“หลังโควิด-19….โลกจะเปลี่ยนแปลงไปทางไหน?” โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. สุรเกียรติ์ เสถียรไทย

ช่วงที่ทำงานจากบ้านที่ปราณบุรีนี้ (Work from Home) ทำให้ได้ใช้เวลาอ่านหนังสือ รับฟังข่าวสาร ใช้เวลาคิดทบทวน เชื่อมโยงสิ่งต่างๆมากขึ้น

จากที่ผมมักได้รับเชิญไปบรรยายให้หลักสูตรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.),สถาบันพระปกเกล้า, TepCot ของม.หอการค้า, สำนักข่าวกรองแห่งชาติ, หลักสูตรผู้พิพากษาหัวหน้าศาล, หลักสูตรของศาลรัฐธรรมนูญเป็นต้น มาทุกปี และการปาฐกถา บรรยายพิเศษในการประชุมสัมมนาต่างๆนั้น มักจะเป็นเรื่องเกี่ยวโยงกับความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจการเมืองโลก กับผลต่อประเทศไทย ต่ออาเซียน ไม่ว่าทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองระหว่างประเทศ การศึกษาและอื่นๆ

ในหลายปีที่ผ่านมา หัวข้อนี้มีความเข้มข้นขึ้น เพราะผลจากปัจจัยต่างๆ เช่นการเจริญเติบโตของจีนทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ การที่ประเทศมหาอำนาจมียุทธศาสตร์ต่างๆมากขึ้นและแข่งขันกันเอง แต่ขณะเดียวกันสหรัฐฯและอังกฤษเริ่มมีนโยบายเชิงต่อต้านโลกาภิวัตน์ ปกป้องพลเมืองและกิจการภายในประเทศมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีเรื่องการแข่งขันทางการค้าจนกลายเป็นสงครามทางการค้าโดยเฉพาะระหว่างสหรัฐกับจีน สหรัฐกับสหภาพยุโรป การแข่งขันทางเทคโนโลยีจนกำลังกลายเป็นสงครามเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐกับจีน และที่สำคัญคือการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด (Disruptive Technology) ที่ผลักให้คน และสังคมที่ไม่ปรับต่อการเปลี่ยนแปลง เกิดความล้าหลัง ตกขบวนรถไฟทางเทคโนโลยี เกิดปัญหาการผลิตบุคคลากรของประเทศต่างๆรวมถึงประเทศไทยที่ตามไม่ทันโลกของเทคโนโลยีและตลาดแรงงาน การปรับตัวอย่างเชื่องช้าของภาครัฐ ระบบราชการและระบบกฎหมายไทยต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยี รวมทั้งการเข้าสู่สังคมสูงอายุของไทยเป็นต้น

ที่ผ่านมาเรื่องข้างต้นก็ดูเป็นปัญหาใหญ่และซับซ้อนในช่วง3-4ปีที่ผ่านมา ที่ทุกประเทศในโลกรวมประเทศไทยต้องเอามาคิด มาพิจารณาว่าจะปรับตัวอย่างไร

Advertisement

แต่เพียงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โควิด-19 (COVID-19) เป็นโรคระบาดระดับโลก (Pandemic) ที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงของโลกเปลี่ยนแปลงไปอีกมากมายอย่างรวดเร็วและซับซ้อนยิ่งกว่าความซับซ้อนที่กล่าวมาข้างต้นอย่างไม่น่าเชื่อ

ผมเองเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศช่วงที่มีโรคระบาดสำคัญเช่นไข้หวัดซาร์ส (SARS) ซึ่ง ณ วันนั้นเราได้จัดประชุมผู้นำอาเซียน+จีนภายใน 7 วัน นำผู้เชี่ยวชาญมาด้วย ตกลงกันมีมาตรการต่างๆที่สอดคล้องกัน และจบปัญหาได้ในไม่เกิน2 เดือน เราเคยประสบปัญหาไข้หวัดนก (Avian Flu) ซึ่งก็มีการประชุมรัฐมนตรีเกษตรและรัฐมนตรีสาธารณสุขจากทั้งเอเชีย ยุโรปและองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องรวมเกือบ40 ประเทศในประเทศไทย… ตกลงให้ตรงกันเรื่องสาเหตุและทางแก้ร่วมกัน และโลกก็แก้ปัญหาไข้หวัดนกได้ ในการแพร่ระบาดครั้งต่อๆมา ก็ดูจะร่วมมือแก้ปัญหากันได้ดีพอสมควร ผมเองจึงคาดว่าสังคมระหว่างประเทศคงจะจับมือกันหาทางแก้ปัญหาโควิด-19 ได้เหมือนที่เคยผ่านมา

แต่การหาได้เป็นเช่นนั้นไม่…

สำหรับโควิด-19 เราอาจได้ยินการประชุมของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอาเซียนอยู่บ้าง แต่แม้ในช่วงที่ยังเดินทางกันได้ เราไม่เห็นการหันหน้าคุยกัน ประชุมกันของผู้นำ ของรัฐมนตรีจากประเทศที่เกี่ยวข้องและองค์การระหว่างประเทศอย่างองค์การอนามัยโลก(WHO)เพื่อหามาตรการเผชิญปัญหาร่วมกัน แน่ละ อาจมีหลายเหตุผลว่าทำไมการประชุมตกลงกันเช่นนั้นไม่เกิดขึ้น เช่นแต่ละประเทศเห็นความรุนแรงของโรคนี้ต่างกัน บ้างก็คิดเป็นเรื่องที่เกิดในจีน จีนก็ต้องเป็นหลักในการแก้ปัญหา หรือเวลาในการเข้าสู่ปัญหาคนละเวลากัน ในที่สุดก็เดินทางไปพบประชุมกันไม่ได้…..เป็นต้น

ยิ่งไปกว่านั้น เราเห็นการต่างคนต่างอยู่มากขึ้น อาเซียนก็มีมาตรการต่างๆไม่เหมือนกัน บ้างปิดด่านผ่านแดน บ้างปิดประเทศ บ้างขอร้องการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) บ้างปิดห้าง บ้างให้ราชการและเอกชนหยุดงาน บ้างตรวจอาการคนที่อาจติดเชื้ออย่างมาก บ้างค่อยทำค่อยไป บ้างก็ไม่มีงบประมาณสำหรับน้ำยาตรวจ บ้างให้คนชาติเดินทางกลับประเทศ บ้างก็บอกอย่าเพิ่งเดินทาง บ้างก็ล็อกดาวน์ปิดประเทศ บ้างก็ปิดๆเปิดๆ ตามอัธยาศัยที่เรียกกันว่า”ความเหมาะสม”

แม้ในอียูเอง ทั้งๆที่เป็นตลาดร่วมทางเศรษฐกิจ มีนโยบายร่วมกันสารพัดเรื่อง ก็ยังไม่สามารถออกมาตรการควบคุมโรคร่วมกัน ไม่สามารถช่วยกันทางสาธารณสุข สหรัฐเองก็ไม่ช่วยใคร กลายเป็นจีนที่แก้ปัญหาเสร็จก่อน เลยพอช่วยคนอื่นได้บ้าง ประเทศต่างๆก็หันหาประเทศพัฒนาแล้ว ขอซื้อหน้ากาก เครื่องช่วยหายใจ เสื้อ PPE แต่บางประเทศก็ไม่ให้ขายให้ใคร ขอดูแลคนของตนก่อน….

ความรุนแรงของปัญหาคราวนี้ แทนที่จะดึงโลกเข้ามาหากัน กลับผลักความร่วมมือระหว่างประเทศออกห่างกันและกัน ทั้งๆที่ประสบปัญหาคล้ายกัน มีชะตากรรมไม่ต่างกันมาก

ยิ่งไปกว่านั้น ช่วงนี้ประเทศต่างๆ ก็มีความขัดแย้งกันภายในในการบริหารช่วงวิกฤต

ในเรื่องสาธารณสุขก็ถกเถียงกันมาก เช่นทุกคนควรใส่หน้ากากหรือเฉพาะคนป่วย ควรมีระยะห่างของแต่ละคนอย่างไรแม้ในครอบครัวเดียวกัน (Physical Distancing) นอกจากระยะห่างทางสังคมแล้ว ควรกักกัน (Quarantine)ไว้ที่ไหน สถานที่พิเศษ หรือโรงแรม และให้ห่างกันอย่างไร ควรชะลอหรือควรห้ามการเดินทางในประเทศ หรือระหว่างประเทศ เสื้อคลุมPPE หน้ากากN-95 ของบุคคลากรการแพทย์พอหรือไม่ เครื่องช่วยหายใจไม่พอ จะสั่งจากประเทศไหน…..

ส่วนด้านเศรษฐกิจ นั้น ประเทศต่างๆที่มีพลัง ก็ใช้สิ่งที่ดร. สันติธาร เสถียรไทยเรียกว่า บาซูก้าทางการเงิน การคลัง แต่ละประเทศก็ใช้ถูกเวลาบ้าง เร็วไปบ้าง ช้าไปบ้าง ก็ต่างๆกันไป ปัญหาคือบาซูก้าจะพอหรือเปล่า หรือต้องใหญ่กว่านี้ และต้องนานแค่ไหน 3หรือ 6หรือ 9 เดือนหรือ…..

ผมเล่าตอนต้นว่าผมบรรยายเรื่องความเปลี่ยนแปลงของโลกที่มีผลต่อภูมิภาคและประเทศไทยมานาน แต่ละปีประเด็นก็เปลี่ยนไปบ้าง แต่วันนี้สถานการณ์โควิดและหลังโควิด จะเป็นความเปลี่ยนแปลงมหาศาล(Disruptive Change) ที่จะผลักเศรษฐกิจ สังคม การเมืองระหว่างประเทศ และพฤติกรรมส่วนบุคคลให้ต่างจากเดิมอย่างไม่เคยมีมาก่อน

เราคงจะเป็นสังคมที่ใช้ดิจิตัลมากขึ้น เช่น การอุปโภค บริโภค การทำงาน การติดต่อสื่อสาร การประชุม การศึกษาที่เป็นทางการ การเรียนรู้ตลอดชีวิต….. เราจะเห็นว่าโลกออนไลน์ โลกไซเบอร์ โลกของปัญญาประดิษฐ์(AI)จะมีบทบาทมากยิ่งขึ้นทั้งในภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและภาครัฐ ระบบราชการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ธุรกิจที่เคยเฟื่องฟู เช่น ออนไลน์ทั้งหลาย อาจเฟื่องฟูขึ้นอีกมาก ธุรกิจอื่นที่เคยเฟื่องฟู เช่นที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ธุรกิจระหว่างประเทศ การคมนาคม การพักอาศัยของนักธุรกิจ นักท่องเที่ยว อาจเศร้าซึมไปยาว และก็อาจจะกลับมาเฟื่องฟูหรือไม่เฟื่องฟูก็ได้ในอนาคต แต่ไม่รู้ว่าจะมีรูปแบบที่ต่างจากเดิมอย่างไรในเมื่อหลายคนเริ่มรู้สึกว่าทำงานจากบ้านผ่านระบบดิจิตัลทั้งหลายก็สบายดี มีประสิทธิภาพในการทำงานหลายอย่างดีกว่าเข้าออฟฟิศด้วยซ้ำไป ส่วนธุรกิจการแพทย์ โรงพยาบาล เวชภัณฑ์ทางการแพทย์ การดูแลสุขภาพ การลงทุนในการวิจัยและพัฒนาทางการแพทย์ คงมีโอกาสเฟื่องฟูขึ้นอย่างมาก

บทบาทนำของโลก ที่มีสหรัฐกับจีนแข่งกันทางการเมือง การค้า เทคโนโลยี และทางการทหารจะเปลี่ยนไปอย่างไร อียู จะอ่อนเปลี้ยไปแค่ไหน อาเซียนจะอ่อนแรงทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจไปเพียงใด ความสามารถของอาเซียนในการเป็นสะพานเชื่อมการเมืองโลกจะเปลี่ยนไปในทิศทางใด โลกาภิวัตน์จะปรับตัวกลายเป็นอะไร จากผลที่ต่างคนผ่านประสบการณ์ การปิดประเทศมากน้อยกันมา และการต่างประเทศของประเทศต่างๆ จะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไรท่ามกลางความร่วมมือระหว่างประเทศที่ลดลง

ในห้วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา โลกห่วงในเรื่องความมั่นคงทางอาหาร(Food Security)และความมั่นคงทางพลังงาน (Energy Security) มานานและก็เห็นระบบเศรษฐกิจ ธุรกิจ นโยบายของรัฐต่างๆที่เป็นผลผลิตมาจากความห่วงใยนั้น รวมทั้งเป็นหัวข้อการประชุมของผู้นำมานาน แต่เมื่อมองไปข้างหน้า… หลังจากนี้ ความมั่นคงทางสุขภาพของมวลมนุษย์หรือความมั่นคงด้านสาธารณสุข (Health Security) คงจะเป็นตัวกำหนดหัวข้อของการประชุมผู้นำประเทศ รัฐมนตรี ข้าราชการ ผู้นำภาคเอกชน และผู้เชี่ยวชาญมากกว่าเรื่องใดใด ปัญหาคือ นโยบายและแผนปฏิบัติการที่จะออกมาจากความห่วงใยด้านความมั่นคงทางสุขภาพนั้น จะมีหน้าตาแบบใด มีผลต่อสังคมอย่างไร ก็ยังคงได้แต่เดาๆกันไป

รัฐบาลของประเทศต่างๆก็คงได้บทเรียนจากความสำเร็จและความล้มเหลวในการบริหารงานยามวิกฤตกันมา ประขาชน สังคมคงกดดันพอสมควรให้รัฐบาลทั้งหลายมีการปรับตัวให้การบริหารงานทั้งช่วงโควิด และการฟื้นหลังโควิดเป็นไปแบบมืออาชีพยิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์ในการฟื้นตัวของคนในแต่ละประเทศ รัฐบาลต่างๆคงหนีไม่พ้นการปรับตัวเข้าสู่รัฐบาลที่มีการทำงานที่กระชับขึ้น ลดขั้นตอนการทำงานที่ล่าช้า และมีความโปร่งใส (Lean and Clean) มีธรรมะของการเป็นรัฐบาลมากขึ้น สร้างองค์ความรู้ให้ระบบราชการ(Learning Organization)ให้เป็นผู้นำการปรับตัวในโลกที่เปลี่ยนไปและสังคมในทุกประเทศคงจะเรียกร้องให้มีกระบวนการจัดงบประมาณให้ตรงตาม Food,Energy and Health Security ที่กล่าวถึงข้างบนมากขึ้น

ความยากที่สุดแสนยากคือ…แต่ละคน แต่ละประเทศ ยังไม่รู้ว่าความเปลี่ยนแปลงที่กล่าวมานั้น จะเปลี่ยนแปลงอย่างไร ไปทางไหน และมากขนาดไหน พวกเราที่อยู่บ้าน ว่างงานขึ้น(แม้ทำงานทางอีเล็คโทรนิคกันมากก็ตาม)คงต้องค่อยๆช่วยกันคิด ช่วยกันศึกษา ช่วยกันระดมสมองว่าสังคมจะพัฒนาไปอย่างไร เรารู้ว่าโลกหลังโควิดไม่เหมือนโลกก่อนโควิด แต่ไม่รู้ว่าไม่เหมือนอย่างไร ขนาดไหน คนรายได้น้อย มนุษย์เงินเดือน เกษตรกร ธุรกิจน้อยใหญ่ คนสูงอายุจะต้องปรับต้วอย่างไร ใครจะช่วยเขาเหล่านั้นปรับตัว หลังจากโควิดผ่านพ้นไป หลังจากความช่วยเหลือบาซูก้าทางการเงินการคลังผ่านไป

ผมมานึกถึงที่ท่าน ชาร์ลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin) นักธรรมชาติวิทยาเคยกล่าวไว้ว่า

“ไม่ใช่คนที่แข็งแรงที่สุดและไม่ใช่คนที่ฉลาดที่สุดที่จะอยู่รอด แต่คือคนที่สามารถปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงได้ดีที่สุด(ที่จะอยู่รอด)”

( It is not the strongest of the species that survives, nor the most intelligent that survives. It is the one that is the most adaptable to change)

นึกถึงท่านแล้วเลยมานั่งคิดว่า ในสภาพที่รู้ว่าการปรับตัวสำคัญก็จริง แต่ปัญหาคือไม่รู้ว่าโลกจะปรับไปทางไหน พวกเราจะทำอย่างไรดี จะปรับตัวอย่างไรดี

จึงคิดว่าถึงเวลาที่ทุกท่านที่เป็นผู้รู้จากหลากหลายสาขา หลากหลายประสบการณ์ จากหลากหลายช่วงอายุ คงต้องใช้เวลาช่วยกันคิดว่า หลังโควิด-19 ผ่านไป สังคมจะพัฒนาไปทางไหน และคนจะต้องปรับตัวอย่างไร เพื่อจะได้แลกเปลี่ยนความรู้กัน ช่วยกันวางแผนให้สังคม และตัวเอง

….แต่ที่ผมทำได้ตอนนี้คือพยายามทำใจให้อยู่ในปัจจุบัน ไม่กังวลอนาคตเกินไป ไม่โหยหาอดีตก่อนโควิด-19….และดูความเปลี่ยนแปลง ความไม่แน่นอนว่านี่แหละคือความแน่นอนในยุคนี้ครับ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image