คอลัมน์หน้า 3 : 2 แนวทาง ต่อสู้ แนวทาง บุรีรัมย์ อุทัยธานี แนวทาง ทำเนียบ

ไม่ว่าจะต้องการ หรือไม่ต้องการ นับแต่บุรีรัมย์ อุทัยธานี ประกาศ “ปิดเมือง” ออกมา ก็เกิดอีก “แนวทาง” ในการต่อสู้กับไวรัสโควิด-19 ขึ้น

1 เป็นแนวทางจาก “ทำเนียบ” 1 เป็นแนวทางจาก “บุรีรัมย์ อุทัยธานี”

แม้ว่ากระบวนการ “ปิดเมือง” อันมาจากบุรีรัมย์ อุทัยธานี จะยังไม่เข้มเหมือนกับที่เคยเห็นจากอู่ฮั่น เหมือนกับที่เคยเห็นจากมิลาน

แต่นี่คือลักษณะ “นำร่อง” ในทางความคิด

Advertisement

ยิ่งแนวทางจาก “ทำเนียบ” สะท้อนท่วงทำนองละล้าละลังมากเพียงใด ยิ่งทำให้เกิด “เส้นแบ่ง” อันเด่นชัดมากเพียงนั้น

ขณะเดียวกัน ข่าวการแพร่ระบาดของไวรัสก็จะเป็นพลังกระตุ้น

ไม่ว่าจะเป็นการตรวจพบคนติดเชื้อที่เลย ไม่ว่าจะเป็นการตรวจพบคนติดเชื้อที่นครราชสีมา ไม่ว่าจะเป็นการตรวจพบคนติดเชื้อที่นครศรีธรรมราช

ระทึกและเขย่าขวัญ

กรณีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สะท้อนให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมว่า การกุม “ข้อมูล” มิได้หมายความว่าจะเป็นพลังและ “อำนาจ” เสมอไป

ขอให้ดูกรณีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ไม่ว่าจะมองในสถานะแห่งการเป็น “นายกรัฐมนตรี” ไม่ว่าจะมองในสถานะแห่งการเป็น “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม”

ถือว่าสูงเด่น เหนือกว่าทุกคน

คำถามอยู่ที่ว่า ในฐานะที่อยู่ในจุดอันกุม “ข้อมูล” ได้เหนือกว่าคนอื่น แล้วเหตุใดจึงไม่สามารถใช้ข้อมูลในมือเสริม “อำนาจ” ได้

กลับกลายเป็นคะแนนและความนิยมลดลง

นั่นก็เนื่องจาก กระบวนการและวิธีวิทยาในการบริหารข้อมูลไม่อาจทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุส่วนตัว ไม่ว่าจะด้วยอิทธิพลแห่งระบบ

ภาพลักษณ์จึงเป็น “ลบ” มากกว่าที่จะเป็น “บวก”

อิทธิพลแห่งระบบซึ่งยึดติดอยู่กับลักษณะอันสะสมมาอย่างยาวนานของโครงสร้าง “รัฐราชการรวมศูนย์” นั่นเองที่หล่อหลอมตัวตน

ไม่ว่าตัวตนของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่าตัวตนของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

ผลก็คือ 1 ดำเนินไปในลักษณะของการกั๊กข้อมูล ไม่เปิดเผยอย่างตรงไปตรงมา ผลก็คือ 1 มองเห็นประชาชนเป็นเหมือนบริวาร มิได้มีสถานะเท่าเทียมกัน

ทุกอย่างจึงดำเนินไปในแบบ “คุณพ่อรู้ดี”

วิธีวิทยาในทางความคิด ก่อให้เกิดกระบวนการบริหารเช่นนี้ ขณะที่ในความเป็นจริงสังคมไทยได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลก

ได้เข้าไปสู่พื้นที่แห่ง “ยุคดิจิทัล” แล้ว

ภาพเปรียบเทียบระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จึงได้บังเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ

ยิ่งเมื่อ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ไลฟ์ก็ยิ่งแจ่มชัดในจุดต่าง

ถึงมิได้เป็นผู้เชี่ยวชาญ แต่สังคมไทยอ่านออกได้โดยปริยายว่า ในที่สุด แนวทาง “ทำเนียบ” ก็จะต้องดำเนินไปในแบบเดียวกับ “แนวทางบุรีรัมย์ อุทัยธานี”

ไม่มีทางหลีกเลี่ยง

ยิ่งกว่านั้น จากอาการละล้าละลัง ตัดสินใจช้า ผลสะเทือนจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะดำเนินไปในลักษณะของการดิสรัปต์

ต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองตามมาแน่นอน

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image