การพัฒนาทักษะและความสามารถของนักศึกษา ต้องเริ่มต้นที่กระทรวงศึกษาธิการ : โดย ณรงค์ ขุ้มทอง

ทรัพยากรมนุษย์นับเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญที่สุดสำหรับประเทศไทยในระยะยาว คุณภาพของหลักสูตรอาชีวศึกษาและมหาวิทยาลัยนับเป็นรากฐานที่สำคัญที่จะนำประเทศไทยไปสู่การเป็นเศรษฐกิจแห่งปัญญาและการยกระดับผลิตภาพแรงงาน แรงงานที่ได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดีทั้งในด้านเทคนิคและด้านการทำงานจะได้เปรียบในอุตสาหกรรมดิจิทัลและอุตสาหกรรมที่ใช้จักรกลอัตโนมัติ โอกาสในการได้รับการศึกษาที่ดีอย่างเท่าเทียม จึงยังเป็นปัจจัยหลักในการสร้างความเสมอภาคภายในประเทศ ในขณะที่กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาได้จัดทำข้อเสนอการปฏิรูปด้านการศึกษาในภาพกว้าง

แผนฉบับนี้จะมุ่งเน้นในรายละเอียดของการปฏิรูปการศึกษาในระดับอาชีวศึกษาและมหาวิทยาลัยเป็นหลัก

ประเทศกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็วทำให้แผนผลิตกำลังแรงงานคุณภาพให้เพียงพอต่อการพัฒนาเศรษฐกิจกลายเป็นเรื่องยากมากขึ้น เมื่อภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรมมีการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น แรงงานใน 2 ภาคส่วนนี้ต้องปรับตัวให้มีทักษะใหม่ๆ ตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป แต่การปรับตัวก็จะทำได้ยากมากยิ่งขึ้นเมื่อกำลังแรงงาน (ประชากรอายุระหว่า 15-69 ปี) มีแนวโน้มที่จะมีจำนวนน้อยลง

ธนาคารโลกได้คาดว่ากำลังแรงงานของไทยจะหดตัวลง 11% ภายในปี 2583 แนวโน้มการหดตัวของกำลังแรงงานในประเทศไทยจะเกิดขึ้นเร็วกว่าประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ เช่น มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ และปัญหาดังกล่าวจะมีการให้การสนับสนุนและสนใจมากก็ตาม แต่ถ้าเรามองลึกลงไประดับกระทรวง ระดับเขตพื้นที่ระดับจังหวัดก็ยังไม่ได้ตระหนักในประเด็นด้านทักษะมากนัก ยังมุ้งเน้นให้ผู้เรียน เพื่อจดจำและสอบเป็นหลักผู้บริหาร และผู้ที่เกี่ยวข้อง ยังเห็นความสำคัญของโครงสร้างหรือตำแหน่งมากกว่ากระบวนการพัฒนาทักษะของผู้เรียน ผู้บริหาร ยังติดภาพเดิมๆ คือ ต้องเก่งด้วยการท่องจำมากกว่าการเก่งทักษะของผู้เรียน ในวันนี้ประเทศไทยยืนอยู่ตรงจุดไหน?

Advertisement

แม้ว่าประเทศไทยจะมีสถิติการเข้าเรียนของนักเรียนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีโอกาสที่จะสามารถพัฒนาได้อีกในทุกระดับการศึกษา คุณภาพการศึกษายังคงได้มาตรฐานโดยเฉพาะเมื่อเทียบระหว่างโรงเรียนในเขตเมืองโรงเรียนในชนบท ในปี 2558 ผลการประเมินนักเรียนร่วมกับนานาชาติ พบว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 54 จาก 70 ประเทศ โดยเกือบครึ่งหนึ่งของนักเรียนอายุ 15 ปี ในชนบทสามารถอ่านหนังสือได้ แต่ไม่สามารถจับใจความสำคัญของสิ่งที่อ่านได้

ด้านล่างเป็นภาพเปรียบเทียบผลการสอบ PISA ของประเทศต่างๆ โดยสิงคโปร์มีคะแนนที่สูงสุด ขณะที่ไทยอยู่ในระดับใกล้เคียงกับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ

ดัชนีคุณภาพการศึกษาของประเทศต่างๆ

Advertisement

สิงคโปร์ 5.8

เยอรมนี 5.4

มาเลเซีย 5.2

ญี่ปุ่น 4.4

ลาว 4.0

ไทย 3.7

เวียดนาม 3.6

กัมพูชา 3.5

ระบบอาชีวศึกษาของประเทศไทยยังไม่สามารถพัฒนานักเรียนที่มีทักษะตามความต้องการของนายจ้างได้อย่างเพียงพอ

ปัจจุบันมีหลักสูตรอาชีวศึกษาจำนวนน้อยมากที่ใช้ระบบ “ทวิภาคี” ที่มีการผสมผสานระหว่างการเรียนในห้องเรียนกับการฝึกปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการ จากการสำรวจผู้ประกอบการภาคเอกชน พบปัญหาการขาดแคลนแรงงานโดยกว่าครึ่งหนึ่งของบริษัทนายจ้างรายงานว่า ไม่สามารถหาพนักงานเข้ามาทำงานในตำแหน่งที่ว่างได้ภายใน 3 เดือน และพบว่าปัญหายิ่งรุนแรงมากขึ้นในอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก เช่น อุตสาหกรรมก่อสร้าง และอุตสาหกรรมที่ต้องการทักษะเฉพาะทาง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ การหาแรงงานในระดับอาชีวศึกษานับเป็นกลุ่มแรงงานที่หาได้ยากที่สุดโดย 23% ของตำแหน่งงานทั้งหมดยังคงว่างอยู่

ประเทศไทยอยู่ในช่วงทดลองรูปแบบการศึกษาในระดับอาชีวศึกษารูปแบบใหม่ ตัวอย่างเช่น การทดลองใช้ระบบ “ทวิภาคีศึกษาไทย-เยอรมัน” ซึ่งการปฏิรูประบบอาชีวศึกษาทั่วทั้งประเทศนั้น ก็ควรนำผลการประเมินของโครงการนำร่องเข้ามาปรับปรุงแนวทางการดำเนินการในขั้นตอนต่อไปด้วย แม้ว่าอัตราการเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยของประเทศไทยจะอยู่ในระดับสูง แต่เมื่อเปรียบเทียบคุณภาพการศึกษากับต่างประเทศแล้ว พบว่ายังสามารถปรับปรุงคุณภาพได้อีก ในปี 2559 เกือบครึ่งหนึ่งของนักเรียนที่จบการศึกษาในระดับมัธยมได้เข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังไม่มีมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในระดับโลก โดยในปี 2561 ได้มีการจัดอันดับให้มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 245 ของโลก

แม้ว่ากระทรวงศึกษาธิการจะดำเนินการเพื่อปรับปรุงระบบอาชีวศึกษาไปในระดับหนึ่งแล้วแต่ก็ยังไม่เกิดผลที่เป็นรูปธรรมมากนัก ช่องว่างทางทักษะ ยังคงเป็นปัญหาสำคัญเนื่องจากความสามารถที่แรงงานมีไม่ตรงกับความคาดหวังของนายจ้างขณะที่หลักสูตรทวิภาคีเปิดสอนไม่เพียงพอ แม้ว่ามหาวิทยาลัยจะมีการพัฒนาหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ควรกระตุ้นให้มหาวิทยาลัยมีความตื่นตัวที่จะเปิดสอนในสาขาวิชาที่จะลดช่องว่างทางทักษะและปรับปรุงหลักสูตรเพื่อให้บัณฑิตมีทักษะที่ตรงตามความต้องการของภาคเอกชนมากขึ้น ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการและผู้เกี่ยวข้องควรเร่งดำเนินการ ดังนี้

“ปฏิรูประบบอาชีวศึกษาโดยปรับหลักสูตรเป็นระบบทวิภาคีที่มีทั้งการเรียนรู้ภาควิชาการในห้องเรียนและฝึกฝนงานในสถานประกอบการจริง และออกแบบหลักสูตรร่วมกับผู้ประกอบการภาคเอกชนเพื่อให้หลักสูตรมีความทันสมัย และตรงตามความต้องการของนายจ้าง และขณะเดียวกันก็สามารถสร้างทักษะที่มีคุณค่าให้กับแรงงานและเพิ่มศักยภาพในการหารายได้ของแรงงาน (มาตรการ GC 3)

“ปรับปรุงระบบอุดมศึกษาโดยสร้างแรงจูงใจให้มหาวิทยาลัยเปิดสอนวิชาและหลักสูตรที่จะช่วยลดช่องว่างทางทักษะ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสการทำงานให้กับนักศึกษา ดึงดูดบุคลากรชั้นนำระดับโลก และทำให้ภาคอุตสาหกรรมมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น

“จัดตั้งศูนย์รวมข้อมูลอาชีพและการทำงานเพื่อช่วยให้นักเรียนและแรงงานมีข้อมูลในการตัดสินใจเกี่ยวกับการวางแนวเส้นทางอาชีพของตนเอง เพื่อให้ศูนย์รวมข้อมูลดังกล่าวกลายเป็นตัวช่วยที่จะชี้ให้นักเรียนเห็นประโยชน์ของการศึกษาของการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นเพื่อเพิ่มโอกาสการทำงานและช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถเติมเต็มความต้องการแรงงานและลดช่องว่างทางทักษะ

“มีระบบอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาที่มีคุณภาพ สามารถสนับสนุนให้นักเรียนมีทักษะด้านเทคนิคและทักษะด้านการทำงานที่เป็นความต้องการของตลาดแรงงาน รวมถึงเป็นผู้นำในการสร้างสรรค์นวัตกรรมโดยมีความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคอุตสาหกรรม

“มีกำลังแรงงานที่มีความเข้มแข็งและมีความสามารถ มีทักษะตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญ ในการขับเคลื่อนการปฏิรูปให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม กระทรวงศึกษาธิการต้องทำการวิเคราะห์ช่องว่างทางทักษะ ประเมินโครงการนำร่อง ออกแบบระบบการศึกษาใหม่ และออกแบบกระบวนการประกันคุณภาพการศึกษา

1.ประเทศไทยควรทำการวิเคราะห์ช่องว่างทางทักษะอย่างละเอียดเพื่อระบุความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในปัจจุบันและในอนาคต เปรียบเทียบกับทักษะที่แรงงานมีอยู่ในปัจจุบันและคาดการณ์ทักษะของแรงงานในอนาคตจากรูปแบบหลักสูตรอาชีวศึกษาในปัจจุบันและโครงสร้างประชากร นำผลที่ได้จากการวิเคราะห์ช่องว่างทางทักษะไปใช้ในการออกแบบหลักสูตรอาชีวศึกษา โดยดูตัวอย่างจากต่างประเทศในด้านการกำกับดูแลงบประมาณ การควบคุมคุณภาพ และความยืดหยุ่นของหลักสูตร คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจมีความเห็นว่ารัฐบาลควรร่วมมือภาคเอกชนในการออกแบบหลักสูตรสำหรับอนาคตอย่างใกล้ชิด โดยหลักการแล้วแต่ละหลักสูตรควรครอบคลุมทั้งการพัฒนาทักษะเฉพาะทางสำหรับอุตสาหกรรมในปัจจุบัน และการพัฒนาทักษะพื้นฐานที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในอนาคต เพื่อให้แรงงานมีความยืดหยุ่น สามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว

2.หลังจากการดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติการที่ 1 รัฐบาลควรทำการประเมินผลโครงการนำร่องที่เคยดำเนินการในอดีตและปัจจุบัน และพัฒนาโครงการนำร่องใหม่ๆ สำหรับสายอาชีพบางประเภท โดยอาจเริ่มโครงการนำร่องในระดับจังหวัดหรือมหาวิทยาลัยอาชีวศึกษา ทั้งนี้การประเมินผลควรมีทั้งการสอบถามความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ผลสัมฤทธิ์ทางอาชีพ และต้นทุน

3.รัฐบาลควรกำหนดกระบวนการตัดสินใจที่ชัดเจนเพื่อขับเคลื่อนการนำระบบทวิภาคีไปใช้ทั่วประเทศ โดยกรอบที่นำมาใช้ควรครอบคลุมรายละเอียดเกี่ยวกับจำนวนโครงการนำร่องที่จะต้องดำเนินการ ก่อนที่จะขยายการดำเนินการไปมนทุกระดับประเทศ รูปแบบการประเมินผล เงื่อนไขที่จำเป็นต่อการตัดสินใจ และงบประมาณ

หลังจากนั้นก็ควรมีการกำหนดแผนขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างละเอียด ซึ่งรวมถึงกระบวนการรับฟังความคิดเห็นเพื่อนำไปปรับปรุงการดำเนินการ และขั้นตอนการจัดทำกฎหมายที่จำเป็น

ประเทศไทยควรนำระบบทวิภาคีไปใช้กับอาชีวศึกษาทุกแห่ง เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่าภาครัฐและภาคเอกชน ในการผลิตแรงงานที่มีทักษะที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการเพื่อนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจ นักเรียนในระบบการศึกษาแบบทวิภาคีจะผ่านการเรียนรู้จากทั้งในห้องเรียนและในการทำงานจริง การให้ความรู้นักเรียนจะเป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน มีการร่วมมือในการออกแบบหลักสูตรเพื่อให้ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม โดยมีหน่วยงานกลางในการควบคุมคุณภาพการศึกษาและการทดสอบทักษะของนักเรียน แม้ว่าในปัจจุบันจะมีการดำเนินการเรียนการสอนในรูปแบบทวิภาคีเป็นโครงการนำร่องอยู่บ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่เคยขยายไปทั่วประเทศให้ครบทุกพื้นที่และสาขาอาชีพ

มาตรการนี้นับเป็นมาตรการพลิกโฉมเนื่องจากการสร้างกำลังแรงงานที่มีทักษะและสามารถพัฒนาตัวเองให้เหมาะสมกับความต้องการของอุตสาหกรรมในปัจจุบันและอนาคตจะช่วยให้ประเทศไทยและประชาชนกลายเป็นกลไกขับเคลื่อนการเติบโตของประเทศได้ เป้าหมายการเปลี่ยนแปลงนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเกิดการปฏิรูปในระดับพื้นฐานเพื่อทำให้กำลังแรงงานมีความสามารถในการพัฒนาตัวเองมากขึ้น ทำให้เป็นที่ต้องการของบริษัททั้งในและต่างประเทศ และเพิ่มผลิตภาพในการผลิตมากยิ่งขึ้นและควรมีการปรับปรุงพัฒนาคุณภาพการศึกษาควบคู่ไปกับการพัฒนาหลักสูตรโดยความครอบคลุมถึงมาตรฐาน การกำกับดูแลและบังคับใช้ นอกจากนี้มาตรฐานควรได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัย เหมาะสมกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมอย่างสม่ำเสมอ

ประเทศเยอรมนีเป็นต้นแบบของการนำระบบทวิภาคีไปใช้ในอาชีวศึกษาได้อย่างประสบความสำเร็จ สามารถผลิตแรงงานที่มีทักษะที่เป็นที่ต้องการของภาคเอกชน รัฐบาลและภาคอุตสาหกรรมในประเทศเยอรมนีได้มีการร่วมมือในการออกแบบหลักสูตรและวิชาที่เปิดสอนในโรงเรียนอาชีวศึกษาอย่างยาวนานหลายสิบปี โดยมีระบบประกันคุณภาพที่เป็นอิสระ นักศึกษาจะได้รับค่าจ้างจากนายจ้างระหว่าปฏิบัติงานเพื่อให้เกิดคุณค่าในการจ้างงานแก่ทั้ง 2 ฝ่าย รัฐบาลเป็นผู้ให้งบประมาณและบริหารจัดการโรงเรียนอาชีวศึกษา ขณะที่ภาคเอกชนมีส่วนในการให้ความร่วมมืออย่างใกล้ชิด ขอยกตัวอย่างกรณีศึกษาด้านทวิภาคีในประเทศเยอรมนี เช่น

“ระบบทวิภาคี นักศึกษาทุกคนในระบบอาชีวศึกษาจะผ่านการพัฒนาทักษะจากทั้งในห้องเรียนและจากการทำงานในสถานประกอบการจริง โดยมีสาขาวิชาที่เปิดสอนมากถึง 348 สาขา

“มาตรฐานคุณภาพระดับสูง ในระดับนโยบาย การเรียนการสอนในระบบอาชีวศึกษาเป็นระบบที่ได้รับการยอมรับในวงกว้างโดยถือว่าเป็นการรับรองคุณภาพที่มีความน่าเชื่อถือ

“มีความยึดโยงกับภาคอุตสาหกรรมในระดับสูง การออกแบบหลักสูตรอาชีวศึกษาความต้องการภาคเอกชน ส่งผลให้นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาได้ทำงานหลังจบการศึกษาเป็นส่วนใหญ่ 2-3 ประเด็นส่งผลให้ประเทศเยอรมนีประสบความสำเร็จด้านทักษะอาชีพของนักเรียนและสามารถตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจทุกแขนงและแข็งแกร่ง
ถึงเวลาแล้วยังที่กระทรวงศึกษาธิการและผู้ที่เกี่ยวข้องรีบเปลี่ยนกระบวนทัศน์ผลิตคนเพื่อตอบโจทย์ประเทศ ตอบโจทย์ความต้องการของชุมชน

แต่กระทรวงศึกษาธิการต้องปรับวิธีคิดและวิธีทำเสียก่อน เพราะถ้าวิธีคิดไม่เปลี่ยน พฤติกรรมก็ไม่เปลี่ยน ประเทศก็ไม่เปลี่ยน ประชาชนต้องรับกรรมต่อไป…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image