สงครามน้ำมัน : โดย ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

ในขณะที่เศรษฐกิจทั่วโลกกำลังได้รับผลกระทบจาก “โควิด-19” บัดนี้โลกกำลังเผชิญกับสงครามน้ำมัน อันเนื่องจากกลุ่มประเทศผลิตน้ำมันโอเปค ทำการลดราคาชนิดถล่มทลาย

เฉพาะวันที่ 9 มีนาคม ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกลดลงมากที่สุดถึง 30%

เป็นเหตุให้ดัชนีหลักทรัพย์ทั่วโลกปรับตัวลงอย่างหนัก

ปฐมเหตุสงครามน้ำมันเกิดจากรัสเซียปฏิเสธลดปริมาณการผลิตต่อกลุ่มประเทศโอเปค ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นหัวหอกของโอเปคจึงตอบโต้ด้วยการลดราคาและเพิ่มปริมาณการผลิต

Advertisement

เหตุการณ์ครั้งนี้ แม้คู่กรณีของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน คือ “โอเปค”

แต่เป้าหมายที่แท้จริงคือ การผลิตน้ำมันจากหินดินดานของสหรัฐ (Shale oil) ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณถึงการชะลอตัวสำหรับการผลิตในเชิงสัญลักษณ์

(Shale oil คือ น้ำมันที่เกิดจากการทับถมของซากพืชและสัตว์ที่อยู่ใต้ชั้นหินดินดาน)

Advertisement

ปัจจุบันสหรัฐตกอยู่ในภาวะวิกฤตโควิด-19 ที่ค่อนข้างรุนแรง กอปรกับการประคองตลาดหุ้นไม่สัมฤทธิผล จึงเท่ากับ “ความวัวความควาย” ยังดำรงอยู่ในเวลาเดียวกัน

ซึ่งเป็นเรื่องที่สาหัสสากรรจ์อยู่แล้ว และต้องมาเจอ “หมัดเด็ด” ของ “ปูติน”

ว่ากันว่า เป็นพฤติกรรมที่ “ปูติน” ทำการเช็กบิลกับสหรัฐ

ส่วนสหรัฐจะตอบโต้อย่างไร เป็นเรื่องที่น่าติดตาม

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิดในสหรัฐและยุโรป เป็นเหตุให้สถานการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำ อุปสงค์ของน้ำมันลดลงเป็นปริมาณมาก จวบจนต้นเดือนมีนาคม ราคาน้ำมันตลาดโลกลดลงถึง 30%

เพื่อแก้ไขสถานการณ์ราคาน้ำมันตกต่ำ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ผู้นำของกลุ่มประเทศส่งออกน้ำมัน “โอเปค” จึงได้จัดให้มีการประชุมหารือกับรัสเซีย

แต่ผลการประชุมล้มเหลวในที่สุด

ล้มเหลว เพราะรัสเซียปฏิเสธลดปริมาณการผลิต ซาอุดีอาระเบียตอบโต้ด้วยการขายน้ำมันให้แก่หลายประเทศโดยลดราคา 20% อันเป็นชนวนแห่งสงครามราคาน้ำมัน

สำหรับเหตุการณ์ลดราคาน้ำมันถึง 30% เมื่อวันที่ 9 มีนาคม ซึ่งเท่ากับ 30 ดอลลาร์ต่อ 1 บาร์เรล ถือเป็นราคาที่ต่ำมาก และมากที่สุดครั้ง 1 หลังจากสงครามอ่าวเปอร์เซียเมื่อ 1991

เหตุการณ์ครั้งนี้ แม้ “ปูติน” พุ่งเป้าไปที่สหรัฐ

แต่ “โดนัลด์ ทรัมป์” กลับกล่าวว่า การที่ราคาน้ำมันลดลงมาก ถือเป็นข่าวดีสำหรับผู้บริโภค

แต่ความจริงปรากฏว่า “สงครามน้ำมัน” ครั้งนี้ ถือเป็นผลกระทบต่ออุตสาหกรรมผลิตน้ำมันหินดินดานอย่างรุนแรง รุนแรงถึงขั้นวิกฤต อาจมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจระบบห่วงโซ่

ย้อนมองประวัติศาสตร์ การขุดพบน้ำมันหินดินดาน (Shale oil) ในศตวรรษ 21 ถือเป็นคลื่นลูกใหม่ที่ยกระดับสหรัฐให้เป็นผู้ผลิตน้ำมันที่สำคัญของโลก

นอกจากกลุ่มประเทศโอเปคและรัสเซีย สหรัฐถือเป็นอีก 1 พลังที่สำคัญในการผลิตน้ำมัน

ย้อนมองอดีตเมื่อต้นปี 2014 สหรัฐเป็นผู้สนับสนุนให้ยูเครนทำการล้มรัฐบาลที่โปรรัสเซีย รัสเซียจึงได้ผนวกแหลมไครเมียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย

ฝ่ายตะวันตกตอบโต้ด้วยการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ

สงครามราคาน้ำมันก็ได้อุบัติขึ้นในปีเดียวกัน

ซาอุดีอาระเบียทำการลดราคาน้ำมัน เป็นการสกัดการเติบโตทางเศรษฐกิจของรัสเซีย และในเวลาเดียวกันก็กระทบถึงอุตสาหกรรมผลิตน้ำมันของสหรัฐ ซึ่งมีต้นทุนสูง

กรณีจึงฟังได้ว่า ซาอุดีอาระเบีย ใช้กระสุน 1 นัดยิงนก 2 ตัว

หนึ่งคือ รัสเซีย สองคือ สหรัฐ

วันนี้ รัสเซียปฏิเสธการลดปริมาณการผลิตน้ำมัน น่าจะเป็นขบวนการเชือดสหรัฐท่ามกลางวิกฤตไวรัสระบาดโดยไตร่ตรองไว้ก่อน

หากพินิจในทางตรรกะ ไวรัสระบาดทั่วโลก ความต้องการน้ำมันลดลง ประเทศผลิตน้ำมันไม่ลดปริมาณกลับเพิ่ม ซึ่งเป็นเหตุให้ปัญหาอุปทานมากกว่าอุปสงค์ที่รุนแรงอยู่แล้วรุนแรงมากขึ้น จึงเป็นเหตุให้ราคาน้ำมันลดลงชนิดถล่มทลาย

เป็นการอันไร้ประโยชน์ต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะเป็นพฤติกรรมที่สวนทางกัน

กรณีจึงเสมือนกับสงครามการค้าจีน-สหรัฐ กล่าวคือ สงครามราคาน้ำมัน มิได้หมายความว่า ผู้ที่แข็งแรงที่สุดจะเป็นผู้ชนะ หากต้องเป็นผู้ที่มีความอดทนสูงสุดเท่านั้น

หากพิเคราะห์เกี่ยวกับต้นทุนน้ำมัน ซาอุดีอาระเบียต่ำกว่าสหรัฐและรัสเซียมากทีเดียว หากพินิจถึงภาวะการเงินการคลังอันต้องอาศัยรายได้จากการค้าน้ำมัน ฝ่ายแรกย่อมมีมากกว่า

ถ้ารัฐบาลซาอุดีอาระเบียจะให้รายรับรายจ่ายมีความสมดุล

ราคาน้ำมันจะต้องอยู่ที่ 83 ดอลลาร์ต่อ 1 บาร์เรล

รัสเซียคือ 42 ดอลลาร์ต่อ 1 บาร์เรล

สหรัฐคือ 40 ดอลลาร์ต่อ 1 บาร์เรล

หากราคาน้ำมันอยู่ต่ำกว่า 30 ดอลลาร์ต่อ 1 บาร์เรลอย่างต่อเนื่องระยะยาว

ผู้ผลิตน้ำมันคือ “ผู้แพ้” ทั้งหมด มิพักต้องสงสัย

ย้อนมอง ปี 1980 ภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำ ราคาน้ำมันลดลงต่อเนื่อง

กอปรกับปี 1986 ซาอุดีอาระเบียได้เพิ่มปริมาณการผลิต ราคาน้ำมันลดลงเหลือ 10 ดอลลาร์ต่อ 1 บาร์เรล (เทียบเท่ากับปัจจุบัน 30 ดอลลาร์)

เป็นเหตุให้รายได้จากการขายน้ำมันของสหภาพโซเวียตได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง

อันเป็นเหตุให้ถูกกล่าวหาว่า ซาอุดีอาระเบียเป็นตัวการทำให้เศรษฐกิจสหภาพโซเวียตพังทลาย จนกระทั่งล่มสลายในที่สุด

ประวัติศาสตร์นี้ “ปูติน” คงเข้าใจอย่างดี

วันนี้ สงครามน้ำมันระหว่างรัสเซีย-ซาอุดีอาระเบียเกิดขึ้น เหตุการณ์จะเป็นไปในทิศทางใด ยังยากแก่การคาดเดา แต่ที่แน่ๆ คือสหรัฐอยากเห็นรัสเซีย-ซาอุดีอาระเบียบรรลุสัญญาข้อตกลง ยุติสงครามราคาน้ำมัน ก่อนที่เลือดจะเข้าตา

อย่างไรก็ตาม ประเด็นย่อมขึ้นอยู่กับ “ปูติน” จะยุติหรือเล่นต่อ จำต้องใส่

เครื่องหมายปรัศนี

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image