‘ชวนคิดโลกหลังโควิด-19’ โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย

เมื่อได้ติดตามข่าวสารและข้อคิดของหลายๆ ท่านในโลกอย่างต่อเนื่อง ผมรู้สึกว่าผู้สันทัด กรณีทั้งหลายอาจเห็นต่างกันว่าโลกหลังโควิดจะหน้าตาเป็นอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นตรงกัน คือจะมีความเปลี่ยนแปลงอย่างมากจากโลกก่อนโควิด

ผมนั่งคิดวิเคราะห์ในช่วง Work from Home

ต่อมาอีกระยะ แล้วจึงชวนท่านคิดต่อถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น เพิ่มเติมจากบทความก่อนหน้านี้ครับ (ดูหลังโควิด 19 : โลกจะเปลี่ยนแปลงไปทางไหน 4 เมษายน 2563 https://www.matichon.co.th/article/news_2123365

1)ด้านการต่างประเทศ:

Advertisement

1.1 ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องการแก้ปัญหาโควิด-19 จะถูกผลักห่างออกไป

เพราะต่างคนต่างมองว่าปัญหาไม่เหมือนกัน และจะดูแลคนของตนก่อนจะยื่นมือช่วยเหลือคนอื่น ไม่ว่าเป็นประเทศมั่งมีหรือยากจน จนเกิดการแย่งหน้ากากอนามัย การแย่งชิงเวชภัณฑ์ในสนามบินหลายแห่งในโลก กรณีประเทศตะวันตกมีการห้ามจำหน่ายเวชภัณฑ์สำคัญเพราะจะต้องดูแลผู้ป่วยในประเทศก่อนก็เกิดขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ

1.2 สถาบันพหุภาคี (Multilateral Institutions) มีความอ่อนแอ และไม่มีความพร้อมในการรับมือกับโรคระบาดระดับโลกและผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ตามมาในทุกประเทศทั้งรวยและจน องค์กรระหว่างประเทศเหล่านี้ไม่สามารถช่วยกระชับความร่วมมือช่วยเหลือกันของสังคมระหว่างประเทศ

Advertisement

ในด้านสาธารณสุข หรือทางด้านเศรษฐกิจได้ดีพอ เมื่อเทียบกับวิกฤติอื่นๆ ที่ผ่านมาในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นองค์การอนามัยโลก (WHO), องค์การอาหารและการเกษตร (FAO) องค์การการค้าโลก (WTO), ธนาคารโลก (World Bank), กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) รวมไปถึงองค์กรแม่คือสหประชาชาติ (UN) เองด้วย

สิ่งที่องค์กรเหล่านี้ทำคือให้ข้อมูล แจ้งเตือน ขอความร่วมมือ ให้กำลังใจ ซึ่งไม่เพียงพอต่อการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศที่เป็นรูปธรรมในยามวิกฤตโรคระบาด ที่ทุกประเทศต่างเอาตัวรอดกันก่อน

1.3) องค์กรระดับภูมิภาค ดูจะเป็นความหวังของผู้คนได้บ้าง อาเซียนเพิ่งประชุมสุดยอดระดับผู้นำและผู้นำอาเซียน+3 (จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น) ผ่านระบบประชุมทางไกล (Video Conference) ไปเมื่อ14 เมษายนนี้ โดยมีความพยายามในการตั้งกองทุนขึ้นมาช่วยกันในเรื่องโควิด การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ ข้อมูล (Big Data) การหารือเชิงนโยบายการส่งเสริมพาณิชย์ อิเล็กทรอนิกและมาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจหลังโควิด ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ผู้นำอาเซียนได้หารือตกลงกัน เพื่อกำหนดทิศทางความร่วมมือในภูมิภาค

มองไปภูมิภาคอื่น เช่น องค์กรความร่วมมือของเอเชียใต้ (SAARC) มีการประชุมไปเมื่อ 15 มี.ค. เพื่อตั้งกองทุนฉุกเฉินในการรับมือกับโรคระบาด สหภาพแอฟริกัน (African Union) ก็มีประชุมระดับรัฐมนตรีไปเมื่อ 22 กุมภาพันธ์และประชุมร่วมกับ FAO วันที่ 16 เมษายนนี้

องค์กรรัฐอเมริกัน (OAS) ในทวีปอเมริกาก็มีการประชุมระดับสูงเมื่อ 3 เมษายน เพื่อเพิ่มความร่วมมือในการรับมือกับโควิด

ต้นแบบความร่วมมือระดับภูมิภาคเช่นสหภาพยุโรป แม้ยังไม่เห็นความสามารถในการกระชับความร่วมมือในยามยากในมาตรการสาธารณสุขอย่าง

เข้มข้นและเพียงพอ แต่ทางด้านเศรษฐกิจธนาคารกลางของอียู (ECB) ก็มีมาตรการทางการเงินออกมาช่วยด้านสภาพคล่อง และอียูมีการกำหนดวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ (QE) แม้จะถูกมองว่ายังห่างไกลความเพียงพอที่จะประคองเศรษฐกิจขาลงทั้งในช่วงระบาดและหลังการระบาดได้ก็ตาม

ความร่วมมือระดับภูมิภาคต่างๆ นี้ แม้อาจถูกมองว่ายังเน้นการพูดมากกว่าทำ ยังขาดความรวดเร็วทันสถานการณ์ และยังขาดความเพียงพอที่จะรองรับวิกฤตครั้งนี้ และหลายองค์กรก็มีสมาชิกที่สะบักสะบอมจากโรคระบาดและวิกฤตเศรษฐกิจ จะร่วมมือกันได้แค่ไหน เพียงใด แต่อย่างน้อยก็ดูจะมีความหวังในด้านการต่างประเทศ มากกว่าองค์กรระดับโลก

ความเคลื่อนไหวในระดับภูมิภาคนี้ แสดงให้เห็นถึงความพยายามขององค์กรระดับภูมิภาคที่จะรับมือปัญหาโรคระบาดและเศรษฐกิจขาลง แม้อาจจะช้าไป และอาจยังไม่เพียงพอ…

แต่แนวโน้มนี้ชี้ถึงอนาคตของโลกาภิวัตน์ ว่าคงเป็นโลกาภิวัตน์ที่เป็นเสี่ยงเสี้ยว (Fragmented Globalization) คือเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศ ของโลกที่แบ่งเป็นส่วนๆ แบ่งเป็นรายกลุ่มประเทศ เป็นแต่ละเรื่องๆ ไป คงไม่ใช่ความร่วมมือช่วยเหลือระดับโลก แต่จะมาจากแต่ละภูมิภาคพยายามร่วมมือกัน หรือบางประเทศเช่นจีนช่วยบางประเทศข้ามภูมิภาคเป็นกรณีๆ ไป โลกเราจะเดินไปทางนี้หรือเปล่า

การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะเป็นตัวเร่งว่า ความร่วมมือระดับภูมิภาคในด้านสาธารณสุข และสุขภาพและจะมาแทนความร่วมมือระดับโลกในด้านดังกล่าวจริงหรือไม่ องค์กรภูมิภาคจะดึงความร่วมมือระหว่างประเทศที่ถูกผลักห่างออกไปเพราะสถานการณ์โควิด ให้กลับมาได้จริงหรือไม่…

หรือในที่สุดอำนาจอธิปไตยของแต่ละรัฐ ที่เรียกร้องกดดันโดยเจ้าของอำนาจอธิปไตย จะทำให้แต่ละประเทศมองไม่พ้นพรมแดนของตน ช่วยเหลือแต่คนชาติของตน ในขณะที่เชื้อโรคไม่รู้จักพรมแดน ไม่เลือกเชื้อชาติและสัญชาติหรือเปล่า?

1.4) การแข่งขันกันเป็นผู้นำโลกทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีจะต่อเนื่องจากเดิมหรือไม่

สหรัฐเองก็ประสบปัญหาโควิดมีคนติดเชื้อและผู้เสียชีวิตสูงระดับต้นๆ ของโลก ใช้มาตรการทั้งการเงินและการคลังอย่างเต็มที่ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ประเทศหลักในอียูเองก็บอบช้ำจากปัญหาโควิดและเศรษฐกิจ

จีนซึ่งเป็นพี่ใหญ่พึ่งได้มาตลอด ก็ลดความช่วยเหลือประเทศต่างๆ ลงไป เพราะการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ผ่านมา ต่อเนื่องด้วยการทุ่มงบประมาณในการแก้ปัญหาโควิดจนหนี้ภาครัฐและเอกชนรวมกันเพิ่มขึ้นถึง 300% ของ GDP จะทำให้บทบาทการนำโลกทางเศรษฐกิจลดลงหรือไม่ ส่วนรัสเชียเองก็ประสบปัญหาเช่นกัน แม้จะมีระดับไม่หนักหนานัก ส่วนอาเซียน 10 ประเทศ คงจะอ่อนเปลี้ยไปจากปัญหาโควิดที่ไม่ทราบว่าเมื่อไหร่จะยืนทรงตรงขึ้นมาได้

การเป็นผู้นำโลกจะเปลี่ยนไปหรือไม่ หรือจะไม่แข่งกันด้านการทหาร ด้านการค้า หรือด้านเทคโนโลยีอย่างที่เป็นมาแต่จะเป็นการมีบทบาทการเป็น ผู้นำด้านอาหารปลอดภัย ผู้นำด้านสาธารณสุข ยา เวชภัณฑ์ เทคโนโลยีทางการแพทย์

สิ่งเหล่านี้หรือเปล่าที่ทุกประเทศ โหยหา และวิ่งเข้าหาประเทศที่จะเป็นผู้นำเรื่องเหล่านี้ได้ จะเป็นเกมส์ใหม่ของโลกหรือไม่ แต่ละประเทศมหาอำนาจ จะต้องทุ่มเทงบประมาณไปที่ใด เพื่อให้มีบทบาทนำในเรื่องดังกล่าว แล้วประเทศไทยเราจะอยู่ตรงไหนในสมการใหม่นี้

ดังนั้น โลกหลังโควิด จะเป็นโลกของพหุอภิรัฐพิภพ (Multi-Polarity World) หรือเปล่า คือเป็นโลกที่มีผู้นำหลายๆ ขั้ว ไม่ใช่ประเทศเดียว หรือสองมหาอำนาจแข่งกัน หากแต่เป็นผู้นำกันคนละเรื่องหรือไม่ โดยไม่มีใครมีบทบาทนำใครในทุกเรื่อง สหประชาชาติก็มีบทบาทในเรื่องที่สำคัญต่อชีวิตมนุษย์น้อยลงไปเรื่อยๆ หรือเปล่า รวมทั้งการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปลายปีนี้จะได้ผู้นำคนเดิมหรือไม่ ปัจจัยเหล่านี้ก็จะทำให้การต่างประเทศยุคหลังโควิด น่าคิดและท้าทายรัฐบาลทุกรัฐบาลในโลกเป็นอย่างยิ่ง

2)ด้านความมั่นคงทางอาหารและสาธารณสุข (Food and Health Security)

โลกหลังโควิดคงเน้นความเพียงพอของอาหารมากขึ้น เมื่อเร็วๆ นี้ WHO, FAO, และ WTO ออกแถลงการณ์ร่วมกัน ห่วงใยการขาดแคลนอาหารในโลก ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการปิดพรมแดนจากการล็อกดาวน์ของประเทศต่างๆ ทำให้การขนส่งอาหารถูกกระทบ จากปัญหาด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจ ผมจึงคิดว่าหลังโควิด-19 เรื่องอาหารจะเป็นเรื่องสำคัญมากขึ้นจริงๆ ประเทศไทยจึงมีสถานะที่ดี มีข้อได้เปรียบหลายชาติ เพราะเรามีแหล่งอาหารที่มากมาย แทบจะเป็นคลังอาหารของโลก แต่เราเองก็คงจะต้องดูแลให้อาหารเพียงพอต่อคนในประเทศก่อน ให้พอเพียง ยืนบนขาตัวเองได้อย่างมั่นคง ไม่ว่าคนมี คนจน ไม่ว่าคนตกงานหรือคนมีงานทำ ไม่ว่าคนที่ธุรกิจต้องเสียหาย หรือคนที่ธุรกิจใหม่ๆ เฟื่องฟู ต้องมีอาหารกินเพียงพอ และปลอดภัย ต้องมีการผลิตอาหารที่ทันสมัย มีผลิตผลที่ดี ถึงเวลาแล้วที่เราจะน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 9 พระราชทานแนวทางไว้ มาประยุกต์ใช้ ทำทุกอย่างอย่างพอประมาณ มีเหตุมีผล มีความรู้ ไม่ทำอะไรที่มากเกินไป หรือน้อยเกินไปจนไม่มีภูมิคุ้มกันยามวิกฤต ให้เรายืนบนขาตัวเองได้ พึ่งตัวเองได้ในการผลิตอาหาร และการบริโภคอาหารที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ มีความเพียงพออย่างพอเพียง จากนั้นจึงส่งออก ค้าขายกับนานาประเทศ

ความมั่นคงทางอาหารยังเกี่ยวโยงกับความมั่นคงทางสุขภาพ สาธารณสุข เช่น เรื่องการผลิตและบริโภคอาหารปลอดภัย อาหารปลอดสารพิษ อาหารที่เสริมภูมิคุ้มกันต่อต้านเชื้อโรค อาหารที่ช่วยให้สุขภาพแข็งแรง อาหารที่ฟื้นฟูสุขภาพ อาหารที่กระบวนการผลิตปลอดจากการปนเปื้อนเชื้อโรคและสารเคมีที่อันตรายต่างๆ เหล่านี้ที่จะเป็นสิ่งที่ทำให้ต้องมีการศึกษา การวิจัย การเรียนการสอน การปฏิบัติ การรับเอานวัตกรรมต่างๆ เข้ามาใช้อย่างมากในเวลาอันสั้น เรื่องเทคโนโลยีการผลิตยา วิตามิน เวชภัณฑ์ การพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ น่าจะเป็นทิศทางของกิจกรรมทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาชน ประเทศต่างๆ คงพัฒนานักเทคโนโลยีของตนให้มากที่สุด

ประเทศไทยเองก็คงต้องสร้างระบบนิเวศน์ในการสร้างนวัตกรรม (Eco-System for Innovation) ของคนไทย ที่ชักชวนให้แรงจูงใจคนให้มาร่วมคิดร่วมประดิษฐ์ ร่วมพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ทางการแพทย์ต่างๆ ทั้งยาป้องกันโรค ยารักษาโรค เวชภัณฑ์ต่างๆ ที่เรา
มีประสบการณ์แล้วว่าที่ผ่านมายามคับขันเขาขาดแคลนอะไร เพียงใด และเราควรส่งเสริมนักเทคโนโลยีไทยอย่างไรเพื่อให้ประเทศไทยมีความมั่นคงทางสาธารณสุข

นอกจากนี้ วิทยาศาสตร์ของข้อมูลสถิติ (Data Science) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่จะช่วยหาคำตอบในเรื่องต่างๆ จะมีบทบาทสำคัญยิ่งขึ้นในการคาดการณ์และเข้าใจการระบาดของโรค การแก้ไขการระบาด และระบบการติดตามผู้อาจติดเชื้อ (Test and Trace)
เป็นข้อมูลใหญ่ที่ผ่านการวิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง (Big Data Analytic) ซึ่งในอดีตหลายประเทศอาจไม่ได้ให้ความสำคัญพัฒนาระบบเหล่านี้ เพราะไม่เคยคาดคิดว่าจะมีสถานการณ์เช่นนี้มาก่อน

3)การใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน

จากการสร้างระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) และการปิดสถานที่ต่างๆ ตามมาตรการสาธารณสุขในเกือบ 200 ประเทศทั่วโลก (ถ้ารวมเขตปกครองพิเศษต่างๆ ก็จะถึง 210 แห่ง) ทำให้เทคโนโลยี เข้ามาบงการชีวิตคนอย่างไม่มีทางเลือก ไม่ว่าก่อนหน้านี้จะมีความพร้อมหรือไม่ก็ตาม

การเรียนการสอนออนไลน์ การประชุมของภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาสังคมผ่านระบบทางไกล เช่น วิดีโอคอนเฟอเรนซ์ การซื้อของ การสั่งอาหารออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มและบริการต่างๆ ไม่ว่าจะลาซาด้า ช้อปปี้ ไลน์แมน แกร็บ ฟู้ดแพนด้า เก็ท หรือการใช้เทคโนโลยีในบริการทางการเงินที่เต็มรูปแบบยิ่งขึ้นเป็นต้น ก็กลายเป็นวิถีชีวิตของคน รวมทั้งคนไทยไปแล้ว แต่ขณะเดียวกันการขนส่ง ส่งมอบสินค้าที่สั่งออนไลน์ (Delivery Service) ก็กลายเป็นธุรกิจที่เติบโตเร็วและต้องการคนทำงานมากขึ้นอย่างมาก

ที่สำคัญที่มองข้ามไม่ได้เลยคือ มีคนจำนวนไม่น้อยที่อาชีพไม่เอื้ออำนวยให้ใช้เทคโนโลยีที่มาแทนการเว้นระยะห่างทางสังคม เช่น การนวดเพื่อสุขภาพ กายภาพบำบัด คนขับรถแท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์ เป็นต้น รวมทั้งคนหาเช้ากินค่ำที่ไม่ได้ฝึกทักษะเตรียมพร้อมไว้ก่อน กลุ่มคนเหล่านี้ เช่นเดียวกับผู้ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ เป็นเรื่องที่แต่ละสังคมต้องมีกระบวนการเพิ่มทักษะ ปรับปรุงทักษะ (Re-Skill และ Up-Skill) ในการทำงานใหม่ๆ ที่เขาต้องการและการเยียวยาช่วยเหลืออาชีพที่อาศัยเทคโนโลยีมาช่วยไม่ได้อย่างเร็วที่สุด

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ทำให้ธุรกิจบริการที่สนองต่อวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป เฟื่องฟูขึ้นอย่างมาก มีการเติบโตหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ ระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เกิดขึ้นหลายระบบในเวลาอันสั้น และจะมีธุรกิจเหล่านี้เกิดขึ้นไปเรื่อยๆ ทำให้ความจำเป็นในการเดินทางในธุรกิจระหว่างประเทศลดลง

เทคโนโลยีในชีวิตของโลกหลังโควิค คงไม่กลับมาสู่ระดับการใช้เทคโนโลยีก่อนโควิดอีกแล้ว แต่จะไปไกลขนาดไหน เทคโนโลยีออนไลน์จะกระทบอาชีพใดบ้าง กระทบธุรกิจห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร อาชีพอิสระ อาคารสำนักงานจะกระทบธุรกิจที่พึ่งพาการท่องเที่ยว, การเดินทางมากขนาดไหน จะมีรูปโฉมแตกต่างไปอย่างไร คงต้องชวนคิดกันต่อไปครับ

4)เศรษฐกิจ

ผมคงไม่ต้องชวนคิดอะไรมาก เพราะมีผู้สันทัดกรณีนี้ได้แสดงความคิดเห็นเรื่องเศรษฐกิจในช่วงโควิด-19 และหลังโควิด-19
กันมามากแล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นที่น่าคิดเพิ่มเติมคือ ถ้าปัญหาการระบาดของโควิด-19 เนิ่นนานกว่าที่คิด และคนตกงานมากกว่าที่ประมาณการ ธุรกิจเสียหายมากกว่าที่คิด สังคมในแต่ละประเทศจะเริ่มเดินถึงจุดที่ “ความกลัวความอดอยากจะชนะความกลัวการติดโรค” คือคนจะออกมาทำงาน ไม่กลัวติดเชื้อ ไม่ฟังมาตรการของรัฐ ดังนั้นรัฐบาลแต่ละประเทศจะต้องหาสมดุลระหว่างการรักษาระยะห่างทางสังคม กับการพยุงเศรษฐกิจของคนกลุ่มต่างๆ ให้พอเหมาะพอเพียง อยู่ร่วมกันได้อย่างไม่อดตายและไม่ติดโรคไปพร้อมๆ กัน

การทุ่มเงินจำนวนมากเพื่อพยุงภาคเอกชนและเยียวยาบุคคลต่างๆ ทำให้รัฐต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล ซึ่งในอนาคตอันใกล้ รัฐต่างๆ ก็จะต้องคิดวิธีหาเงินเข้ามาเติมเต็มส่วนที่ใช้ไป หรือชำระเงินกู้กรณีที่กู้เงินมา บางรัฐบาลอาจต้องขึ้นภาษีแต่จะขึ้นภาษีอย่างไรที่จะไม่ซ้ำเติมประชาชนที่เดือดร้อนอยู่แล้ว บางรัฐบาลต้องเฉือนงบการพัฒนาที่อาจจำเป็นในยามปกติ มาใช้ในกรณีฉุกเฉิน ซึ่งก็จะทำให้หลายประเทศที่ต้องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน หรือพัฒนาการศึกษาให้ทันโลก ต้องสะดุดหยุดอยู่ไม่รู้อีกนานเท่าไหร่เพราะขาดงบประมาณ และผลที่จะตกต่อสังคมนั้นคืออะไร

บทส่งท้าย

ความจริงยังมีอีกหลายอย่างที่จะเปลี่ยนไป มีผู้รู้เห็นกันว่า การใช้คำว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวเมื่อใด ไม่น่าจะถูกต้อง เพราะ “การฟื้นตัว” (Recovery) มักหมายถึงฟื้นกลับไปสู่สภาพเดิมก่อนการล้มลุกคลุกคลาน แต่สถานการณ์โควิด-19 นั้นหนักหนากว่าวิกฤตทางการระบาดของโรค และหนักหนาสาหัสกว่าวิกฤตทางเศรษฐกิจทุกครั้งที่ผ่านมา

ดังนั้น การฟื้นตัวคงเป็นการปรับตัวไปข้างหน้า ไม่ใช่กลับไปสู่สถานะเดิม เป็นข้างหน้าที่ไม่เหมือนเมื่อวาน เป็นพรุ่งนี้ที่ได้แต่คาดเดา…

ให้ความเปลี่ยนแปลงผลักมนุษย์เราไปเรื่อยๆ เป็นชีวิตที่เปลี่ยนไป เป็นสังคมที่เปลี่ยนไป เป็นการทำธุรกิจที่เปลี่ยนไป และการบริหารรัฐที่ต้องเปลี่ยนไป ผู้ใดไม่ปรับเปลี่ยน หรือเปลี่ยนไม่ทัน ก็จะถูกธรรมชาติบังคับให้เปลี่ยน หรือมิฉะนั้นก็จะถูกทิ้งไว้ที่ชานชาลา เพราะไม่มีตั๋วขึ้นรถไฟสายหลังโควิด!

ในอนาคตหากคิดประเด็นชวนคิดได้อีก ก็จะมาขอเชิญชวนท่านทั้งหลายช่วยกันคิดเพื่อการเตรียมความพร้อมของทุกองคาพยพในสังคมไทย สู่สังคมที่เราปรับตัวได้อย่างเพียงพอ โดยการมีสัมมาสติที่จะดำรงตนรอบด้านอย่างพอเพียงครับ

ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image