญ่หรืออาจารย์ใหญ่แล้วก็ตาม

บัดนี้ความรู้สึก ความรู้ความเข้าใจ ความต้องการมีศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์ ความต้องการความเท่าเทียมกันทางการเมือง แม้ว่าจะยังมีความแตกต่างกันทางเศรษฐกิจก็ตาม ความต้องการมีส่วนร่วมทางการเมืองได้เกิดขึ้นแล้วและได้ตกผลึกสะสมมากขึ้นตามลำดับ เงินไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่สุดในการชนะการเลือกตั้ง คะแนนเสียงไม่อาจซื้อได้ด้วยเงินเสมอไป ชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของพรรคเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกลงคะแนนเสียงของผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ผู้ลงคะแนนเสียงจำนวนมากขึ้นมากขึ้นที่รับเงินแจกจากผู้สมัคร แต่พอเข้าคูหาเลือกตั้งกลับลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้กับผู้สมัครของพรรคการเมืองอื่น

เป็นที่ชัดเจนว่าแม้คณะทหารที่ทำการปฏิวัติรัฐประหารได้กระทำการทุกอย่างที่เอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น ตั้งแต่ร่างรัฐธรรมนูญเพื่อการกลับมาสู่อำนาจของตนเอง แม้กระนั้นตนก็ยังได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรน้อยกว่าเสียงของฝ่ายค้าน อาศัยอำนาจรัฐที่ตนมีอยู่บังคับใช้กฎหมายและองค์กรอิสระที่ตนแต่งตั้งเข้าไปใหม่ โดยขัดต่อหลักการและเหตุผล ขัดต่อความยุติธรรม เพื่อให้ตนเข้ามาสู่อำนาจและอยู่ในอำนาจต่อไป เป็นรัฐบาลสืบทอดอำนาจเผด็จการ เป็นการปกครองระบอบเผด็จการที่ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการปกครอง หรือที่ฝรั่งเรียกว่า rule by law ไม่ใช่ระบอบการปกครองโดยหลักนิติธรรมและนิติรัฐ ที่เรียกว่า rule of law

Advertisement

ระบอบเผด็จการโดยกฎหมายนั้นร้ายกาจกว่าระบอบเผด็จการด้วยอำนาจจากปากกระบอกปืน เพราะเมื่อระบอบถูกล้มล้างไปแล้ว กฎหมายที่ออกโดยระบอบเผด็จการก็ยังคงอยู่ใช้บังคับต่อไป กว่าจะยกเลิกล้มล้างได้โดยสถาบันนิติบัญญัติในระบอบประชาธิปไตยก็ต้องใช้เวลานาน หรืออาจจะล้มล้างไม่ได้เลย กลายเป็นอุปสรรคสำคัญของการสถาปนาและพัฒนาระบอบประชาธิปไตย

ที่น่าห่วงและน่าเสียดายก็คือ การใช้อำนาจตุลาการมาแก้ไขปัญหาการเมือง ซึ่งเริ่มต้นมาจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 โดยผู้ร่างรัฐธรรมนูญที่มีบทบัญญัติให้มีการสถาปนาองค์กรอิสระ 3 องค์กร คือ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง และคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือ กกต. เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ถูกยกเลิกไป องค์กรอิสระเหล่านี้ก็ยังคงอยู่ แต่ในขณะเดียวกันคณะรัฐประหารและรัฐบาลสืบทอดก็ยังสามารถแทรกแซงชี้นำองค์กรอิสระเหล่านี้ได้ ได้รับการแต่งตั้งทั้งทางตรงและทางอ้อมจากรัฐบาล เพราะบุคลากรในองค์กรเหล่านี้ยังหวังที่จะได้รับการแต่งตั้งกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งอีกเมื่อพ้นวาระ หรือไม่ก็เป็นประเพณีการปกครองที่ฝ่ายบริหารมักจะมีอำนาจทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการ ซึ่งมักจะตามใจฝ่ายบริหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งมักจะตามใจฝ่ายบริหารที่มาจากการใช้อาวุธยึดอำนาจอธิปไตยจากเจ้าของอธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ

เคยมีนักรัฐศาสตร์เสนอทฤษฎีวงจรอุบาทว์ของการเมืองไทย โดยเชื่อว่าการเมืองไทยจะหมุนเวียนเป็นวงกลมคือ ปฏิวัติรัฐประหาร-ร่างรัฐธรรมนูญใหม่-เลือกตั้งทั่วไป-เดินขบวนล้มรัฐบาลเลือกตั้ง-ปฏิวัติรัฐประหาร วนเวียนกันเป็นวัฏจักร เช่นเดียวกับวัฏจักรของระบบเศรษฐกิจด้อยพัฒนาคือวัฏจักร โง่-จน-เจ็บ

ไม่มีวัฏจักรวงกลม แต่จะเป็นเส้นตรงมุ่งไปสู่จุดหมายปลายทางระยะยาว คือความเป็นอารยประเทศทั้งในทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง

อย่างไรก็ตาม วัฏจักรหรือ “วงจรอุบาทว์” ของการเมืองไทยจะคงดำรงอยู่ในระยะสั้นประมาณ 10 ปี แต่วงจรเหล่านี้ก็ไม่ได้อยู่ในจุดดุลยภาพของเศรษฐกิจสังคมและการเมือง เป็นจุดที่ไม่มีเสถียรภาพ ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ไม่มีใครคิดว่าจะมีเสถียรภาพและจะดำรงอยู่ได้ตลอดกาล ระบอบการเมืองในยุโรปและอเมริกาเหนือที่วงจรอุบาทว์เช่นว่าก็มิได้สถิตอยู่ที่เดิม แต่ก็เคลื่อนที่ไปตามทิศทางสู่จุดหมายปลายทาง เหมือนกับพระจันทร์หมุนรอบตัวเอง หมุนรอบโลกและหมุนรอบดวงอาทิตย์ด้วย ไม่ได้ย้อนกลับมาที่เดิมเพราะเหตุปัจจัยและสังคมมิได้หยุดอยู่กับที่

แม้หลายคนคิดว่าการทำรัฐประหารครั้งล่าสุดเป็นการดึงเอาระบอบการปกครองของประเทศไทยย้อนกลับไปสู่ระบอบการปกครองตามรัฐธรรมนูญปี 2502 ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพลถนอม จอมพลประภาส และต่อมาจนเกิดกรณี 14 ตุลา 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งสถานภาพของสังคมและของประเทศภายหลังเหตุการณ์ในแต่ละช่วงเวลานั้นไม่เหมือนกัน เพราะเหตุที่ผู้คนเป็นคนละยุคสมัย คนละรุ่น ไม่มีอะไรเหมือนกันเลยทั้งโครงสร้างส่วนบนและโครงสร้างส่วนล่าง ซึ่งผู้คนในรุ่นนี้จะไม่เข้าใจ การทำลายและขัดขวางการดำเนินไปสู่ดุลยภาพระยะยาวจึงเป็นสิ่งน่ากลัว

การต่อสู้ของพลังที่ขัดแย้งกันในสังคมค่อยๆ เกิดขึ้นแล้วโดยที่เราไม่ค่อยรู้สึกตัว เหมือนๆ กับทฤษฎี “กบต้ม” ในวิชาเศรษฐศาสตร์ อาจจะนำมาประยุกต์ใช้กับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ กรณีในระยะสั้นที่ระบบมิได้อยู่ในจุด “ดุลยภาพ” แต่อยู่นอกจุดดุลยภาพ ก็สุดแท้แต่ว่าจุดดุลยภาพระยะสั้นเช่นนี้จะมีพลังพลวัตที่จะทำให้จุดดุลยภาพเคลื่อนเข้าหาจุดสมดุลที่อยู่ได้ชั่วคราวระยะหนึ่ง หรือจะมีพลังที่ผลักดันให้จุดดุลยภาพชั่วคราวนี้หลุดออกไปคนละทิศละทางแล้วก็สลายไป คงจะต้องติดตามเฝ้าดู เพราะหลายครั้งเหตุการณ์ทางการเมืองเป็นเหตุการณ์ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้น แต่อาจจะมีตัวอย่างในประเทศอื่นหรือภูมิภาคอื่น

แต่ความไม่หยุดนิ่ง ต้องมีการเคลื่อนที่ของจุดดุลยภาพระยะสั้น หรือดุลยภาพชั่วคราวเป็นระยะๆ และเป็นไปตามเส้นทางของดุลยภาพระยะยาว เหมือนระบบเศรษฐกิจจะต้องเกิดขึ้นโดยพลังแฝงที่มองไม่เห็น

เป็นสิ่งที่ใครบังคับไม่ได้

ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image