COVID-19(3) ฤา‘เจ็บ จน โง่’จะกลับมา? : โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

มติชนฉบับสัปดาห์ก่อนหน้าที่ได้ฝากข้อคิดจากประเทศจีน เมืองอู่ฮั่น : Wuhan’s daily infection has dropped from over 10,000 to 0, so what made it happen?

1.Aggressive health screen to every patien hospitalized, removing infection source
2.City lockdown and community quarantine cutting off transmission route.

รวมทั้งข้อเสนอพรรคการเมืองหลายพรรค รวมนักวิชาการจากสถาบันต่างๆ โดยเฉพาะพรรค “เพื่อไทย” ประธานยุทธศาสตร์พรรค คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ด้วยประสบการณ์ที่ประสบความสำเร็จควบคุมโรคซาร์ส ปี 2545 โดยเฉพาะพรรคเสนอให้มีการเฝ้าระวังควบคุมป้องกันโรค COVID-19 โดยค้นหาผู้สัมผัส/ผู้ป่วยที่เป็นโรคโคโรนาไวรัสทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ

ณ วันนี้ (6 เม.ย.63) สถานการณ์ระบาดของไวรัสมรณะ COVID-19 ที่ขยายแพร่วงกว้างไปทั่วโลกลามไปถึง 204 ประเทศ มีจำนวน 1,272,860 คน เสียชีวิต 69,424 คน รักษาหายกว่า 2.6 แสนคน สหรัฐอเมริกาอ่วมหนักยอดผู้เสียชีวิตแตะ 6,000 คน เสียชีวิตวันเดียว 1,169 คน (3 เม.ย.63) ถือว่าเพิ่มมากสุดและมากกว่าทุกประเทศในโลก ซึ่งเป็นไปตามการคาดหมายของผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) “นพ.ทีโครส อัดฮานอม กีบรีเยซุส” แถลงเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา ขณะที่ นพ.ไมค์ ไรอัน ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายโครงการฉุกเฉินของ WHO ระบุว่า “มาตรการล็อกดาวน์” ของประเทศต่างๆ ยังไม่เพียงพอในการสกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และแม้การล็อกดาวน์ส่งผลกระทบอย่างมากต่อ “เศรษฐกิจและสังคม” แต่หากไม่มีการดำเนินการดังกล่าวก็จะทำให้มีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นซึ่งจะเป็นที่เลวร้ายกว่า…ถือเป็นคำเตือนที่ทุกท่านต้องวิเคราะห์และรับฟัง

Advertisement

ล่าสุด โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้ออกมาแนะนำให้ชาวอเมริกาใช้ผ้าพันคอ ปิดจมูกแทน เพื่อเก็บหน้ากากอนามัยไว้สำหรับแพทย์และพยาบาล พร้อมเรียกร้องให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) อย่างเคร่งครัด ที่แรงจัดมากเลยก็คงไม่พ้นประธานาธิบดี “โรดริโก ดูเตอร์เต” ของฟิลิปปินส์ที่ออกมาแถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์ หลังประกาศล็อกดาวน์ประเทศ แต่ยังมีชาวบ้านบางส่วนออกมาประท้วงไม่พอใจมาตรการรัฐบาลเนื่องจากขาดแคลนอาหาร ขาดรายได้ และสิ่งของที่จะเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวัน โดยย้ำเตือนชาวฟิลิปปินส์ ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของรัฐบาลในสถานการณ์วิกฤตไวรัสโควิด พร้อมออกคำสั่งหากใครทำร้าย… “เจ้าหน้าที่สาธารณสุข บุคลากรทางการแพทย์” จะถือเป็นการก่ออาชญากรรมรุนแรง ขอให้ “ตำรวจและทหาร” ที่ปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย… “ยิงคนเหล่านั้น” ได้ทันที เป็นการสั่งใช้มาตรการ “ขั้นเด็ดขาด”… เพื่อควบคุมสถานการณ์ที่อาจบานปลายถึงขั้นจลาจล ซึ่งหากเปรียบเทียบประเทศฟิลิปปินส์กับประเทศไทย เราจะเห็นได้ว่าเรื่อง “นโยบายประชากรกับการพัฒนา” ได้เริ่มนโยบายการวางแผนครอบครัวมาพร้อมกัน โดยประเทศไทยประกาศนโยบายประชากรครั้งแรกเมื่อ 17 มีนาคม 2513 ขณะที่ประเทศไทยมีประชากร 66 ล้านคน ประเทศฟิลิปปินส์มีประชากร 120 กว่าล้านคน มีประชากรมากกว่าไทยถึง 2 เท่า ผลกระทบปัญหาโควิด-19 น่าจะรุนแรงซับซ้อนมากกว่าประเทศไทย จึงได้ดำเนินมาตรการขั้นเด็ดขาด เพื่อป้องกันจลาจล อีกประเทศหนึ่งคือ อินเดีย มีประชากร 1,350 ล้านคน ทันทีที่ประกาศล็อกดาวน์ คนในประเทศก็เกิดจลาจล เนื่องจากประชาชนหิวโหย ไม่มีอาหารกิน ตามที่เป็นข่าวตามสื่อ

ส่วนประเทศไทยเราจากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันเสาร์ ที่ 4 เมษายน 2563 หน้า 3 หัวข้อ…“กะเทาะภาครัฐคุมโควิด…ไร้ทิศทาง” โดยท่านรองศาสตราจารย์ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้วิเคราะห์ถึงการบริหารงานของรัฐบาล และมาตรการเยียวยาต่างๆ จะพาประชาชนให้รอดพ้นการแพร่ระบาด “ไวรัสมรณะ” ในครั้งนี้ไปได้หรือไม่ ความว่า…การบริหารรัฐบาลมีปัญหามากเพราะ 1) ปัญหาระบบราชการที่อยู่ในระบบรัฐราชการแบบใหม่เป็นการรวมศูนย์อำนาจ หลายครั้งขัดแย้งกัน เช่น บางหน่วงงานฟ้องร้องกันเอง 2) การเป็นรัฐบาลผสม มีหลายพรรคการเมืองต่างคนต่างทำ จนกระทั่งมีการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีการตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ดูเหมือนว่าทิศทางที่ดีขึ้น มีข้อมูลต่างๆ ที่สะท้อนภาพเชิงลึกให้สังคมได้เห็น

ส่วนมาตรการยาแรงนั้น ข้อกำหนด ฉบับที่ 2 เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2563 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ ศบค. ประกาศเคอร์ฟิวทุกพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร ห้ามประชาชนออกจากเคหสถานตั้งแต่เวลา 22.00 น. ถึง 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น เริ่มตั้งแต่ 3 เมษายน 2563 จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง เว้นแต่มีความจำเป็นหรือผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ การธนาคาร การขนส่งอุปโภคบริโภค ผลผลิตการเกษตร ยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ หนังสือพิมพ์ การขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง พัสดุภัณฑ์ สินค้านำเข้าหรือส่งออก และการขนย้ายประชาชนสู่พื้นที่ควบคุม เป็นต้น เพื่อป้องกันสกัดยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดที่แพร่หลายไปเกือบทุกจังหวัดทั่วประเทศ ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ…ถือเป็นภาวะจำเป็นที่ประชาชนต้องให้ความร่วมมือเพื่อพ้นไวรัสมรณะ อนึ่ง คืนวันที่ 3 เมษายน 2563 เกิดเหตุวุ่นวายที่คนไทยกลับจากต่างประเทศ 158 คน ที่สนามบินสุวรรณภูมิไม่ยอมกักตัวตามมาตรการของรัฐ เพราะไม่พอใจมาตรการ คัดกรองล่าช้า ไม่ทราบมาก่อน มีคนจำนวนหนึ่งหลบหนีไป ซึ่งมีผลต่อการกระจายเชื้อโรค และเป็นภาพสะท้อนของการวางแผน การเตรียมการ การจัดการ การสื่อสารยามวิกฤตน่าจะมีปัญหาในวันรุ่งขึ้นทุกคน 158 คน ก็เข้ามารายงานตัวตามที่ทางการประกาศ

Advertisement

ข้อมูล ณ วันที่ 6 เมษายน 2563 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 51 คน ยอดผู้ติดเชื้อรวม 2,220 คน รักษาหาย 793 คน เสียชีวิตเพิ่ม 3 ราย รวมเสียชีวิต 26 ราย หากไม่ใช้มาตรการเข้มในการควบคุม ยอดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตอาจจะพุ่งกระฉูดจนหยุดไม่อยู่ นั่นพออนุมานได้ว่าภาวะเจ็บป่วยโรคระบาดพันธุ์ใหม่…จะมีผลมีตัวเลขสูงขึ้น…มีผลกระทบด้านประชากรกับการพัฒนาซึ่งทั้งองค์การอนามัยโลก และหลายๆ ประเทศวิเคราะห์กันว่า…สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ผ่านมา ณ วันนี้รวมเวลา 75 ปีเศษ (พ.ศ.2488-2563) สงครามโรคระบาด COVID-19 น่าจะรุนแรงมากกว่าสงครามโลกครั้งที่ 2 เสียอีก ที่ชัดเจนรอบแรก คือ “เจ็บป่วย” จาก “โรคติดต่อพันธุ์ใหม่” (Emerging Disease)

จากที่กล่าวไว้ข้างต้นด้วยมาตรการต่างๆ จากให้การรักษาโดยให้กินยาเม็ด จนกระทั่งให้กินยาแรง ฉีดยาแรงขึ้นๆ ตามลำดับ จนถึงมาตรการขั้นเด็ดขาดของประเทศฟิลิปปินส์ อันได้แก่

1.มาตรการ “2ล 2ส” 2 หลีกเลี่ยง 1) หลีกเลี่ยงคนที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 คนที่มาพื้นที่เสี่ยง เช่น จีน เกาหลี ฯลฯ 2) หลีกเลี่ยงไปในพื้นที่เสี่ยงต่อการติดโรคโควิด-19 เช่น ตลาด โรงหนัง การประชุม ฯลฯ ด้วย Motto : “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” โดยความร่วมมือของคนในชาติเพื่อชาติไทยของเรา 2ส : 1) สัมผัส : กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ 2) สวมใส่ : แว่นตา หน้ากากอนามัย

2.มาตรการ : การเฝ้าระวัง ควบคุม ป้องกันโรคไวรัสโควิด-19 มี 3 ขั้นตอน 2.1 เฝ้าระวัง x-ray ทุกคนในหมู่บ้านเพื่อทราบสถานการณ์ปัจจุบัน ค้นหาผู้สัมผัส/ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ เพื่อรักษาให้หายโดยเร็ว 2.2 การค้นหาผู้ป่วยไวรัสโคโรนา 19 (สีแดง) และแยกส่งตัวรักษาในโรงพยาบาล ห้องแยกพิเศษเพื่อป้องกันโรคอักเสบระยะแรก ให้หายเป็นปกติ คือ สีเขียว (ป้องกันเป็นสีดำ…คือตาย) 2.3 Serial Distancing ในพื้นที่เสี่ยงมีการระบาดจากเชื้อไวรัส ให้ประชาชนร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม คือ เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล ประมาณ 2 เมตร

3.มาตรการทางกฎหมาย อันได้แก่ ข้อกำหนด ฉบับที่ 2 ของ “ศบค.” เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2563 และหรือรุนแรงขั้นสูงสุด คือ Lock down เมือง…ประเทศ…กล่าวคือ คนในประเทศไม่ออกนอกประเทศ คนต่างประเทศไม่เข้าประเทศ โดยตามเวลากำหนด

อนึ่ง…โรคภัยไข้เจ็บไม่ได้แก้กฎหมายอย่างเดียว เพราะ
1) การระบาดของโรคย้ายศูนย์กลางการระบาดไปเรื่อยๆ สะท้อนว่าโรคระบาดไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมใดๆ 2) เป็นภัยที่มองไม่เห็น และไม่เคยใช้กฎหมายฉุกเฉินกับโรคระบาดมาก่อน (ถึงแม้ช่วง SARS ถ้าเป็นครั้งแรกที่มีการนำมาใช้ สมัยรัฐบาลคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แต่เป็นช่วงสั้น)

ในทางกลับกันหลายมาตรการเป็นการสร้างบรรยากาศแห่งความกลัว จิตตก กังวล เนื่องจากยังไม่มีใครพยากรณ์ได้ว่าจะระบาดรุนแรงมากที่สุดทำนาย จะระบาดนานเท่าไร โรคนี้จะมีจุดจบสิ้นสุดยุติโรคโควิด-19 เมื่อใด ไม่มีใครกำหนดได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เมื่อเป็นเช่นนี้ผลการดำเนินงานในเรื่องของมาตรการ Lockdown เมือง ประเทศนั้นมีผลกระทบในเรื่องเศรษฐกิจ สังคม อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งรัฐบาลปัจจุบัน…คือ มาตรการเยียวยาที่รัฐบาลออกมาก ฉบับที่ 1-2 และ 3 สำหรับมาตรการต่างๆ จะต้องออกมาควบคู่กันตั้งแต่ขบวนการปิดเมือง หรือปิดสถานีต่างๆ แต่รัฐบาลออกมาตามหลังเป็นสภาวะแบบที่เห็นๆ อยู่ คนอยู่กรุงเทพมหานครไม่มีรายได้ แต่มีรายจ่ายตลอด เมื่อมาตรการเยียวยาไม่สมดุลทำให้การจัดการมีปัญหา การใช้เงินตนระยะหลังๆ ทำให้ถูกมองเป็นการแจกเงิน และมีผลกับเศรษฐกิจด้วย ท้ายที่สุดรัฐบาลก็ต้องกู้เงินตามที่มีการประชุมคณะรัฐมนตรีวาระพิเศษ เมื่อวันศุกร์ ที่ 3 เมษายน 2563 อนุมัติการกู้เงินเป็นจำนวน 1.68 ล้านล้านบาท มาจัดเข้าระบบเศรษฐกิจ แต่ก็หมุนไปอยู่กับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นปัญหาของรัฐบาลชุดนี้ ตามที่มีข่าวบ่อยๆ ส่งผลให้ “เศรษฐฐานราก” หรือ “รากหญ้า” คือ ประชาชนที่อพยพไปอยู่ชนบทบ้านเกิด…บ้านน้องท้องนา ชนบทถิ่นเดิมของเขา วิถีชีวิตไทยเดิมๆ ที่บรรพบุรุษอยู่มามากกว่า 50 ปี ถึง 100 ปี ไม่ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงและจริงจังเป็นรูปธรรมในการขับเคลื่อน แล้วอะไรจะเกิดขึ้น “ความจน…ความค้นแค้นใจ…ความวิตกกังวล”…ท้ายสุด “จิตวิตก” ทุกประตูเกิดได้หมด…แน่นอนก็จะเกิดการรวมศูนย์ทางเศรษฐกิจ การเมืองและคนจะแห่มาทำงานใน กทม. เมื่อเกิดวิกฤตการณ์อย่างปัจจุบัน ก็จะถูกแห่ออกต่างจังหวัดด้วยเหตุอันควรหรือไม่? เป็นภาวะซ้ำซากหมุนวนอยู่อย่างนี้ ในกทม. มีประชากร 10 ล้านกว่าคน ครึ่งหนึ่งเป็นประชากรแฝง พอเป็นแบบนี้สะท้อนสภาพปัญหาด้านการเมืองการบริหารของภาครัฐของภาพใหญ่ระดับประเทศ

มาตรการเยียวยาที่รัฐบาลกำหนดอยู่ในขณะนี้เป็นการช่วยเหลือในระยะสั้น โดยประมาณ 6 เดือน เท่าที่เราทราบกัน ซึ่งค่อนข้างจะครอบคลุมพอสมควร แต่ต้องมีมาตรการเชิงคุณภาพ คือ คัดกรองบุคคลที่ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริง มีประสิทธิภาพ และที่สำคัญยิ่ง คือ ต้องวางรากฐานเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจากวิกฤตการณ์ COVID-19 ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกกว่า 200 ประเทศ ได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วง

การคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยได้วิเคราะห์ว่าในปี 2563 นี้ ตัวเลข GDP ของไทยจะติดลบถึง 53% อันเป็นผลจากกิจการรวมทางเศรษฐกิจของประเทศชะลอตัวลง โดยกลุ่มเศรษฐกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME ซึ่งเป็นสัดส่วนกว่า 43.6% ของ GDP รวมทั้งหมด คือ กลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบทางตรงจากวิกฤตการณ์ครั้งนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ประเทศไทยของเราก็ยังมีมุมดีๆ ที่ทำให้คนไทยไม่ต้องดิ้นรนการใช้ชีวิต โดยการกักตุนสินค้าอุปโภคบริโภคเหมือนที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ เพราะประเทศเรามีความสมบูรณ์ด้านอาหารและเป็นศูนย์กลางด้านอาหารของโลก สะท้อนกับคำกล่าวที่ว่า ประเทศไทยน่าอยู่เพราะ… “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” หรือที่คนไทยเรามักไม่เคยลืมตัวตนของไทยเรา คือที่ว่า… “เงินทองคือของมายา ข้าวปลาคือของจริง” อีกเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องจริงซึ่งผู้เขียนประสบด้วยตนเองที่จังหวัดสิงห์บุรีมีการซื้อขายสินค้าผ่านช่องออนไลน์ภายในจังหวัด โดย LASADA เป็นแกนหลักอำนวยความสะดวกในการจัดขายและส่งสินค้าในตลาดสิงห์บุรีถึงที่ด้วยระบบ Delivery

อีกด้านหนึ่งของคนส่วนใหญ่ของประเทศที่อยู่ในชนบทกลุ่มเกษตรกรชาวนาชาวไร่จากวิกฤตโควิด-19 ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีเชิงการผลิต วิธีการทำงาน ลักษณะโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม รวมไปถึงการเมือง ดังนั้นการเตรียมความพร้อมให้กับประชากร จะต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลงทิศทางเหล่านี้ เช่น การฝึกอาชีพแบบใหม่ การสร้างความรู้ในเรื่องเทคโนโลยี การสร้างนวัตกรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในระดับชุมชน เป็นต้น

ผู้เขียนเองได้เห็นในภาพปัจจุบันในความชัดเจนของการควบคุมป้องกันเรื่องการ “เจ็บป่วย” เชื่อเหลือเกินว่าตามที่ รศ.ยุทธพร อิสรชัย ได้ระบุว่า ระบบการสาธารณสุขของประเทศไทย ทั้งความสามารถ ศักยภาพ ประสบการณ์โรคระบาดทั้งซาร์สและเมอร์ส ระบบสาธารณสุขรับมือได้ดีซึ่งเกิดในปี 2546 ได้ ร่วมทำงานช่วงนั้นเป็นรัฐบาลของ
นายกฯ ดร.ทักษิน ชินวัตร และมีรัฐมนตรีการสาธารณสุข คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ได้มีกระบวนการปรับแก้กลไกรัฐให้มีประสิทธิภาพ รวดเร็วกระชับและได้ผล 2) มีการใช้เทคโนโลยีใหม่เข้ามาช่วยบ้างบางส่วน 3) มีการบริหารกระจายอำนาจลงท้องถิ่นเพื่อเตรียมป้องกันตนเอง เปิดเผยข้อมูลโปร่งใสให้ประชาชนมีส่วนร่วมนั้น เชื่อว่ารัฐบาลนี้ก็สามารถจะดำเนินการได้โดยทีมนายกรัฐมนตรี ผู้นำของรัฐบาลและ รมว. ทีมของกระทรวงสาธารณสุข ทีมน้องหมอทุกท่าน รวมทั้งทีมพยาบาล นักวิชาการ ด้วยบทเรียนและผลงาน ประสบการณ์ซึ่งเป็น “ต้นแบบ” แม้ขณะนั้นประเทศไทยจะไม่มีการปิดประเทศ ช่วง 3 เดือนแรก ม.ค.-มี.ค. 63 เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ไม่พบการขยับของตัวเลขเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ…

ท้ายสุดนี้ ผู้เขียนเชื่อว่า “รัฐบาล” คงจะสร้างภาพอนาคตให้ชัดเจนเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นกับประชาชนหลังจากเรามีการใช้ “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” มีการตั้งศูนย์ “ศบค.” เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมว่าหลังจากนี้ไปแล้ว การทำงานของรัฐบาลต้องชัดเจน สร้างการมีส่วนร่วมของคนในชาติทุกภาคส่วนเข้ามีส่วนร่วมโดยการเชื้อเชิญเข้ามาตามภาวะอันควรไม่ว่าจะเป็นพรรคฝ่ายค้านเป็น “รัฐบาลแห่งชาติ” นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ภาคเอกชน สมาคม นักธุรกิจ ฯลฯ เราจะเดินหน้ากันไปทางไหน อย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งทำ โดยเฉพาะวงจรอุบาทว์ชีวิตที่ว่า “เจ็บ จน โง่” คงจะไม่เกิด หรือถ้าเกิดจริงๆ ก็ขอภาวนาไม่ให้เกิดขึ้น หรือเกิดระยะสั้นๆ เพื่อที่จะทำให้คนลดความ “ตื่นตระหนก” ให้กลายเป็นความ “ตระหนัก” มีความหวังในชีวิตของคนไทยทั้งชาติ 66 ล้านคน แต่ถ้าวันนี้ยังไม่ทำอะไรชัดเจนให้ทุกคนต้อง “อยู่บ้านนานๆ” ก็จะมีความวิตกกังวล “จิตตก” ไงเล่าครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image