การจัดทำงบประมาณ 2564 แบบเข้ารกเข้าพง : โดย สมหมาย ภาษี

การจัดทำงบประมาณ 2564 แบบเข้ารกเข้าพง : โดย สมหมาย ภาษี

การจัดทำงบประมาณ 2564 แบบเข้ารกเข้าพง : โดย สมหมาย ภาษี

ผมตื่นเช้ามาวันที่ 16 เมษายน แทบจะหัวใจวายเมื่อได้อ่านข่าวคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในการประชุมเมื่อวันพุธที่ 15 เมษายน ให้ตัดงบประมาณปี 2564 ลงจากกรอบเดิมอย่างมากมาย โดยตัดงบลงทุน 50% และตัดงบบริหารปกติ 25% ทั้งนี้ เป็นไปตามข้อเสนอของสำนักงบประมาณ และตามนโยบายของ ครม. และให้หน่วยราชการทุกหน่วยไปเร่งทบทวนทำการตัดทอนตามนโยบายนี้ เพื่อนำเสนอสำนักงบประมาณภายในวันพุธที่ 22 เมษายน

ตามข่าวที่แถลงโดยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ทราบว่าแนวทางการทำงบประมาณ 2564 จะเน้นไปที่ การฟื้นฟูทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ การเติบโตทางเศรษฐกิจที่มั่นคง การกระจายรายได้ไปในท้องถิ่นชนบท และการลดช่องว่างของความแตกต่างของรายได้

การที่เห็นชอบให้ตัดงบประมาณปี 2564 ลงขนาดนี้ ยังจะมาอ้างแนวทางงบประมาณที่กล่าวไปทำไม เพราะการตัดงบลงทุน และงบบริหารลงแบบนี้ มันเป็นการกระทำที่ตรงกันข้ามกับแนวทางดังกล่าว หรือว่าอยากจะพูดถึงแนวทางเสียหน่อย เพราะทุกๆ ปีสำนักงบประมาณก็เสนอมาแบบนี้

Advertisement

ฟังดูตามข่าวนี้แล้ว ถามได้โดยไม่ต้องขอโทษใครเลยว่า คณะรัฐมนตรีทั้งชุดได้อ่าน ได้ฟัง และได้คิดในสิ่งที่สำคัญสุดของประเทศที่ข้าราชการประจำอย่างสำนักงบประมาณได้คิดนำเสนอมาบ้างไหม ผมเดาโดยไม่ต้องได้ยินมาจากใครเลยว่ารัฐบาลที่มาจากการผสมกันร่วม 10 พรรค ชุดนี้ คงหมดสภาพแล้วเป็นแน่แท้ จึงปล่อยให้ข้าราชการประจำเป็นผู้วางนโยบายงบประมาณของประเทศ

ที่น่าตลกอย่างที่สุดก็คือ เมื่อสองสัปดาห์ที่แล้วที่รัฐบาลได้ประกาศก้องไปว่าจะออก พ.ร.ก. เพื่อไปกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และในจำนวนนี้ 400,000 ล้านบาท จะนำไปใช้เพื่อการจ้างงานให้คนมีอาชีพในชนบท จะนำไปจัดโครงการอบรมเพิ่มทักษะให้กับข้าราชการและคนจน จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระดับพื้นที่ อยากถามว่า พ.ร.ก.การกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ที่ ครม.ได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 15 เมษายนนี้ มันจะเข้ากันได้กับแนวทางปรับลดงบประมาณในปี 2564 นี้ได้อย่างไร

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ประกาศการคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจ หรือ GDP ในปี 2563 และ 2564 ใหม่ ซึ่งได้ประกาศออกมาทั่วโลกเมื่อวันพุธที่ 15 เมษายนนี้ ซึ่งในกลุ่มประเทศในเอเชีย ในปี 2563 GDP ประเทศไทยจะติดลบมากที่สุด -6.7% แย่กว่าใครเพื่อนในอาเซียน ประเทศพม่าและลาวยังเป็นบวกเลย ที่ IMF ให้เราต่ำแค่นี้ อย่าไปว่าเขานะ เพราะเขารู้ข้อมูลเราดี และรู้เรื่องการบริหารจัดการบ้านเมืองของเราดี

Advertisement

สิ่งที่ผมกล่าวถึงการจัดทำงบประมาณ 2564 ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดในการบริหารประเทศให้เดินหน้าหรือถอยหลัง ให้ประชาชนต้องโอดครวญกันต่อไป หรือให้พอลืมตาอ้าปากและเห็นรอยยิ้มได้นั้น มันอยู่ที่การจัดทำงบประมาณเป็นสำคัญที่สุด เมื่อคณะรัฐมนตรีไม่ยอมใช้สติปัญญาคิด เพราะโดนโควิด-19 ทำให้เหนื่อยจนหมดสภาพแล้วดังที่เห็นนี้ จึงกล่าวได้ว่า “รัฐบาลกำลังจัดทำงบประมาณแบบเข้ารกเข้าพง” ซึ่งจะทำให้ประชาชนและธุรกิจต้องทนทุกข์ระทมกันต่อไปอีกนาน

มาถึงตรงนี้ทุกท่านจะต้องถามว่า ถ้าจะให้ประชาชนลืมตาอ้าปากได้จะต้องทำงบประมาณแบบไหนกัน? ก็จะขอตอบว่า งบประมาณปี 2564 ที่จะออกใช้ในเดือนตุลาคม 2563 นี้ ต่อจากช่วงการเยียวยาคนยากคนจน ซึ่งจริงๆ คนจนในขณะนี้ที่กระเสือกกระสนต่อสู้กับความอดอยากแร้นแค้นจริงๆ มีร่วม 15 ล้านคนนั้น

มีวิธีเดียวที่จะทำได้ คือ ต้องเพิ่มงบประมาณปี 2564 ให้มากที่สุดเท่าที่กฎหมายการเงินการคลังเปิดช่องให้ทำได้ โดยควรกำหนดให้งบปี 2564 เพิ่มจากปีที่แล้วที่ตั้งไว้ 3.2 ล้านล้านบาท อีกอย่างน้อย 400,000 ล้านบาท เป็น 3.6 ล้านล้านบาท แต่ทั้งนี้ ต้องตัดวงเงินใน พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ให้เหลือการเบิกจ่ายมาใช้เรื่องเยียวยาเพียง 600,000 ล้านบาท ตามที่กำหนดไว้ในส่วนแรก สำหรับส่วนที่สอง จำนวน 400,000 ล้านบาท ควรต้องนำไปรวมอยู่ในงบประมาณปี 2564 ให้เป็นเรื่องเป็นราว เพื่อให้การใช้จ่ายเงินอยู่ในระบบที่มีกฎหมายควบคุมให้โปร่งใสได้อยู่แล้ว

พูดถึงค่าเยียวยานี้ รัฐบาลต้องให้ความสำคัญมาก อย่าคิดว่ายังไงก็ได้ จ่ายกี่เดือนค่อยดูกำลังเงิน คิดว่าจะชี้แจงอย่างไรก็ได้ ยังงี้ผิดหมด คนที่จะตายกันเป็น 10 กว่าล้านคน รัฐบาลต้องพูดให้ชัดไว้ก่อน

ชัดอย่างไร สิ่งแรกต้องแยกแยะคนที่จนและคนที่จะว่างงานให้ชัด เพราะการให้เงินชดเชยไม่เท่ากัน ทุกวันนี้คนจนไม่รวมเกษตรกรก็คงไม่ต่ำกว่า 12 ล้านคนอยู่แล้ว เกษตรกรจะช่วยกี่คน อย่างไร รีบคิดและพูดให้ชัดเช่นกัน จะปล่อยให้เขากินแต่ข้าวที่เก็บในยุ้งฉาง เก็บผักรอบบ้าน จับปลาในแม่น้ำลำคลองมากินทุกวันไม่ได้เสียแล้ว และกลุ่มสุดท้าย คนว่างงานจะมีสักเท่าไหร่ จะว่างงานนานกี่เดือน เพราะการระบาดไม่จบง่ายๆ อย่าคิดว่าเราจะปลดล็อกดาวน์ (Lockdown) ได้ในเร็ววัน เราอาจหยุดแล้ว แต่ประเทศอื่น เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และประเทศอื่นๆ ในยุโรป จะหยุดได้ง่ายๆ หรือ การเปิดเมืองจะไม่ทำให้ธุรกิจคึกคักได้เหมือนเดิม โดยเฉพาะการท่องเที่ยว กว่าจะฟื้นได้ก็ต้องเป็นไตรมาสสุดท้ายของปี

เมื่อได้เรื่องประชาชนที่ควรได้รับการเยียวยา และจำนวนเดือนที่รัฐบาลรวมทั้งสำนักงานประกันสังคมต้องเยียวยา ก็ต้องกำหนดอัตราที่จะต้องจ่ายในแต่ละเรื่องให้ชัดๆ เอาเฉพาะคนจน 12 ล้านคน จ่ายคนละ 5,000 บาท ระยะเวลา 6 เดือน ก็ปาเข้าไป 360,000 ล้านบาทแล้ว บวกเกษตรกร และคนว่างงานอีก เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่จะกันไว้เป็นส่วนค่าเยียวยา 600,000 ล้านบาท ก็จะไม่เหลือนะครับ

ทีนี้ลองหันมาดูด้านการใช้จ่ายของประชาชนทั่วไปบ้าง คนไทยที่เป็นรากหญ้านั้นแทบไม่ต้องพูดถึงแล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งธนาคารของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ จะออกมาตรการมาพักหนี้ ลดดอกเบี้ย และลดเกณฑ์การผ่อนชำระหนี้บัตรเครดิตต่างๆ นานา มาตรการต่างๆ ในเรื่องนี้ แทบจะใช้กับกลุ่มคนจนระดับรากหญ้าไม่ได้เลย นอกจากรอรับเงินเยียวยาจากรัฐเท่านั้น

ที่สำคัญกว่านี้ คือ เมื่อหมดระยะเยียวยาแล้ว รัฐจะทำให้คนจนเขาอยู่ต่อไปอีกได้อย่างไร คำตอบของเรื่องนี้จึงต้องตกเป็นของงบประมาณ 2564 ที่หน่วยราชการทั้งหลาย รวมทั้งสำนักงบประมาณกำลังจะปิดจ๊อบในเร็วๆ นี้ ถ้าการจัดทำงบประมาณ 2564 ทำตามที่ได้มีการเห็นชอบในหลักการของ ครม. เมื่อวันที่ 15 เมษายนนี้ ก็พูดได้คำเดียวว่า เศรษฐกิจของประเทศแทนที่จะฟื้นตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ และจะมีการทะยานขึ้น (Take off) ในปีหน้า มันกลับจะเป็นตรงกันข้าม ถ้าเป็นเครื่องบินจัมโบ้เจ็ต อาจถึงกับโหม่งโลกก็ได้ จึงได้กล่าวไว้ในหัวข้อเรื่องวันนี้ว่า รัฐบาลนี้กำลังจัดทำงบประมาณ 2564 แบบเข้ารกเข้าพง

ฟังข่าวจากประเทศใหญ่ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ประกาศจะเลิกล็อกดาวน์ใน 4 สัปดาห์ คือ ประมาณกลางเดือนพฤษภาคม ที่กล้าประกาศเช่นนี้ เพราะประธานาธิบดีทรัมป์จะต้องเผชิญกับการเลือกตั้งใหญ่ในปลายปีนี้ เขาจึงพยายามสร้างความฝันให้คนอเมริกันเห็นภาพว่า เขาจะหยุดโควิด-19 นี้ในเร็ววัน

ขณะนี้เขาจะพูดบ่อยถึงคำว่า “การเปิดเศรษฐกิจรอบใหม่” (Reopen Economy) ซึ่งมีความหมายมาก ไม่ได้หมายถึงเฉพาะการทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวกลับมาเหมือนเดิม แต่อ่านออกได้ว่า เขาหมายคลุมถึงการทำให้ตลาดเงิน ตลาดทุน และตลาดหุ้น รวมทั้งค่าเงินดอลลาร์สหรัฐดีขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย มิฉะนั้น การเลือกตั้งที่จะถึงปลายปีนี้ เขาไม่ได้กลับเข้าไปนั่งในทำเนียบประธานาธิบดีอีกแน่

แต่ของไทยเราไม่มีการเลือกตั้ง ถึงแม้จะมีการยุบสภาภายใต้รัฐธรรมนูญครึ่งใบนี้ ในภาวะที่ทุกพรรคการเมือง รวมทั้งพรรคฝ่ายค้านก็อ่อนยอบแยบกันหมดเช่นนี้ ยังไงเสีย ท่านนายกฯประยุทธ์ ก็ต้องนอนมาอีกแน่ ดังนั้น การคิดที่จะทำให้เศรษฐกิจข้างหน้าแจ่มจรัสจึงไม่ได้เห็นในตัวผู้นำของประเทศเรา ทุกวันนี้ดูท่านทำงานหามรุ่งหามค่ำอย่างน่าชื่นชม แต่เป็นการทำงานแก้ปัญหาเฉพาะหน้ารายสัปดาห์เท่านั้น

ในฐานะของประชาชนที่มองจากข้างนอกเข้าไปข้างในที่แสนจะอลหม่านของรัฐบาลตอนนี้ ขอเรียนว่า งบประมาณปี 2564 นี้ คือ เครื่องจักรสำคัญที่จะสร้างอนาคตของประเทศให้เห็นแสงสว่างที่ปากอุโมงค์ได้ ด้วยปัจจัยสำคัญของเศรษฐกิจไทยหลายประการที่เอื้อหนุนอยู่ในทุกวันนี้ นับตั้งแต่สถานะเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่ยังสูงมาก สถานะของภาระหนี้สาธารณะสำหรับโครงสร้างและพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังต่ำเพียง 42% ของ GDP ตลาดทุนก็ใหญ่และพร้อมที่จะดีดตัวให้ดีได้ ถ้ารัฐบาลทำดี ตลาดตราสารหนี้ก็ใหญ่พอและสามารถประคองให้มั่นคงอยู่ได้อีกนาน อัตราเงินเฟ้อก็ต่ำมาก เป็นต้น

ประเทศไทยจึงสามารถที่จะทำงบประมาณปี 2564 ให้ตรงกันข้ามกับที่ ครม.ได้มีมติเมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้ คือ แม้รายได้ภาครัฐจะตกต่ำ แต่ก็ต้องตั้งงบประมาณให้สูงกว่าปีที่แล้วอย่างมีนัยสำคัญ ยอมให้ยอดขาดดุลสูงกว่าปกติ เพื่อให้การเปิดเศรษฐกิจหลังภาวะวิกฤตเดินหน้าได้เต็มสูบ

แม้จะให้ตัดทอนงบประมาณรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไปก็ไม่ว่า แต่ต้องจัดไปเพิ่มในงบลงทุนอีกมาก โดยเฉพาะงบลงทุนในพื้นที่ทุกภาค การลงทุนแบบเล็กจนถึงขนาดกลาง การจัดงบเพื่อสร้างปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นในด้านสาธารณูปโภค และสาธารณูปการ โดยเฉพาะโครงการป้องกันน้ำท่วม นอกจากนี้
รัฐยังต้องเพิ่มเงินอุดหนุนให้ภาคเอกชนให้มากขึ้นอีก นับตั้งแต่การวิจัย การคิดค้นบุกเบิกด้านนวัตกรรม และการสร้างกำลังความสามารถในการแข่งขันให้สูงขึ้นโดยเร็ว ในช่วงปีงบประมาณ 2564 ทั้งปี ภาครัฐรวมทั้งรัฐวิสาหกิจจะต้องจัดให้มีการจ้างงานในลักษณะเป็นลูกจ้างชั่วคราวก็ยังดี ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ให้ได้จำนวนใกล้เคียงล้านคนเป็นอย่างน้อย ทั้งนี้ แม้โควิด-19 จะหมดไป แต่ภาคเอกชนจะฟื้นได้ไม่เกิน 65% แค่นั้น

สิ่งเหล่านี้ล้วนต้องการเงินงบประมาณของรัฐทั้งนั้น ว่าแต่ว่าผู้บริหารประเทศยังมีเรี่ยวแรงและวิสัยทัศน์ที่จะทำหรือไม่ หากมีและจะทำเพื่อประเทศชาติอย่างจริงจัง ก็ต้องตัดใจขจัดสิ่งที่เป็นพิษ (Toxic) ทั้งหลาย เช่น ความไม่โปร่งใส ความเชื่องช้าอืดอาด ความไม่รับผิดชอบ และการคอร์รัปชั่น ออกไปจากระบบการบริหารราชการให้มากที่สุดด้วย

ที่จริงแล้ว ประเทศไทยเราควรถือโอกาสนี้ไปถึงอีก 3 ปีข้างหน้า ปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจเสียที โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดขนาดของคนจนในประเทศให้ลดน้อยลง ไม่จำเป็นต้องให้คนจนหมดไปจากประเทศอย่างที่เคยได้ยินมา เพียงให้คนจนลดน้อยลงทุกปี ให้ได้ปีละ 20% ก็พอแล้ว ซึ่งมีวิธีการที่เป็นไปได้ หากผู้นำพร้อมทีมที่เข้มแข็งสามารถบริหารจัดการประเทศให้สอดรับกันเป็นแผง (Package) มีเวลาว่างผมจะนำมาเสนอต่อไปครับ

ตอนนี้ ขอให้รัฐบาลทำการทบทวนงบประมาณปี 2564 อีกครั้ง ซึ่งจำเป็นต้องจัดให้เป็นปีฐานที่สามารถนำไปสู่การพัฒนาเพื่อปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้คนจนลดน้อยลงให้ได้ ก็โปรดรู้ให้กระจ่างว่า การที่หนี้ครัวเรือนของไทยปีที่แล้วสูงถึง 80% ของ GDP นั้น ปีนี้ซึ่งแย่หนักอยู่แล้ว ถ้า GDP ติดลบ 10% หรือมากกว่า หนี้ครัวเรือนจะไม่เป็น 90% ของ GDP หรือ ดังนั้น การจัดเงินกู้ไปให้ด้วยวิธีไหนและดีอย่างไรก็แล้วแต่ จะไม่สามารถทำให้คนจนของไทยมีฐานะดีได้เลย มีทางเดียวเท่านั้นที่จะทำให้เขาดีขึ้นได้ คือต้องหามาตรการที่ทำให้คนจนมีงานทำมากขึ้นโดยเร็ว และมีรายได้สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญมาใช้เท่านั้น

เขียนไปเขียนมาชักสงสารท่านผู้นำรัฐบาลเหลือเกิน ท่านคงลืมไปแล้วว่าเวลามีสงคราม ทหารต้องรบเต็มที่ทั้งกองทัพจึงจะมีชัย ไม่ใช่แม่ทัพถือดาบขี่ม้าขาวรบอยู่คนเดียว

ติดตามบทความ สมหมาย ภาษี ที่เฟซบุ๊ก

Sommai Phasee — สมหมาย ภาษี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image