เดินหน้าชน : เชื้อโรค-พลาสติก : สราวุฒิ สิงห์เอี่ยม

ขณะที่ทั่วโลกกำลังเผชิญการระบาดของโควิด-19 ที่เป็นวิกฤตการณ์ใหญ่ของมนุษยชาติอีกครั้ง

มีการตั้งข้อสังเกตว่าเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้ มีปัจจัยหนึ่งจากสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปทำให้ไวรัสนี้กลายพันธุ์

การจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมจึงเป็นเรื่องสำคัญของโลกโดยเฉพาะเรื่อง “ขยะพลาสติก”

สำหรับประเทศไทย มีการจัดทำโรดแมปจัดการขยะพลาสติก (2561-2573) โดยมีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นแกนหลัก ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง

Advertisement

ที่ทำไปแล้ว อาทิ การเลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่มหรือแคปซีล และเมื่อ 1 มกราคม 2563 ที่ผ่านมาก็ร่วมมือกับห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อ งดให้ถุงก๊อบแก๊บกับลูกค้า รวมทั้งติดตั้งทุ่นลอยดักขยะที่ปากแม่น้ำและคลองเพื่อลดปริมาณขยะลงทะเล

เป้าหมายแรก เมื่อปี 2562 คือ ลด-เลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง 3 ชนิด ได้แก่ แคปซีล พลาสติกผสมสารออกโซ่ และไมโครบีด และปี 2565 จะลด-เลิกใช้พลาสติกอีก 4 ชนิด คือ ถุงพลาสติกหูหิ้วแบบบาง โฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติก (แบบบาง) และหลอดพลาสติก

การดำเนินงานที่ผ่านมานับว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ แต่นั่นยังไม่พอ

Advertisement

เมื่อเร็วๆ นี้ ทส. โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมควบคุมมลพิษ จับมือกับบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ “จีซี” ร่วมดำเนินโครงการ “ต้นแบบการบริหารจัดการขยะพลาสติกครบวงจรในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เพื่อเป็นโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนให้กับประเทศ”

วราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. ยืนยันถึงพันธกิจหลักในการขับเคลื่อนประเทศในการดูแลสิ่งแวดล้อมเชิงรุกเพื่อความสมดุลและยั่งยืนภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

ความร่วมมือระหว่าง ทส.กับ “จีซี” นี้เป็นอีกก้าวหนึ่ง ที่จะนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ด้วยระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่จะเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส

จตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ทส. อธิบายเพิ่มเติมว่า โครงการนี้จะร่วมมือกันส่งเสริมและสนับสนุนการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่สลายตัวได้ทางชีวภาพ ทดแทนพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง และร่วมส่งเสริมการบริหารจัดการขยะ ตั้งแต่การคัดแยกขยะ การพัฒนานวัตกรรม และสนับสนุนผลิตภัณฑ์รีไซเคิลหรืออัพไซเคิลเพื่อเพิ่มมูลค่า

ขณะที่ ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “จีซี” ระบุว่า “จีซี” จะช่วยเสริมในการกำหนดแนวปฏิบัติตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ให้กับพื้นที่อุทยานฯ พร้อมสนับสนุนองค์ความรู้

รวมทั้งสร้างแพลตฟอร์ม แก้ไขปัญหาแบบองค์รวมตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยเน้นการใช้ผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่สลายตัวได้ นำขยะพลาสติกกลับมารีไซเคิลหรืออัพไซเคิล พร้อมร่วมมือกับทุกภาคส่วน ให้ตระหนักรู้เกี่ยวกับการใช้พลาสติกในวงกว้าง

ทั้งนี้ กรมอุทยานฯออกกฎเข้ม ห้ามนำโฟมเข้าพื้นที่อุทยานมาหลายปีแล้ว และปี 2563 นี้ ก็จะยกระดับให้เป็นอุทยานแห่งชาติปลอดขยะ

ส่วนโครงการนี้ได้คัดเลือกอุทยานฯเขาใหญ่เป็นพื้นที่นำร่องเป็นโมเดลก่อนจะขยายผลไปยังอุทยานฯอื่นๆ ทั่วประเทศ

ส่วนกรมควบคุมมลพิษ จะสนับสนุนทางวิชาการ ส่งเสริมการจัดเก็บและแยกขยะพลาสติกชนิดพอลิเอทิลีน (PE) และพอลิโพรไพลีน (PP) ให้เกิดมูลค่าเพิ่มอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเดินสู่เป้าหมายในการนำขยะพลาสติกกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน 100% ภายในปี 2570

เป็นอีกความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ที่จะช่วยกันขับเคลื่อนการจัดการขยะพลาสติกให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น

อันจะส่งผลดีในหลายๆ ด้าน รวมถึงช่วยสกัดกั้นไม่ให้มีญาติๆ ของเชื้อโรคทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นไวรัสหรือแบคทีเรีย กลายพันธุ์มาเขย่าโลกให้วิกฤตอีก

สราวุฒิ สิงห์เอี่ยม

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image