กาฝากใหญ่ ในมาตรการแก้วิกฤตเศรษฐกิจ 1.9 ล้านล้านบาท : โดย สมหมาย ภาษี

กาฝากใหญ่ ในมาตรการแก้วิกฤตเศรษฐกิจ 1.9 ล้านล้านบาท : โดย สมหมาย ภาษี

กาฝากใหญ่ในมาตรการแก้วิกฤตเศรษฐกิจ1.9 ล้านล้านบาท

ในช่วง 25 ปีมานี้ประเทศไทยได้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรงถึง 2 ครั้งแล้ว แต่ละครั้งล้วนแต่ทำให้ประชาชนทั้งประเทศบอบช้ำขนาดหนัก ทั้งคนรวยและคนจนต้องทุกข์ระทมอย่างแสนสาหัส ประเทศชาติต้องรับภาระหนี้สินเกินตัวก้อนมหึมา ทำให้ลูกหลานต้องใช้หนี้ใช้สินกันไม่รู้จักหมดสิ้น

ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 เรียกขานกันทั่วโลกว่าเป็น “วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง” ที่จริงวิกฤตในครั้งนั้นได้ก่อตัวมาตั้งแต่ปี 2538 ซึ่งเกิดจากการบริหารเศรษฐกิจที่ผิดพลาดของรัฐบาลเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย 2-3 ชุด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งความผิดพลาดที่ไม่อาจไปโทษใครได้ของธนาคารแห่งประเทศไทย ครั้งนั้นประเทศชาติมีหนี้ที่ต้องชดใช้ ซึ่งรวมถึงหนี้ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF หนี้ของธนาคารโลก (IBRD) หนี้ของธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) หนี้ของกองทุนเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจโพ้นทะเล (OECF) แห่งประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น รวมหนี้สินทั้งหมดเป็นจำนวนเท่าใดจำไม่ได้ แต่หลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจแล้ว 2 ปี ได้มีการรวบรวมความเสียหาย ปรากฏว่าเป็นเงินร่วม 2 ล้านล้านบาท ซึ่งขณะนี้ยังใช้หนี้กันไม่หมด เหลือจำนวนหนี้ขณะนี้อีกประมาณ 800,000 ล้านบาท ที่มีระยะเวลาต้องชำระอีกประมาณ 15-20 ปี จึงจะหมดสิ้น

คนไทยที่ได้มีส่วนรู้เห็นและจำความได้ดี และบางท่านก็เคยมีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งที่รุนแรงจนส่งผลกระทบกระฉ่อนไปทั่วโลกในครั้งนั้น แล้วมามีบทบาทสำคัญในการบริหารประเทศในช่วงที่เกิด “วิกฤตเศรษฐกิจโควิด-19” ในขณะนี้ ซึ่งคนไทยทุกคนควรจะจดจำชื่อและหน้าตาไว้ให้ดี ได้แก่ ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรปัจจุบัน (ท่านชวน หลีกภัย) ในสมัยนั้นท่านเป็นผู้นำพรรคประชาธิปัตย์ โดยได้เกิดงูเห่าเป็นตัวเป็นตนจากพรรคประชากรไทย พรรคประชาธิปัตย์จึงได้เป็นรัฐบาลเข้ามาแก้วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งตั้งแต่ปลายปี 2540 หลังไอเอ็มเอฟ (IMF) เข้ามาควบคุมการบริหารเศรษฐกิจของประเทศไทยใหม่ๆ บุคคลสำคัญคนต่อมาคือ ท่านนายกรัฐมนตรีที่คุมรัฐบาลผสมประชาธิปไตยไม่เต็มใบ (ท่านพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) กับรองนายกรัฐมนตรีขณะนี้ทั้ง 4 ท่าน

Advertisement

บุคคลเหล่านี้ในขณะนี้ถือว่าเป็นนักการเมืองที่สำคัญ เป็นนักการเมืองที่มีส่วนร่วมอย่างชัดเจนในการสร้างหนี้สินประวัติศาสตร์แก่ประเทศในขณะนี้ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งหนี้สินก้อนมหึมานี้ลูกหลานจะต้องรับภาระชดใช้หนี้ไปอีกไม่น้อยกว่า 30 ปี

ดังนั้น หากการใช้เงินกู้ก้อนนี้ไม่มีประสิทธิภาพ ปล่อยให้มีการหาผลประโยชน์โดยนักการเมืองและข้าราชการได้มาก ก็จะเป็นตราบาปตลอดชีวิตของท่านผู้อาวุโสทั้งหลายไปจนวันตาย

ผู้ที่ต้องทำงานรับผิดชอบเต็มตัวในการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโควิด-19 ในครั้งนี้ อาจจะถามว่าทำไมผมเน้นพูดถึงแต่เรื่องหนี้สินของประเทศ ทำไมไม่กล่าวถึงความดีที่ท่านได้เข้ามาแก้ผลกระทบต่อประชาชนที่ต้องทุกข์ระทมกันทั้งประเทศ ถ้าท่านเหล่านี้ไม่รับแก้ไขแล้วใครจะรับ ซึ่งวลีนี้ท่านผู้นำของรัฐบาลนี้ท่านพูดเป็นประจำ ซึ่งผมเห็นว่าท่านคิดหรือพูดกันแบบนี้ได้ เพราะท่านอาจไม่มีเวลามาคิดว่าอะไรคือความชอบธรรมในการบริหารประเทศ

ขอให้สังเกตคำพูดของท่านในตอนนี้ให้ดี ท่านและลูกน้องของท่านมักจะอ้างอยู่ตลอดเวลาว่าประเทศอื่นเขาก็ทำแบบนี้ เขาก็ทุ่มทรัพยากรมหาศาลเพื่อนำมาแก้ปัญหาและกระตุ้นเศรษฐกิจกันทั้งนั้น และเขาก็ต้องกู้เงินมาทำเช่นกัน แล้วเราทำบ้างจะผิดตรงไหน คำตอบของการกล่าวอ้างเช่นนี้ไม่มีผิดแน่นอนถ้าท่านบริหารเงินเป็น ทำอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลให้เงินกู้ที่นำมาใช้จ่ายอย่างมากมายนี้ไปถึงมือประชาชนผู้ได้รับชะตากรรมเท่านั้น โดยไม่ปล่อยให้มีการโกงกินจากเงิน 1.9 ล้านล้านบาทนี้เกิดขึ้น

วันที่ 7 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นวันสำคัญที่ประเทศไทยโดยรัฐบาลผสมภายใต้ประชาธิปไตยครึ่งใบ ได้มีมติชัดเจนให้ใช้มาตรการด้านการเงินการคลังเต็มชุดมาทำการเยียวยาคนจนที่ว่างงาน หรือที่โดนกระทบจากการทำงานรวมทั้งผู้มีอาชีพอิสระ รวมไปถึงธุรกิจเอกชนทั้งใหญ่และเล็กซึ่งให้ความสำคัญที่ SME ตลอดทั้งสถาบันการเงิน ตลาดทุน ตลาดหุ้น และตลาดตราสารหนี้ อันเป็นกลไกสำคัญของระบบเศรษฐกิจนั้น ถือว่าได้มีมาตรการออกมาครอบคลุมหมด ภายในวงเงินที่ได้กำหนดไว้ 1.9 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 11.3% ของ GDP ปีที่แล้ว

ถ้าจะเทียบกับ GDP ปีนี้ที่ผมได้คำนวณตัวเลขและเขียนไว้ในบทความในมติชนเมื่อวันพุธที่ 8 เมษายน ในหัวข้อ “ความหายนะทางเศรษฐกิจจากโควิด-19” ว่าจะหดตัวต่ำกว่าปี 2562 ถึงประมาณ -18% ตัวเลข GDP ปี 2563 ที่จะเห็นน่าจะเท่ากับประมาณ 13.8 ล้านล้านบาทเท่านั้นเอง ดังนั้น มาตรการวงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท ที่รัฐบาลได้เคาะออกมาจะเท่ากับประมาณ 14% ของ GDP ถือว่าไม่น้อยเลย

อย่างไรก็ตาม หลังจากรัฐบาลได้มีมติเมื่อ 7 เมษายน อนุมัติมาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจยกแผงแล้ว ฟังจากข่าวต่างๆ รวมทั้งข่าวที่ผู้หลักผู้ใหญ่ที่บริหารประเทศได้ชี้แจง สรุปสาระได้ดังนี้

1.มาตรการด้านการคลัง ได้กำหนดออกมาชัดเจนว่า เงินที่จะนำมาใช้จะมาจากการตัดทอนจากงบประมาณปี 2563 นี้ส่วนหนึ่ง และส่วนใหญ่จะมีการออก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่เป็นเงินกู้ภายในประเทศก้อนใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยเงินกู้ก้อนใหญ่นี้จะนำไปแก้ผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากไวรัสโควิด-19 ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วนอย่างชัดเจน

ส่วนแรก 600,000 ล้านบาท รัฐบาลได้กำหนดให้ใช้เพื่อการเยียวยาประชาชนระดับล่าง 4-5 กลุ่ม เป็นหลัก ส่วนเกษตรกรก็จะดูแลเป็นรายครัวเรือน ซึ่งเข้าใจว่ารัฐมีข้อมูลค่อนข้างชัดเจน แต่อย่างไรก็ตาม งบเยียวยานี้เชื่อได้ว่าจะมีปัญหาคนจนที่ตกหล่นไม่ได้รับส่วนบุญนี้อีกจำนวนมาก จากข่าวที่พรั่งพรูออกมาในเรื่องแจกเงิน 5,000 บาทนี้ ทำให้เห็นได้ชัดว่าขั้นตอนในการที่ต้องให้ชาวบ้านกรอกข้อมูลผ่านแอพพ์ (Application) ของทางการนั้นมีมากมาย เช่น ต้องกรอกข้อมูลถึง 22 ข้อ เป็นต้น

พวกนักวิชาการในสำนักงานเศรษฐกิจการคลังที่ดูแลเรื่องแจกเงินนี้ ผมรู้ดีว่าส่วนใหญ่ไม่เคยพบกับความจน อาจจะมีที่จนบ้างแต่ก็ไร้เดียงสาเกินไป ไม่รู้ว่าแม่ค้าที่หาเช้ากินค่ำนั้นเขาใช้แอพพ์ในมือถือได้สักกี่คน ยิ่งคนมีอายุหน่อยก็บอดสนิทเลย เขาอยากได้เงินแต่ที่ทำได้ตอนนี้ก็ได้แค่เต้นและร้องปาวๆ เหมือนโดนน้ำร้อนลวกตัว

ส่วนผู้มีอำนาจในมือก็เอาแต่ขู่ประชาชนจนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าในรอบปีที่ผ่านมาได้แค่ขู่มากกว่าครึ่งปีแล้ว น่าสงสารมากที่มีทั้งอำนาจ มีความคิดที่จะหาเงินก้อนใหญ่มาช่วยประชาชน แต่การที่ไม่ได้ผ่านการเลือกตั้งมาเลยนั้น ทำอะไรให้ถูกใจคนจนบ้าง หาดูแทบไม่ได้เลย

ส่วนที่สอง จำนวน 400,000 ล้านบาท งบส่วนนี้น่าสนใจมาก ขอให้ท่านผู้อ่านดูความเคลื่อนไหวอย่ากะพริบตา ทั้งนี้ รัฐบาลได้กำหนดให้ใช้เงินไปในการดูแลสนับสนุนเศรษฐกิจในต่างจังหวัด สร้างความเข้มแข็งในชุมชน สนับสนุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระดับพื้นที่ ขณะนี้เป็นแต่กรอบวงเงินที่กำหนดไว้กว้างๆ แต่ละกระทรวงต้องเสนอโครงการเข้ามาให้คณะกรรมการกลั่นกรองชื่ออะไรยังไม่ทราบเป็นผู้พิจารณา ทราบแต่ว่าคณะกรรมการชุดนี้มีปลัดกระทรวงการคลังที่จะเกษียณอายุในอีก 5 เดือนข้างหน้าเป็นประธาน ซึ่งผู้ที่คุ้นเคยกันหลายท่านคิดว่าท่านจะทำงานโชว์ฝีมือทิ้งทวนให้เห็นในเที่ยวนี้ เมื่อคณะกรรมการชุดนี้พิจารณาแล้วก็ต้องนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติจึงจะได้เงิน

ฟังดูดีไหมครับ ฟังครั้งแรกรู้ได้ทันทีว่าจะจัดสรรให้ทั่วทุกกระทรวงและจะปฏิบัติตามขั้นตอนราชการทั่วไป สิ่งที่คนทั่วไปไม่รู้ก็คือว่า ไม่รู้ว่าจะนำเงินไปทำอะไรที่ไหน เมื่อไหร่จะได้ใช้ ฟังน้ำเสียงของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่ให้สัมภาษณ์หลังจาก ครม.ได้มีมติเห็นชอบในเรื่องนี้จับความได้ว่า จะพยายามเน้นใช้เงินโดยเร็วในเรื่องการจ้างงาน ในเรื่องการอบรมเพิ่มทักษะให้กับข้าราชการและประชาชนในระดับพื้นที่ในต่างจังหวัดทั่วทุกภาค บลา บลา บลา

เมื่อฟังๆ ดูทั้งหมดก็สรุปได้ว่า วิธีการพิจารณานำเงินไปใช้ต้องเริ่มจากรูปแบบ ก.เอ๋ย ก.ไก่ เหมือนวิธีปฏิบัติงานในเรื่องใช้เงินงบประมาณที่มีมาแต่ไหนแต่ไรแล้วนั้นเอง มันก็จะเกิดความล่าช้า ซ้ำซ้อน อืดอาด อะไรต่อมิอะไรตามมาอีกมากมาย เมื่อชักช้ามันก็จะซ้ำซ้อนกับงบประมาณประจำปี 2564 ที่กำลังจัดทำให้ใช้ได้ในเดือนตุลาคม 2563 นี้ ดังนั้น เมื่อมีการจัดงบ 400,000 ล้านบาทนี้ควบเข้ามาด้วย รับรองว่าจะทำให้เกิดความสับสนอลหม่าน (Turmoil) ในหน่วยงาน
ผู้ปฏิบัติ คิดได้อย่างไรไม่ทราบ

สิ่งที่สังคมทั่วไป รวมทั้งองค์กรปราบคอร์รัปชั่นตั้งคำถามขึ้นมาแล้วคือ โครงการที่มาจาก พ.ร.ก.ที่จะใช้เงินให้รวดเร็วนี้ จะจัดการและควบคุมดูแลให้เกิดความโปร่งใส (Transparency) และความรับผิดชอบ (Accountability) ได้อย่างไร ซึ่งก็คือความเป็นห่วง หรือการติงไว้ล่วงหน้านั่นเอง

คนอื่นจะฟังได้เรื่องอย่างไรผมไม่อยากจะเดา แต่สำหรับผมนั้นได้เห็นความไม่ได้เรื่องได้ราวตั้งแต่ตอนเริ่มต้นแล้วครับ เมื่อพิจารณาจากการให้สัมภาษณ์ของท่านรัฐมนตรีคลังให้ถ่องแท้อีกครั้ง ผมก็ถึงบางอ้อทันทีว่า การกำหนดการใช้เงินจำนวนถึง 400,000 ล้านบาท ที่จะออกมาใน พ.ร.ก.นี้มันช่างเหมือน “โครงการเงินผัน” สมัยพรรคกิจสังคมที่ท่าน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี เสียเหลือเกิน ความจริงเป็นเรื่องประมาณ 45 ปีมาแล้ว ก็จะขอเล่าให้ฟังว่าโครงการเงินผันนี้นอกจากได้การจ้างงาน ได้เพิ่มการบริโภคและเพิ่มสภาพคล่องทางเศรษฐกิจในสมัยนั้นแล้ว ยังทำให้พรรคกิจสังคมซึ่งเป็นพรรคเล็กสามารถดำรงเป็นพรรคนำรัฐบาลในการบริหารประเทศไปได้สักพักใหญ่ ทั้งนี้ ใครๆ ก็คงรู้กันดีว่า นักการเมืองของไทยนั้นส่วนใหญ่จะยอมกันได้หากท้องไส้ไม่ว่าง

ในช่วงหนึ่งสัปดาห์ที่มติ ครม.ออกมานั้น ตอนนี้จะเห็นความคึกคักกระดี๊กระด๊าของเสนาบดีและ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลอย่างเงียบๆ แล้ว มองดีๆ จะเห็นแรงกระเพื่อมปุดๆ ทางการเมืองของกลุ่มพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหลายเริ่มขึ้นแล้ว แรงกระเพื่อมนี้อาจมาจากความระแวงว่าพรรคใหญ่คือ พปชร. จะเป็นพระเอกกินกลางตลอดตัวแต่ผู้เดียว และอาจเกิดจากความคิดที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการแบ่งเค้กของพรรคร่วมทั้งหลาย เพื่อจะได้ลิ้มลองให้มากที่สุด และเมื่อมีแรงกระเพื่อมแต่ท่าทางจะไม่ได้ดังใจก็ต้องมีความพยายามที่จะเอาให้ได้ตามสามัญสำนึกของนักการเมืองไทย

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคนต่างก็รู้ว่า การออกเป็น พ.ร.ก.หรือพระราชกำหนดนี้ ตามรัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ชัดเจนว่าต้องมีการนำเสนอให้รัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบภายในเร็ววัน นับจากวันที่ พ.ร.ก.มีผลบังคับใช้ ซึ่งตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ในมาตรา 172 หาก พ.ร.ก.ไม่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรเมื่อใด โดยนัยคณะรัฐมนตรีต้องออกทั้งชุด หรือไม่ก็ต้องยุบสภา วุฒิสภาจะช่วยอะไรไม่ได้นะครับ ทั้งนี้ เป็นไปตามประเพณีการปฏิบัติของรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งทุกสมัย นับตั้งแต่สมัยที่ท่านควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ดังนั้น การยกมือในสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้ความเห็นชอบ พ.ร.ก.2-3 ฉบับที่เกี่ยวกับการเงินที่เพิ่งออกมานี้ จะมีค่าเหลือหลายทีเดียวสำหรับท่าน ส.ส.ทั้งหลาย

ตามที่ได้เจาะส่วนลึกของผู้วางแผนกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ว่าจะใช้เงินกันอย่างไรแล้ว ท่านผู้อ่านจะคิดอย่างไรสุดแท้แต่ สำหรับผมมองเห็นเค้าลางที่ชัดเจนว่าผู้ขบคิดการใช้เงินกู้ส่วนที่สองจำนวน 400,000 ล้านบาทนี้ คงคิดเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสอย่างเจิดจ้าทางการเมืองอย่างแน่นอน ไม่ทราบว่าได้ไปศึกษากลยุทธ์ “โครงการเงินผัน” แต่ใดมา จึงวางกรอบจัดเงินกู้ส่วนที่สองนี้ให้เป็นเนื้ออันโอชะทางการเมือง เพื่อที่จะได้อยู่กันต่อไปอีกนานๆ

ใคร่ขอถือโอกาสนี้เสนอแนะให้ยกเลิกส่วนที่สองนี้ไปเถอะ วงเงินกู้ตาม พ.ร.ก.ขอให้เหลือแค่ส่วนแรกก็พอ การจะเน้นการจ้างงานทั่วประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี ขอให้คิดใหม่ โครงการที่ดีต้องใช้เวลาคิดและวิเคราะห์ให้รอบคอบอย่างน้อย 2-3 เดือน คิดมาเถอะ แต่เมื่อได้โครงการดีๆ มาแล้วก็ควรนำไปเพิ่มเติมในงบประมาณประจำปี 2564 ซึ่งตอนนี้อยู่ในกระบวนการจัดทำอยู่ โดยจะเพิ่มวงเงินงบรายจ่ายจาก 3.3 ล้านล้านบาท เป็น 3.5 ล้านล้านบาท ก็ยังได้ และจะสามารถใช้งบได้ทันทีตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 เพราะยังไงเสียก็จำเป็นที่จะต้องกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลในงบประมาณปี 2564 ไม่ต่ำกว่า 500,000 ล้านบาทอยู่แล้ว

2.มาตรการด้านการเงิน มาตรการนี้มีธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้คิดและนำออกมาให้รัฐบาลพิจารณาออกเป็นพระราชกำหนดเพื่อให้อำนาจดำเนินการ ข้อเสนอมี 2 เรื่อง ดังนี้

ประการแรก ออก พ.ร.ก.ให้อำนาจ ธปท.ออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) วงเงิน 500,000 ล้านบาท ให้แก่ ธนาคารพาณิชย์ หรือสถาบันการเงินเฉพาะกิจในอัตราร้อยละ 2 ต่อปี เพื่อให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อใหม่ให้แก่ SME เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง มาตรการนี้ดีมาก แต่คิดว่าวงเงินอาจจะน้อยไป น่าจะเพิ่มอีกสัก 50% จึงจะเสริมความต้องการของ SME ได้ทั่วถึง

ประการที่สอง ออก พ.ร.ก.ให้ ธปท.จัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่อง เพื่อลดความเสี่ยงของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate Bond Liquidity Stabilization Fund-BSF) โดยให้ ธปท.สามารถซื้อขายหน่วยลงทุนในกองทุนดังกล่าว เพื่อสนับสนุนให้มีการระดมทุนในการออกตราสารหนี้ในตลาดแรกเป็นไปตามปกติ โดยกองทุนจะเข้าไปซื้อตราสารหนี้ของหุ้นกู้เอกชนที่มีอันดับเครดิตที่มีคุณภาพอยู่ในระดับลงทุนได้ (Investment Grade)

ในปีนี้หุ้นกู้ภาคเอกชนระยะยาวในตลาดตราสารหนี้มีมูลค่าคงค้าง ณ 30 มีนาคม 2563 จำนวน 3.71 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 22% ของ GDP และในจำนวนนี้มีหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนจากนี้ถึง 30 ธันวาคม 2563 เป็นจำนวนถึง 486,000 ล้านบาท โดยมีอันดับเครดิตตั้งแต่ AAA ลงไปจนถึง BB และบางส่วนไม่มีอันดับเครดิต ซึ่งประเภทจาก BB ลงมาถือเป็นประเภทต่ำกว่าระดับที่จะลงทุนได้ ซึ่งจะครบกำหนดไถ่ถอนจำนวนประมาณ 34,500 ล้านบาท หรือ 7% ของหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนทั้งหมดเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม การที่มีการเกรงว่าภาวะวิกฤตครั้งนี้จะทำให้เอกชนผู้ออกหุ้นกู้บางรายไม่สามารถหาเงินไปไถ่ถอนหุ้นกู้ของตนได้นั้น เพราะปีนี้ธุรกิจทั้งเล็กและใหญ่ได้รับผลกระทบหมด และเกิดขึ้นทั่วโลก ดังนั้น การที่ ธปท.จะจัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องเข้าไปช่วยซื้อหุ้นกู้ภาคเอกชนเช่นนี้ จะเป็นการช่วยทั้งการเสริมสภาพคล่องและการรักษาตลาดตราสารหนี้ของไทยที่มีทั้งตราสารหนี้ของกระทรวงการคลัง ของ ธปท. และของธุรกิจเอกชน ซึ่งมีมูลค่าตลาดถึงประมาณ 80% ของ GDP หรือมีมูลค่า 13.70 ล้านล้านบาท ที่ขยายตัวมาได้อย่างต่อเนื่อง สามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืน

เรื่องที่ ธปท.ตัดสินใจเข้ามาเล่นบทบาทนี้เป็นที่ถกเถียงกันมากในหมู่กูรูการเงินและการคลังของไทย ฝ่ายไม่เห็นด้วยบอกว่าผิดหลักการที่ ธปท.ซึ่งเป็นธนาคารกลางจะเข้ามาเล่นเอง บางท่านได้เสนอว่า ถ้าจะเข้าไปช่วยแบบนี้ควรให้แบงก์ของรัฐอื่น เช่น ธนาคารออมสิน เป็นผู้เข้าไปเล่น ส่วนฝ่ายที่เห็นด้วยกล่าวว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะตลาดหุ้นกู้ของเอกชนของไทยขณะนี้ใหญ่มาก และสถานการณ์ที่กระทบกับด้านเศรษฐกิจและการเงินครั้งนี้ใหญ่และรุนแรงมาก สมควรที่ ธปท.จะเข้าไปดับไฟแต่ต้นลม ซึ่งวิธีการแบบนี้ในต่างประเทศ ไม่ว่าสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น หรือประเทศในยุโรปต่างก็ทำกันมามากแล้ว

ผมนั่งฟังข้อโต้แย้งของผู้รู้ระดับประเทศมา 2-3 วันแล้ว เห็นว่า ถ้าท่านได้รู้วิธีปฏิบัติในเรื่องการออกหุ้นกู้ของธุรกิจเอกชนเพื่อหาเงินมาไถ่ถอนหุ้นกู้ของบริษัทนั้น ถ้าเป็นหุ้นกู้ที่อยู่ในตลาดตราสารหนี้ เขาจะมีวิธีปฏิบัติที่ได้มาตรฐานสากลดีมาก

ก่อนจะออกหุ้นกู้ใหม่ ทุกรายต้องไปหาบริษัทหลักทรัพย์ หรือธนาคารพาณิชย์ ที่จะสามารถเป็นผู้จัดการจัดจำหน่าย (Underwriter) ที่มีใบอนุญาตให้ทำได้มารับทำ โดยจะต้องไปพูดคุยในรายละเอียดทุกอย่าง (Terms and Conditions) ของหุ้นกู้ที่บริษัทนั้นๆ จะออก เมื่อชัดเจน ผู้ที่เป็น Underwriter ก็จะทำการสำรวจหาราคา (Book Building) เพื่อให้ได้อัตราคูปอง (Coupon Rate) ซึ่งมีวิธีการที่ละเอียดและชัดเจน ได้อัตราคูปอง ซึ่งจะเป็นอัตราผลตอบแทนของหุ้นกู้แล้ว ขั้นตอนต่อไปก็มีการทดสอบขยับอัตราคูปองขึ้นลง เพื่อดูว่าจะมีนักลงทุนจะเข้ามาเสนอซื้อแค่ไหน

ส่วนการเข้ามาของ ธปท.ที่จะใช้กองทุนเสริมสภาพคล่องมาซื้อนั้นก็ต่อเมื่อผ่านขั้นตอนของ Book Building แล้ว รายใดไม่มีผู้เสนอซื้อมากพอตามวงเงินของหุ้นกู้ก็จะไปขอให้ ธปท.มาช่วยซื้อ การพิจารณาของ ธปท.ว่าจะซื้อรายใด แค่ไหน เท่าไหร่นั้น เข้าใจว่า ธปท.จะต้องตั้งคณะทำงานที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญมาดูอย่างรอบคอบ และที่สำคัญทราบว่า ธปท.ได้วางกฎเกณฑ์ปิดความเสี่ยงไว้แล้ว โดยจะเข้าไปซื้อเสริมสภาพคล่องเฉพาะรายที่สามารถหาผู้ลงทุนมาซื้อได้ไม่น้อยกว่าครึ่งของความต้องการแล้ว

ความเห็นของผมเมื่อดูตามท้องเรื่องแล้ว เชื่อได้ว่ามาตรการการเข้ามาช่วยซื้อหุ้นกู้เอกชนที่มีทีท่าว่าจะมีปัญหาในระดับชาติเกี่ยวกับตลาดตราสารหนี้ขึ้นมาในครั้งนี้ เป็นการกระทำที่เหมาะสมและชอบธรรมของธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว

นอกจากนี้ทาง ธปท.ยังมีมาตรการที่จะลดอัตราการเก็บเงินจากธนาคารพาณิชย์ในอัตรา 0.46% ของยอดเงินฝาก เพื่อวัตถุประสงค์ในการประกันเงินฝากโดยรวม ลงครึ่งหนึ่งเหลือในอัตรา 0.23% ในปี 2563 และ 2564 เรื่องนี้เข้าใจว่าอยู่ในอำนาจของ ธปท.เอง ก็จะมีส่วนช่วยลดภาระด้านต้นทุนและการเงินของธนาคารพาณิชย์ลงโดยตรง น่าจะมีส่วนในการลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่ให้กู้แก่ประชาชนและธุรกิจได้บ้าง

กล่าวมาเสียยืดยาวเพราะมาตรการที่รัฐบาลได้คิดนำเสนอเพื่อแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจจากโควิด-19 ครั้งนี้ จะใช้เงินถึง 1.9 ล้านล้านบาท ก็จำเป็นต้องมองกันให้ลึกซึ้งในทุกด้าน และเมื่อเทียบเคียงกับประเทศอื่นๆ แล้ว แต่ละประเทศต่างก็ต้องทุ่มทรัพยากรมากมายด้วยกันทั้งนั้น น่าจะอ้างอิงกันไปได้

แต่สำหรับของประเทศไทย ที่น่าเกลียดมีอยู่อย่างเดียว คือมีการตั้งงบกาฝากเพื่อความยั่งยืนทางการเมืองแถมมาอีกด้วย ตั้ง 400,000 ล้านบาทเชียวละ

ติดตามบทความ สมหมาย ภาษี ที่เฟซบุ๊ก
Sommai Phasee — สมหมาย ภาษี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image