ที่เห็นและเป็นไป วันอาทิตย์ที่ 19 เมษายน 2563 : ‘อนาคตคุณ’ในมือใคร

ที่เห็นและเป็นไป วันอาทิตย์ที่ 19 เมษายน 2563 : ‘อนาคตคุณ’ในมือใคร

ที่เห็นและเป็นไป วันอาทิตย์ที่ 19 เมษายน 2563 : ‘อนาคตคุณ’ในมือใคร

เหมือนว่าสถานการณ์ระบาดของโรค “โควิด-19” สำหรับประเทศไทยเราจะดีขึ้นเรื่อยๆ ยอดผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้นในจำนวนที่ลดลง ขณะจำนวนผู้รักษาหายเพิ่มมากขึ้น และอัตราเพิ่มการเสียชีวิตคงที่

นั่นหมายถึงความกังวลว่าจะระบาดจนระบบสาธารณสุขของไทยเรารองรับไม่ไหวเริ่มคลายลง เมื่อเพิ่มน้อย หายมาก ความกดดันว่าเตียงในโรงพยาบาลและอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็นจะไม่เพียงพอก็หมดไป

คุณหมอ คุณพยาบาล ซึ่งเป็น “นักรบแนวหน้า” น่าจะเบาใจขึ้น

Advertisement

แม้ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์ฯ จะยังยืนยันไม่เต็มปากเต็มคำนักกับแนวโน้มที่ดีขึ้น ยังมีน้ำเสียงที่หวั่นว่าจะเกิดการประมาทจนไวรัสตัวนี้แผลงฤทธิ์รุนแรงขึ้นมาอีกแต่ท่าทีของการแถลงก็ดูผ่อนคลายมากขึ้น

สรุปได้ว่าสถานการณ์การป้องกันการระบาดเป็นไปในทางดีขึ้น จนมีเวลาที่จะหันมามองผลในด้านอื่นกันบ้างแล้ว

ที่สาหัสอย่างยิ่งตอนนี้คือความเดือดร้อนของประชาชนจากการขาดรายได้

เพราะวิถีชีวิตคนไทยเราส่วนใหญ่หาเช้ากินค่ำ โดยเฉพาะคนเมือง

ไม่ใช่แค่หารายได้ให้พอใช้จ่ายในแต่ละวัน แต่ยังหมายถึงหนี้สินซึ่งคือที่จ่ายไปล่วงหน้า แล้วต้องหามาใช้ในวันนี้และอนาคต

การขาดรายได้เพราะทำมาหากินไม่ได้ จึงเป็นทุกข์ท่วมหัว

หากใครติดตามการรวมตัวไปเรียกร้องเงินช่วยเหลือที่กระทรวงการคลังวันก่อน จะสัมผัสถึงความทุกข์ และความสิ้นหวัง ซึ่งแต่ละคนแสดงออกมาในน้ำตาที่ต้องสูญเสียเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมจากเงินเยียวยาที่รัฐบาลให้ความหวังว่าจะให้ แต่ให้ไม่ทั่วถึง

นี่เป็นแค่เริ่มต้น

ที่จะเกิดขึ้นจริงในชีวิตจะค่อยๆ ปรากฏ

เหมือนที่บอกกันว่า “ชีวิตต่อไปนี้จะไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว”

ซึ่งหมายถึงว่า แม้จะประกาศให้ประชาชนทุกคนกลับมาใช้ “ชีวิตปกติ” ได้ แต่จะเป็น “ปกติของชีวิตที่แตกต่างไปจากเดิม”

ประเทศที่มีรายได้หลักจากการท่องเที่ยวและการส่งออก

ประชาชนที่ทอดทิ้งอาชีพการเกษตรมาเล่าเรียนแล้วทำอาชีพอุตสาหกรรม หรืองานบริการมายาวนานจนเหลือความสามารถในการกลับไปสู่อาชีพเกษตรกรอยู่น้อยนิด หรือว่าไปแทบไม่เหลือเลยทั้งทรัพยากรที่ขายจำหน่ายไป และความรู้ความสามารถที่ห่างหรือไม่เคยเรียนรู้และฝึกฝน

โลกที่แต่ละประเทศหยุดที่จะเป็นตลาดรับสินค้าจากประเทศอื่นเพราะต่างคนต่างต้องมุ่งที่จะซื้อจากที่ประเทศตัวเองผลิต และการเดินทางท่องเที่ยวเป็นเรื่องเกินกำลังของผู้คนที่ยังขาดแคลนแม้กระทั่งปัจจัย 4

ความเหลื่อมล้ำอาจจะทำให้มีคนจำพวกหนึ่งที่ยังเหลือเฟือพอที่จะใช้ชีวิตได้เหมือนเดิม หรือฟุ่มเฟือยได้มากกว่าเดิม เพราะคนทุกข์ต้องดิ้นรนขาย ดิ้นรนบริหารทุกอย่างในราคาถูกกว่าเดิม

แต่จะเป็นความฟุ่มเฟือยไม่รู้สึกปลอดภัยในชีวิตเท่าไรนัก

“โควิด-19” จะทำให้วิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไปในทุกมิติ ตั้งแต่กิจกรรมทางวัฒนธรรม จนถึงเยื่อใยความสัมพันธ์ที่จะมีต่อกัน

ตอนนี้ยังอาจจะเห็นไม่ชัดนัก แต่ความเปลี่ยนแปลงจะแจ่มแจ้งมากขึ้น

การอยู่ร่วมกันของมนุษย์ในสังคม ในประเทศ ในโลก จะไม่ใช่ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปเหมือนที่เคยเป็นมา แต่จะเปลี่ยนปุ๊บปั๊บจนตั้งตัวให้ทันได้ลำบาก หรือไม่ได้เลย

การบริหารจัดการสังคม ประเทศ ที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วเช่นนี้จะต้องอาศัยผู้บริหารที่มีความรู้ความสามารถ เฉพาะอย่างยิ่งต้องมี “ความฉลาด” สูงมาก

คำถามที่ทุกคนต้องช่วยกันตอบคือ “ประเทศเรามีผู้บริหารแบบนั้นอยู่หรือไม่”

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image