วิกฤตไวรัสโควิด-19 กับหน้ากากอนามัย โดย นพ.ยุทธนา ป้องโสม

ภาพยนตร์ที่สะท้อนถึงวิกฤตการณ์จากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ดีที่สุดเรื่องหนึ่งคือ เรื่อง “สัมผัสล้างโลก” (Contagion) จากความโกลาหลในการอพยพหนีพื้นที่ที่มีการระบาดของไวรัส การก่อจลาจล บุกปล้นห้างสรรพสินค้า แพทย์นักระบาดวิทยาผู้ติดตามสืบสวนโรคติดเชื้อจนเสียชีวิต และปัญหาก็คลี่คลายลงได้เมื่อมีการค้นพบวัคซีน เรื่องจึงจบลงด้วยการที่ประชาชนเข้าแถวอย่างเป็นระเบียบเพื่อรอรับวัคซีน

วัคซีนเป็นทรัพยากรอย่างหนึ่งในการต่อสู้กับไวรัส เช่นเดียวกันกับหน้ากากอนามัย และยาต้านไวรัส ปัญหาที่รัฐบาลต้องพบคือจะบริหารจัดการกับทรัพยากรทางการแพทย์เหล่านี้อย่างไรจึงเกิดความเป็นธรรม มีความโปร่งใส และเป็นที่ยอมรับของประชาชน มิเช่นนั้นก็จะเกิดความจลาจลจากการแย่งชิงทรัพยากรทางการแพทย์ วิธีการแจกวัคซีนที่ใช้ในเรื่องสัมผัสล้างโลก ใช้การจับสลาก เลือกคนที่เกิดวันและเดือน ที่ระบุให้มารับวัคซีน ไปทีละวันจนครบ 366 วัน จึงมีความสงบเรียบร้อย เนื่องจากทุกคนยอมรับในกติกาที่เป็นธรรม คนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนก็รอรับอย่างสงบ แม้บางคนจะต้องป่วยและเสียชีวิตไปก่อนก็ตาม

การที่คนไทยจะรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ต้องการความร่วมมือเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และมีสำนึกในเป้าหมายร่วมกันคือ ต้องหยุดการระบาดของโรคให้ได้

การป้องกันตัวเองและการกักกันตัวเอง เมื่อรู้ว่าตัวเองมีความเสี่ยงจะติดเชื้อเป็นเรื่องท้าทายที่ทั้งสังคมต้องร่วมมือกัน และที่สำคัญที่สุด ต้องอาศัยความเป็นผู้นำในระดับชาติ ที่ทุกคนในชาติพร้อมจะให้ความร่วมมือด้วย

Advertisement

หลักสำคัญที่จะเป็นแนวทางให้ทุกคนในสังคมรอดพ้นจากภัยครั้งนี้ได้ ประกอบด้วย การแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบระหว่างหน่วยงานให้ชัดเจน มีความโปร่งใส และน่าเชื่อถือผู้นำของสังคมต้องส่งเสริมความร่วมมือร่วมใจของประชาชน และให้ประชาชนมีความรับผิดชอบทั้งในการดูแลตัวเอง และการไม่แพร่เชื้อให้ผู้อื่น แต่การที่ประชาชนจะร่วมมือมากน้อยเพียงไรก็ขึ้นอยู่กับว่า ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลว่าการทำงานของภาครัฐเป็นไปอย่างเป็นธรรม มีประสิทธิภาพ และมีประสิทธิผลหรือไม่ด้วย

มองประสิทธิภาพของการแจกจ่ายหน้ากากอนามัยในประเทศไทยปัจจุบันก็พอจะคาดเดาปัญหาในระยะต่อไปได้ว่ามีแนวโน้มไม่สดใส เพราะเมื่อการระบาดกระจายออกไปมากขึ้น อาจจะมีปัญหาการขาดแคลนเครื่องช่วยหายใจและขาดแคลนยาต้านไวรัสต่อไปอีก หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการแจกจ่ายหน้ากากอนามัยจึงมีภารกิจเร่งด่วนคือ ทำให้ประชาชนเห็นให้ได้ว่าการดำเนินการต่างๆ ที่ผ่านมาทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคอย่างสุดความสามารถ โดยไม่มีผลประโยชน์อื่นแอบแฝง

หน้ากากอนามัย (ในที่นี้รวมถึงหน้ากากเอ็น 95 (N95) และหน้ากากอนามัยธรรมดา (Surgical mask)) เป็นอุปกรณ์สำคัญในการลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสทางเดินหายใจ แม้ว่าจะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ทั้งหมด แต่ก็ดีกว่าไม่มีการป้องกันอะไรเลย ความต้องการใช้หน้ากากอนามัยของประชาชนจึงเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงที่มีการระบาด หน้าที่ของภาครัฐคือต้องทำให้มั่นใจได้ว่าจะมีหน้ากากเพียงพอใช้ ทั้งในหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ร่วมถึงภาคธุรกิจ และประชาชนทั่วไป นอกจากนี้ยังควรมีการสำรองหน้ากากไว้จำนวนหนึ่งเพื่อป้องกันการขาดแคลน เมื่อคำนวณโดยประมาณจากแนวทางของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐ หากเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสในระบบทางเดินหายใจ ไทยจะมีความต้องการใช้หน้ากาก เฉพาะสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ 10 ล้านชิ้นต่อสัปดาห์ โดยคิดตามหลักการใช้หน้ากากอย่างถูกสุขลักษณะสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ คือเปลี่ยนหน้ากาก 4 ชิ้นต่อเวร 8 ชั่วโมง และควรมีการเตรียมหน้ากากสำรองไว้ให้พอใช้ได้อีกอย่างน้อย 2 สัปดาห์

Advertisement

เมื่อหน้ากากอนามัยมีไม่เพียงพอ การจัดลำดับว่าจะแจกจ่ายหน้ากากให้กับใครก่อนหลังเพื่อประโยชน์ในการป้องกันการแพร่กระจายโรค และเพื่อประโยชน์ของสังคมโดยรวมจึงเป็นเรื่องสำคัญ กลุ่มแรกที่มีความสำคัญที่สุดที่ต้องใช้หน้ากากคือ บุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ติดเชื้อ กลุ่มที่ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์แต่มีความสำคัญรองลงมาคือกลุ่มอาชีพที่ทดแทนได้ยาก และหากติดเชื้อจะมีผลกระทบ
ต่อสังคมมาก เช่นนักวิทยุการบิน กลุ่มที่มีความสำคัญระดับที่ 3 คือกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อ เช่น ญาติของผู้ป่วย และกลุ่มผู้สูงอายุ
ที่หากติดเชื้อจะมีอัตราการตายสูง ถัดจากนี้จึงเป็นกลุ่มประชาชนทั่วไป

มีความไม่เป็นธรรมเสมอในการเข้าถึงทรัพยากรทางการแพทย์ ตัวอย่างเห็นได้จากการระบาดของโรคซาร์สและไข้หวัดนก ในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า ชนเผ่าอินเดียนแดงติดโรคและเสียชีวิตมากกว่าคนผิวขาว ข้อมูลในออสเตรเลียก็สอดคล้องกันคือ กลุ่มคนพื้นเมืองอะบอริจินมีอัตราการติดเชื้อและอัตราตายสูงกว่าคนชนชาติอื่นในออสเตรเลีย หน้าที่ของรัฐจึงต้องตระหนักถึงความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงทรัพยากรทางการแพทย์ ภาพที่เห็นชัดในประเทศไทยคือมีการส่งมอบหน้ากากอนามัยให้ถึงโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในกรุงเทพฯ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในขณะที่โรงพยาบาลในต่างจังหวัดหลายแห่งบุคลากรได้รับแจกหน้ากากผ้าคนละ 2 ผืน ต้องซักแล้วใช้วันละผืน

ผู้เขียนหวังว่าจะมีการเพิ่มอัตราการผลิตหน้ากากอนามัยในประเทศไทย หรือเพิ่มการนำเข้า และแจกจ่ายอย่างทั่วถึงตามลำดับความสำคัญโดยเร็ว ก่อนที่ความไม่พอใจของบุคลากรทางการแพทย์จะกระจายไปทั่วประเทศ ด้วยจรรยาบรรณของวิชาชีพ บุคลากรเหล่านี้จะไม่หยุดงานประท้วง แต่เมื่อแพทย์และพยาบาลไม่มีหน้ากากใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ บุคลากรทางการแพทย์ก็มีโอกาสจะได้รับเชื้อ และแปลงร่างเป็นผู้แพร่เชื้อ (superspreader) โดยไม่รู้ตัว

นพ.ยุทธนา ป้องโสม

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image