เดินหน้าชน : ติดโรคหรืออดตาย : โดย โกนจา

เดินหน้าชน : ติดโรคหรืออดตาย : โดย โกนจา

เดินหน้าชน : ติดโรคหรืออดตาย : โดย โกนจา

แม้ผลกระทบไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้จะเจ็บปวดและรุนแรงกันถ้วนหน้า แต่คนที่พอจะมีฐานะและคนรวยก็ยังสามารถประคับประคองตัวเองให้ผ่านพ้นไปได้ คงไม่ถึงกับอดตายเพราะยังมีทุนรอนต่อชีวิตออกไป

สำหรับคนที่หาเช้ากินค่ำ อาชีพอิสระ พวกลูกจ้างรายวัน คนยากคนจนในเมืองทั้งหลายแทบล้มทั้งยืน

เมื่อประกาศมาตรการปิดห้าง ปิดกิจการต่างๆ งดจัดกิจกรรม หรือ ล็อกดาวน์กรุงเทพฯ และลามไปจังหวัดปริมณฑลและหัวเมืองทั่วประเทศยิ่งส่งผลกระทบรุนแรงและกว้างขวางมากขึ้น

Advertisement

ยิ่งได้ยินเสียงด่าทอ ต่อว่าต่อขาน รุมด่าภาพคนเนืองแน่นหมอชิตเพื่อเดินทางกลับต่างจังหวัด ซึ่งเป็นการเคลื่อนย้ายครั้งใหญ่ จึงเกิดคำถามว่า คนพวกนี้ทำไมไม่กักตัวเอง ป้องกันการแพร่เชื้อ ไม่ให้ความร่วมมือ ไม่รักประเทศชาติ เพราะภาพนี้ไม่ควรเกิดขึ้นในช่วงวิกฤตเช่นนี้

แต่สิ่งนี้มันก็สะท้อนมาตรการของรัฐที่ไม่รอบคอบ มองปัญหาไม่รอบด้าน ดำเนินนโยบายสาธารณะที่ไม่รัดกุม

เราอย่าลืมว่า คนอาชีพอิสระ รับจ้างรายวัน หาเช้ากินค่ำ ลูกจ้าง พนักงานอยู่ตามผับบาร์ พนักงานร้านอาหาร แม่ครัว เด็กเสิร์ฟ เด็กรับรถ พนักงานทำความสะอาด ยาม คนเหล่านี้กลายเป็นคนตกงานไปในทันที

กลายเป็นลูกโซ่ไปถึงปิดโรงแรม สถานบริการ ห้างสรรพสินค้า ร้านค้า สะเทือนต่อไปยังแรงงานนอกระบบ หาบเร่ แผงลอย หรือขับรถรับจ้าง และครอบครัวของผู้ได้รับผลกระทบเหล่านี้

ภาพของคนมีเงินเดือนประจำ ข้าราชการ คนชั้นกลาง พวกมีอันจะกินทั้งหลาย มีโอกาสเขาไปแย่งซื้อข้าวปลาอาหารมากักตุนกันเพื่อประทังชีวิต

แต่คิดหรือไม่ว่า คนรากหญ้าเหล่านี้ คงไม่มีโอกาสเดินไปซื้อหากักตุนอาหาร ด้วยเงื่อนไขแค่หากินวันต่อวันก็ลำบากแล้ว ชีวิตอยู่ด้วยรายได้วันต่อวัน แค่ไม่มีรายได้วันเดียวก็แทบไม่มีเงิน แทบอดตายกันอยู่แล้ว

คิดหรือไม่ว่า ข่าวโรคโควิด-19 แพร่สะพัดไปทั่วโลก คนยากคนจนคงไม่ต่างจากเราก็กลัวตายเช่นกัน แต่ปัญหาเศรษฐกิจในครัวเรือน เมื่อไม่มีรายได้ก็ไม่มีกิน มันก็อดตาย มันก็คือความตายเหมือนกัน

เมื่อไม่มีงาน ไม่มีเงิน ไม่มีรายได้อื่น อยู่ในเมืองต่อไปค่าใช้จ่ายย่อมสูงกว่าอยู่บ้านเกิด การตัดสินใจกลับบ้านจึงคิดว่าเป็นทางรอด เพราะหากอยู่ก็ตาย ไม่อยู่ก็ตาย

เลือกไปตายหรือลำบากที่บ้านเกิดดีกว่า

หากเราเข้าไปนั่งในใจของเขาเหล่านี้ ฉุกคิดว่า หากเป็นเราจะอยู่ในที่ๆ ไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้จะทำอย่างไร วันนี้รัฐบาลแทบไม่มีมาตรการอะไรรองรับ คิดแค่ป้องกันการแพร่ระบาด แต่ปากท้องของคนกลับมองข้าม

เสียงสะท้อนของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ที่โพสต์เฟซบุ๊กนั้นน่าคิด

เมื่อเห็นภาพ ตัวแทนรัฐบาล ผู้ว่าการ ธปท. ปลัดกระทรวงการคลัง เลขาธิการ ก.ล.ต. ประธานสมาคมธนาคารไทย และคณะ มาร่วมแถลงเรื่องมาตราการช่วยเหลือเยียวยาที่เป็น ‘มาตรการรองรับโควิด-19’ เพื่อช่วยเหลือผู้ซื้อตราสารหนี้ กองทุนรวมในตลาดเงิน ตลาดทุนที่เป็นปัญหาของคนมีโอกาส หรือคนรวย ทั้งตั้งกองทุนรวมตราสารหนี้ มีมูลค่ารวมกันมากกว่า 1 ล้านล้านบาท หรือตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องเพื่อลดความเสี่ยงการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้นับแสนล้าน

ทั้งที่จริงๆ แล้ว การช่วยเหลือเยียวยาที่สำคัญที่สุดคือต้องให้คนเดือดร้อน คนที่มีโอกาสน้อยที่สุดมีชีวิตอยู่อย่างความเป็นมนุษย์ เบื้องต้นคือต้องปลอดภัยจากโรคติดต่อ อยู่ได้โดยมีปัจจัย 4 คือ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค เพื่อให้มีชีวิตอยู่รอดก่อน จึงค่อยมีมาตรการอื่นๆ ตามมา

จึงมีคำถามว่า ได้จัดลำดับความสำคัญในการช่วยเหลือเหมาะสมแล้วหรือ ทำไมไม่ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนโดยตรงเป็นการเร่งด่วนก่อน ทำไมมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจะต้องรอประชุม ครม.ก่อน

แต่ทำไมกรณีของนายทุนจึงไม่ต้องรอประชุม ครม. ทำไมถึงถูกเลือกปฏิบัติ

ขณะที่ผมนั่งเขียนต้นฉบับ ก็กำลังนั่งรอฟังอย่างใจจดจ่อว่า ครม.จะออกมาตรการอะไรมาเยียวยาช่วยคนเดือดร้อนแสนเข็ญเหล่านี้

วิกฤตประเทศเช่นนี้ หวังว่ารัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คงไม่เห็นความสำคัญกับเจ้าสัว กลุ่มนายทุน และข้าราชการ มากกว่าภาคประชาชน

ณ เวลานี้คนจนๆ ติดโรคหรืออดตายก็ไม่ต่างกัน

โกนจา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image