บทนำ : แก้ผลกระทบ

คณะรัฐมนตรีมีมติให้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 มีผลวันที่ 26 มีนาคม 2563 เป็นต้นไปเป็นเวลา 1 เดือน และได้ออกข้อกำหนดเพื่อลดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อาทิ ห้ามเข้าพื้นที่เสี่ยง ตามที่ผู้ว่าฯ หรือเจ้าหน้าที่ควบคุมโรคออกประกาศไว้
ปิดสถานที่เสี่ยง โดยให้เป็นอำนาจผู้ว่าฯ แต่เบื้องต้น ต้องปิด ผับ สนามมวย สนามแข่งขัน สนามเด็กเล่น สถานที่ท่องเที่ยวให้พิจารณาตามความจำเป็น ปิดช่องทางเข้ามาในราชอาณาจักร ทุกช่องทาง ยกเว้นนายกฯ หรือผู้รับผิดชอบอนุญาต

ข้อกำหนดยังรวมถึงการห้ามกักตุนสินค้า ห้ามชุมนุม ห้ามเสนอข่าวไม่เป็นจริง ทำให้คนกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูล ให้เจ้าหน้าที่เตือนแก้ไข ระงับ ลบข่าวได้ แต่ถ้ากระทบรุนแรง ให้ดำเนินคดี มาตรการเตรียมรับสถานการณ์ ให้ รพ.จัดหาเวชภัณฑ์ เตรียมความพร้อม เจ้าหน้าที่ขอความร่วมมือ ปชช. ช่วยตรวจสอบคนกักกันตัวได้ มาตรการพึงปฏิบัติ ให้ผู้สูงอายุ มากกว่า 70 ปี เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้มีโรคประจำตัว อยู่ในบ้าน ยกเว้นต้องมาพบแพทย์ รักษาพยาบาล เข้มงวดในการออกวีซ่า ลงตราประทับ ให้จัดจุดตรวจ เวรยาม ตามเส้นทางคมนาคม ดูแลการเดินทางข้ามพื้นที่ โดยสามารถขอให้ทหารช่วยได้ สถานที่สำคัญยังคงเปิดบริการ ได้แก่ โรงพยาบาล คลินิก ร้านยา ร้านอาหาร โรงงาน ธุรกิจการเงิน ธนาคาร เอทีเอ็ม ตลาดนัดที่จำหน่ายอาหาร ปั๊มน้ำมัน ไม่ห้ามการเดินทางต่างจังหวัด แต่ให้ชะลอถ้าไม่จำเป็น หากจำเป็นต้องถูกคัดกรองตามมาตรการของราชการ งานประเพณีนิยม งานศพ งานแต่ง ไหว้บรรพบุรุษ ยังจัดได้ แต่ต้องป้องกันโรคให้เหมาะสม

นายกรัฐมนตรีย้ำว่า เป็นการใช้มาตรการสูงสุด ในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัส และขอความร่วมมือจากประชาชน ซึ่งเชื่อว่าประชาชนรับทราบปัญหาอยู่แล้วจากข่าวสารทั้งต่างประเทศ และในประเทศนำเสนอข้อมูลมาตลอด และต้องการให้รัฐบาลทำงานอย่างจริงจังด้วยมาตรการต่างๆ แม้จะกระทบถึงสิทธิหลายอย่างของประชาชนก็ตาม อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือ ความเดือดร้อนของประชาชนโดยเฉพาะเรื่องปากท้องการขาดรายได้ ทั้งจากมาตรการก่อนหน้านี้ และที่กำลังจะเกิดขึ้น เป็นประเด็นที่รัฐบาลควรคำนึง หาทางบรรเทา แม้จะมีมาตรการออกมาช่วยบ้างแล้วก็ตาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image