ต้องทำงบประมาณปี 2563 และ 2564 ให้ช่วยแก้ผลกระทบจากโควิด-19 ให้ได้ : โดย สมหมาย ภาษี

“ความวัวยังไม่ทันหาย ความควายก็เข้ามาแทรก” เป็นสุภาษิตไทยที่ใช้ได้ดีมากกับเรื่องงบประมาณแผ่นดินที่รัฐบาลนี้กำลังประสบและทำอยู่ ดูเรื่องนี้แล้วทำให้เกิดทั้งความสมเพชและความกลัวเป็นอย่างยิ่ง ที่ว่าสมเพชก็เพราะไม่น่าเชื่อว่าสิ่งที่เลวร้ายเกี่ยวกับงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารประเทศของรัฐบาลจะมีเรื่องมีราวถึงขนาดนี้ และที่ว่าเกิดความกลัวก็เพราะได้เห็นว่าการจัดทำและการพิจารณางบประมาณของไทย ยังไงๆ ก็ไม่เปลี่ยนแปลง ตรงกันข้ามมีแต่ความซ้ำซากปีแล้วปีเล่า อย่างนี้ประชาชนและประเทศชาติมีแต่ทรงกับทรุด ไม่มีทางที่จะลืมตาอ้าปากเหมือนประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ได้

ท่านผู้อ่านคงจะจำได้ว่า เมื่อกลางปี 2562 ช่วงที่งบประมาณประจำปี 2563 ควรต้องมีการประกาศบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 นั้น ก็เกิดเจอเหตุการณ์ที่ทำให้สภาผู้แทนราษฎรไทยต้องขายหน้าเสื่อมเกียรติไปทั่วโลกด้วยการเสียบบัตรแทนกันในการออกเสียงเห็นชอบพระราชบัญญัติงบประมาณ 2563 ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติบางท่าน โดยมีพยานและภาพถ่ายให้เห็นชัดเจน จนต้องหาวิธีแก้ไขโดยต้องนำเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา และในที่สุดสภาผู้แทนราษฎรก็ต้องรับไปแก้ไขโดยการไปประชุมออกเสียงลงคะแนนกันใหม่

ในที่สุดก็ผ่านเข้าสู่การพิจารณาให้ความเห็นชอบของวุฒิสภาจนครบกระบวนการงบประมาณแผ่นดินประจำปี 2563 ที่เกิดจากความอัปยศของสภานิติบัญญัติของไทยก็ได้มีการนำกราบบังคมทูลเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย แล้วประกาศในพระราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 โดยบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ย้อนหลังไปร่วม 5 เดือน

แต่พร้อมๆ กันนั้น ก็ได้เกิดข่าวการระบาดของโคโรนาไวรัสที่แพร่ไปทั่วโลก ซึ่งขณะนี้มีผู้คนตายไปแล้วไม่ต่ำกว่า 14,512 ราย ขณะที่เขียนเรื่องอยู่นี้ปรากฏว่าในเมืองไทยมีคนติดเชื้อโรคร้ายไปแล้วไม่ต่ำกว่า 599 ราย และผู้ติดโรคมีจำนวนเพิ่มขึ้นในบางวันเกินร้อยคนแล้ว ทำให้รัฐบาลไทยที่ต้องถือว่าเจอโรคซ้ำกรรมซัด หรือผีซ้ำด้ำพลอย ต้องโงนเงนออกมาตรการต่อสู้ขนาดหนัก ถูกบ้างผิดบ้าง ไปคนละทางบ้างก็ว่ากันไปแบบไทยๆ

Advertisement

อย่างไรก็ตาม นับถึงวันนี้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่ต้องล่าช้ามา 5 เดือน เหลือเวลาอีก 7 เดือน ที่ต้องโหมจ่ายโหมทำกัน โดยเฉพาะงบลงทุนที่ถือว่าสำคัญยิ่งนั้น ยังไม่มีใครทราบว่าจะถูกกระตุ้นให้เงินจากงบลงทุนสามารถพรั่งพรูออกมาได้อย่างไร เพราะเวลานี้ข้าราชการก็อาจต้องเลี่ยงไปทำงานที่บ้าน ผู้รับเหมาหรือผู้จะเข้าประมูลงานก็ต้องยักแย่ยักยันเสนองานกัน ผมว่ามันดูทุลักทุเลดีเหลือเกิน แล้วรัฐบาลจะกระตุ้นเศรษฐกิจกันได้อย่างไร อย่างนี้แหละที่เรียกว่า โรคซ้ำกรรมซัดจริงๆ ถ้าเปรียบรัฐบาลที่รับผิดชอบเป็นรัฐนาวาที่ลอยลำอยู่ในทะเลลึก เราก็คงหลับตาเห็นพายุฝนแผ่ครอบคลุมทะมึนเต็มท้องทะเล แล้วก็ต้องหลับตาเห็นต่อไปว่า รัฐนาวาลำนี้คงต้องพลิกคว่ำไปในช่วงเวลาอันสั้นเป็นแน่

เหตุการณ์ด้านเศรษฐกิจไม่ได้มีแต่เรื่องการ กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยงบประมาณประจำปี 2563 และก็ไม่ได้มีแต่ “โควิด-19” ที่เป็นมรสุมพัดกระหน่ำรัฐนาวาสีเขียวที่น่าสงสารลำนี้ แต่ห้วงระยะเวลานี้ คือ นับตั้งแต่เดือนมกราคมของปีนี้ เป็นเดือนที่หน่วยราชการทั้งหลายจะต้องจัดเตรียมทำงบประมาณประจำปี 2564 ซึ่งมีระยะเวลาบังคับใช้ชัดเจน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 – 30 กันยายน 2564

ซึ่งเรื่องนี้ก็ปรากฏว่าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง 4 หน่วยงานหลัก อันได้แก่ กระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงบประมาณ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นหน่วยงานระดับพรีเมียมของประเทศ ก็ไม่ได้ละหน้าที่ในขั้นเตรียมการจัดทำงบประมาณประจำปี ปกติในการปรึกษาหารือของคณะทำงานในเรื่องนี้จะต้องมีท่านรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ นั่งอยู่หัวโต๊ะ แต่ปีนี้ไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นใคร แต่ที่จะขาดเสียไม่ได้ก็คือต้องมีท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นหลัก และผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้ที่กระทรวงทบวงกรมต้องคารวะร่วมอยู่ด้วย

Advertisement

คณะทำงานเตรียมการทำตัวเลขด้านเค้าโครงหลักของงบประมาณประจำปี 2564 นี้ ก็ได้ปรึกษาหารือและจัดทำเค้าโครงหลักแล้วนำเสนอขอรับหลักการจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 7 มกราคม 2563 และคณะรัฐมนตรีก็ได้มีมติเห็นชอบในหลักการตามการเสนอของสำนักงบประมาณ พร้อมข้อสังเกตเล็กๆ น้อยๆ ดูจากรายงานการประชุมแล้วเรื่องผ่านออกมาง่ายๆ เหมือนไม่มีใครอ่านและคิดการบ้านมา

เค้าโครงของงบประมาณประจำปี 2564 ตามที่ ครม.ได้มีมติเห็นชอบดังกล่าวข้างต้น ได้กำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่ายทั้งหมดไว้ 3.3 ล้านล้านบาท สูงกว่างบประมาณปีที่แล้ว 100,000 ล้านบาท ได้กำหนดงบลงทุนไว้ 693,000 ล้านบาท หรือ 21% ของงบประมาณ เทียบกับปีที่แล้วได้กำหนดงบลงทุนไว้ 655,806 ล้านบาท ได้กำหนดประมาณการรายได้ไว้จำนวน 2.78 ล้านล้านบาท สูงกว่าปีที่แล้วที่กำหนดไว้ 2.73 ล้านล้านบาท เพิ่มจากปีก่อน 1.7% และที่สำคัญได้กำหนดวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลไว้จำนวน 523,000 ล้านบาท คิดเป็น 2.8% ของ GDP ที่ได้คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 4.8%

อย่างไรก็ตาม ได้ทราบข่าวว่า 4 หน่วยงานที่ได้คนคิดกำหนดเค้าโครงของงบประมาณประจำปี 2564 ดังกล่าวนี้ กำลังคิดที่จะปรับปรุงตัวเลขอันใหม่แล้วจะมีการนำเสนอ ครม.อีกรอบ เพราะในช่วงทำตัวเลขเค้าโครงงบอยู่นั้น ยังไม่ได้รู้เห็นโคโรนาไวรัส ยังคงมองโลกด้วยความสวยงาม ยังคงมองเห็นแต่ความลงตัวของรัฐบาลเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยครึ่งเสี้ยว จึงทำตัวเลขออกมาตามสมมุติฐานที่ว่า GDP จะขยายตัวถึง 4.8% และรายได้ของรัฐบาลจะเพิ่มขึ้น 1.7% เมื่อเห็นไวรัสร้ายโผล่มาระบาดไปทั่ว จึงมีความคิดว่าจำเป็นต้องมีการปรับปรุงตัวเลขให้ใกล้ความจริง และจะต้องนำเสนอเพื่อขอตรายางประทับจาก ครม.อีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม จากเค้าโครงของงบประมาณปี 2564 ที่ได้เสนอเข้า ครม. เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2563 นั้น ดูแล้วเป็นเค้าโครงที่ใช้บล็อกหรือแม่พิมพ์เดิมที่ทำกันมาแต่เก่าก่อนซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถึงจะปรับตัวเลขอย่างไรก็ใช้แม่พิมพ์แบบเดิม จะทำใหม่ขึ้นมาก็แค่การหดหรือขยายแม่พิมพ์เดิม แต่หามีการเปลี่ยนแปลงอื่นใดไม่ และก็ไม่คิดว่าจะมีการสร้างแม่พิมพ์ใหม่ขึ้นมาได้ คือ จะยังคงทำงบประมาณแบบสิ้นคิดดังเดิม นี่แหละคือกรรมของประเทศไทย

มีนักวิชาการและนักการเมืองที่ไม่ได้อยู่ร่วมรัฐนาวาลำนี้ได้วิจารณ์งบประมาณตามเค้าโครงที่ได้นำเสนอให้ ครม.เห็นชอบไปเมื่อวันที่ 7 มกราคม อย่างน่าฟังหลายประเด็น บางท่านเห็นว่าเป็นงบประมาณที่ไม่คำนึงถึงพิษภัยที่ประเทศชาติกำลังเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นจากสงครามการค้าโลกที่ยังไม่จบ และจากโคโรนาไวรัส บางท่านเห็นว่าต้องมีการรื้อเค้าโครงออกทั้งหมดแล้วมาวางแม่พิมพ์กันใหม่ ซึ่งตรงกับความเห็นของผมมาก

จึงขอเสนอมาตรการปรับปรุงงบประมาณประจำปีที่ควรจะทำ แม้จะต้องยืดเวลาในการปรับปรุงให้เลยตารางเวลาตามปฏิทินงบประมาณใหม่ก็ต้องยอม หรือแม้ต้องเปลี่ยนหัวของสำนักงบประมาณก็ต้องทำ ถ้าไม่ทำดัง ต่อไปนี้ ที่คิดจะทำให้ประชาชนคนไทยพ้นทุกข์เวทนาบ้างก็จะไม่เกิดขึ้น ซึ่งผมมีข้อเสนอแนะ 4 ประการ ดังนี้

ประการแรก ต้องตัดทอนทั้งงบประจำ งบกลาง และงบลงทุนของงบประมาณประจำปี 2563 ที่ต้องใช้ในอีก 6 เดือนข้างหน้า ให้เอาพวกส่วนเกินที่เป็นไขมันที่ไม่จำเป็นต้องใช้ออก ซึ่งคาดว่าจะมีไม่น้อยกว่า 10% ของยอดงบ 3.2 ล้านล้านบาท ก็จะได้เงินมา 320,000 ล้านบาท แล้วนำไปเปลี่ยนแปลงตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ เพื่อไปใช้ในโครงการหรือมาตรการที่ต้องทำด่วนที่เกี่ยวกับการแก้ไขผลกระทบจาก
โควิด-19 ข้อเสนอนี้ขอย้ำว่าต้องทำเลย ไม่ต้องรองบประมาณประจำปี 2564 แต่อย่างใด

ประการที่สอง ต้องสั่งการให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องที่ขอเงินงบประมาณปี 2564 ไว้เกินตัว โดยเฉพาะสำนักงบประมาณที่เป็นผู้พิจารณาจัดสรรต้องทำงานหนักในการตัดทอนงบประมาณเป้าหมายในมือของงบประมาณประจำปี 2564 โดยต้องตัดทอนงบที่ไม่จำเป็น งบที่เป็นไขมันส่วนเกินออก ซึ่งควรจะได้ไม่ต่ำกว่า 10% ของวงเงินงบประมาณเบื้องต้น 3.3 ล้านล้านบาท คือควรตัดให้ได้ 330,000 ล้านบาท แล้วนำไปจัดสรรใหม่ให้ในสิ่งที่จำเป็นต้องต่อสู้กับโควิด-19 รวมทั้งจัดสรรเพิ่มให้แก่หน่วยงานที่ขาดแคลนเงินงบประมาณหนัก นับตั้งแต่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่ต้องได้งบเพิ่มเติมไปช่วยคนจนอีกมาก กระทรวงสาธารณสุขที่ต้องจัดงบอีกมาก ทั้งในเรื่องการซื้ออุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ ซื้อเวชภัณฑ์ การขยายอาคารและสถานที่พยาบาลทุกภาคของประเทศตลอดทั้งงบพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ และรวมทั้งงบเร่งด่วนที่ต้องจัดไปช่วยเหลือลูกจ้างที่ตกงานจำนวนเป็นหลายแสนคน เป็นต้น

ขอย้ำว่าการดำเนินการตามข้อเสนอสองข้อข้างต้นนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจและความเข้าใจของทั้งหน่วยงานที่ใช้งบประมาณและหน่วยงานที่จัดสรรงบประมาณ และต้องเข้าใจว่างบไขมันส่วนเกิน ซึ่งส่วนใหญ่มีการแฝงงบฉ้อราษฎร์บังหลวงไว้โดยการรับรู้ของสำนัก

งบประมาณแบบเอาหูไปนาเอาตาไปไร่นั้น ต้องทำการเฉือนออกโดยไม่ต้องเกรงใจกัน ลองทำให้ประชาชนเห็นสักครั้งเถอะพ่อคุณ

ประการที่สาม ต้องทำการปรับแม่พิมพ์หรือเค้าโครงเดิมของงบประมาณประจำปีเสียใหม่ เรื่องนี้เป็นเรื่องเศรษฐกิจมหภาค (Macro Economics) ซึ่งในภาวะวิกฤตแบบนี้จำเป็นจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง ถ้าขืนดื้อดึงยึดแบบเดิมมันมีแต่พังลูกเดียว ผมเห็นว่าไม่ต้องฟังใครที่มีแต่จะยึดแม่พิมพ์เดิมอีกแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ก็ต้องเป็นไปตามกรอบของกฎหมายการเงินการคลังทุกฉบับ แต่ก็ทำได้ครับ ซึ่งข้อเสนอแนะประการข้างต้นแม้ทำได้ก็ยังไม่สามารถหาเงินมาแก้ผลกระทบจากโควิด-19 ได้พอ จำเป็นต้องทำในประการที่สามนี้ด้วย

ประเด็นสำคัญที่จะขอบอกรัฐบาลในเรื่องนี้ก็คือ การตั้งงบปี 2564 ที่ 3.3 ล้านล้านบาทนั้นไม่พอแน่ อย่างน้อยต้องได้ 3.5 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 อย่างน้อยใกล้ 10% แต่ที่รู้ๆ กันอยู่แล้วตั้งแต่ตอนนี้ว่า GDP ในปี 2563 นี้จะติดลบ ดังนั้น จะทำให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลที่แสนจะล้าหลังและไร้ประสิทธิภาพอยู่แล้ว แถมด้วยการทุจริตคอร์รัปชั่นในหน่วยงานเก็บภาษีที่ได้ทราบว่ายิ่งหนักข้อขึ้นมาก รับประกันได้เลยว่าปีงบประมาณ 2564 ที่จะถึงนี้ คงเก็บรายได้ได้ไม่เกิน 2,700,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ยอมให้นับรายได้พิเศษจากการเก็บค่าสัมปทานโครงการ 5G หรือรายได้พิเศษอื่นใดเข้าไปด้วยก็ไม่มีทางพอ

งบประมาณปี 2564 นี้ จึงต้องมียอดขาดดุลงบประมาณที่สูงกว่ากรอบปกติ อย่างน้อยต้องจัดวงเงินกู้ชดเชยการขาดดุลงบประมาณให้ได้ 800,000 ล้านบาท ซึ่งจะสูงกว่างบลงทุนตามเค้าโครงเบื้องต้นที่ผ่าน ครม. เมื่อวันที่ 7 มกราคม ที่ตั้งไว้ 693,000 ล้านบาท ดังนั้น เพื่อให้อยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายที่กำหนดไว้ว่า งบขาดดุลงบประมาณจะต้องไม่มากกว่างบลงทุน ก็จำต้องเพิ่มงบลงทุนให้สูงขึ้นอีกอย่างน้อย 110,000 ล้านบาท ซึ่งก็จะเป็นผลดีต่อประเทศชาติเรา ต้องทำแบบนี้ในขณะนี้ เพราะหนี้สาธารณะของไทยยังต่ำอยู่

ถามว่าอย่างนี้พอจะทำได้ไหมครับ คำตอบอยู่ที่ความกล้าหาญของท่านนายกรัฐมนตรีแต่ผู้เดียว เรื่องนี้ไม่ต้องไปฟังใคร ความกล้าหาญที่ไม่ผิดกฎหมายจะมีไหม ต้องมีแน่ๆ ใช่ไหมครับ ที่ว่ามานี้เป็นมาตรการทางการคลังล้วนๆ ถือว่าเป็นมาตรการที่ใหญ่มาก ส่วนมาตรการทางการเงินนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยและ ก.ล.ต.ก็ได้ลงมือทำไปบ้างแล้ว

ประการที่สี่สุดท้าย สิ่งที่ต้องทำในประการสุดท้ายนี้ไม่จำเป็นต้องใช้ความกล้าหาญ เพราะเป็นสิ่งที่รัฐบาลอื่นในอดีตเคยทำมาเมื่อ 22 ปีที่แล้ว สมัยที่ท่านนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ ยังเป็นหนุ่มใหญ่วัยแค่ 44 ปี ผู้ที่ตัดสินใจทำคือ ท่านนายกฯชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีสมัยนั้น ท่านได้เห็นชอบและส่งท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คือ คุณธารินทร์ นิมมานเหมินท์ ไปเจรจากับประธานาธิบดีสหรัฐ บิล คลินตัน เพื่อขอยกเลิกสัญญาสั่งซื้อฝูงเครื่องบินขับไล่ F18 (ประเภทที่ลงจอดบนเรือบรรทุกเครื่องบินได้) ซึ่งก็ไม่ทราบว่าสั่งซื้อในสมัยรัฐบาลไหน แต่เอาเถอะ ประเทศไทยซึ่งเจอพิษต้มยำกุ้งหมาดๆ ได้ไปเจรจาอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งประธานาธิบดีสหรัฐก็เห็นใจยอมให้ยกเลิก แต่ไม่คืนมัดจำให้ โดยสหรัฐขอให้ใช้เงินมัดจำนั้นซื้ออาวุธอื่นๆ แทน

วันนี้ประเทศไทยซึ่งใครๆ รู้ดีว่าป่วยไข้เรื้อรังมาร่วม 7-8 ปีแล้ว บัดนี้ต้องเผชิญภาวะวิกฤตหนักทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง จึงอยากเสนอให้ท่านนายกรัฐมนตรีสั่งท่านรัฐมนตรีกลาโหมให้ไปเจรจากับจีน เพื่อขอยกเลิกการสั่งซื้อเรือดำน้ำที่ได้เซ็นสัญญากับจีนไว้ จะสามารถทำได้ไหมครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image