คอลัมน์หน้า 3 : กระบวน ความคิด จากเงิน ‘5,000 บาท’ สัจจะ แห่ง สังคม

คอลัมน์หน้า 3 : กระบวน ความคิด จากเงิน ‘5,000 บาท’ สัจจะ แห่ง สังคม

คอลัมน์หน้า 3 : กระบวน ความคิด จากเงิน ‘5,000 บาท’ สัจจะ แห่ง สังคม

ปรากฏการณ์เงินช่วยเหลือ เยียวยา 5,000 บาทต่อคนต่อเดือน ในท่ามกลางความทุกข์ยาก กำลังให้ “บทเรียน” อันทรงความหมาย

ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม

จำนวนคนที่ลงทะเบียนกว่า 20 ล้านคน คือ รูปธรรมอันเด่นชัดว่าความเดือดร้อนดำรงอยู่อย่างไรในสังคมไทย

Advertisement

เชื่อได้เลยว่าอาจทะยานไปยังหลักกว่า 40 ล้าน

ในทางการเมืองได้สร้างความขัดแย้งอย่างกว้างขวางใหญ่โต ตั้งแต่ทำเนียบรัฐบาลกระทั่งถึงท้องไร่ ท้องนา ในตรอกซอกซอย

ระหว่าง “คนให้” กับ “คนรับ”

Advertisement

คำถามก็คือ ตกลงเงินจำนวนมากกว่า 6 แสนล้านบาท ที่ตระเตรียมเพื่อการนี้เป็นเงินของใคร เป็นของรัฐบาล หรือเป็นของประชาชน

ตรงนี้กระแทกไปยังวัฒนธรรม ความเชื่ออย่างลึกซึ้ง

ต้องยอมรับว่า ปรากฏการณ์ของเงิน 5,000 บาทต่อคนต่อเดือนได้ฉายสะท้อนให้เห็นความเชื่อที่ดำรงอยู่และฝังลึกในสังคมไทย

นั่นก็คือ ระหว่าง “เจ้านาย” กับ “ชาวบ้าน”

ท่าทีอันมาจากภายในทำเนียบรัฐบาล อันมาจากภายในกระทรวงการคลัง อันมาจากภายในพรรค อันเป็นแกนนำรัฐบาล

บ่งชี้ในความรู้สึกเป็น “เจ้าบุญ นายคุณ” ของความเมตตา

จึงหงุดหงิดเมื่อมีชาวบ้านบางคนออกมาแสดงความเห็นแย้ง ความเห็นต่าง บางคนถึงกับขยายว่านั่นคือท่าทีที่เป็นปฏิปักษ์

อาจเข้าข่าย “หมิ่นผู้นำ” หมิ่น “รัฐบาล”

นั่นก็เพราะคิดว่าเงินที่นำไปแจกช่วยเหลือ เยียวยา เป็นเงินของตน มิได้คิดว่าเป็นเงินงบประมาณอันมาจากภาษีอากรของประชาชน

นี่แหละคือรากฐานความคิดในแบบ “เจ้าใหญ่นายโต”

จากรากฐานความคิดแบบ “เจ้าใหญ่นายโต” เช่นนี้เองพวกเขาจึงบังเกิดความหงุดหงิดทุกครั้งที่มีผู้แสดงความเห็นต่างในทางเศรษฐกิจ การเมือง

ไม่ว่าจะเป็นข้อสังเกตในเรื่องการจัดการกับ “ไวรัส”

ไม่ว่าจะเป็นข้อสังเกตและข้อเสนอแนะว่า การช่วยเหลือ เยียวยา ประชาชนน่าจะเป็นอย่างนั้น น่าจะเป็นอย่างนี้ ไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น ไม่ควรจะเป็นอย่างนี้

เพราะว่าพวกเขาเป็น “เจ้านาย” เพราะว่าพวกเขาเป็น “รัฐบาล”

บรรดาประชาชนหรือชาวบ้านอันเป็น “บริวาร” หรือผู้อยู่ในความปกครองทั้งหลายต้องสงบปาก สงบคำ ไม่ควรโต้แย้งหรือมีความเห็น

นี่คือกระบวนท่าในแบบ “คุณพ่อรู้ดี” แต่เพียงผู้เดียว

ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง ในเมื่องบประมาณทุกเม็ดล้วนมาจากภาษีอากรของประชาชนจึงเป็นของประชาชนและประชาชนย่อมมี “สิทธิ” อย่างพร้อมมูล

หากไม่มี “ไวรัส” จุดต่างทาง “ความคิด” นี้คงไม่โผล่ ปรากฏ

แท้จริงแล้ว ภายในสังคมมีกระบวนการในการปะทะและขัดแย้งกันตลอดเวลา ไม่ว่าจะมีไวรัสหรือไม่มีไวรัสเข้ามาแพร่ระบาด คุกคามก็ตาม

เพียงแต่ว่า “ไวรัส” ทำให้เห็นชัดขึ้น

เห็นได้ชัดขึ้นในกระบวนการและรายละเอียดทางความคิดที่ดำรงอยู่ในสังคมว่าด้านที่ครอบงำ ด้านที่ถูกกระทำดำเนินไปอย่างไร

ตะกอนอันเคย “นอนก้น” ก็สำแดงออกมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image