จำเป็นต้องทำประกันสุขภาพหรือไม่ : โดย เฉลิมพล ไวทยางกูร

วันหนึ่ง กลับจากมหาวิทยาลัยอย่างมึนๆ มึนที่หนึ่ง..เดินออกจากห้องสมุดที่แสนจะเงียบเหงา จะลงลิฟต์ ปรากฏว่ามีนักศึกษาเข้าลิฟต์ก่อน เมื่อเห็นเราก็รอ ปรากฏว่าพอก้าวเข้าประตูลิฟต์ ประตูก็ปิด เพราะนักศึกษากดปุ่มแล้วลืมกดรอ ประตูลิฟต์กระแทกลำตัว มึนพอสมควร มึนที่สอง…ติดๆ กัน พอเดินออกจากลิฟต์ ยังไม่ค่อยหายมึนดี นึกว่าประตูกระจกที่ออกจากตึกเปิดอยู่ ชนประตูกระจกอย่างแรง นักศึกษาที่ออกมาจากลิฟต์ด้วยกันเดินตามมา แต่คงไม่คิดว่าเราจะเดินชน จึงไม่ได้เตือนอะไร มึนอีกครั้ง ไม่แน่ใจสมองกระเทือนหรือไม่
รู้แต่ว่ามึนตลอดวัน

เรื่องที่จะเล่าให้ฟังวันนี้เป็นเรื่องประกันชีวิตและสุขภาพ ที่อยากแชร์ความเห็นสู่กัน ที่บ้านมีด้วยกันสี่คนคือ พ่อแม่และลูกสองคน ทุกคนทำประกันชีวิตและสุขภาพมานานราว 20-30 ปี ลูกทั้งสองก็ทำตั้งแต่เกิดได้ไม่กี่เดือน ก่อนหน้านี้ ที่บ้านไม่มีใครรับราชการและไม่มีใครทำงานบริษัท เราจึงไม่มีทั้งสวัสดิการข้าราชการและประกันสังคม

แต่ตั้งแต่ปี 2545 พวกเราทั้ง 4 คน ได้รับบัตรทองจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ครั้งนั้นก็คิดว่า บัตรนี้จะเป็นประโยชน์กับเราแค่ไหน เพราะดูสิทธิประโยชน์แล้วน้อยมากและเป็นพื้นๆ เท่านั้น จึงไม่ได้ยกเลิกการทำประกันชีวิตและสุขภาพที่ทำมาตั้งแต่ต้น และไม่เคยใช้บัตรทองทำอะไร ทั้งๆ ที่รัฐบาลบอกว่าจ่ายค่าเฉลี่ยรายหัวดูแลเราคนละประมาณ 2,000-3,000 บาทต่อคนต่อปี และเคยคิดว่า ถ้าเราไม่ได้ใช้สิทธิประโยชน์ รัฐบาลก็คงจะให้ค่ารายหัวเป็นเงินสดคืน เพราะจะได้นำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของเบี้ยประกันสุขภาพรายปี แต่ปรากฏว่า ไม่เคยได้รับเงินค่ารายหัวคืนแม้แต่บาทเดียว ถ้าคิดจำนวนเงินคร่าวๆ ค่ารายหัวคนละ 3,000 บาท (ปัจจุบันมากกว่านี้ แต่เฉลี่ยเมื่อเริ่มต้นไม่ถึง 3,000) ทั้งสี่คนก็ตกปีละ 12,000 บาท ทั้งหมด 17 ปีเข้าปีนี้ ก็น่าจะราวๆ 200,000 บาท

กลายเป็นเรื่องขายฝันบัลลังก์เมฆ ของ สปสช. เราจ่ายเบี้ยประกันชีวิตและสุขภาพประมาณคนละ 25,000 บาทต่อปี เป็นประกันขั้นต่ำ ถ้าเจ็บป่วยเข้ารักษานอนโรงพยาบาลบริษัทประกันจ่ายค่าห้องให้ประมาณ 1,200 บาท ถ้ามากกว่านี้เราต้องจ่ายส่วนต่างเอง แต่โชคดี ที่บ้านไม่ค่อยมีใครป่วยถึงนอน
โรงพยาบาล เลยจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพรายปีโดยไม่ได้อะไรให้บริษัทปีละ 100,000 บาทไปเฉยๆ

Advertisement

เมื่อไม่กี่วันก่อน บริษัทประกันมีหนังสือมาแจ้งว่าครบกำหนดสัญญาส่งเบี้ยประกัน 20 ปีแล้ว ไม่ต้องส่งต่อไป แต่บริษัทจะคุ้มครองถึงวันเสียชีวิต พูดง่ายๆ ก็คือ จะไม่ได้เงินประกันจนกว่าผู้ทำประกันเสียชีวิต หรืออายุครบ 99 ปี แต่สามารถทำประกันสุขภาพอย่างเดียวต่อเนื่องได้ แต่เนื่องจากผมและคุณภรรยาต่างมีอายุมากแล้ว เบี้ยประกันจึงสูงมาก เกือบหนึ่งแสนบาทต่อปี ถ้าต้องการความคุ้มครองเท่าเดิม ในขณะเดียวกันก็ถามตัวเองว่า จำเป็นหรือไม่ที่เราต้องทำประกันสุขภาพทุกปี ซึ่งเบี้ยประกันก็น่าจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุที่เพิ่มขึ้น ความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ตามหลักการประกันภัย

ในสมัยที่ทำงานบริษัทประกันชีวิตตอนหนุ่มๆ เคยทำงานส่งเสริมฝ่ายขาย ฝ่ายอบรมตัวแทน และฝ่ายสินไหม และมีประสบการณ์ว่า การขายประกันชีวิตนั้นไม่ยาก ถ้าลูกค้าพอมีเงินมีรายได้พอ เพราะพวกเขาต้องการความมั่นคงให้กับครอบครัว หากเกิดอะไรขึ้นกับเขา จากไปก่อนวัยอันควร พวกนี้มักยินดีซื้อประกันชีวิต แต่จะมีคนสองพวกที่ขายยากมาก คือพวกที่ไม่มีเงินทำประกัน และพวกที่เงินมาก หรือมีสวัสดิการอย่างอื่นจนไม่จำเป็นต้องทำประกัน คนสองพวกนี้ โอกาสปิดการขายยาก พวกแรกอาจขายได้ถ้าสามารถลดเบี้ยประกันจนเขารับได้ แต่ความคุ้มครองก็ลด ขนาดที่ว่าเกือบไม่ได้ประโยชน์อะไร ส่วนพวกที่สองนี้ยากสุด เพราะเขามีเงินมาก ไม่เห็นความจำเป็นต้องทำประกัน เกิดอะไรขึ้นมา เขามีเงินรักษา ถึงวันสุดท้ายของชีวิต ไม่มีใครเดือดร้อน

เมื่อถึงกำหนดที่ต้องยืนยันกับบริษัทประกันสุขภาพ ก็คิดเรื่องนี้ว่า จำเป็นหรือไม่ที่เราต้องทำประกันจ่ายเบี้ยประกันปีละเกือบหนึ่งแสนบาท สองคนก็เกือบสองแสนบาท เหมือนที่ผ่านมา ในขณะเดียวกัน ลูกก็เริ่มเข้ารับราชการ มีสวัสดิการข้าราชการอยู่แล้ว แม้ไม่ครอบคลุมทั้งหมด ถ้าเจ็บป่วยก็อาจใช้สวัสดิการข้าราชการของลูกได้บางส่วน แล้วจ่ายเพิ่มส่วนต่างเอง ในที่สุดตกลงไม่ต่อประกันสุขภาพอีกต่อไป

Advertisement

การตัดสินใจแบบนี้ คงขึ้นอยู่กับสถานภาพของแต่ละคน แต่ละครอบครัว คงไม่สามารถเป็นตัวอย่างให้ทุกคนต้องทำตาม เพียงแต่บอกว่า การทำประกันชีวิตและสุขภาพสำหรับครอบครัวที่ยังไม่มั่นคงนั้นเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะหัวหน้าครอบครัว แต่ถ้าครอบครัวมีความพร้อม ไม่ลำบากหากป่วยเจ็บนอนโรงพยาบาล และ/หรือมีสวัสดิการอย่างอื่นเกื้อหนุน อย่างนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องทำประกัน

ถึงวันนี้ เราไม่ได้ทำประกันสุขภาพ ไม่ต้องจ่ายเบี้ยประกันปีละเกือบสองแสนบาท สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ไม่น้อย สิบปีก็เกือบสองล้าน

ส่วนค่ารายหัวที่รัฐบาลโดย สปสช. บอกว่าจ่ายให้คนละ 3,600 บาทนั้น ก็ถือว่าทำบุญให้คนยากคนจนปีละเกือบ 15,000 บาททุกปีก็แล้วกัน เพราะถึงอย่างไร ก็เป็นแค่โครงการ…บัลลังก์เมฆ…ไม่มีทางได้เงินคืนจาก สปสช. อยู่ดี

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image