เมื่อสุขภาพนำเสรีภาพ : รัฐอำนาจนิยมแบบเวชกรรมในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ใครที่มีโอกาสได้ผ่านตากับงาน “เผด็จการวิทยา” ของผม ที่รวบรวมงานจำนวนหนึ่งในคอลัมน์นี้ไปปรับปรุงเป็นเล่ม ก็คงจะเข้าใจว่า เผด็จการนั้นเป็นทั้งระบอบ และวิธีการใช้อำนาจ (อำนาจนิยม) อีกทั้งการประณามเผด็จการโดยไม่เข้าใจเผด็จการ โดยเฉพาะเงื่อนไขการกำเนิด การดำรงอยู่ ประเด็นท้าทาย และความถดถอยของมัน ทำให้เราอาจจะกำหนดยุทธศาสตร์การต่อต้าน ต่อรอง ที่ไม่มีพลัง รวมไปถึงการทำความเข้าใจข้อจำกัดของประชาธิปไตยเองก็เป็นสิ่งที่สำคัญที่จะไม่ทำให้เผด็จการนั้นเข้ามามีอำนาจในสังคมได้

อย่างในสถานการณ์ปัจจุบันนั้น สิ่งที่เราเผชิญก็คือกำเนิดรัฐอำนาจนิยมแบบเวชกรรมในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งหมายถึงการรวบอำนาจด้านการบริหาร การเมือง และ การกำหนดความจริงด้วยกลไกสองประการ

หนึ่งคือ การทำให้การเมืองเป็นเรื่องเวชกรรม (medicalization of politics) หรือแปลง่ายๆ ว่าเวชกรรมการเมือง (บ้างใช้คำว่า pharmacracy) คือมองว่าการเมืองและการใช้อำนาจมีไว้เพื่อรักษาความป่วยไข้ของสังคม

สองคือ การทำให้งานด้านเวชกรรมและสาธารณสุขเป็นเรื่องทางการเมือง/การทหาร (politicization/militarization of public health) หรือแปลง่ายๆ ว่ายุทธาภิวัฒน์ด้านเวชกรรม คือใช้ภาษาทางการทหาร การรบ การสงครามเพื่อการรักษาพยาบาล

Advertisement

อธิบายเป็นสูตรง่ายๆ คือ รัฐอำนาจนิยมแบบเวชกรรมในสถานการณ์ฉุกเฉิน = เวชกรรมการเมือง +ยุทธาภิวัฒน์ด้านเวชกรรม

ซึ่งในความเป็นจริงจะเห็นสภาวะในสังคมไทยชัดเจนในการตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ในรอบนี้

เราจึงได้ยินคำประเภท ประเทศไทยต้องชนะ ศึกโควิด-19 สุขภาพนำเสรีภาพ อยู่บ้าน-หยุดเชื้อ-เพื่อชาติ นักรบเสื้อกาวน์ แนวหน้า ส่งกำลังใจไปช่วย การประกาศเคอร์ฟิว การเชื่อฟัง การไม่ยอมให้ความร่วมมือ การไม่รับผิดชอบต่อสังคม การ์ดอย่าตก เจ้าเมืองต้องรักษาป้อมค่ายของตัวเอง โรคภัยเปรียบเสมือนข้อศึกที่ต้องถูกกำจัด

Advertisement

ผมจะข้ามการวิจารณ์ว่า หมอมีแนวโน้มความเป็นเผด็จการ หรือสนับสนุนระบอบการเมืองที่เป็นอยู่ หรือไม่ แต่จะชี้ให้เห็นว่า แนวทางด้านการรักษา/เวชศาสตร์ที่เป็นอยู่ในโลกสมัยใหม่มักมีความเชื่อมโยงสอดคล้องไปกับการใช้อำนาจของรัฐสมัยใหม่ที่ผูกขาดการใช้กำลังและความรุนแรง ตามแนวคิดทางวิชาการที่ว่าด้วยเรื่อง Therapeutic State (Szasz, Thomas S. 2001. The Therapeutic State: The Tyranny of Pharmacracy. The Independent Review. 4:4. Spring: 485-521) ที่ผมอยากจะแปลง่ายๆ ว่ารัฐอำนาจนิยมแบบเวชกรรม

ว่ากันว่ารัฐสมัยใหม่นั้นมักจะผูกพันกับการปกครองประชากรภายใต้การใช้คำเปรียบเปรยว่าสิ่งที่เลวร้ายในสังคมนั้นเปรียบเสมือนโรคร้ายที่ต้องทำการรักษา และเอาเข้าจริงแล้ว การใช้อำนาจเผด็จการในการรักษาโรคร้ายเช่นนี้นั้นไม่ใช่มีแต่รัฐเผด็จการเต็มรูปแบบที่เรามักจะนึกถึง เช่น รัฐนาซีเท่านั้น แต่รัฐในสังคมประชาธิปไตยเองบ่อยครั้งก็มักจะใช้วิธีคิดเช่นนี้

รากฐานสำคัญในเรื่องนี้คือเรื่องของการแบ่งแยก สุขภาพ/สุขภาวะส่วนตัว กับ สุขภาพ/สุขภาวะส่วนรวมออกจากกัน

แนวคิดรัฐอำนาจนิยมแบบเวชกรรม ที่รวมเอาเวชกรรมการเมือง และยุทธาภิวัฒน์ด้านเวชกรรมเข้าด้วยกัน วางอยู่บนฐานความคิดและปฏิบัติการที่เชื่อว่า เรื่องของสุขภาพนั้นสามารถแบ่งออกเป็นสองมิติ นั่นคือ สุขภาพส่วนบุคคล และ สุขภาพส่วนรวมหรือการสาธารณสุข

รัฐอำนาจนิยมแบบเวชกรรมเชื่อว่า ประชาชนในรัฐนั้นอาจจะดูแลสุขภาพส่วนตัวได้ แต่รัฐจำเป็นต้องเข้าแทรกแซงเสรีภาพของประชาชนในหลายๆ เรื่องเมื่อเรื่องสุขภาพส่วนตัวนั้นกระทบกับสุขภาพส่วนรวม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการใส่หมวกกันน็อก การคาดเข็มขัดนิรภัย การงดหรือถูกจำกัดการบริโภคสิ่งมึนเมาทั้งเหล้าและบุหรี่ รวมทั้งสารเสพติดอิ่นๆ รวมทั้งพฤติกรรมทางสาธารณะมากมาย เช่น การสวมหน้ากาก

เรื่องการกำกับดูแลการสาธารณสุขนั้นจะพบว่าแม้ว่าจะถูกกำกับโดยความรู้ทางด้านเวชศาสตร์ แต่หากไม่พึ่งพาคำสั่งของรัฐ กฎหมาย และองค์กรสาธารณะโดยเฉพาะระบบราชการขนาดใหญ่ ตั้งแต่กระทรวงสาธารณสุข ระบบ อสม. ตำรวจ ทหาร กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ หรือพูดง่ายๆ ก็คือมีรัฐเข้ามามีบทบาทเพื่อให้การรักษาสุขภาพของส่วนรวมนั้นเป็นไปได้

รากฐานสำคัญของแนวคิดรัฐอำนาจนิยมแบบเวชกรรมก็คือ ความเชื่อว่าประชาชนนั้นดูแลตัวเองไม่ได้ ใช้เสรีภาพของตนไม่ถูกไม่ควร อาจจะรวมถึงไม่มีความรู้ และอาจถึงขั้นมีระดับทางศีลธรรมที่ไม่เพียงพอในการนำพาสังคม-ประเทศชาติไปรอดจากสภาวะวิกฤต

แนวคิดที่อยู่ในรากฐานเช่นนี้เองที่ถูกตั้งคำถามว่านี่คือทางเลือก และทางรอด ของสังคมจริงหรือไม่ และนี่คือทางเลือกและทางรอดเดียวจริงหรือไม่ และอะไรคือราคาที่เราต้องจ่ายในการอยู่ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้

ใช่ว่าการวิจารณ์รัฐอำนาจนิยมแบบเวชกรรมจะเป็นเรื่องของการวิจารณ์ในแง่ลบไปเสียทั้งหมด แต่การวิจารณ์นั้นพยายามที่จะชี้ให้เห็นว่าการที่เราพยายามคิดแทนประชาชน และผลักคนที่คิดต่างออกไปยืนอยู่ข้างนอก อาจไม่ใช่หนทางที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาสาธารณสุขที่เราเผชิญอยู่ โดยเฉพาะในยุคที่เกิดสถานการณ์ภัยพิบัติรูปแบบใหม่ทางสาธารณสุข (ไม่ว่าในกรณีนี้รัฐไทยจะยอมรับว่าเป็นภัยพิบัติตามคำจำกัดความทางกฎหมายของตนหรือไม่)

การตั้งข้อสังเกตนี้ทำให้เราต้องมาคิดใหม่ว่า เมื่อเกิดสถานการณ์พิเศษเร่งด่วนทางสาธารณสุขนั้น รัฐและคณะแพทย์นั้นมักจะเข้ามามีบทบาทพิเศษกว่าสถานการณ์ปกติมาก เพราะในสภาวะปกตินั้นการใช้อำนาจทางสาธารณสุขมักจะไม่ค่อยมีลักษณะที่เข้มข้นนัก ไม่มีอำนาจรัฐฝ่ายผูกขาดบังคับทางกายภาพและความรุนแรง เช่นไม่ได้มีอำนาจฝ่ายความมั่นคงมาจัดการลงโทษ หรือห้ามอะไรในกิจกรรมที่นอกเหนือจากการสาธารณสุขโดยตรง เช่นการห้ามกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางประการ ห้ามทางเศรษฐกิจ การห้ามออกจากบ้าน ห้ามเข้าจังหวัด ห้ามเข้าประเทศ

เรื่องใหญ่ก็คือ การห้ามกิจกรรมเช่นนี้ที่เกี่ยวโยงไปกับเรื่องของการใช้อำนาจเหนือภาวะปกติของระบบสาธารณสุขจะประสบความสำเร็จได้มากน้อยแค่ไหนภายใต้สองทางเลือก หนึ่งคือประชาชนยอมรับคำสั่งของรัฐโดยปราศจากข้อสงสัย แต่ก็แก้ปัญหาไม่ได้

สองคือประชาชนไม่ยอมรับคำสั่งของรัฐและฝ่าฝืนเพราะมันฝืนกับความเป็นจริง หรือคำสั่งของรัฐมันไม่สะท้อนความเป็นจริง (make no sense) ที่เกิดขึ้นต่อสังคม และยิ่งทำให้เกิดผลที่ไม่ได้ตั้งใจ (unintended consequence) เช่นไปไล่จับหน้ากากอนามัย หรือไปสั่งให้ขายในราคาหนึ่ง แต่เมื่อขายไม่ได้ในราคานั้น ก็กลายเป็นกิจกรรมใต้ดินที่เห็นกันทั่วไป แต่รัฐไม่เห็นเท่านั้น

นอกจากนั้น เรื่องที่เกิดปัญหาในสังคมมากกว่านี้ก็คือ รัฐอำนาจนิยมแบบเวชกรรม อาจส่งผลทำให้เกิดความแตกแยกในสังคมมากขึ้นได้ เพราะในการสร้างความสามัคคีนั้น บ่อยครั้งมันเกิดจากการสร้างความสามัคคีภายใต้ความแตกแยก ซึ่งนี่ก็คือเรื่องที่เป็นฐานหนึ่งของความเป็นเผด็จการอำนาจนิยม และการที่เผด็จการอำนาจนิยมอยู่ได้ก็คือ การผูกขาดข้อมูล ผูกขาดความจริง และผูกขาดความดี และมีผู้สนับสนุน เช่น การประณามว่า ใครไม่ร่วมมือไม่เชื่อฟังนั้นคือไม่รักชาติ การให้คุณค่ากับคนบางกลุ่มมากกว่าคนบางกลุ่ม การมองข้ามประเด็นปัญหาบางประการ หรือการมองไม่เห็นคนบางกลุ่ม

ที่สำคัญคือการประณามและข่มขู่คนที่เห็นต่างในเรื่องการบริหารสถานการณ์ว่าไม่สร้างสรรค์ ไม่รักชาติ มีเจตนาที่ไม่ดี

ในบางกรณี-บางสังคมนั้นสิ่งที่น่าหนักใจมากกว่านั้นก็คือ ความถนัดของฝ่ายความมั่นคง และฝ่ายสนับสนุนเผด็จการที่จะชื่นชอบเป็นพิเศษกับการก้าวเข้าสู่สถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งที่อาจมีกรอบกฎหมายเดิมที่มีอยู่ ไม่ว่าจะ พ.ร.บ.โรคระบาด หรือ พ.ร.บ.ภัยพิบัติ ซึ่งอาจจะปรับขยายหรือเพิ่มความร่วมมือลงไปได้ หรือปฏิบัติตามข้อแนะนำของรัฐโดยไม่จำเป็นต้องใช้บทลงโทษ โดยไม่จำเป็นต้องเข้าสู่สถานการณ์ที่ว่า “อย่าให้ผมต้องใช้อำนาจนะ ไม่งั้นจะเดือดร้อนกันมากกว่านี้” รวมทั้งความรู้สึกว่าการปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐโดยปราศจากเงื่อนไขและการตั้งคำถามนั้นเป็นศีลธรรมขั้นสูงที่สามารถใช้ประณามคนที่เห็นต่างได้อย่างเมามัน และยกระดับตนเองให้เหนือกว่าคนอื่นๆ

การใช้อำนาจพิเศษที่คุ้นเคยนั้นบางทีอาจไม่ได้เชื่อมโยงโดยตรงกับสถานการณ์โรคระบาดนัก เช่น การออกคำสั่งเคอร์ฟิวไม่กี่ชั่วโมงตอนกลางดึก ยังไม่ได้มีงานวิจัยที่ชัดเจนว่าเกี่ยวข้องโดยตรงกับการลดการติดต่อเท่ากับกิจกรรมอื่น เช่น การห้ามออกจากบ้าน หรือการเว้นระยะห่าง (ลองยกตัวอย่างอื่น อาทิ บางประเทศมีแม้กระทั่งตำรวจตรวจถังขยะว่าทิ้งถูกประเภทหรือเปล่า และมีผลตรงกับการลดปริมาณขยะและการบริหารจัดการบริหารจัดการ) แต่ที่กล่าวมานั้นเพื่อจะชี้ว่า กิจกรรมการบังคับ จับกุม ดำเนินคดี และมองเป็นผลงานของฝ่ายความมั่นคงไม่ควรเป็นเรื่องหลักกว่าเรื่องของการบริหารจัดการด้านสาธารณสุขที่หน้างาน (หมอ โรงพยาบาล ฯลฯ) หรือกิจกรรมการปฏิบัติตนภายในบ้านเรือนต่างๆ ที่มาจากความรู้สึกที่ว่าประชาชนนั้นมีความรู้ มีความสามารถในการดูแลตนเองได้ และได้รับการสนับสนุนและขอบคุณจากรัฐ มากกว่ากว่าเป็นการยอมรับคำสั่งจากรัฐในฐานะรัฐที่รู้ดีในทุกเรื่อง และเราต้องฟังรัฐทุกเรื่อง

มาสู่การเริ่มไล่เรียงประเด็นว่า อะไรคือ แนวทางปฏิบัติที่รัฐขอความร่วมมือ ในฐานะที่รัฐมีหน้าที่ต้องทำในฐานะที่มีพันธกิจกับประชาชน และการร่วมมือจากประชาชนนั้นสามารถทำได้ในหลายระดับ ทั้งในระดับปัจเจกบุคคล ครัวเรือน ชุมชน เมือง และภูมิภาค รวมทั้งการสร้างความโปร่งใสในการบริหารและการออกแบบสถาบันที่ร่วมกันตัดสินใจหรือให้ข้อเสนอกับรัฐ และในอีกด้านหนึ่ง รัฐ (ซึ่งในวันนี้มีทั้งรัฐบาล ระบบราชการ และคณะแพทย์) ก็จะต้องแสดงออกซึ่งความสามารถในการน้อมรับข้อเสนอจากทุกภาคส่วนและฝักฝ่าย รวมทั้งมีขันติธรรมในการยอมรับความหลากหลายและข้อวิพากษ์วิจารณ์ได้ด้วยครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image