ที่เห็นและเป็นไป : อนาคตรัฐบาล

หลังฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจ พร้อมๆ กับความตื่นตัวทางการเมืองของนักเรียน-นิสิต-นักศึกษา ที่ลุกขึ้นมาจัดชุมนุมต่อต้านอำนาจรัฐ ขณะที่ไวรัสโควิด-19 ระบาดท่ามกลางการรับมืออย่างโกลาหล และความหวั่นวิตกต่อวิกฤตเศรษฐกิจแพร่กระจาย

คำถามที่ว่า “รัฐบาลจะยังอยู่ได้หรือไม่” เกิดขึ้นในทุกแวดวงสนทนา

คำตอบเหมือนกับง่ายๆ แต่เมื่อมองเข้าอย่างวิเคราะห์จริงจังเป็นเรื่องที่ตอบยากมาก เพราะความ “มั่งคั่ง มั่นคง ยั่งยืน” ในอำนาจของรัฐบาลชุดนี้ มีอยู่อย่างน้อย 2 มิติใหญ่

มิติแรก “อำนาจจากปัจจัยของโครงสร้าง”

Advertisement

ภาพที่สะท้อนให้เห็นชนิดที่ตอกย้ำไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงคือ

“กฎหมาย” ในทุกระดับยังเอื้อต่อการใช้อำนาจได้อย่างเข้มข้น

“กลไก” ตามกฎหมายที่วางไว้ยังภักดีหนักแน่นกับรัฐบาล พร้อมจะให้กดปุ่มตอบสนอง ชนิดไม่มีเงื่อนไขให้ต้องใช้ความรู้ความคิดอะไร

Advertisement

ความพร้อมของ “กฎหมาย” และ “กองกำลัง” ยังแน่นแฟ้น แข็งแกร่ง ไม่มีทีท่าที่จะเปลี่ยงแปลงเป็นอื่น

“ทุนใหญ่” ยังยินดีต่อการเกื้อหนุนกันและกันอย่างใจถึงใจ

ขณะที่ “สภาผู้แทนราษฎร” อันเป็นกลไกเดียวที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ “ฝ่ายค้าน” ซึ่งทำหน้าที่นี้กลับอ่อนแอลง ส่วนหนึ่งเผชิญคำสั่งยุบพรรค อีกส่วนหนึ่งการถูกแทรกแซง เกิดปฏิบัติการเล่นเกมขัดขวางการตรวจสอบสะท้อนให้รับรู้ ทั้งงูเห่า ทั้งสุนัขฝากเลี้ยง คือสภาพที่เห็นกัน

ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลกลับมี ส.ส.เพิ่มขึ้น การที่กฎหมายเปิดทางให้ซื้อตัวกันมโหระทึก

ถ้าจะตอบกันด้วยเหตุปัจจัยในมิตินี้ ย่อมชัดเจนว่า “รัฐบาลยังอยู่ได้อีกยาว” และ “สามารถใช้อำนาจได้เต็มที่โดยไม่มีอะไรมาทำให้สะดุ้งสะเทือนได้”

อย่างไรก็ตาม ใน “อีกมิติหนึ่ง” ที่ประเมินความ “มั่งคั่ง มั่นคง ยั่งยืน” ของ “อำนาจรัฐบาล” ด้วย “ความเชื่อถือ” ในความรู้ ความสามารถของคณะรัฐมนตรี และความหวังของประชาชน

กลับมองเห็น “คำตอบไปอีกทาง”

“วิกฤตเศรษฐกิจ” ลุกลามหนัก บริษัทห้างร้าน และกิจการต่างๆ ประกาศปิดตัวกันระเนระนาด การทำมาหากินฝืดเคืองไปทุกสาขาอาชีพ

โดยที่รัฐบาลแม้จะฟุ้งไปถึงสารพัดโครงการ แต่ที่สุดแล้วทุกอย่างดูเหมือนไม่ทำให้อะไรดีขึ้น

การกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไล่แจกเงินให้คนไปจับจ่ายใช้สอยเพื่อประคองจีดีพีของประเทศไว้ โดยแทบไม่มีประโยชน์อะไรมากกว่าภาพว่าไม่เลวร้ายเท่าที่รู้สึกกัน

ขณะที่ “การแก้ไขโรคระบาดโควิค-19” อยู่ในสภาพโกลาหล โทษกันไปโทษกันมา มองไม่เห็นความรู้   ความเข้าใจและความสามารถในการทำงาน

ขณะเดียวกันเกิดปรากฏการณ์ที่สะท้อนถึงความสิ้นศรัทธาต่อรัฐบาลชุดนี้ชัดเจนคือ การชุมนุมของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ในสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่ลุกฮือพร้อมกันทั่วประเทศ

เนื้อหาที่คนรุ่นใหม่หยิบขึ้นมาพูดถึงบนเวที ชัดเจนด้วยอารมณ์หมิ่นแคลนฝีมือความสามารถของรัฐบาล และสิ้นหวัง

กับการใช้อำนาจที่ล้นเกินโดยที่ไม่มีอะไร หรือใครในประเทศนี้จัดการได้

เป็นเนื้อหาจากความกังวลต่ออนาคตของพวกเขา ที่ได้รับรู้ผ่านชะตากรรมหรือสถานะทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปของครอบครัว และข่าวคราวเรื่องอาชีพในอนาคตที่มองไม่เห็นโอกาสที่จะทำมาหากินเพื่อเลี้ยงตัวเองได้

หากมองจาก “มิติความเชื่อมั่นของประชาชน” รัฐบาลชุดนี้ย่อมอยู่ในอาการโคม่า มองไม่เห็นทางที่จะยืนยงต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม อย่างที่บอก การประเมินความอยู่รอด หรือคงกระพันในอำนาจไม่อาจมองด้วยมิติเดียวได้

และหากมองผ่านอาการของผู้มีอำนาจในรัฐบาล

จะเห็นว่าทุกคนยังมีความเชื่อมั่นสูงยิ่งว่าจะครอบครองอำนาจต่อไปได้ โดยไม่มีอะไรมาทำให้ต้องสะทกสะท้าน

แม้จะมีกระแสปรับคณะรัฐมนตรีแพลมๆ ออกมาให้รับรู้

แต่เป็นไปในอารมณ์ของการถือโอกาสช่วงชิงเก้าอี้ในแต่ละก๊ก แต่ละก๊วนของคนในพรรคร่วมรัฐบาลมากกว่า

ไม่ใช่ปรับเพราะให้ตะหนักถึง หรือให้คุณค่ากับความเอือมระอาของประชาชน

คำถามที่ว่า “รัฐบาลจะเป็นอย่างไร” จึงเป็นคำตอบที่ใช้สามัญสำนึกปกติประเมินวิเคราะห์ไม่ได้

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image