สัญญะการเมือง ปฏิกิริยา‘เราไม่ทิ้งกัน’ แนวโน้มการเมือง

สัญญะการเมือง ปฏิกิริยา‘เราไม่ทิ้งกัน’ แนวโน้มการเมือง

สัญญะการเมือง ปฏิกิริยา‘เราไม่ทิ้งกัน’ แนวโน้มการเมือง

สัญญาณอันมาจาก “ปฏิกิริยา” ต่อโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” เตือนได้เป็นอย่างดีว่า แนวโน้มหลังสถานการณ์ แพร่ระบาดของไวรัสจะเป็นอย่างไร

ไม่ว่าในเรื่อง “เอสเอ็มอี” ไม่ว่าในเรื่อง “ตราสาร”

คล้ายกับว่า ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นจะเริ่มต้นจากการไม่ได้รับอานิสงส์แจกเงิน 5,000 บาทต่อเดือน เป็นมูลฐาน

Advertisement

อาจเป็นเช่นนั้น

แต่ถ้าหากล้างหูน้อมรับฟังอย่างมีโยนิโสมนสิการก็จะค่อยๆ ประจักษ์ว่า มาจากการวางระบบ ไม่รัดกุมและรอบด้านอย่างเพียงพอต่างหาก

เมื่อเล่นกับคนจำนวนกว่า 20 ล้านคนย่อมละเอียดอ่อน

Advertisement

จึงเริ่มมีคนออกมาประชด ประเทียด เสียดสี ว่าหากใช้แนวทางของ บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ ก็อาจจะไม่เกิดปฏิกิริยาอย่างที่เห็นและเป็นอยู่

ปฏิกิริยา “เราจะไม่ทิ้งกัน” จึงเท่ากับเป็น “สัญญาณ”

มีความเป็นไปได้ว่า หากไม่มีการระงับยับยั้งปริมาณการยื่นขอเข้าโครงการ “เราจะไม่ทิ้งกัน” จะไม่หยุดอยู่ที่จำนวนกว่า 20 ล้านคน

หากแต่น่าจะแตะไปยังหลักกว่า 40 ล้านคน

ปริมาณการแสดงออกเช่นนี้โดยพื้นฐานแล้วก็คือ การยืนยันความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นในลักษณะอันสามารถสรุปได้อย่างเด่นชัด

อย่างที่สำนวนไทยว่า “ทุกหย่อมย่าน”

ไม่ว่าจะเป็นคนที่อยู่ในเครือข่ายแห่งระบบประกันสังคม ไม่ว่าจะเป็นคนที่อยู่ “นอก” เครือข่ายระบบประกันสังคม

แม้ 5,000 บาทจะไม่มาก แต่เมื่อได้ก็ยังเป็นเรื่องดี

ปฏิกิริยาที่ปรากฏจึงไม่เพียงแต่จะมีต่อกรอบและกติกาที่กำหนดไม่สามารถครอบคลุมอย่างทั่วถึง หากที่สำคัญคือ เป็นการวิพากษ์ไปยัง “มาตรการ” ของรัฐบาล

“มาตรการ” นั่นเองจะเป็น “บรรทัดฐาน” ต่อไป

พลันที่สถานการณ์ไวรัสผ่อนคลาย พลันที่ทุกองคาพยพเข้าไปอยู่ในระบบปกติของการบริหารจัดการ นั่นหมายถึง การตรวจสอบจะตามมา

เป็นการตรวจสอบจาก “กลไก” เป็นการตรวจสอบจาก “สังคม”

กลไกสำคัญที่สุดย่อมเป็นกลไกแห่งระบบ “รัฐสภา” ที่บรรดา “ผู้แทนราษฎร” จะต้องแสดงบทบาท และความหมายของตน

ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะเป็นพรรคก้าวไกล

แม้กระทั่งภายในรัฐบาลเอง พรรคพลังประชารัฐอาจจะเล่นบทผู้พิทักษ์ “นาย” แต่ไม่แน่ว่าจะมีปฏิกิริยาจากบางพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่

ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าพรรคภูมิใจไทย

เพราะว่าเมื่อย่างเข้าสู่เดือนพฤษภาคม วาระแห่งการเปิดประชุมสภาสมัยสามัญก็มาถึงตามกำหนด ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

นั่นแหละคือ ตารางที่ “ขีด” ไว้แล้ว

เป็นไปได้หรือไม่ ที่จะยืดเวลาของ พ.ร.บ.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอีกเหมือนที่เป็นอยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

นี่เป็นคำถามอันแหลมคมยิ่ง

ปัจจัยสำคัญต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์และความเป็นจริงแห่งการแพร่ระบาดของไวรัสว่าจะเป็นอย่างไร

นั่นก็ขึ้นอยู่กับ “ผลงาน” จากสถานการณ์ “ฉุกเฉิน”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image